ซีดี สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์
จำนวนคนเข้าชม : 4099 ครั้ง

 

ชมรมคนรักวัง  ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาสิริโสภาพัณณวดีพระราชวังพญาไทภายในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

                ติดต่อได้ในวันและเวลาราชการ

315 ถนนราชวิถี ราชเทวี กทม 10400

โทรศัพท์                02 3547732

02 3547660 ต่อ 93646, 93694 และ 93698

คุณชูจิตร  จิตรแก้ว

บัญชี                       ออมทรัพย์ ธนาคารทหารไทย สาขา โรงพยาบาลพระมงกุฎ

หมายเลขบัญชี      038-2-49953-1

                Email               ch_jitkaew@windowslive.com

                                    palacefanclub@live.com

ซีดี สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์

            ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕ วันแรงงาน ชวพันธ์ฝ่าเปลวแดดตอนเพลเพลไปวังพญาไท ได้มา ๑ ข่าวกับซีดี ๑ แผ่น

ข่าวคือ ละคร”หัวใจนักรบ”ในวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๕  ฌ รพะที่นั่ง เทวราชสภารมย์  พระราชวังพญาไท  รายละเอียด  ติดต่อ โทรศัพท์  02      3547732 และ 02  3547987 ในวันและเวลาราชการ

๑ แผ่นซีดี คอนเสิร์ต พลงกวี  สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์  เมื่อ วันอาทิตย์ที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๑  ณ  หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งแระเทศไทย  เพื่อจัดตั้งกองทุน”สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์  ในกองทุนส่งเสริมวัฒนธรรม”  ซีดีชุดนี้จัดทำเป็นการเฉพาะ  เพื่อยกย่องเชิดชูครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ศิลปินแห่งชาติ

ซีดีชุดนี้จัดทำเป็นการเฉพาะ  แปลว่าไม่มีจำหน่ายในท้องตลาดไงครับเป็นซีดีที่ท่านมีแต่คนอื่นไม่มี  ซื้อแผ่นได้เพลงอีกทั้งได้บุญ รับไปสองเด้ง

นักร้องที่ขับร้องเพลงในซีดีแผ่นนี้  ส่วนใหญ่ท่านก็จากไปแล้ว  อาทิเช่น สุพรรณ  บูรณพิมพ์, บุญช่วย  หิรัญสุนทร, เพ็ญศรี  พุ่มชูศรี, ชาญ  เย็นแข, นริส  อารีย์, วินัย  จุลละบุษปะ สมยศ  ทัศนพันธ์, นันทา  ปิตพลผลิน, เพ็ญแข  กัลย์จารึกและอุโฆษ  จันทร์เรือง

เพลงในซีดีแผ่นนี้ส่วนใหญ่ต้นฉบับมาจากแผ่นครั่ง Speed 78 r.p.m. ท่านใดที่ถวิลหาเสียงแบบanalogue จ๋า  แนะนำเลยครับ

                ผมเห็นวางอยู่ ๓ แผ่น เลยซื่อมาฝากญาติข้างบิดาและมารดาของผม  เพราะขี้เกียจไปหลายทีรถติดแดดร้อน ฯลฯ

                ท่านใดสนใจและว่างว่างในวันเสาร์วันอาทิตย์  ก็ถือโอกาส  ไปดื่มกาแฟร่น “นรสิงห์”และชมวังพญาไท  ไปกันทั้งครอบครัว  นั่นแหละดีที่สุด  หรือจะมาชมละครก็น่าสนใจ ที่ชมรมคนรักวังมักจะมีซีดีแปลกที่หลายท่านคาดไม่ถึงว่าจะมีให้ท่านเสียสตุ้งสตางค์กันพอเพลินทีเดียว  ส่วนท่านสุภาพสตรีก็มีของที่ระลึกจำหน่ายเยอะแยะครับ  เพลินกันทั้งครอบครัว

รายชื่อเพลงดูเอาเองนะครับ  เบื่อจะพิมพ์อากาศร้อนhellจริงจริง

ขอบคุณครับ

ชวพันธ์  พิริยะพงษ์

162  สุขุมวิท 50  แยกซอยเหลือสุข  พระโขนง  คลองเตย  กทม 10260

โทร        02   3117600 และ  081  4002935

๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕

เวลา ๒๑.๑๕ น.

ข้อมูลนิดหน่อยของครู"สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์"

"สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์" (1)

เนื่องในโอกาสที่ "เกียรติพงศ์ กาญจนภี" หรือ "สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์" ได้รับการยกย่อง เชิดชูเกียรติ ให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล) ประจำปี พ.ศ.2549 จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติและได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เมื่อวันที่ 24กุมภาพันธ์ 2550ที่ผ่านมา       
                คอลัมน์ "อันเสียงเพลง ดนตรี คีตศิลป์" จึงขอถือโอกาสนี้ ร่วมแสดงความยินดีอย่างจริงใจมา ณ.ที่นี้ด้วย
       ...
                สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์
       
      เกิดเมื่อวันที่ 22กันยายน พ.ศ.2468ชื่อจริงคือ เกียรติพงศ์ กาญจนภี เป็นคนกรุงเทพฯ บิดา - มารดา ชื่อ หลวงพินิจดุลอัฏ (พุฒ กาญจนภี) และนางเกษม กาญจนภี เรียนหนังสือที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล จนจับชั้นมัธยมปีที่ 6
               ในปี พ.ศ. 2491ก่อนจะไปเรียนต่อประเทศอังกฤษ ได้มีโอกาสแต่งเพลงกับครูสมาน กาญจนะผลิน เพลงแรกที่แต่งคือเพลงดอกโศก และปีเดียวกันนั้นเองก็ได้แต่งเพลงความรักเรียกหา ประกอบภาพยนตร์ให้กับจรี อมาตยกุล ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องสุภาพบุรุษจากอเวจี       
                ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ เขียนเล่าเอาไว้ในหนังสือ 100ปี เกษม พินิจดุลอัฎ ว่า       
                "เมื่อจบการศึกษา จาก โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ได้เข้ามาช่วยงานในคณะละครศิวารมณ์ ซึ่งเป็นของ น.อ.สัวสดิ์ ฑิฆัมพร (ส.ฑิฆัมพร) ได้เริ่มแต่งเพลงกับครูสง่า อารัมภีร โดยร่วมแต่งคำร้องมีครูสง่า อารัมภีร เป็นผู้ให้ทำนอง จนถึงประมาณปี พ.ศ.2496 ก็หมดยุคละครเวที..."       
                นามปากกาสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ที่ใช้ในการแต่งเพลงนั้น นาวาอากาศเอก สวัสดิ์ ฑิฆัมพร ญาติผู้ใหญ่เป็นผู้ตั้งให้ คำว่า สุนทรียะมาจากคำว่า aesthetic คือความรู้สึก อันรู้จักค่าของความงาม ทำให้ไพเราะ อ่อนโยน น่ารัก ซึ่งตั้งให้ตามเค้าของนิสัย แต่คำว่าสุนทรียะ แล้วแปลงเป็นสุนทรียานั้นเพื่อให้ดูอ่อนโยนลง       
                ส่วน ณ เวียงกาญจน์ หมายถึงแดนทอง หรือเมืองทอง นั้น ตั้งให้ตามเค้าของตระกูล       
                ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายสมาน กาญจนะผลิน เมื่อวันที่ 16ตุลาคม พ.ศ.2538ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ เขียนบอกไว้ว่า       
                "...ผมเริ่มแต่งเพลงร่วมกับหมานมาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.2491 แล้วก็แต่งด้วยกันเรื่อยมาแทบจะไม่ขาดตอน จะมีเว้นไปบ้างก็ช่วงที่ผมออกไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ       
                แม้กระนั้นก็ดี หมานก็ยังอุตส่าห์ส่งทำนองตามไปให้แบบนานๆ ครั้ง โดยเขียนบอกไปว่า       
                "ถ้ามีเวลาก็ลองขยับๆ ส่งไปให้ด้วย ไม่งั้นเดี๋ยวนายจะลืมเสียหมด"       
                เพลงที่ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์แต่งคู่กับครูสมาน กาญจนะผลิน ส่วนมากจะมอบให้ชาญ เย็นแข เป็นผู้ขับร้องในยุคละครเวทีสมัยแรก เช่นเพลงกลับมาหาพี่เถิด เพลงกลิ่นเนื้อนาง เพลงกลิ่นไม้แซมผม เพลงคะนึงนาง เพลงจำปาทองเทศ เพลงดาวใจร้าย เพลงดาวประดับฟ้า เพลงโธ่เอ๋ยดวงใจ เพลงทูนหัวหลอกพี่ เพลงเทวีในฝัน เพลงพี่ฝันร้าย เพลงรักเขาข้างเดียวเสียแล้ว เพลงรักพี่นะ เพลงรักที่ต้องรอคอย เพลงรักสุมอก เพลงลาที ความรัก เพลงสายใยแห่งความรัก เพลงอ้อมอกน้องนาง ฯลฯ       ...
                เพลงรักพี่นะ
                                คำร้อง - สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์
                                ทำนอง - สมาน กาญจนะผลิน
                      
                                พี่คอยใฝ่ฝัน
                เพ้อครวญรำพันหัวใจมั่นรำพึง
                เฝ้าคิดถึงคะนึงฝันไป
                ฝันได้ฝันดี ฝันว่าโฉมศรีตอบคำ
                                อกพี่คอยแต่เพ้อ หลงครวญละเมอ
                หลงใจเหม่อดื่มด่ำ
                เจ้าตอบคำรักพี่ดังหวัง
                เพ้อจัง เพ้อจริง เพ้อว่ายอดหญิงให้เชย
                                แต่ใยหนอเจ้านิ่งงัน
                หรือเจ้าตื้นตันไฉนเลย
                มิเอื้อนมิเอ่ย
                พี่คอยชิดเชยให้ชื่นใจ
                                บอกว่ารักนิดเดียวเป็นไร
                ใจพี่หวังปรนเปรอ
                รักพี่นะเออ
                พี่คอยพร่ำเพ้อถึงทุกนาที
                                อกพี่คอยแต่รัก
                เหมือนเทพชวนชัก รักสลักทรวงพี่
                ให้พี่นี้หลงรักแต่เจ้า
                รักเอา รักเอา เหลือที่แบ่งเบาเจ้าเอย

                เพลงนี้เป็นเพลงที่ชาญ เย็นแข ขับร้องบันทึกเสียงไว้เป็นคนแรก มีความไพเราะและเป็นอมตะอีกเพลงหนึ่งในแบบของสังคีตประยุกต์ คาดว่า เป็นเพลงที่สร้างสรรค์ขึ้นในราว พ.ศ.2497
                ต่อมา พ.ศ.2494 ได้มีโอกาสเข้ามาช่วยงานเป็นคนบอกบทละครให้คณะละครศิวารมณ์ของนาวาอากาศเอกสวัสดิ์ ฑิฆัมพรซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่ เลยได้แต่งเพลงร่วมกันกับครูสง่า อารัมภีร อีกหลายเพลง เช่น เพลงนางแก้วในดวงใจ ที่บุญช่วย หิรัญสุนทร ซึ่งเป็นนักร้องประจำวงและเคยชนะการประกวดการร้องเพลงมาแล้ว เมื่อปี พ.ศ.2492 เป็นผู้ขับร้อง

http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9500000029493

"สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์" (2)

จากประวัติและเรื่องราวของ "ครูสง่า อารัมภีร" ในหนังสือ "ความเอย ความหลัง" นั้น มีเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการแต่งเพลงของ "ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์" ว่า...       
                "...ในวงการละครของไทยเมื่อ พ.ศ.2486 - 77 มาจนถึง 2496 แล้วก็ต่อด้วยภาพยนตร์ไทยเรื่อยมาจนกระทั่งบัดนี้ มีบุคคลอยู่ประเภทหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับวงการดังกล่าว แล้วมีลักษณะ "ต้นร้ายปลายดี" บุคคลประเภทนั้นคือ "คนบอกบท" นั่นเอง       
                "แก้ว อัจฉริยะกุล" ซึ่งบอกบทเป็นไฟมาตั้งแต่ละครปรีดาลัยเรื่อยมาจนถึง ละครวิจิตรเกษม ซึ่งสร้างชื่อเสียงให้แก่ มล.รุจิรา และ มารศรี คู่พระคู่นางคู่แรกของละครชายจริงหญิงแท้ สมัยสงครามที่ศาลาเฉลิมกรุง       
                "เนรมิต" ที่ใครๆ ในวงการภาพยนตร์ปัจจุบันนี้เรียกเขาว่าบรมครูเนรมิต คนๆ นี้มีชื่อเสียงมาพร้อมกับศิวารมณ์ก็บอกบทมาตั้งแต่ก่อนศิวารมณ์เกิด นั่นคือบอกบทให้ละครของกองภาพยนตร์ทหารอากาศ เรื่องคลีโอพัตรา"
                "มารุต" บรมครูอีกคนหนึ่งของภาพยนตร์ไทย ว่าเป็นนักบอกบทเป็นไฟอีกคนหนึ่งเหมือนกัน ความจริง "มารุต" เมื่อยังหนุ่มๆ ก็หล่อเหลาไม่ใช่เล่น เคยเป็นพระเอกหนังไทย 35 มม.เสียงในฟิล์ม เรื่อง "ปิดทองหลังพระ" แล้วมาบอกบทละคร "คลีโอพัตรา" คู่กับ "เมรมิต" จากนั้นก็เขียนบทละครเรื่อง "พระลอ" "โรมิโอ - จูเลียต" "ไอดา" ให้ศิวารมณ์ แล้วก็จากศิวารมณ์ไปเป็นผู้เขียนบทละครอิสระ แล้วก็ไปกำกับหนังเรื่อง "พันท้ายนรสิงห์" ซึ่งเก็บเงินไปไม่รู้เท่าไหร่...
                "สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์" คนบอกบทคนนี้เป็นหลานของ นอ.สวัสดิ์ ฑิฆัมพร (ผู้อำนวยการคณะละครศิวารมณ์) เขาเป็นนักเรียนนายเรือ ซึ่งสมัยโน้นไปเรียนที่สัตหีบโน่น เรียนไปเรียนมาก็สอบได้ทุกปี มีอีกปีหนึ่ง ไม่รู้ว่าเป็นยังไง ถึงสอบไม่ได้ก็ไม่รู้ ถ้าจะไม่ได้เข้าสอบจึงสอบไม่ได้ทำนองนั้น
                เมื่อสอบไม่ได้ก็ลาออก ลาออกมายังไม่ได้ทำงานที่ไหน ยามว่างก็มาดูละคร ดูไปดูมาก็ชอบละคร ชักชอบมากเข้า "เนรมิต" ก็ส่งบทละครให้ เขาก็เลยช่วย เนรมิตบอกบทมาตั้งแต่บัดนั้น
                อยู่โรงละครนานๆ เข้าก็ชักชอบกับผม ด้วยว่ากินเหล้าถูกคอกัน ก็เลยแต่งเพลงร่วมกัน โดยเขาเป็นฝ่ายเนื้อ ผมทำนอง สมัยนั้นจึงมีเพลงของ สง่า อารัมภีร และสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ แต่งคู่กันเป็นประจำ..."
        ...
                บูรพา อารัมภีร เขียนเล่าเอาไว้ในหนังสือ เบื้องหลังเพลงรักของ สง่า อารัมภีร ว่า
       
                "...วันนั้นเวลาประมาณ 5 โมงเช้า ขณะที่พ่อกำลังดีดเปียโน แต่งทำนองเพลงเพื่อจะให้นักร้องของวงดนตรีศิวารมณ์ขับร้องสลับฉากตอนนั้น       
                สุนทรียา นักแต่งเพลงมาเห็นเข้า และได้ยินทำนองเพลงจากเปียโนก็หันไปหยิบเก้าอี้เข้ามานั่งใกล้ๆ เมื่อพ่อดีดทำนองเพลงขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เขาก็เริ่มเขียนคำร้องตามขึ้นมาท่อนหนึ่ง ต่อจากนั้นพ่อก็ดีดเปียโนไปมาเป็นท่วงทำนองไพเราะตลอดทั้งเพลง เขาก็เขียนคำร้องตามทำนองที่ได้ยินตลอดทั้งเพลงได้เช่นเดียวกัน       
                ...หลังจากนั้นพ่อจึงได้ต่อเพลงใหม่นี้ให้แก่นักร้องประจำวงของศิวารมณ์ คือบุญช่วย หิรัญสุนทร เป็นผู้ขับร้อง โดยขึ้นไปร้องบนเวทีสลับหน้าม่าน เวลาเปลี่ยนฉากละครที่โรงละครศาลาเฉลิมนครแห่งนี้เป็นครั้งแรก"
        ...
                เพลงนางแก้วในดวงใจ
                                คำร้อง สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์/ทำนอง สง่า อารัมภีร

                                นางแก้วเอย พี่สุดเอ่ย เฉลยคำพร่ำ
                นอนยังฝัน วันยังละเมอ ละเมอเพ้อพร่ำ ร่ำพรรณนา
                นางแก้วคู่ใจ เจ้าจากไป พี่ครวญหา
                ใจโศกซึ้ง ถึงแก้วตา รำพึงถึงหน้า โฉมสมร       
                                เจ้าจากพี่ไป ห่วงอาลัย ใจอาวรณ์
                พี่ฝันถึงงามงอน รักรุมร้อน เร้าฤดี
                เจ้าจากพี่ไป คงห่วงใย ฝันถึงพี่
                แม้นเจ้าฝัน คงฝันดี คงฝันถึงพี่ นางแก้วเอย
       
                เพลงนี้บันทึกแผ่นเสียงครั้งแรกโดยบุญช่วย หิรัญสุนทร เมื่อ พ.ศ.2494 ซึ่งเป็นผู้ขับร้องเพลงน้ำตาแสงไต้ อันอมตะไว้ตั้งแต่ ปีพ.ศ.2492 ต่อมา เพลงนางแก้วในดวงใจนี้ มรว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ และทนงศักดิ์ ภักดีทวา นำมาร้องบันทึกเสียงใหม่อีกครั้งตามลำดับ

http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9500000032542

"สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์" (3) : เพลงวิหคเหินลม

จะเห็นได้ว่า ผลงานเพลงของครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ที่ได้รับความนิยมจากแฟนเพลงนั้นส่วนมาก จะแต่งคู่กันกับครูสมาน กาญจนะผลิน มากกว่าครูเพลงอื่นๆ       
                ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ เขียนเล่าถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับครูสมาน กาญจนะผลินไว้ในหนังสือ อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสมาน กาญจนะผลินว่า       
                "...เมื่อคราวที่บรรดาศิษย์ของครูสมาน กาญจนะผลินร่วมกับคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้พร้อมใจกันจัด งานคอนเสิร์ตเชิดชูเพลง ครั้งที่ 1 ขึ้น ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันเสาร์ที่ 4 มีนาคม 2538       
                ผมได้รับคำขอร้อง ให้เขียนอะไรเล็กๆ น้อยๆ เพื่อลงพิมพ์ในหนังสือที่จะจัดทำขึ้นในงานนั้น       
                โดยเจตนาจะให้เกียรติผมจึงเรียกเขาว่า "ครูสมาน" ในข้อเขียนของผมโดยตลอด       
                วันรุ่งขึ้น ครูสมาน ก็โทรมาหาผม ถามว่าทำไมต้องเรียกเขาว่าครูสมาน เมื่อผมอธิบายให้เขาฟัง เขาบอกว่า       
                "ไม่เอาหรอก เราไม่ใช่ครูนาย เราเป็นเพื่อนกัน เอายังงี้ ตรงไหนที่มีครูสมาน เราจะแก้เป็นสมานเฉยๆ ให้หมดก็แล้วกัน"        ...
                พ.ศ.2494 ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ได้แต่งเพลงวิหคเหินลม ร่วมกันกับครูสมาน กาญจนะผลิน แล้วมอบให้เพ็ญศรี พุ่มชูศรี เป็นผู้ขับร้อง ซึ่งเป็นเพลงที่สร้างชื่อเสียงให้กับเพ็ญศรี พุ่มชูศรี มากอีกเพลงหนึ่ง นอกเหนือไปจากเพลงความรักเจ้าขา เพลงรักประดับชีวิน ฯลฯ        ...
                เพลงวิหคเหินลม
                                คำร้อง สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์/ทำนอง สมาน กาญจนะผลิน

                                แสนสุขสม นั่งชมวิหค
                อยากเป็นนก เหลือเกิน       
                นกหนอนกเจ้าหกเจ้าเหิน
                ทั้งวันนกเจ้าคงเพลิน เหินลอยละลิ่วล่องลม
                                แม้นเป็นนักได้ ดังใจจินตนา
                ฉันคงเริงร่า ลอยลม       
                ขอเพียงเชยชม ดังใจจินตนา
                ให้สุดขอบฟ้า สุขาวดี       
                ฉิมพลี วิมานเมืองฟ้า

     ค่ำคืน จะทนฝืนบิน       
                เหินไป ทั่วถิ่นที่มันมีดารา
                เพราะอยากจะรู้ เป็นนักเป็นหนา
                ดารา พริบตาอยู่ไย
                ยั่วเย้า กระเซ้าหรือไร 
                หรือดาว ยั่วใคร เหตุใดดาวจึงซน

                (บันทึกแผ่นเสียงโดยเพ็ญศรี พุ่มชูศรี พ.ศ.2494)       
                เป็นเพลงที่บรรเลงในแนวสังคีตประยุกต์ เป็นเพลงแรกของครูสมาน กาญจนะผลิน ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ.2507       
                สุภัทร สวัสดิรักษ์ บรรณาธิการบริหารของ นิตยสารสกุลไทย ผู้ล่วงลับไปแล้ว บอกว่า       
                "...เพลงของพี่โจ๊วที่ฉันประทับใจมากเพลงหนึ่ง คือ เพลงวิหคเหินลม เพราะตรงใจที่เนื้อร้องและท่วงทำนอง บ่งบอกความหมายถึงชีวิตอิสรเสรีของนก เสียงเพลงของพี่โจ๊ว เป็นเสียงที่ให้อารมณ์ และมโนภาพที่งดงาม มองเห็นนกครั้งใด ก็เหมือนได้ยินเสียงเพลงของพี่โจ๊วกังวานอยู่ในใจทุกครั้ง ..."       
                ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ เขียนเล่าถึงเพลงวิหคเหินลม ไว้ในหนังสือ 100 ปี เกษม พินิจดุลอัฎว่า       
                "...เพลงนี้เดิมทีเดียว เนื้อร้องไม่ได้เป็นอย่างนี้ ที่แต่งไว้ครั้งแรกเป็นเพลงผู้หญิงร้องกระแนะกระแหนผู้ชายว่าเจ้าชู้ ชอบหลอกลวง เชื่อไม่ได้ ไว้ใจอะไรไม่ได้ อะไรทำนองนั้น       
                แต่เวลาไปอัดแผ่นเสียงซ้อมเท่าไหร่ๆ ก็ฟังดูไม่ดีสักที พอดีผู้แต่งไปอยู่ที่ห้องอัดเสียงด้วย ท่านเจ้าของห้องอัดเสียงฟิลิปส์ซึ่งเป็นผู้อัดเสียงเพลงนี้เป็นครั้งแรกได้เดินมาบอกว่า เพลงนี้เป็นอย่างไรก็ไม่รู้ ฟังดูไม่ดีสักที ลองเปลี่ยนเนื้อร้องใหม่ได้ไหม เผื่อจะดีขึ้น       
                เลยตอบไปว่า ลองดูก็ได้ แต่ต้องขอเวลาหน่อย ระหว่างนี้ อัดเพลงอื่นไปก่อนก็แล้วกัน       
                ขอกระดาษเขียนหนังสือมา 2 แผ่น ออกมานั่งหน้าห้องอัดเสียง ลักษณะเป็นห้องเล็กๆ มีหน้าต่างรอบๆ สั่งโอเลี้ยงมาแล้ว 1 แก้ว นั่งคิดไปคิดมาว่า จะเขียนอย่างไรดี พล็อตเดิมใช้ไม่ได้แล้ว ต้องเปลี่ยนเรื่องใหม่หมด       
                มองไปนอกหน้าต่าง เห็นนกหลายตัวเหมือนกัน บินไปบินมาอย่างสนุกสนาน (ห้าสิบกว่าปีก่อน แถบถนนสาทร ยังมีนกบินอยู่) เลยได้ความคิดขึ้นมาว่า เป็นนกดีกว่า       
                ออกมาเป็น "วิหคเหินลม" ใช้เวลาประมาณเกือบหนึ่งชั่วโมง       
                พอแต่งเสร็จ โอเลี้ยงหมดแก้วพอดี ต่อมาเลยได้ฉายาจาก ส.อาสนจินดา (นักประพันธ์ชื่อดังในสมัยนั้น) ว่า "นักแต่งเพลงโอเลี้ยงแก้วเดียว"       
                เพลงนี้สุวัฒน์ วรดิลก นักประพันธ์ใหญ่ของไทย บอกเอาไว้ในหนังสือ อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสมาน กาญจนะผลิน ในคอลัมน์ "ผู้รู้วันตาย" ไว้ว่า       
                "..."น้าหมาน" ซึ่งพัฒนาตัวเองอยู่เป็นอาจินต์ได้นำเอาดนตรีสากลบรรเลงผสมกับดนตรีไทย (วงปี่พาทย์) ขอให้ผู้เขียนตั้งชื่อ การแสดงดนตรีประเภทนี้       
                เราหารือกันที่บ้าน สง่า อารัมภีร ผู้เขียนได้เสนอชื่อ "สังคีตประยุกต์"       
                เพลงแรกคือ "วิหคเหินลม" เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ขับร้อง น้าหมาน สร้างทำนองมาจากเพลงไทย "ลาวลอดค่าย"(บ้างก็ว่า ลาวดอย)       
                สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ แต่งเนื้อร้อง (ผู้เขียน คิดว่าเป็นเนื้อเพลงไทยสากลที่ดีที่สุดอีกเพลงหนึ่งของวงการเพลงเมืองไทย) เพลงวิหคเหินลม กลายมาเป็นเพลงอมตะจนทุกวันนี้..."http://mgr.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9500000035381

"สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์" (4) : เพลงรัก

ต่อมาในปี พ.ศ.2496 ได้แต่ง "เพลงรัก" เพื่อประกอบละครเรื่องทหารเสือ กรมหลวงชุมพรฯ ของสุวัฒน์ วรดิลกโดยครูสมาน กาญจนะผลิน ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงไทยเดิม คือ เพลงโสมส่องแสงและได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง จนกลายเป็นเพลงคู่ที่ใครๆชอบนำเอามาร้องกันเป็นประจำตั้งแต่บัดนั้นเรื่อยมาจนกระทั่งในปัจจุบัน       ...
                เพลงรัก
                                คำร้อง สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์/ทำนองสมาน กาญจนผลิน
                                ญ แสงจันทร์นวลผ่อง นภาพราวพร่างดั่งทอง เมื่อมองแสนสุขอุรา
                ช เดือนสวยสว่างพร่างตา ฟ้าชื่นวิญญา จันทราจุมพิตทุกคืน       
                ญ เห็นนภา สมรัก หวั่นใจนักกลัวรักกลายไม่ชื่น
                ช ไม่ต้องกลัวเป็นอื่น รักพี่มีแต่ชื่น ชื่นรักเรื่อยไป       
                ญ คำก็รัก สองคำก็รัก น้องใคร่ทราบนัก รักมากเท่าไหร่
                ช รักเจ้านั้น รักจนหมดใจ มิมีสิ่งใดมาเทียมพี่รัก       
                ญ ครึ่งแผ่นฟ้านี้ได้ไหมพี่
                ช สุดฟ้านี้ไม่ถึงครึ่งรัก       
                ญ อยากจะเห็นดวงใจพี่นัก
                ช เชิญน้องควัก ออกดูพี่ยอมสิ้น
                ญ หวั่นใจเหลือเอ่ย คำเฉลย ดั่งร้อยลิ้น
                ช เสียดายไม่สิ้น ลิ้นมีเพียงหนึ่ง ไม่ถึงร้อยพัน       
                ญ ลิ้นหนึ่งอย่างนี้ วจียังตามไม่ค่อยจะทัน
                ช หากมีร้อย จะให้ทั้งร้อยเสกสรร       
                พ เพ้อรำพัน แต่คำรักเอย
       ...
                สุวัฒน์ วรดิลก เขียนถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังของเพลงรัก เพลงนี้เอาไว้ว่า       
            "พ.ศ.2495 เฉลิมไทย เฉลิมนคร พร้อมใจกันเปลี่ยนเวทีละครเป็นจอหนังผู้เขียนกับเพื่อนศิลปินย้ายไปเช่าโรงมหรสพศรีอยุธยา เปิดแสดงละครกลางปี พ.ศ.2496 คณะชุมนุมศิลปิน เสนอละครเพลง "ทหารเสือกรมหลวงชุมพร"นวนิยาย(อีกเรื่อง)ของผู้เขียน       
             เพื่อแก้ตัวที่สำคัญผิดกับเพลงเดียวดาย ผู้เขียนจึงขอเพลงรักซึ่งน้าหมานสร้างทำนองจากเพลงไทย "โสมส่องแสง" และสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ แต่งคำร้องมาเป็นเพลงเอกในละครทหารเสือกรมหลวงชุมพรทั้ง 2 ภาค (แสดงติดต่อกัน 1 เดือนเต็ม)       
             เพลงรักจึงหลายเป็นลมหายใจของแฟนเพลงยุคนั้น (พ.ศ.2496 - 2500)       
             ส่วนครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์เขียนเล่าถึงเบื้องหลังของเพลงรักเพลงนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า       
            "เย็นวันหนึ่งไปงานเผาศพ คงจะเป็นวัดมกุฏฯ ระหวางนั่งรอ ก่อนถึงเวลาวงปี่พาทย์ประโคมศพบรรเลงเพลงไทยเดิมเพลงหนึ่ง ทำนองล้อกันไปล้อกันมา เพราะดีเลยพยายามจำไว้ได้ 2 - 3 วรรค       
             พอกลับถึงบ้านก็โทรถึงสมานฮัมทำนองเพลงที่ว่าให้ฟัง แล้วถามว่าเพลงนี้เพลงอะไร สมานตอบทันทีว่า "โสมส่องแสง"       
             เลยเล่าให้ฟังว่า ไปฟังมาจากงานศพ เพราะดีมีล้อกันไปล้อกันมา สมาน เลยบอกว่า เอาซี่จะตัดมาให้เพราะของไทยเดิมยาวมาก       
             หลังจากนั้นไม่กี่วันก็ได้รับทำนองจากสมานซึ่งตัดมาให้โดยมีประโยค วรรคตอน เป็นแบบไทยสากล        
            เวลานั้น กำลังบอกบทละครเรื่องผู้ชนะสิบทิศของคณะศิวารมณ์อยู่ จะเป็นศาลาเฉลิมไทยหรือเฉลิมนครไม่แน่ใจ       
             ตอนหนึ่ง จะเด็ดกำลังพลอดรักกับแม่นางอเทตยา พอบอกว่ารัก แน่นางอเทตยา ก็ย้อนว่า คำก็รักสองคำก็รักอยากรู้นักว่ารักจริงหรือเปล่า แล้วถ้ารักจริง รักมากน้อยแค่ไหนอะไรทำนองนั้น       
            ทำนองที่สมาน ส่งมาให้ก็ล้อกันเหมาะที่จะเป็นเพลงคู่อยู่แล้ว ก็เลยออกมาเป็นเพลงรัก ซึ่งเป็นเพลงร้องคู่ต่อมาสมานก็ก้าวขึ้นไปอีก โดยเอาวงดนตรีไทยเดิมมาบรรเลงร่วมกับดนตรีสากล ซึ่งรพีพร (สุวัฒน์ วรดิลก) ได้ขนานนามการบรรเลงผสมวงดนตรี 2 วงแบบนี้ว่า "สังคีตประยุกต์"ซึ่งปรากฏว่าได้รับความนิยมแพร่หลาย แล้วก็เลยมีเพลงคู่บรรเลงแบบ "สังคีตประยุกต์"ตามมาอีกเยอะแยะไปหมดhttp://mgr.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9500000038631

สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์" (5) : เพลงรักคุณเข้าแล้ว

ในปี พ.ศ.2497เพลง "รักคุณเข้าแล้ว" ที่ "ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์" แต่งร่วมกันกับ "ครูสมาน กาญจนะผลิน" ก็โด่งดังสุดขีดใต้ฟ้าเมืองไทย และมีผลทำให้ "สุเทพ วงศ์กำแหง" เป็นนักร้องที่ได้รับความนิยมสูงสุดสมัยนั้น       
             เพราะเป็นเพลงที่มีท่วงทำนองแนวใหม่ และครูสุนทรียา ณ. เสียงกาญจน์ แต่งคำร้องโดยใช้คำว่า "ผม" และ "คุณ" แทน "ฉัน" และ "เธอ" ต่างไปจากของครูเพลงอื่นๆ       ...
                เพลงรักคุณเข้าแล้ว
                                คำร้อง สุนทรียา ณ เสียงกาญจน์/ทำนองสมาน กาญจนะผลิน
                                รักคุณเข้าแล้ว เป็นไร
                รักจนคลั่งไคล้ จริงจัง
                 คุณ รักใครหรือยัง
                ฉันท์ใด       
                หวั่นใจ ว่าคงไม่แคล้ว
                เลยรัก เข้าแล้ว จนได้
                บอกแล้ว ไม่วันไหน
                ต้องเผลอใจ เข้าสักวัน       
                                รักคุณเข้าแล้ว เต็มทรวง
                แล้วคุณ อย่าหวงสัมพันธ์
                 เรา คิดมารักกัน ดีไหม       
                ก็ที ผมยังรักคุณ
                 ก็คุณ รักบ้าง เป็นไร
                ของ รักกันได้
                อย่าคิดอะไร เลยคุณ

            (บันทึกแผ่นเสียงครั้งแรกโดยสุเทพวงศ์กำแหง เมื่อพ.ศ.2498)        ...
             วิทย์ พิณคันเงินเขียนถึงเรื่องนี้ไว้ในสุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.2533ว่า "...ปีพ.ศ.2497เพลงที่สุเทพขับร้อง ก็ดังเป็นพลุ คือเพลงรักคุณเข้าแล้วของครูสมานกาญจนะผลิน และสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์       
             ไม่ว่าสถานีวิทยุแห่งใด ต้องเปิดเพลงรักคุณเข้าแล้ว ตามคำขอ และตามเสียงเรียกร้องวันละหลายเที่ยว เสียงแห่งความนิยมนี้ดุจเสียงสวรรค์ที่ทำให้นามสุเทพ วงศ์กำแหง ฮิตติดปากคนทั่วบ้านทั่วเมือง แผ่นเสียงขายดี ไม่ว่าจะไปร้องเพลงที่ไหนก็ได้รับการขอร้องให้ร้องเพลงนี้ หลายครั้งหลายหน..."       
             สุเทพวงศ์กำแหงเองก็เขียนถึงเพลงรักคุณเข้าแล้วเพลงนี้เอาไว้ในหนังสือคอนเสิร์ตเชิดชูครูเพลงครั้งที่ 1สมาน กาญจนะผลิน ว่า       
            "...ต่อมาก็ได้อัดเพลงของพี่แจ๋ว แล้วก็มาถึงพี่หมาน สลับกันไปมาหลายครั้งจนกระทั่งถึงเพลงรักคุณเข้าแล้ว       
             เพลงนี้แต่งทำนองโดยพี่หมานส่วนคำร้องโดยสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ เป็นเพลงใช้คำว่า "ผม" และ "คุณ" เล่นเป็นจังหวะวอลทซ์ ออกควิกวอลทซ์ ฟังแล้วโก้ดี       
            อะไรก็ไม่สำคัญ       
             เปิดกันทั้งวันทั้งคืนไปไหนมีแต่คนฮัมเพลงรักคุณเข้าแล้ว กันเพลิดเพลินนักร้องไนท์คลับก็เอามาร้องกันใหญ่ นักร้องต่างประเทศ ไม่ว่า จีน หรือฟิลิปปินส์ก็ต้องเอาเพลงนี้มาร้อง เพราะพอขึ้นต้นรักคุณเข้าแล้วก็ตบมือกันเกรียวกราว       
             เป็นอันว่าผมได้เกิดเพราะเพลงของครูสมาน กาญจนะผลิน และสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์นี่แหละและมันก็เหมือนการปฏิวัติการใช้ถ้อยคำของการแต่งเพลงให้ทันสมัยขึ้น       
                ต่อมาคำว่า "ผม" และ "คุณ" ก็ถูกนำมาใช้ในเพลงมากขึ้น จนถึงปัจจุบัน"       
             และในคอลัมน์ครั้งแรกที่สุดแห่งหัวใจนั้นสุเทพวงศ์กำแหงเขียนบอกเอาไว้อีกว่า       
            "...เพลงที่สร้างชื่อเสียงให้ผมมีหลายเพลงมาก เช่นเพลงรักคุณเข้าแล้วถือเป็นเพลงที่ถูกร้องขอมากที่สุด เพราะสมัยก่อนผู้ชาย ผู้หญิงจะแทนตัวกันว่า "ขวัญ - เรียม" แต่เพลงรักคุณเข้าแล้ว เป็นครั้งแรกที่ผู้ชายใช้เรียกผู้หญิงว่า "คุณ กับผม"       
            เป็นเพลงที่คุณสมาน แต่งทำนอง ครูสุนทรียา ณ เสียงกาญจน์แต่งคำร้อง       
             สมัยนั้นคนไทยมี 18ล้านคนทุกคนร้องเพลงนี้ได้หมด เพราะมันฮิตมาก       
            ขณะที่สันต์ เทวรักษ์นักประพันธ์เพลงใหญ่อาวุโสแห่งยุค ได้เขียนถึงเพลงรักคุณเข้าแล้วว่า       
            "...ร้อยเพลงพันเพลง ที่เขาคร่ำครวญมา บอกกันตามตรงผมกลับไปชอบเพลงที่มีลีลา ท่วงทำนอง และเนื้อร้องที่กระเดียดไปข้างครึกครื้นยั่วเย้าเบาหวิว ชนิดที่ชวนให้เพลิดเพลิน ชวนให้คิด ชวนให้ฝันตามไปได้เหมือนกันอย่างเช่นเพลงรักคุณเข้าแล้ว อันเป็นผลงานของสมาน กาญจนะผลินซึ่งสุเทพเองก็รักที่จะใช้เป็นเพลงเบิกโรงอยู่เป็นอาจิณ"       
                เพลงนี้หากใครฟังจากต้นฉบับเดิมจะพบว่าครูสมาน กาญจนะผลิน บรรเลงระนาดฝรั่งไว้คู่กันกับซีเลียว หรือคุณเฉลียว นักดนตรีฟิลิปปินส์ ที่มีฝีมือในยุคนั้น ซึ่งเล่นดนตรีด้วยกันอยู่ที่บาร์ลูน่าคลับ เดี่ยวแซ็กโซโฟนประกบด้วยhttp://mgr.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9500000041218

"สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์" (6) : เพลงรัก

เพลงที่ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ แต่งให้ชรินทร์ นันทนาคร ขับร้องนั้น มีอยู่ด้วยกันหลายเพลง เช่น เพลงคว้าลม เพลงฆ่าพี่เสียเถิด เพลงจำพราก เพลงชมนางนอน เพลงที่รัก เพลงน่ารัก ฯลฯ       ...
                เพลงที่รัก
                                คำร้อง สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ทำนอง สมาน กาญจนะผลิน

                                นานแล้วพี่หลงพะวงมิหน่าย
                นานแล้วพี่หมายจะได้ภิรมย์
                นานแล้วพี่รักคอยจักชื่นชม
                นานแล้วรักเพียงลมๆ ตรมเช้าค่ำ       
                                ที่รักน่ะรัก แต่ใจมิกล้า
                ที่ช้าน่ะช้า มิกล้าเผยคำ
                ที่คิดน่ะคิดกลัวอกจะช้ำ
                เอ่ยคำแล้วเจ้าจะทำให้ช้ำใจ       
                                อย่างเหมือนน้ำค้างพราวพร่างใบพฤกษ์
                พอยามดึกเหมือนดังจะดื่มกินได้
                พอรุ่งรางก็จางหายไป
                รู้แน่แก่ใจ ได้แต่ระทมชีวี       
                                ที่รักน่ะรักเพราะเทพเสริมส่ง
                ที่หลงน่ะหลงเพราะเจ้าแสนดี
                ที่หวงน่ะหวงเพราะสวยอย่างนี้
                กลัวใครเขามาแย่งพี่ไปเอย
       
              เพลงนี้ครูสุนทรียาณ เวียงกาญจน์ นำแนวคิดมาจากวรรณคดีเก่าของไทย เรื่องจันทโครพ ที่ต่อว่านางโมรา ว่า "อย่าเหมือนน้ำค้าง พราวพร่างใบพฤกษ์ พอยามดึกเหมือนดังจะดื่มกินได้"มาใช้อย่างเหมาะสมสอดคล้องได้ความหมาย       
             ทั้งยังเล่นซ้ำคำไว้ได้อย่างไพเราะ คือ คำว่า "นานแล้ว" ถึง 4 วรรค และคำว่า "ที่"คำว่า "น่ะ" ซ้ำกันถึง 6 วรรคได้อย่างลงตัว ไม่ว่า "ที่รัก" "ที่ช้า" ที่คิด"ที่หลง" "ที่หวง" ในเนื้อเพลงท่อนที่ 3 และท่อนที่ 4       
            เพลงนี้ชรินทร์ นันทนาคร ศิลปินแห่งชาติเป็นผู้ขับร้องบันทึกเสียงไว้เมื่อปีพ.ศ.2497       ...
             พ.ศ.2498 เมื่อเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ จนจบเป็นเศรษฐศาสตร์บัณฑิตในระหว่างนั้นก็ยังแต่เพลงที่สมาน กาญจนะผลิน ส่งโน้ตข้ามทะเลไปให้อีกหลายเพลง เช่น เพลงคำคน ของสุเทพ วงศ์กำแหง และเพลงรักเอ๋ยรักข้า ของ สวลี ผกาพันธุ์ซึ่งก็ได้รับความนิยมเหมือนเพลงอื่นๆ       ...
                พลงคำคน
                                คำร้อง สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ทำนอง สมาน กาญจนะผลิน
                                พี่ระทมอยู่เดียวดาย
                ความสุขที่หมายคลายคืน
                เจ้าลืมรักเคยภิรมย์ชมชื่น
                เพียงฟังน้ำคำคนอื่น เจ้าคืนสัญญาแห่งใจ       
                                อันคำเวียนวนลอยลม
                ควรหรือเจ้ามาเศร้าตรม เอาอารมณ์ของตัวเองเป็นใหญ่
                เก็บมาวู่วาม หลงลืมแม้ความยับยั้งชั่งใจ
                ตัดเยื่อตัดใย ทอดทิ้งพี่ให้อกตรม       
                                เจ้าคิดเอาแต่ใจตน
                ลืมเหตุลืมผลงายงม
                แต่เพียงน้ำคำวาจาปรารมภ์
                ควรหรือยึดเอามาตรม ระทมแล้วเลยเปลี่ยนไป       
                                อันอารมณ์หากเหนือเหตุผล
                ความแค้นก็แน่นกลม กลายเป็นคนคิดสั้นไปได้
                หักความระทมยกเอาอารมณ์ทิ้งให้ห่างไกล
                จะเห็นหัวใจ แล้วจะรักใครเจ้าเอย
       
              เพลงนี้บันทึกเสียงโดยสุเทพ วงศ์กำแหง เมื่อปี พ.ศ.2499       
             สุเทพ วงศ์กำแหง เขียนถึงเพลงคำคนนี้เอาไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลงศพนายสมาน กาญจนะผลิน ไว้ว่า..."สิ่งที่ประทับใจผมและไม่เคยลืมเลยจนกระทั่งบดนี้ก็คือ เพลงนางอาย และเพลงคำคนรวมทั้งชีวิตเมื่อคิดไปที่ท่านนำมาให้ผมร้องไว้ตั้งแต่ก่อนเดินทางไปเชื่อสัมพันธ์ไมตรีกับสาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน เมื่อปี 2500 นั้นท่านได้ใช้ดนตรีไทยผสมกับดนตรีสากลบรรเลงอย่างไพเราะเพราะพริ้ง       
             ซึ่งเมื่อผมเอาไปร้องที่ประเทศจีน ตามคำแนะนำของท่านหัวหน้าทีม (คุณสุวัฒน์ วรดิลก)ปรากฏว่าได้รับความนิยมจากประชาชนชาวจีนอย่างมากมาย       
             ยิ่งครูบุญยง เกตุคง (ศิลปินแห่งชาติ)บรรเลงตอนท่อนรับด้วยระนาดด้วยแล้วท่านประธานเหมา เจ๋อตุง และท่านนายกรัฐมนตรี โจว เอิน หลายถึงกับเอ่ยปากว่า..."เสียงระนาดที่ครูเล่นหยั่งกับไข่มุกหล่นบนจานหยกนั่นทีเดียว"       
             ผมถึงกับขนลุกกับถ้อยคำประโยคนั้น และบัดนี้ก็ไม่เคยลืมเลย"http://mgr.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9500000043764

"สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์" (7) : รักเอ๋ยรักข้า

พลงรักเอ๋ยรักข้า

คำร้อง สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ทำนอง สมาน กาญจนะผลิน       

รักเอ๋ยรักข้า

 คิดยิ่งเหมือนพากังวลอุราหวนให้
                เดี๋ยวรักก็ชื่นฉ่ำใจ
                เดี๋ยวรักก็จากไปไกล ไม่เคยสดใสจีรัง       
                                รักเอ๋ยรักข้า
                ครั้งแรกรักมาเหมือนดังผกาสะพรั่ง
                ดูรักเจ้าอย่างจริงจัง
                แสนชื่นชุ่มฉ่ำประดัง แทรกมนต์ที่ขลังอาจิณ       
                                รักเอ๋ย รักจงอย่าเฉยแรมไกล
                รักเจ้าโปรดเห็นดวงใจ หวนให้ถวิล
                น้ำตาร่วงริน
                ท่วมฟ้าท่วมดิน ไม่อยากจะกินจะนอน       
                                รักเอ๋ยรักข้า
                เคล้าด้วยน้ำตา หรือน้ำผึ้งพาใจอ่อน
                บางครั้งรักเจ้ารุมร้อน
                เดี๋ยวรักก็จากก็จร รักเอ๋ยสะท้อนดวงใจ
       
            (บันทึกเสียงครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ.2498 โดยสวลี ผกาพันธุ์ศิลปินแห่งชาติ)       
            ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์เขียนเล่าเอาไว้ในหนังสือ 100 ปี เกษม พินิจดุลอัฏ ว่า "เมื่อเดินทางไปเรียนหนังสือที่ประเทศอังกฤษ พอไปถึงก็เขียนจดหมายมาบอกสมานว่าถึงเรียบร้อย แต่ยังไม่ได้เรียนหนังสือกำลังหาที่เรียนอยู่       
             สมานเลยเขียนโน้ตส่งไปให้ 4 - 5 เพลง บอกว่า ให้แต่งเนื้อร้องให้หน่อยเดี๋ยวจะลืมเสียหมดเพลงนี้เป็นเพลงหนึ่งที่แต่งส่งกลับมาให้สมานทางไปรษณีย์       
             ส่วนเพลงคู่สำหรับนักร้องชาย - หญิง ที่ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ และครูสมานกาญจนะผลินแต่งนั้น นอกจากเพลงรักดังกล่าวมาแล้ว ยังแต่งให้ชรินทร์ นันทนาครร้องคู่กับเพ็ญศรี พุ่มชูศรี ชาญ เย็นแข ร้องคู่กับ พูลศรี เจริญพงศ์ สุเทพวงศ์กำแหง ร้องคู่กับสวลี ผกาพันธุ์ และมรว.ถนัดศรี สวัสดิ์วัฒน์ คู่กับ พิทยาบุญรัตพันธุ์ อีกหลายเพลง เช่น เพลงโกรธรัก เพลงจันทรามาลี เพลงชื่นรักตักนางเพลงเชื่อรัก เพลงถนอมรัก เพลงเธออยู่ไหน เพลงนกเขาคูรัก เพลงเป็นไปแล้วเพลงเมื่อรักกลับคืน เพลงรัก เพลงลาแล้วแก้วตา เพลงวอนรัก เพลงสะอิ้งรักเพลงสัญญารัก เพลงสาบานรัก เพลงหวานรัก เพลงออเซาะรักฯลฯ       ...
                เพลงง้อรัก
                                คำร้อง สุนทรียา ฯ เวียงกาญจน์ ทำนอง สมาน กาญจนะผลิน
                                ช. น้องพี่หมองหมาง
                เคืองระคางเรื่องไหนๆ
                หรือพะวงเฝ้าสงสัย
                เป็นฉันใดใจเจ้า       
                ญ.ไหนว่าไม่ทิ้งให้น้องหงอยๆ
                ไยน้องคอยพี่เหงาๆ
                ใจน้องมีแต่เฉาๆ
                คอยเหมือนเฝ้าคอยรอ       
                ช.โอ้เจ้ายอดหญิง
                มิใช่พี่ทิ้งให้ตรม
                พี่ห่างยอดชู้คู่ชมๆ
                น้องเอยเหลือข่มเช่นกัน
                ทุกวันอาวรณ์       
                ญ. ขอ ขอรัก อย่าซ้อนรัก       
                ช. จงประจักษ์รักพี่ รักที่ว่าวอน       
                ญ. ฟังคำน้องปลื้ม รักที่ว่าวอน       
                ช. คลายความโกรธ ขอวอนเจ้ายิ้มๆ       
                ญ. แม้กลัวจะไม่ยอมให้พักตร์พริ้ม       
                พ. ปลื้มเปรมเอมอิ่ม พะนอรักกัน ทุกวันไม่จาง

            บันทึกเสียงครั้งแรกโดยเพ็ญศรีพุ่มชูศรี และชรินทร์ นันทนาคร เมื่อปี พ.ศ.2496 ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ครั้งที่ 2 เมื่อพ.ศ.2509       ...
                พลงหวานรัก
                                คำร้อง สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ทำนองสมาน กาญจนะผลิน
                                ญ. สุขใจเพียงใดพี่เอย
                ช. สุขยามเชยชู้สู่สม       
                ญ. หวั่นเกรงเหลือเกินลิ้นลม
                ช. จะปรารมณ์ให้ตรมอกไฉน       
                ญ. ขอให้จริง เช่นนี้นะใจ
                เกรงจะเปลี่ยนไปเหลือเพียงลม
                ช.รักพี่ หวานฉ่ำ
                ดื่มด่ำ ฉ่ำหวานไม่พาลขื่นขม       
                ญ. แรกรักกัน ซ่านซึ้งใจ
                ทำฉันใดก็หวาน หวาน
                ช.ความรักพี่ ดังน้ำตาล
                นานแสนนาน ไม่ขม ขม       
                ญ. เกรงรักกลาย ใครรู้เอา
                เขารู้เข้าก็สมสม
                ช. พี่มิคลาย กลายลิ้นลม
                จะชิดชมเฝ้ารัก รัก ญ. ขอเพียงใจภักดิ์       
                พ. รักกัน อย่าเพียงใจปอง
       
                เพลงนี้ขับร้องโดย สวลี ผกาพันธุ์ และสุเทพ วงศ์กำแหง       
                เป็นเพลงคู่อีกเพลงหนึ่งของขุนพลเพลงคู่ใจ สมาน - สุนทรียา ที่ได้รับความนิยมจากแฟนเพลง และมักจะนำเอาไปร้องในที่ต่างๆ กันอยู่เสมอ

http://mgr.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9500000046893

"สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์" (จบ)

พ.ศ.2503 "สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์" เข้าทำงานที่ฝ่ายวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารเอเชีย จำกัด บริษัทอิตาเลียนไทย จำกัด บริษัทค้าวัสดุก่อสร้าง จำกัด ธนาคารสหธนาคาร จำกัด และบริษัทไทยบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ จำกัด (มหาชน) ตามลำดับ

พ.ศ.2504 แต่งเพลงใจพี่ โดยแต่งเนื้อร้องก่อนแล้วให้สมาน กาญจนะผลินใส่ทำนอง ก็ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจนได้รับพระราชทานแผ่นเสียงทองคำเมื่อปีพ.ศ.2507       ...
                เพลงใจพี่

                คำร้อง สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์/ทำนอง สมาน กาญจนะผลิน
                                ใจพี่
                เอาไปเถิดคนดีพี่ให้
                ไม่เคยคิดยกให้แก่ใคร
                มอบให้เจ้าไว้ครอบครอง       
                                ใจพี่
                มีเพียงหนึ่งเท่านี้ใช่สอง
                จะได้รู้รักพี่ใช่ลอง
                ขอมอบให้น้องตลอดกาล       
                                หากเจ้าเมตตาปราณี
                จงถนอมใจพี่มิให้ร้าวฉาน
                หากเจ้าสิ้นรักหักราน
                ขยี้ให้แหลกลาญ คามือ       
                                ใจพี่
                เอาไปเถิดมันมีแต่ชื่อ
                หากจะช้ำขอให้ด้วยมือ
                เพราะซื่อจึงมอบน้องเอย
       
             เพลงนี้บันทึกแผ่นเสียงเป็นครั้งแรกโดยสุเทพ วงศ์กำแหง เมื่อ พ.ศ.2504 ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ.2507       
             คุณสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ เขียนเอาไว้ในหนังสือคอนเสิร์ต เชิดชูครูเพลงครั้งที่ 1 สมาน กาญจนะผลิน ศิลปินแห่งชาติ เมื่อวันเสาร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2538 ว่า..."เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าวิธีการแต่งเพลงที่ถูกต้องคือต้องทำนองมาก่อนแล้วจึงแต่งคำร้องให้เข้ากับทำนองนั้น       
             ความที่ผมกับสมานแต่งด้วยกันมามากมายเหลือเกินจนบางครั้งรู้สึกว่าหมดไส้หมดพุงไปด้วยกันทั้งคู่สมานจะแนะว่าลองเอาเนื้อมาก่อนบ้างดีไหม? ลองเปลี่ยนดูบ้าง เผื่อจะมีอะไรดีๆ ออกมาผมก็แต่งคำร้องขึ้นก่อน แล้วส่งให้สมานใส่ทำนองตามหลัง เท่าที่จำได้มีเพลงใจพี่ซึ่งได้รับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงทองคำครั้งที่ 1 เมื่อพ.ศ.2507..."       
             ในปีพ.ศ.2518 "สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์" แต่ง "เพลงเพียงคำเดียว" ร่วมกับสมาน กาญจนะผลินแล้วให้สุเทพวงศ์กำแหงขับร้องก็ได้รับความสำเร็จอีกเช่นเคยได้รับรางวัลเสาอากาศทองคำของสถานีวิทยุเสียงสามยอดในปีเดียวกันนั้น       ...
                 เพลงเพียงคำเดียว
                                คำร้อง สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์/ทำนอง สมาน กาญจนะผลิน
                                เพียงคำเดียวที่ปรารถนา

อยากฟังให้ชื่นอุรา ใจพะว้าพะวัง
                นานเท่านาน ที่คอยจะฟัง
                คำนี้คำเดียวพี่หวัง จะฟังจากปากดวงใจ       
                                คำ คำนี้มีค่า ใหญ่หลวง
                พี่รัก พี่แหน พี่หวง เพียงดังดวงฤทัย
                พี่ไม่เคยเฉลย กับใคร
                แต่แล้วพี่บอกเจ้าไป เพื่อให้เจ้าตอบเช่นกัน       
                                มีหลายครา ที่เคย
                เหมือนเจ้าจะเอ่ย เปิดเผยเฉลยคำนั้น
                โอ้ แล้วไย อัดอั้น
                มิกล้าจำนรรจ์ กลับตื้นกลับตันทรวงใน       
                                ฤาเจ้ามีคู่เคียง อุรา
                เจ้ารัก เป็นหนักหนา ตรึงติดตราหัวใจ
                จึงจดจำถ้อยคำ พี่ไป
                แอบเอาไปบอกคู่ใจ ทอดทิ้งให้พี่อกตรม       
                                ฤาเจ้าลืมถ้อยคำ คำนี้
                จึงทำไม่รู้ไม่ชี้ ดังไม่มีเยื่อใย
                แม้นเจ้าลืมเจ้าเลือน เคลื่อนคลาย
                พี่เตือนให้อีกก็ได้ ก็รักยังไงเจ้าเอย
       
              เพลงนี้บันทึกแผ่นเสียงครั้งแรกโดยสุเทพ วงศ์กำแหง เมื่อพ.ศ.2518 และได้รับรางวัลเสาอากาศทองคำ เมื่อปีพ.ศ.2518       
            เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการพิมพ์หนังสือ 100 ปี เกษมพินิจดุลอัฎ ขึ้น โดยมีประวัติของเภสัชกรหญิงพนิดา กาญจนภีบทความนานาสาระเรื่องของสมุนไพร ประวัติของครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์และผลงานเพลงอมตะรวม 40 เพลง ที่น่าเก็บเอาไว้อ้างอิงต่อไป       
            พ.ศ.2550 ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ได้รับรางวัลนราธิปจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย พร้อมกันกับนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ อื่นๆเป็นการเชิดชูเกียรติยศ จากผลงานที่ผ่านมาในอดีต       
            ล่าสุดได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากสำนักคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(เพลงไทยสากล)ประจำปีพ.ศ.2549       
             อันเป็นเกียรติประวัติที่น่าภาคภูมิใจยิ่งในการสร้างสรรค์ผลงานเพลงอมตะที่ผ่านมาตลอดชีวิตแม้จะไม่ใช่งานประจำในหน้าที่เลยก็ตาม ทุกวันนี้ครูสุนทรียา ณเวียงกาญจน์ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายบางครั้งบางโอกาสก็ออกไปพบปะกับบรรดาแฟนเพลงและลูกศิษย์ลูกหาบ้างในงานคอนเสิร์ตต่างๆ ที่จัดขึ้นตามที่ต่างๆ       
            ขอกราบอาราธนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายและพระบารมีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลมหาราชอัครศิลปินของชาติ โปรดบันดาลให้ครูสุนทรียา ณ เสียงกาญจน์มีสุขภาพที่แข็งแรง มีความสุขในบั้นปลายตามสมควรอัตภาพ       
                ในฐานะที่เป็นศิลปินแห่งชาติผู้สร้างสรรค์ผลงานเพลงอมตะที่แสนไพเราะให้พวกเราชาวนักเพลงทั้งหลายตลอดมา ตราบเท่าทุกวันนี้

http://mgr.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9500000049775

ศิลปินแห่งชาติ ๒๕๔๙

ศิลปินแห่งชาติ  สาขาศิลปะการแสดง                                      (ด้านดนตรีสากล-ผู้ประพันธ์เพลง)

นายเกียรติพงศ์ กาญจนภี

ประวัติชีวิตและผลงาน

นายเกียรติพงศ์ กาญจนภี (สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์) เกิดเมื่อวันพุธที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๙ เป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด บิดาชื่อ หลวงพินิจดุลวัฏ มารดาชื่อ นางเกษม พินิจดุลวัฏภรรยาชื่อ นางชวนชื่น ไกรจิตติ มีบุตรธิดา ๓ คน

ประวัติการศึกษา
- สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล
- สำเร็จการศึกษาสาขาเศรษฐศาสตร์บัณฑิต ณ ประเทศอังกฤษ

ประวัติการทำงาน
พ.ศ. ๒๔๙๓ - ๒๕๐๓ ฝ่ายวิชาการ ธนาคารแห่งประเทศไทย
พ.ศ. ๒๕๐๓ - ๒๕๑๐ อาจารย์พิเศษ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ. ๒๕๐๔ - ๒๕๐๘ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารแห่งเอเชีย จำกัด
พ.ศ. ๒๕๐๘ - ๒๕๑๐ ผู้จัดการฝ่ายการเงิน บริษัท อิตาเลี่ยน-ไทย จำกัด
พ.ศ. ๒๕๑๐ - ๒๕๑๙ หัวหน้าฝ่ายบัญชีลูกค้า บริษัท ค้าวัตถุก่อสร้าง จำกัด(เครือซีเมนต์ไทย)
พ.ศ. ๒๕๒๐ - ๒๕๓๒ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารสหธนาคาร จำกัด
พ.ศ. ๒๕๒๗ - ปัจจุบัน คณะกรรมการบัญญัติศัพท์เศรษฐศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ. ๒๕๔๒ - ปัจจุบัน ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ บริษัท ไทยบรรจุภัณฑ์ และการพิมพ์ จำกัด (มหาชน)

ประวัติการสร้างสรรค์ผลงาน

เป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิดบ้านเกิดอยู่แถว ๆ บางลำพู การศึกษาเริ่มเรียนที่โรงเรียน เซนต์คาเบรียลจนกระทั่งจบชั้นมัธยม ๖ การศึกษาชั้นสูงสุด จบเศรษฐศาสตร์บัณฑิต จากประเทศอังกฤษพ.ศ. ๒๕๐๓ เมื่อจบการศึกษาชั้นมัธยม ๖ จากโรงเรียนเซนต์คาเบรียลก็ได้เข้ามาช่วยงานที่คณะละคร ศิวารมณ์ ซึ่งเป็นของ น.อ.สวัสดิ์ฑิฆัมพร (ส.ฑิฆัมพร) และได้เริ่มแต่งเพลงกับครูสง่า อารัมภีร เป็นเพลง ในละครเรื่องพันท้ายนรสิงห์ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ ยุคล โดยมีนายสุรสิทธิ์สัตยวงศ์ เป็นพระเอก ต่อมาได้สร้างเป็นภาพยนตร์ นายชูชัย พระขรรค์ชัย เป็นพระเอกนางสุพรรณ บูรณพิมพ์ เป็นนางเอกหลังจากนั้นได้แต่งเพลงให้กับละครอีกหลายเรื่องเป็นประจำโดยร่วมแต่งคำร้องและครูสง่า อารัมภีร เป็นผู้ให้ทำนอง ได้แต่งเพลงร่วมกับครูสง่า อารัมภีร ถึงประมาณพ.ศ. ๒๔๙๖ จึงได้เลิกแต่งเนื่องจากหมดยุคของละครเวทีเพลงที่ประพันธ์ร่วมกันมีประมาณ เกือบ ๓๐๐ เพลงตลอดระยะเวลาที่แต่งเพลงก็ยังทำงานประจำอยู่จึงคิดว่าคงไม่เหมาะนักถ้าจะใช้ชื่อจริง ในการแต่งเพลง ฉะนั้น จึงได้ไปขอให้ น.อ.สวัสดิ์ฑิฆัมพรตั้งชื่อนามปากกาให้และได้ชื่อว่า สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ซึ่งมีจดหมายอธิบายประกอบการตั้งชื่อว่า สุนทรียะ มาจากคำว่า aesthetic หมายถึงความรู้สึกอันรู้จักค่าของความงาม ทำให้ไพเราะ อ่อนโยน น่ารักตั้งให้ตามเค้าของนิสัย แต่สุนทรียะ ฟังดูห้วนเกินไป แข็งเกินไปจึงเติมให้เป็นสุนทรียา ส่วน ณ เวียงกาญจน์ หมายถึงที่แดนทองหรือเมืองทองตั้งให้ตามเค้าของตระกูล

จนกระทั่งประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๑ ได้ร่วมแต่งเพลงกับครูสมาน กาญจนะผลิน เพลงแรกที่แต่งร่วมกันคือ เพลงดอกโศก และในปีนี้เองได้แต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ให้กับคุณจุรี อมาตยกุล ผู้สร้างภาพยนตร์ เรื่อง สุภาพบุรุษอเวจี คือ เพลงความรักเรียกหา

พ.ศ. ๒๔๙๘ ก็ได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ จนจบเศรษฐศาสตร์บัณฑิต เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ ถึงแม้จะอยู่ต่างประเทศ ครูสมาน กาญจนะผลิน ก็ยังส่งทำนองไปให้ถึงประเทศอังกฤษ เพื่อให้ใส่คำร้อง เมื่อแต่งเสร็จก็ส่งกลับทางไปรษณีย์ ในช่วงนี้ก็ได้แต่งเพลงหลายเพลง แต่ที่ได้รับความนิยมคือ เพลงคำคน

หลังจากกลับจากประเทศอังกฤษก็ได้ร่วมแต่งเพลงกับครูเพลงอีกหลายท่านคือ ครูเอื้อ สุนทร สนาน ครูเวส สุนทรจามร ครูสมาน นภายน นายประสิทธิ์ พยอมยงค์ และเรืออากาศตรี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ม.ล.ประพันธ์ สนิทวงศ์ ฯลฯ

เพลงที่ได้รับความนิยมเพลงหนึ่ง คือ เพลงรักคุณเข้าแล้ว เพลงนี้ประพันธ์คำร้องทำนอง โดยสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ มีครูสมาน กาญจนะผลิน เป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสาน คุณสุเทพ วงศ์กำแหง เป็นผู้ขับร้อง เพลงนี้เป็นเพลงแรกในประวัติศาสตร์ของวงการเพลงไทยสากล คือ ใช้สรรพนาม คุณ แทนคำว่า เธอ และใช้ ผม แทนคำว่า ฉัน และเรียม อันเป็นคำที่ประชาชนทุกคนในยุคนั้นใช้กันติดปากในชีวิตประจำวัน ทำให้ผู้ฟังเพลงรู้สึกว่าเพลงนี้สะท้อนสภาพชีวิตจริง จากนั้นเพลงอื่น ๆ ก็ใช้คำว่า คุณ ผม ตามมา เช่น ผมรู้ดี ผมน้อยใจ เป็นต้น ครั้งเมื่อคุณสุเทพ ได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่น ก็ได้ใส่คำร้องเป็นภาษาญี่ปุ่น และได้ออกเผยแพร่ที่ประเทศญี่ปุ่น จนเป็นที่นิยมชมชอบกันพอสมควร ดังนั้นจึงมีผู้ฟังบางท่านเข้าใจผิดว่าเพลงนี้นำทำนองมาจากเพลงญี่ปุ่น

นายเกียรติพงศ์ กาญจนภี หรือ สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ได้แต่งเพลงมาแล้วประมาณ ๑,๐๐๐ กว่าเพลง ส่วนใหญ่แต่งร่วมกับครูสง่า อารัมภีร ซึ่งเป็นเพลงในละครเวที และเพลงที่แต่งกับ ครูสมาน กาญจนะผลิน เพลงที่ได้รับความนิยมอย่างมาก อาทิเช่น รักปักใจ แน่หรือคุณขา วิหคเหินลมรักคุณเข้าแล้ว เพียงคำเดียว ดอกโศก ความรักเจ้าขา จำพราก ที่รัก รักพี่นะ ชีวิตเมื่อคิดไป คำคน ใจพี่ เกิดมาอาภัพ สัญญารัก นกเขาคูรัก อุทยานรักไทรโยค ออเซาะรัก รัก เพลงรักพี่นะ วอนรัก ฯลฯ ส่วนที่แต่งร่วมกับท่านอื่น ๆ นั้นมีน้อยและยังได้เคยแต่งเพลงพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ให้จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเพลงนี้ ได้บรรยายความงามของพระตำหนักอย่างหยดย้อย แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ไม่เคยได้ไปที่พระตำหนักแห่งนี้เลย เพียงแต่ได้เห็นจากภาพถ่าย และเรื่องราวที่ลงในนิตยสารท่องเที่ยวเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีเพลงสถาบันและหน่วยงานอื่น ๆ เช่น แต่งให้แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย สมาคมภริยาแพทย์แห่งประเทศไทย (แต่งร่วมกับครูสมาน กาญจนะผลิน) วันจากโดม (ธรรมศาสตร์ ๕๐ ปี แต่งร่วมกับครูใหญ่ นภายน) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (แต่งร่วมกับเรืออากาศตรี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.แมนรัตน ์ ศรีกรานนท์) และเพลงธนาคารแห่งประเทศไทย เพลงที่อยู่ในชุด “ แด่เธอผู้เป็นที่รัก ” ซึ่งจัดทำโดย กองกำลังรักษาพระนคร เพื่อหารายได้สมทบทุนมูลนิธิท่านผู้หญิงประภาศรี กำลังเอก เป็นผลงานที่แต่ง ร่วมกับครูสมาน กาญจนะผลิน จำนวน ๓ เพลงด้วยกันคือ แด่เธอผู้เป็นที่รัก แม่ และช่างกระไรใจคน

ผลงานล่าสุดแต่งเพลงนางสาวไทย ให้สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ สำหรับใช้บรรเลงในการประกวดนางสาวไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๓ และแต่งเพลง ๗๒ พรรษา พระเมตตาปกเกล้า ร่วมเฉลิมฉลอง ๗๒ พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทั้ง ๒ เพลงแต่งร่วมกับเรืออากาศตรีศาสตราจารย์พิเศษ ดร.แมนรัตน์ ศรีกรานนท์
ผลงานเพลงที่ได้รับความนิยม ได้แก่ เพลงนพรัตน์ ขอใจให้พี่-ขอดูใจพี่ ขอใจให้น้อง อยู่เพื่อความดี ทูนหัวหลอกพี่ โธ่เอ๋ยทำได้ น่ารัก นัยน์ตาฟ้า ฝากรักฝากฝัน เพชรในตม อย่านะ รังแกใจ ไม้งามขวานปิ่น ขอให้รักกัน โกรธ-รัก เป็นไปแล้ว หวานรัก ลาแล้วแก้วตา เมื่อรักกลับคืน เชื่อรัก รักลอยลม รักเอ๋ยรักข้า ฯลฯ เหตุที่ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ไม่อยากจะเปิดเผยตัวจริงให้ใครทราบ เนื่องจากยังคิดว่าผลงานของตัวเองยังไม่ดีพอ เวลากลับมาดูผลงานที่ได้ออกเผยแพร่ไปแล้วยังเห็นข้อบกพร่องอยู่ และเนื่องจากความเคยชินที่จะใช้ชื่อ สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ต่อไป
นอกจากผลงานเพลงจะได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วไปแล้ว ยังได้รับรางวัล ดังนี้

๑. ได้รับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงทองคำ รางวัลชนะเลิศคำร้องเพลงประเภท ก. และเพลงยอดเยี่ยมประจำปีประเภท ก. จากเพลงใจพี่ ซึ่งเป็นผลงานร่วมกันของสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ และสมาน กาญจนะผลิน เพลงยอดเยี่ยมประจำปีประเภท ข. และได้รับรางวัลรองชนะเลิศคำร้อง จากเพลงวิหคเหิรลม ซึ่งเป็นผลงานร่วมกับสมาน กาญจนะผลิน รวม ๔ รางวัล ในงานประกวดแผ่นเสียงทองคำ ครั้งที่ ๑

๒. ได้รับรางวัลเสาอากาศทองคำ ของสถานีวิทยุเสียงสามยอด ในเพลงเพียงคำเดียว ซึ่งเป็นผลงานร่วมกับ สมาน กาญจนะผลิน อีกเช่นกัน

๓. ได้รับรางวัลนราธิป เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรตินักเขียนและบรรณาธิการอาวุโสที่ทำ คุณประโยชน์ด้านวรรณกรรม ของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๐

ปัจจุบัน นายเกียรติพงศ์ กาญจนภี พักอยู่บ้านเลขที่ ๑๐๐ ถนนสุขุมวิท ซอย ๖๒/๑แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ โทรศัพท์ ๐ ๒๗๔๑ ๕๓๐๒ ๐๘ ๕๑๖๔ ๘๒๒๕

นายเกียรติพงศ์ กาญจนภี

ใช้ชื่อ สุนทรียา ณเวียงกาญจน์ ในการแต่งเพลง อายุ 81 ปีเริ่มแต่งเพลงกับครูสง่าอารัมภีร ในละครเรื่อง"พันท้ายนรสิงห์"จนถึงประมาณ ปี 2496 จึงเลิกแต่งเพลงเนื่องจากหมดยุคของละครเวที มีเพลงที่ประพันธ์ร่วมกันเกือบ 300 เพลงเพลงที่ได้รับความนิยมมากมาย เช่น เพลงรักคุณเข้าแล้ว วิหคเหินลม นกเขาคูรักสัญญารัก ฯลฯ

  เกียรติพงศ์ กาญจนภี(สุนทรียา ณเวียงกาญจน์)
       สาขาศิลปะการแสดง(ดนตรีสากล-ผู้ประพันธ์เพลง)
              เกิดเมื่อวันที่22 ก.ย.2469 ได้ร่วมแต่งเพลงกับครูเพลงหลายท่าน อาทิ ครูเอื้อ สุนทรสนาน ครุเวสสุนทรจามร ครูสมาน นภายน เป็นต้น เพลงที่ได้รับความนิยมเพลงหนึ่งคือเพลงรักคุณเข้าแล้ว ตลอดชีวิตการทำงานอ.เกียรติพงศ์แต่งเพลงมาแล้วประมาณ 1,000 กว่าเพลง ส่วนใหญ่แต่งร่วมกับครูสง่า อารัมภีร์ ซึ่งเป็นเพลงในละครเวทีและเพลงที่แต่งกับครูสมาน กาญจนะผลิน เพลงที่ได้รับความนิยมอย่างมาก อาทิ รักปักใจแน่หรือคุณขา      
              ผลงานล่าสุดแต่งเพลงนางสาวไทยให้สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธในพระบรมราชูปถัมภ์สำหรับใช้บรรเลงในการประกวดนางสาวไทย เมื่อ พ.ศ.2543 และแต่งเพลง 72 พรรษาพระเมตตาปกเกล้า ร่วมเฉลิมฉลอง 72 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทั้ง 2 เพลง แต่งร่วมกับอาจารย์แมนรัตน์ ศรีกรานนท์

สุพรรณ บูรณะพิมพ์

สุพรรณ บูรณะพิมพ์ (17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469 - 16 ตุลาคม พ.ศ. 2528) นักแสดง และผู้กำกับอาวุโส ผู้มีผลงานทั้งแสดง และกำกับละครเวที ละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์ เคยได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง ผู้แสดงประกอบฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม 2 ปีติดต่อกัน ในปี พ.ศ. 2505 และ พ.ศ. 2506 และได้รับการยกย่อง รางวัลเกียรติคุณทางการแสดง ครั้งที่ 4 ประจำปี พ.ศ. 2549 จัดโดยหอภาพยนตร์แห่งชาติ เป็นเจ้าของฉายา ราชินีแห่งศิลปิน และ ราชินีแห่งการละคร

สุพรรณ บูรณะพิมพ์ เกิดที่ย่านบางลำพู พระนคร เป็นบุตรคนที่ 6 ในจำนวน 9 คนของ นายบุญส่ง และนางพร่อม บูรณะพิมพ์ เข้าสู่วงการในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ด้วยการชักชวนของพี่สาว ชื่อ ไพพรรณ บูรณะพิมพ์ โดยสมัครเป็นนักร้องในวงดนตรีของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ควบคุมวงโดยครูนารถ ถาวรบุตร เริ่มเป็นนางเอกละครเวทีครั้งแรกในปี พ.ศ. 2485 เรื่อง พันท้ายนรสิงห์ คู่กับสุรสิทธิ์ สัตยวงษ์ และย้ายไปเป็นนางเอกละครคณะศิวารมณ์ และมีชื่อเสียงจากละครเรื่อง ราชินีบอด บทประพันธ์ของสุวัฒน์ วรดิลก ในปี พ.ศ. 2493 และเริ่มเป็นผู้จัดละครเอง โดยซื้อลิขสิทธิ์เรื่อง หนึ่งในร้อย ของดอกไม้สด โดยให้ครูเนรมิตเป็นผู้กำกับ

สุพรรณ บูรณะพิมพ์ เริ่มแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกคู่กับ ชูชัย พระขรรค์ชัย เรื่อง พันท้ายนรสิงห์ ของอัศวินภาพยนตร์ อำนวยการสร้างโดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล กำกับการแสดงโดย มารุต ฉายครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2493

สุพรรณ บูรณะพิมพ์ สมรสกับ ประสิทธิ์ ยุวะพุกกะ มีบุตรสาวสองคน คือ พิมพ์พรรณ บูรณะพิมพ์ และกิติกัญญา บูรณะพิมพ์

สุพรรณ บูรณะพิมพ์ เสียชีวิตเมื่อ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2528 ขณะนั้นกำลังกำกับละครโทรทัศน์เรื่อง สายโลหิต จากบทประพันธ์ของโสภาค สุวรรณ ทางช่อง 3 และเตรียมการสร้างละคร "วิวาห์พระสมุทร" จากบทพระราชนิพนธ์ละครร้อง ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และ "แผลเก่า" จากบทประพันธ์ของ ไม้ เมืองเดิม ค้างอยู่ ขณะมีอายุได้ 59 ปี

ประวัติของครูสง่า อารัมภีร(1)

โดย คีตาพญาไท

ในบรรดาศิษย์เก่ากองดุริยางค์ทหารอากาศ ที่มีชื่อเสียงมีผลงานโดดเด่นเป็นที่ยอมรับ และรู้จักกว้างขวางรวมทั้งมีคุณประโยชน์ต่อวงการดนตรีไทย วงการเขียน และวงการบันเทิงเห็นจะไม่มีใครเด่นไปกว่า "ครูแจ๋ว" หรือ "น้าแจ๋ว" "พี่แจ๋ว" หรือ ครูสง่าอารัมภีร ของใครต่อใครไปได้
            ยิ่ง ครูสง่า อารัมภีรเป็นนักเขียนเรื่องราวที่น่ารู้ต่างๆ ในนิตยสาร หนังสือพิมพ์ต่างๆหลายฉบับอยู่เป็นประจำ เฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องราว ประวัติ หรือเกร็ด ของครูเพลงนักดนตรี นักร้อง หรือ นักแสดง ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้คนรุ่นหลังๆได้มีโอกาสรู้ถึงความเป็นมาความเป็นไปในวงการได้เป็นอย่างดี  มาระยะหลังๆ เมื่อ ครูสง่าอารัมภีร ล่วงไปแล้ว ก็ยังมีอภิชาตบุตร ที่เป็นลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น บูรพา อารัมภีรนำเอาเรื่องราวต่างๆ ที่น่ารู้มาเผยแพร่ สานต่อเจตนารมณ์ของ ครูสง่า อารัมภีรก็ทำให้คนอ่านมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องราวต่างๆกว้างขวางออกไปอย่างต่อเนื่อง

จากหนังสือประวัติและผลงานของครูสง่า อารัมภีร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล)ที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ตีพิมพ์ออกเผยแพร่นั้นระบุรายละเอียดไว้ว่า       
            "นายสง่า อารัมภีรหรือที่รู้จักกันในนามแฝงว่า "แจ๋ว วรจักร"เป็นคนกรุงเทพฯโดยกำเนิด...เกิดที่ตำบลบางขุนพรหม เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2464 บิดาชื่อสมบุญ และมารดาชื่อ พิศ ตระกูลฝ่ายบิดามีอาชีพในการทำดอกไม้ไฟมารดามีอาชีพทำนา...
            เมื่อเกิดมานั้น บิดามารดาเห็นว่าเป็นเด็กที่ชะตาแรง ด้วยความเชื่อถือในเรื่องโหราศาสตร์จึงยกให้เป็นบุตรบุญธรรม ของ นาวาอากาศเอก ขุนสวัสดิ์ฑิฆัมพร และ นางพิศวง (หรือทรงสอางค์) ฑิฆัมพร ทั้งยังได้เปลี่ยนดวงชะตา มาเป็นคนเกิดวันที่ 13 ธันวาคม 2466 โดยเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตของ นายสง่า อารัมภีรดีขึ้นด้วยประการทั้งปวง..."

จากการที่เป็นเด็กแถวบางขุนพรหมซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของวงดนตรีไทยที่มีชื่อเสียงเช่น วงดนตรีไทยวังบางขุนพรหมของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต หลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น โรยชีวิน) หลวงเสียงเสนาะกรรณ (พัน มุกตวาภัย) ขุนสนิท บรรเลงการ (จงจิตตเสวี) ซึ่งอยู่ใกล้เคียงละแวกนั้น ทำให้ความรัก และสนใจในเพลง เฉพาะอย่างยิ่งด้วยเหตุที่พ่อและแม่บุญธรรมทั้งสองคนเป็นคนที่รักและชอบการดนตรีและการละครอยู่ด้วยจึงมีโอกาสได้ฟังเพลงจากแผ่นเสียงที่ซื้อหามาฟังเล่นอยู่ในบ้าน ทำให้ครูสง่าอารัมภีร ได้มีโอกาสฟังเพลงไทยและเทศ รวมทั้งเพลงละครที่แสนจะไพเราะจากพรานบูรพ์ในสมัยนั้นเรื่อยมาตั้งแต่เด็ก

ครูสง่า อารัมภีรเริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนแถวบางขุนพรหม ต่อมาเมื่อบิดา มารดาบุญธรรมย้ายไปรับราชการที่ จังหวัดลพบุรี ก็เรียนหนังสือที่บ้านโดยมีมารดาบุญธรรมเป็นผู้สอน จนสามารถสอบเทียบชั้นมัธยมปีที่ 3 และได้เข้าฝึกงานในหมวดซ่อมของกองบินน้อยที่ 4 โคกกระเทียม

ด้วยเหตุที่บิดา มารดาบุญธรรมทั้งสองท่านมีความสนใจเรื่องหนังสือ การดนตรี การแสดงละครต่างๆ อยู่แล้ว ทำให้ครูสง่า อมรัมภีรมีโอกาสได้อ่านหนังสือวรรณคดี วรรณกรรม ผลงานการเขียนของนักเขียนชั้นแนวหน้า เช่นดอกไม้สด แม่อนงค์ ยาขอบ ฯลฯจึงมีความใฝ่ฝันที่อยากจะเป็นนักเขียนกับเขาอยู่บ้าง
            นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสฟัง ผลงานเพลงอมตะของครูเพลงสมัยนั้น จากแผ่นเสียงที่บ้าน เช่นเพลงของพรานบูรพ์ หลวงวิจิตวาทการ รท.มานิตย์ เสนะวีณิน ขุนวิจิตรมาตรา ฯลฯทำให้เกิดความบันดาลใจในสุนทรียะด้านการดนตรีเรื่อยมา
            ในประวัติชีวิตและผลงานของนายสง่า อารัมภีรเขียนเล่าเอาไว้ว่า

"...ในเรื่องของการศึกษาวิชาดนตรีกล่าวได้ว่า นายสง่า เรียนด้วยตนเองมาโดยตลอด เริ่มจากการฟังเพลงซึ่งมีแผ่นเสียงประกอบละครเป็นพื้น ได้แก่เพลงของ พรานบูรพ์ ซึ่งมีนางสาวประทุมประทีปเสน เป็นนักร้องสำคัญ ต่อมาก็แผ่นเสียงเพลงจากละครต่างๆ ของหลวง วิจิตรวาทการเพลงจากภาพยนตร์ศรีกรุงของ เรือโทมานิตย์ เสนะวีณิน และ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่ากาญจนพันธุ์)
            ยุคนั้น เป็นยุคละครเพลงทั้งหมดรวมทั้งละครร้องในแนวเก่า ของ กรมนราธิปประพันธ์พงศ์ ละครคณะแม่เลื่อนเป็นต้น

ทั้งหมดนี้จัดได้ว่าเป็นครูด้วยประสบการณ์การฟังเท่านั้น..."
            ต่อมาในปี พ.ศ.2479 เริ่มเบื่องานเกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องยนต์และอยากใช้ชีวิตที่เผชิญโลกภายนอกด้วยตนเองบ้างจึงออกจากบ้านไปท่องเที่ยวโดยลำพังในต่างจังหวัดรับจ้างคุมเครื่องเรือยนต์ที่อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรีแล้วกลับมาบ้านเพื่อเข้ารับราชการทหาร ในปีพ.ศ.2482
            ที่กองบินน้อยที่ 4 โคกกระเทียม ลพบุรี นั้นเรืออากาศเอกเฉลิมเกียรติ วัฒนางกูรหัวหน้าหน่วยจัดให้มีวงดนตรีบรรเลงขึ้นเพื่อสร้างความรื่นรมย์ให้กับหน่วยทหารครูสง่า อารัมภีร ก็เป็นนักร้องกับวงด้วยเพราะสามารถร้องเพลงและจดจำเนื้อเพลงได้มากกว่าคนอื่นๆและถือโอกาสหัดเครื่องดนตรีบางชิ้น เช่นปี่ปิคโกโล่
            ซึ่งครูสง่า อารัมภีร เล่าถึงประวัติในตอนนี้ไว้ใน ความเอย ความหลัง ว่า
            "...ม.ล.ทรงสอางค์(พิศวง) ฑิฆัมพรป.ม.ท่านเป็นครูเคยสอนที่ร.ร.สตรีวิทยา แล้วลาออกไปอยู่ที่กองบินน้อยที่ 2 ดอนเมืองสมัยคุณหลวงล่าฟ้าเริงรณ เป็นผบ.เมื่อ 2478 ย้ายต่อไป กองบินน้อยที่ 4 โคกกระเทียมสมัยขุนสวัสดิ์ฑิฆัมพร เป็น ผบ.เมื่อ 2479 ถึง 2483
            สมัยนั้นท่านยังไม่มีลูก จึงรับผมไปอุปถัมภ์สอนภาษาไทยชั้นสูง โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ให้ไปอยู่โคกกระเทียม ลพบุรีท่านเขียนนวนิยายต่างๆ หลายร้อยเล่มไปด้วย ผมเลยเป็นหนอนหนังสือตั้งแต่บัดนั้น"
            ด้วยเหตุนี้ผลงานเพลงไทยสากลในยุคละครเวทีหรือเพลงประกอบในภาพยนตร์ที่ครูสง่า อารัมภีรแต่งขึ้น จึงนำเอาบทพระราชนิพนธ์ ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 และบทวรรณกรรมชั้นเยี่ยมของกวีไทยในสมัยโบราณ เช่นจากเจ้าฟ้ากุ้ง สุนทรภู่ นรินทร์ธิเบศ โคลงโลกนิติ ฯลฯมาใส่ทำนองที่แสนไพเราะและมีความหมายยิ่ง เหมือนกันกับที่ครูเอื้อ สุนทรสนานนำเอามาทำไว้ก่อนหน้านั้นแล้วhttp://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9490000073683

ประวัติของครูสง่า อารัมภีร(2)

            เพลงในชุดนี้ครูสง่าอารัมภีร แต่งเอาไว้ด้วยกันหลายเพลง เช่น เพลงเกียรติศักดิ์ทหารเสือ เพลงความรักเพลงครวญ เพลงนี่แหละคน เพลงน้ำใจน้ำค้าง เพลงพี่ซ่านใจ เพลงฟังดนตรีเถิดชื่นใจเพลงรักข้ามขอบฟ้า เพลงราตรีประดับดาว เพลงโศก เพลงสายสวาท เพลงอนิจจาฯลฯ

เพื่อความเป็นศิริมงคลของบทความนี้จึงขออัญเชิญเพลงอนิจจาในล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ซึ่งครูสง่า อารัมภีรนำมาใส่ทำนองให้เกิดเป็นเพลงที่แสนไพเราะเป็นอมตะยิ่งขึ้น       ...
       เพลงเกียรติศักดิ์ทหารเสือ
                       
คำร้องร.6/อิงอร ทำนอง สง่า อารัมภีร ขับร้องบุญช่วย/วิเชียร/ปรีชา
                              โคลง(ร.6)
                         มโนมอบพระผู้เสวยสวรรค์                               แขนมอบถวายทรงธรรม์ เทิดหล้า
       
       ดวงใจมอบเมียขวัญและแม่                                    เกียรติศักดิ์รักข้ามอบไว้แก่ตัว       
       กาพย์(อิงอร)
                       
มโนฯมอบพระผู้ สถิตอยู่ยอดสวรรค์            แขนถวายทรงธรรม์พระผ่านเผ้าเจ้าชีวา
       
ดวงใจมอบให้ขวัญจิตยอดชีวิตและมารดา                      เกียรติศักดิ์รักของข้าชายชาติแท้แด่ตนเอง       
            เป็นเพลงเอกประกอบละครเรื่อง "เกียรติศักดิ์ทหารเสือ" ของอิงอรที่เปิดการแสดงที่โรงละครศาลาเฉลิมไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2483 นำแสดงโดยส.อาสนจินดา สมควร กระจ่างศาสตร์ ทักษิณ แจ่มผล และร่วมขับร้องเพลงนี้ด้วยกันทั้ง 3 คน
            ครูนคร ถนอมทรัพย์ ประธานอนุรักษ์เพลงเก่าให้ข้อมูลเอาไว้ในหนังสือ คอนเสิร์ต เชิดชูครูเพลง ครั้งที่ 3 สง่า อารัมภีรว่า...เพลงนี้เมื่อนำมาบันทึกเสียงในภายหลัง จะขับร้องโดยบุญช่วย หิรัญสุนทรวิเชียร ภู่โชติ และปรีชา บัณยเกียรติสามทหารเสือของวงการเพลงในยุคนั้น       ...
              เพลงฟังดนตรีเถิดชื่นใจ
       
                       คำร้องร.6 ทำนองสง่า อารัมภีร ขับร้อง สุเทพวงศ์กำแหง
                        ชนใดไม่มีดนตรีการในสันดานเป็นคนชอบกลนัก
       
       อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะเขานั้นเหมาะคิดกบฎอัปลักษณ์
       
       ฤาอุบายมุ่งร้ายฉมังนักมโนหนักมืดมัวเหมือนราตรี
             
แฟละดวงใจย่อดำสกปรกราวนรกเช่นกล่าวมานี่
       
       ไม่ควรใครไว้ใจในโลกนี้เจ้าจงฟังดนตรีเถิดชื่นใจ       
              เพลงนี้เป็นที่นิยมร้องกันในหมู่นักดนตรีนักร้อง ที่มีสุนทรียทางด้านการดนตรีอยู่เป็นประจำและใช้ในการอ้างอิงประโยชน์และคุณูปการของดนตรีในการดำรงชีวิต สุเทพ วงศ์กำแหงขับร้องบันทึกแผ่นเสียงเอาไว้เมื่อปีพ.ศ.2498 เป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เรื่องเวนิสวาณิช ซึ่งเป็นลทละครของวิลเลียม เชกสเปียร์กวีเอกของโลกชาวอังกฤษที่มีผลงานก้องโลกและเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย       
            บทกลอนที่รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์เอาไว้นั้นมาจากต้นฉบับเดิมที่ว่า
                        The man that hath no music in himself,
            Nor is not mov'd with concord of sweet sounds,
            Is fit for treason, stratagaems and spoils,
            And his affections are dull as night,
            And his affections drak as Erebus:
            Let no such man be trusted.

            เป็นตอนที่ลอเร็นโซ ซึ่งเป็นชู้รักของนางเช็สสิกาธิดาของยิวไชล็อก ออกมามาหยอกเย้ากันตามประสาคู่รัก หน้าเรือนของนางปอร์เซียซึ่งอยู่ในองค์ที่ 5 ของบทละครดังกล่าว   ...

เพลงความรัก
                       
คำร้อง ร.6 ทำนอง สง่า อารัมภีร ชนิรทร์ นันทนาคร/สวลีผกาพันธุ์
                         ความเอยความรัก เริ่มสมัครชั้นต้น ณหนไหน
       
       เริ่มเพาะเหมาะกลางหว่างหัวใจหรือเริ่มในสมองตรองจงดี
       
       แรกจะเกิดเป็นไฉนใครรู้บ้างอย่าอำพรางตอบสำนวนให้ควรที่
       
       ใครถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงระตีผู้ใดมีคำตอบขอบใจเอย       
       
                       ตอบเอ๋ยตอบถ้อยเกิดเมื่อเห็นน้องน้อยอย่าสงสัย
       
       ตาประสบตารักสมัครไซร้เหมือนหนึ่งให้อาหารสำราญครัน
       
       แต่ถ้าแม้สายใจไม่สมัครเหมือนฆ่ารักเสียแต่เกิดย่อมอาสัญ
       
       ได้แต่ชวนเพื่อนยามาพร้อมกันร้องรำพันสงสารรักหนักหนาเอย       
              ชรินทร์ นันทนาคร และ สวลีผกาพันธุ์ ขับร้องบันทึกแผ่นเสียงไว้เมื่อปีพ.ศ.2505 เป็นเพลงที่ครูสง่า อารัมภีรอัญเชิญบทพระราชนิพนธ์ในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 จาก บทละครเรื่องเวนิสวาณิชอีกเช่นกัน เป็นตอนที่บัสสานิโยกำลังจะเลือกหีบเสี่ยงทายของนางปอร์เซียอยู่ในองค์ที่ 3       
              คำร้องนี้พระบาทสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า รัชกาลที่ 6 ทรงนำมาจากบทพระราชนิพนธ์เดิมที่ว่า...
                        Tell me where is fancy bred,
            Or in the heart, or in the head:
            How be got, how nourished?
            Reply,reply,
                        It is engender'd in the eyes,
            With gazing fed, and fancy died,
            In the cradle where it lies:
            Let us on ring Fancy's Knell.
                        I'll begin it
            Ding,dong,bell.
            Ding,dong,bell.

           แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยะภาพด้านภาษาและการประพันธ์ของพระองค์ได้เป็นอย่างดีhttp://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9490000074748

ประวัติของครูสง่า อารัมภีร (3): ชีวิตวัยหนุ่ม

            ครูสง่า อารัมภีรเล่าถึงชีวประวัติช่วงที่กำลังเจริญวัย เป็นชายหนุ่มที่มีไฟอยู่ในตัวจึงดิ้นรนที่จะออกไปเผชิญโลกภายนอกเพื่อเป็นการหาประสบการณ์ว่า
            "...ถึงปี 2480 จน 2482 ผมหนีท่านไปเป็นนายท้ายเอ็นจิเนียร์เรือสมคิดการค้าและวัยคะนองที่ปากอ่าวบ้านแหลมเพชรบุรี
            ...อำเภอบ้านแหลม ประกาศเด็กอายุ 17 ปีขึ้นทะเบียนทหาร ใครไม่ขึ้นทะเบียน จะเอาผิดกับพ่อแม่นั่นแหละผมจึงกลับไปกราบท่านที่ บน. 4 โคกกระเทียม ท่านก็อนุเคราะห์ให้เป็นลูกหลานทอ.ให้จ่ากอง นำไปขึ้นทะเบียน และเป็นมหารเด็กทันที...
       
            ...ต้นปี 2484 ก็ย้ายมาเรียนที่โรงเรียนดุริยางค์ ทอ. ทุ่งมหาเมฆอำนวยการสอนโดยพระเจนดุริยางค์ เรียนรุ่นแรกจบแล้ว ได้ยศเป็นจ่าอากาศตรี พ.ศ. 2486"

ในปีพ.ศ. 2484 นั้นกองทัพอากาศกำลังมีดำริที่จะสร้างภาพยนตร์เสียงในฟิล์ม เรื่องบ้านไร่นาเราขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลและจอมพลป. พิบูลสงครามหลังจากที่ได้ตกลงซื้อกิจการทั้งปวงของบริษัทภาพยนตร์ไทยฟิล์มต่อจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล มาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2482 (ดูประวัติกองดุริยางค์ทหารอากาศ ตอนที่แล้ว) ซึ่งเป็นเหตุให้ ครูเอื้อ สุนทรสนานและทีมนักดนตรีทั้งหลายย้ายเข้าสังกัด กรมโฆษณาการแทน เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน (ถือเป็นการกำเนิดวงดนตรีสุนทราภรณ์ วงดนตรีกรมโฆษณาการ และประชาสัมพันธ์ที่มีอายุยืนยาวกว่าวงดนตรีทุกวงของไทยในปัจจุบันนี้)
            ในภาพยนตร์เรื่องบ้านไร่นาเรานี้เองทำให้ครูสง่า อารัมภีรได้มีโอกาสรับใช้ใกล้ชิดท่านพระเจนดุริยางค์ และ ขุนวิจิตรมาตราซึ่งมีบทบาทสำคัญในการประพันธ์บทเพลงและคำร้อง และได้สังเกตศึกษาวิธีการทำงานของครูผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคทั้งสองท่านรวมทั้งได้ร่วมแสดงเป็นตัวประกอบในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวอีกด้วย
            ครูสง่า อารัมภีรซึ่งมีความประทับใจในความรู้ความสามารถของพระเจนดุริยางค์มากอยู่เป็นทุนเดิมจึงได้พยายามจดจำวิธีการทำงานของครูเพลงผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้อย่างใกล้ชิดและนำเอามาเป็นแนวทางในการแต่งเพลงในเวลาต่อๆ มาโดยเขียนเล่าไว้ในหนังสือ ความเอย ความหลัง ไว้ว่า
            "...เมื่อน้ำท่วม ปี พ.ศ.2485 ท่านอาจารย์ปิติ วาทยะกร (นามท่านสมัยนั้น)พักอยู่ที่ "ตำหนัก" จนน้ำลดพอเดินได้จึงได้กลับบ้านและที่นี่เองผมได้แอบดูท่านอาจารย์แต่งเพลงหรือไม่ก็ทบทวนเพลงที่ท่านจะฝึกซ้อมดุริยางค์ในวันรุ่งขึ้น
            เพลงที่ท่านทำเอาไว้ในสมัยนั้น มีสองแบบคือแต่งขึ้นเองแบบหนึ่งและนำทำนองมาประสานเสียงแบบหนึ่ง ที่แต่งขึ้นก็มี "ศรีอยุธยา" ท่อน 2 และ 3 ...
            จากนั้นก็แต่งและเรียบเรียงเพลงแบ็กกราวนด์ให้ภาพยนตร์ทหารอากาศเรื่อง บ้านไร่นาเราเพลงเรื่องแสงทอง กะดึงก้องกริ๋งมา นี่ท่านเป็นผู้แต่งและเรียบเรียง...
            เพลงนำในมหาอุปรากร "ดารณี"ท่านก็ทำที่นี่ สกอร์วงใหญ่ขณะนี้ดูเหมือนอยู่ที่กองดุริยางค์ทอ.
            ขณะนั้น น้ำท่วมญี่ปุ่นเต็มเมือง แขกเมืองก็มีแต่ญี่ปุ่นประจำ ท่านจึงนำเพลงญี่ปุ่นเพราะๆมาเรียบเรียงเสียงประสานให้วงดุริยางค์ ทอ.บรรเลงเพลงเหล่านั้นจะชื่ออะไรท่านคงขี้เกียจจำ จึงเขียนกำกับสกอร์ไว้ว่า ญี่ปุ่น 1 ญี่ปุ่น 2 และญี่ปุ่น 3 จำชื่อง่ายดี...
            ท่านอาจารย์ปิติแต่งเพลงเร็วมาก ตามที่ผมแอบดูท่านสมัยที่พักอยู่ที่ตำหนักที่ใต้ถุนตำหนัก ก็มีโต๊ะให้ท่านนั่งทำงาน แล้วก็มีเปียโนอยู่ 1 หลังพอจะแต่งเพลงท่านก็หยิบกระดาษโน้ตจากโต๊ะ ลุกไปที่เปียโนนั่งไล่เสียงให้นิ้วคล่องเสียหน่อยหนึ่งจากนั้นก็ตั้งบันไดเสียง...
            ท่านเขียนเพลงและเรียบเรียงเพลงวันละ 2 - 3 ชั่วโมงก็เสร็จ สามโมงเช้านั่งเขียนพอเที่ยงก็เสร็จ
            พอรุ่งขึ้นก็ส่งให้นักลอกสกอร์ไปเขียนพอรุ่งเช้าก็เอาโน้ตไปให้วงดนตรีซ้อมแต่ละคนในตอนเช้าพอบ่ายก็ปรับวงได้
            เพราะแอบดูท่านแต่งเพลงหลายหนจึงรู้ว่าท่านแต่งเพลงแบบเขียนกลอนหรือกาพย์ หรือโคลง เพลงของท่านมีแบบเช่นเดียวกับ "ฉันทลักษณ์"
            เพลงของท่านทุกเพลง มีอำนาจและวิญญาณอันสมบูรณ์ท่านแต่งทำนองและประสานเสียงออกมาแล้ว คนเขียนคำร้องฟังดูแล้วเข้าใจทีเดียวว่าท่านจะเขียนคำร้องแบบไหน จะเป็นแบบสดุดี หรือธรรมชาติยามเช้า หรือยามกลางคืนทำนองเสียงประสานของท่านบอกไว้หมด       
             หมายความว่าไม่มีเนื้อร้องก็ฟังเข้าใจ หลับตาฟังแล้ว ก็เห็น "ภาพพจน์"ในสมองอย่างสมบูรณ์"
            นอกจากพระเจนดุริยางค์แล้ว ครูสง่าอารัมภีร ยังได้ครูโพธิ์ ศานติกุล (โพธิ์ดำ) และครูโพธิ์ ชูประดิษฐ์ (โพธิ์ขาว)ช่วยสอนและให้คำแนะนำในการแต่งทำนองเพลงอีกด้วยhttp://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9490000076827

 ประวัติของครูสง่า อารัมภีร (4) : ประวัติเพลงน้ำตาแสงไต้

ส่วนทางด้านการประพันธ์คำร้องนั้น ครูสง่า อารัมภีรได้คำแนะนำจากเรืออากาศโท ทองอิน บุณยเสนา ซึ่งเป็นนักเขียนชื่อดังที่มีนามปากกาว่า "เวทางค์" (ที่บอกรงค์ วงษ์สวรรค์ว่า "เว" มาจากคำว่า way ที่แปลว่า "ทาง" แล้วเติม "ค์" เท่านั้นเอง) รวมทั้งครูมารุต (ทวี ณ บางช้าง) และ ครูเนรมิต (อำนวย กลิสนิมิ)ซึ่งมีบทบาทอย่างสำคัญในการเขียนบทและกำกับละครเวทีในยุคนั้น เป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาอยู่ด้วยตลอดอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผลงานเพลงอมตะ "น้ำตาแสงไต้"อันเป็นที่รู้จักันอย่างกว้างขวาง แพร่หลายมานานหลายสิบปี
             ครูสง่า อารัมภีร เล่าถึงความเป็นมาของเพลงน้ำตาแสงไต้นี้ไว้อย่างน่าสนใจยิ่งว่า
            "ผมจำได้แม่นยำว่า "วันนั้น"ในราวเดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2487 ศิวารมณ์กำลังซ้อมละครเรื่องพันท้ายนรสิงห์อยู่ที่ห้องครูเล็กศาลาเฉลิมกรุงดูเหมือนจะเข้าโปรแกรมวันที่ 10 พฤศจิกายนเราซ้อมกันอย่างหนักเพราะเป็นสมัยที่เริ่มงานกันใหม่ๆกำลังฟิต
            สุรสิทธิ์ จก สมพงษ์ และทุกๆคนมาซ้อมตั้งแต่เช้าจรดเย็นทุกวัน
            เนรมิต มารุต สมัยโน้นเข้าคู่กันคร่ำเครียดกับบท และวางคาแร็กเตอร์ตัวละครเป็นการใหญ่นาฏศิลป์ก็ซ้อมกันไป นักร้องก็ร้องกันไป เสียงแซดไปทั่วห้องเล็กเฉลิมกรุงตั้งแต่ 9 น. ถึง 15.30 น. ทุกวัน
            ตอนนั้นผมมีหน้าที่แต่เพียงดีดเปียโนสำหรับนาฎศิลป์เขาซ้อมและต่อเพลงนักร้องเท่านั้นผู้แต่งเพลงศิวารมณ์คือ ประกิจ วาทยกร และ โพธิ์ ชูประดิษฐ์ ผมเป็นนักดนตรีใหม่ๆยังไม่ถึงปีเลย เพลงก็ยังแต่งกับเขายังไม่เป็น และไม่เคยคิดว่าจะแต่งกับเขาได้ยังไงได้แต่ดูเขาแต่งเท่านั้น วันหนึ่งๆก็ได้แต่ดีดีดเปียโนจนเมื่อยนิ้วไปหมด..."
            เหตุการณ์ต่อมาก็คือเพลงเอกของเรื่องยังแต่งไม่เสร็จแม้ครูเพลงทั้งสองจะแต่งมาให้แล้ว แต่เจ้าของเรื่องและผู้กำกับยังไม่พอใจเพราะต้องการให้เพลงนั้นมีท่วงทำนองแบบไทยๆ หวานเย็นและเศร้าโดยที่ทำนองเพลงของครูประกิจออกไปทางฝรั่ง ส่วนของครูโพธิ์ก็เป็นไทยครึ่งฝรั่งครึ่ง ทุกคนต่างพากันอึดอัดเพราะเรกงว่าจะเสร็จไม่ทันวันเปิดการแสดง
            เย็นวันนั้นครูสง่า อารัมภีรก็ไปนั่งดื่มเหล้ากับครูเวทางค์ที่ร้านโว่กี่ตรงข้ามศาลาเฉลิมกรุงและก็ปรารถถึงการแต่งเพลงน้ำตาแสงไต้ซึ่งเป็นเพลงเอกในละครเรื่องพันท้ายนรสิงห์ที่ยังค้างคาอยู่ไม่แล้วเสร็จ
            ครูทองอินหรือเวทางค์ ก็บอกว่า
            "เพลงไทยนั้นมีแยะแต่ไอ้รสหวานเย็นและเศร้าที่หง่าว่ามันมีน้อยที่อั๊วชอบมากและรู้สึกหวานเย็นเศร้าก็เห็นจะมีแต่ เขมรไทรโยคและลาวครวญเท่านั้น"
            เมื่อพูดขาดคำ ครูเวทางค์ก็ร้องให้ฟังเสียงดังลั่นร้านว่า
            "ร้อยชู้หรือจะสู้เนื้อเมียตนเมียร้อยคนหรือจะสู้พระแม่ได้..."                 
             ร้องไม่ทันจบก็ขึ้นเพลงใหม่
            "เสียงนกยูงทอง มันร้องโด่งดัง หูเราฟังหูเราฟัง..." ทันที จนคนในร้านพากันขำ หัวร่อกันทุกคน       
             ซึ่งคืนนั้นครูสง่า อารัมภีร เล่าว่า ตนเองได้ข้ามฟากมานอนที่เก้าอี้ยาวของแผนกฉากแล้วหลับฝันไปว่า
            "...มีคนอยู่ 4 เป็นชาย 3 หญิง 1 แต่งกายแปลกมากเหมือนนักรบไทยโบราณ เขาถอดหมวกวางไว้บนเปียโนคนเล่นเปียโนผิวค่อนข้างขาว หน้าตาคมคาย อีกคนหนึ่งผิวคล้ำ นั่งอยู่ทางขวาของเปียโนคนที่ 3 อายุมากกว่า 2 คนแรก ผมหงอกประปราย ท่าทางเป็นผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่หน้าตาอิ่มเอิบ ปล่อยผมยาวปรกบ่ากำลังเอามือท้าวเปียโนอยู่ด้านซ้าย..."
            ในความฝันนั้นครูสง่าอารัมภีร เล่าว่า ชายคนแรกที่ชื่อเทพ เล่นเปียโนเพลงเขมรไทรโยคส่วนผู้หญิงที่ชื่อธิดานั้น เล่นเพลงลาวครวญ และชายผิวคล้ำคนที่สามที่ชื่อว่าอมรนั้นนำเอาเพลงทั้งสองเพลงมาผสมกันอย่างไพเราะและกลมกลืนกัน
            ครูสง่า อารัมภีรเขียนเล่าเอาไว้ว่า
            "...ท่านที่รัก เสียงที่ลอยมาจากเปียโนนั้นสำเนียงไทยแท้มีรส "หวานเย็นเศร้า"
            ศิษย์ทั้งสองของเขาจับมือกันอย่างเป็นสุขหน้าของผู้มีอายุยืนยิ้มละไม
            คุณครูอมรได้รวมวิญญาณของเขมรไทรโยคและลาวครวญให้เป็นเกลียวเขม็งเข้าหากันอย่างสนิทแนบสำเนียงและวิญญาณถอดออกมาจากเพลงทั้งสองอย่างครบถ้วนโดยที่เพลงเดิมไม่ได้เสียหายอะไรแม้แต่น้อย ดูดุจสองวิญญาณเก่าเข้าเคล้ากันจนเกิดวิญญาณใหม่ที่สวยงามขึ้นอีกวิญญาณหนึ่ง..."
            เพราะเหตุที่ครูสง่า อารัมภีร เปงเป็นนักเขียนเล่าเรื่องเกี่ยวกับผีๆ สางๆและวิญญาณต่างๆและมีแฟนติดตามอ่านกันมากมายหลายเรื่องถึงขนาดพิมพ์รวมเล่มในชื่อว่าหนังสือแจ๋วเจอผีโดยใช้นามปากกาว่า "แจ๋ว วรจักร" เช่นเรื่อง วิญญาณสุนทรภู่ แจ๋วเจอพี่เหม ฯลฯการเขียนเล่าเรื่องในแนวแบบนี้จึงน่าอ่าน น่าติดตาม
            ครูสง่าอารัมภีร เล่าต่อไปอีกว่า
            "...บ่าย 3 โมงวันนั้น...เมื่อนาฎศิลป์และละครกลับกันไปแล้ว บนห้องเล็กเหลือ ผม เนรมิต มารุตสุรสิทธิ์
            เนรมิตและมารุตพากันบ่นถึงเพลงน้ำตาแสงไต้ว่าทำนองที่คุณประกิจส่งมายังใช้ไม่ได้ ไม่ตรงกับความประสงค์ สุรสิทธิ์บ่นว่าเหลืออีก 3 วัน เดี๋ยวก็ร้องไม่ทันหรอก
            ผมนั่งฟังเขาสักครู่ก็หันมาดีดเปียโน
            ท่านที่รักความรู้สึกที่บอกไม่ถูกได้พานิ้วมือของผมบรรเลงๆ ไปตามอารมณ์ผมก็ไม่รู้ว่าเป็นเพลงอะไร เพราะเคลิ้มๆ ยังไงพิกล ก็ได้ยิน เนรมิตถามว่า
            "หง่า...นั่นเพลงอะไร?"
            ผมสะดุ้งพร้อมกับนึกขึ้นได้ และจำทำนองได้ทันทีว่าเป็นเพลงที่ครูอมรดีดเป็นเพลงที่ผมได้ฟังอย่างประหลาด ผมจำได้หมด
            ในบัดนั้นผมหันไปถามเนรมิตว่า "เพราะหรือฮะ"
            เนรมิตพยักหน้าพลางบอกให้ผมเล่นใหม่ ผมก็บรรเลงอีกหนึ่งเที่ยว ทั้ง เนรมิต และมารุตก็พูดขึ้นว่านี่แหละ "น้ำตาแสงไต้"
            ผมดีใจรีบจดโน้ตและประพันธ์คำร้องกันเดี๋ยวนั้นจากพล็อตขององค์ชายใหญ่เจ้าของเรื่อง มารุตเอ่ยขึ้น..."นวล เจ้าพี่เอย..."เนรมิตต่อ "คำน้องเอ่ยล้ำคร่ำครวญ" แล้วก็ช่วยกันต่อ "ถ้อยคำดั่งเหมือนจะชวนใจพี่หวนครวญคร่ำอาลัย"
            พอจบประโยคแรกสุรสิทธิ์ก็ร้องเกลาทันที ร่วมกันสร้างจบคำร้องในราว 10 นาทีเท่านั้นเอง
            สุดท้ายเพลงก็ทันละครแสดงสมัยนั้นฉากสุดท้ายเมื่อทำนองน้ำตาแสงไต้พลิ้วขึ้น คนร้องไห้กันทั้งโรงแม้พันท้ายฯจะสร้างเป็นภาพยนตร์ ก็ยังใช้ "น้ำตาแสงไต้" เป็นเพลงเอกอยู่"http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9490000080012

ประวัติของครูสง่า อารัมภีร (5) น้ำตาแสงไต้-ศาลาเฉลิมไทย

ครูสง่า อารัมภีรสรุปสุดท้ายเป็นการหักมุมที่เก๋ไก๋มากว่า...
           "...จะจริงหรือท่านที่รักที่ผู้ใหญ่พูดกันว่าคนเราเมื่อถึงเวลาเคราะห์ดีหรือเคราะห์ร้ายมากที่สุดมักจะมีผีมีวิญญาณเข้ามาเกี่ยวข้อง เหมือนจะบอกให้รู้ล่วงหน้า บ้างก็มาเข้าฝันบ้างก็มาทำสังหรณ์ บ้างก็ปรากฏให้เห็น บ้างก็กระซิบบอกให้รู้
            และจะจริงหรือ...ว่าในขณะที่ผมเมาหมดสติไปนั้นเป็นเวลาที่จิตสำนึกพักผ่อนแต่จิตส่วนลึกที่เรียกว่าจิตใต้สำนึกเกิดทำงานขึ้นมาและจะจริงหรือ อีกครั้งที่พี่อิน "เวทางค์" ที่เด็กๆ เรียก "ลุงผี" และเพื่อนๆของพี่อิน เช่น ยศ วัชรเสถียร นายรำคาญ คุณมาลัย หม่อมต้อยฯ เรียก "ผี" บ้าง "เจ้าผี" บ้างที่กินเหล้ากับผมในตอนเย็นวันวานได้จุดประกายพลังงานให้ผมโดยไม่รู้ตัว
            ท่านที่รัก ผมยังสงสัยจนกระทั่งบัดนี้"       .....
       
       เพลงน้ำตาแสงไต้
       
                       คำร้อง มารุต/เนรมิต ทำนอง สง่า อารัมภีรขับร้อง สุรสิทธิ์/บุญช่วย/ชรินทร์
                             นวลเจ้าพี่เอยคำน้องเอ่ยล้ำคร่ำครวญ
       
     ถ้อยคำเหมือนจะชวนใจพี่หวนคร่ำครวญอาลัย
           
                น้ำตาอาบแก้มเพียงแซมเพชรไสว
           
แวววับจับหัวใจ เคล้าแสงไต้งามตา
           
               นวลแสงเพชร เกร็ดแก้วอันล้ำค่า
       
     คราเมื่อส่องไฟมาแวววาวชวนชื่นชม       
                       
น้ำตาแสงไต้ ดื่มใจพี่ร้าวระทม
       
     ไม่อยากพรากขวัญภิรมย์ จำใจข่มใจไปจากนวล       
            บูรพา อารัมภีรเขียนเล่า เรื่องเพลงเอกเพลงนี้ต่อเอาไว้ว่า
            "สำหรับลุงผีนั้นเมื่อพ่อแต่งเพลงเสร็จสามารถเกิดในวงการเพลงได้แล้วมักจะพาพ่อไปเจอใครต่อใครทั้งละครต่างคณะหรือนักเขียนสมัยนั้น แล้วจะแนะนำว่า
            "นี่...สง่า...คนแต่งเพลงน้ำตาแสงไต้...น้องชายอั๊ว"อยู่เสมอ
            ผู้ขับร้องเพลงน้ำตาแสงไต้คนแรกคือ สุรสิทธิ์สัตยวงศ์ แต่ไม่มีการบันทึกเสียง ต่อมามีฉลอง สิมะเสถียร กำธร สุวรรณปิยะศิริชรินทร์ นันทนาคร และทรงศักดิ์ ภักดีเทวานำไปขับร้องพร้อมกับได้บันทึกเสียงไว้ด้วย
            ครั้งที่ศาลาเฉลิมไทยได้นำละคร "พันท้ายนรสิงห์" แสดงเป็นเรื่องสุดท้ายก่อนที่โรงละครจะถูกทุบทิ้ง เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2532 ศรัณญู วงศ์กระจ่างก็ได้ร้องเพลงนี้ด้วยเช่นกัน"       
             ในหนังสือคอนเสิร์ตเดี๋ยวก็ลืม ครั้งที่ 2 ของ ส. อาสนจินดา ครูสง่า อารัมภีร ให้สัมภาษณ์ สุกัญญาภัทราชัย ไว้ว่า
            "...เพลงน้ำตาแสงไต้เอามาจากทำนองเพลงลาวครวญ กับ เขมรไทรโยค ผมเอาสองเพลงมาประกอบเป็นเพียงเดียวนี่เป็นวิธีการของผม
            ผมเอาวิธีนี้มาจากพระเจนดุริยางค์เพลงศรีอยุธยา ท่านเอามาจากเพลงสายสมร กับอีก 4 - 5 เพลงเอามาเรียงเมโลดี้ต่อกัน"       .....
       
       ศาลาเฉลิมไทยที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีต
             เนื่องจากโรงละครศาลาเฉลิมไทยมีส่วนอย่างยิ่งต่อวงการแสดงละครเวทีซึ่งในปัจจุบันนี้ศาลาเฉลิมไทยได้ถูกทุบทิ้งเหลือไว้แต่เบื้องหลังในอดีตดันยิ่งใหญ่ต่อวงการละครเวทีเป็นประวัติศาสตร์ที่ควรจดจำ
            จึงขอนำเอาประวัติความเป็นมาของศาลาเฉลิมไทยจากบทความเรื่อง "ความเปลี่ยนแปลงคือสิ่งนิรันดร"ในหนังสือ "มหกรรมดนตรีและวิพิธทัศนาพิเศษ 5 รัชกาลเพลงไทยสากล"มาให้อ่านกันอีกหนว่า...
            "ศาลาเฉลิมไทยเป็นโรงมหรสพแห่งแรกที่รัฐได้สร้างขึ้นเพื่อใช้แสดงละครโดยเฉพาะ มีเวทีแสดงถึง 3 เวที สามารถสร้างฉากเตรียมฉากได้พร้อมกัน 3 ฉาก เลื่อนเข้าออกได้ด้วยพลังไฟฟ้าเช่นเดียวกับคอกดนตรีหน้าม่านซึ่งพื้นเลื่อนขึ้นได้ตามต้องการห้องแต่งกายผู้แสดงหญิงและชายตลอดจนสามารถที่สร้างและเก็บรักษาฉากพร้อมสรรพ
            ศาลาเฉลิมไทยสร้างเสร็จสมบูรณ์ปลายปี พ.ศ.2491เปิดแสดงละครเรื่องแรก "ราชันย์ผู้พิชิต"กลางเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2492"
            ในบทความเรื่อง "ศาลาเฉลิมไทย จะต้องอวสานจริงๆ หรือ" ของสง่า อารัมภีรเขียนเล่าเรื่องอันน่าสนใจของโรงภาพยนต์ศาลาเฉลิมไทยไว้ดังนี้
            "...อาคารศาลาเฉลิมไทยตามข้อความ "ราชดำเนินไทยนิยม เฉลิมไทย" ของบัณฑิต จุลาสัยลงตีพิมพ์ในนิตยสารบ้านและสวน(ฉบับที่ 142) ระบุว่า ออกแบบโดยนายจิตรเสน(หมิว)อภัยวงศ์ สถาปนิกไทยรุ่นแรกที่จบจาก Ecole Des Beaux Arts ประเทศฝรั่งเศสงบประมาณก่อสร้าง 339,694 บาท
            การก่อสร้างใช้เวลานานหลายปีเนื่องจากอยู่ในช่วงสงครามอินโดจีน เสร็จสมบูรณ์ เมื่อพ.ศ.2491 เป็นทรัพย์สินของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงพระราชทานนานไว้แล้ว มีศาลาเฉลิมกรุงศาลาเฉลิมนคร ศาลาเฉลิมบุรี ศาลาเฉลิมเวียงและศาลาเฉลิมไทย เป็นศาลาสุดท้ายแต่ละแห่ง พระราชทานตราครุฑ ติดไว้หน้าโรง..."
            "...ละครเรื่องราชันย์ผู้พิชิต บทประพันธ์ของแก้วฟ้าและอิงอรเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2492 ตัวแสดงจากคณะวิจิตร์เขษมครบครัน อาทิ วสันต์ สุนทรปักษิณม.ล.รุจิรา มารศรี ล้อต๊อก สถาพร จินตนา มุกดาประหาร เป็นต้น
            พิเศษสุดคือเชิญรองนางสาวไทย เรณู พิบูลย์ภาณุวัตร์ เป็นนางเอกผู้คนแตกตื่นเข้าชมกัน เพราะเธอ สูง สวย ภายหลังเธอคือคุณเรณู ภมรมนตรี ภรรยาเกอริงเมืองไทย พลโทประยูร ภมรมนตรี คุณพ่อคุณแม่ของพระเอกยุคปัจจุบัน ยอดมนู และยุรนันท์ ภมรมนตรี
            ครูนารถ ถาวรบุตร ยกวงดนตรีทรัพย์สินฯวงใหญ่ มาบรรเลงเพลงประกอบละคร..."
            "คณะเทพศิลป์ เชาวน์แคล่วคล่อง นำดนตรีทหารบก, คณะอัศวินการละคร สุรพล แสงเอก นำดนตรีศิลปากร, คณะศิวารมณ์ผมก็นำทหารอากาศมา ก็มี ปรีชา เมตไตรย์ มนัส ปิติศานต์ ฑีฆาโพธิเวส...       
             เมื่อมีการปฏิวัติบ่อยๆ เข้าดนตรีศิวารมณ์จึงรวมบก เรือ อากาศ ตำรวจ ศิลปากร ไว้หมด นักดนตรีเกษียณอายุ แต่ฝีมือดีๆทั้งนั้น...
            คณะละครศิวารมณ์มาเปิดแสดงที่ศาลาเฉลิมไทยด้วยเรื่องริมฝั่งเนรัญชรา ของ อิงอรส.อาสนจินดา และสุพรรณ บูรณพิมพ์ นำแสดงเช่นเคย...
            ศาลาเฉลิมไทยปิดม่านละครเวทีจริงๆ ด้วยเรื่อง ช้องนาง ของ อิงอร ภรรยาของอิงอรคุณเนาวนิจโกนหัวแสดงจริงๆ...
            ก่อนที่ศาลาเฉลิมไทยจะถึงกาลอวสานส.อาสนจินดาเรียกร้องทุกวิถีทางเพื่อการแสดงละครเวทีอีกครั้งจนเลิกร้องเรียนไปแล้ว
            ครูสง่าเขียนถึงเฉลิมไทยไว้ว่า..."จากปี 2496 มาจน 2531 ก็ฉายหนังกันมา 35 ปีเมื่อเลิกฉายแล้วก็แสดงละครเวทีเรื่องพันท้ายนรสิงห์อยู่ในขณะนี้ทุกสิ่งทุกอย่างก็ประจักษ์แก่ใจของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายดีอยู่แล้วเมื่อศาลาเฉลิมไทยต้องกลายเป็นพลับพลาพิธีของรัฐบาลและพระบรมอนุสาวรีย์ของล้นเกล้าฯร.3 ทำให้มองเห็นโลหะปราสาท ภูเขาทอง ป้อมพระกาฬ ชัดแจ้งงดงามสมเป็นส่วนหนึ่งของเกาะรัตนโกสินทร์"
            คำถามจึงเกิดขึ้นในดวงใจของนักแต่งเพลงละครเวทีศาลาเฉลิมกรุง ศาลาเฉลิมนครศาลาเฉลิมบุรี จากหลังน้ำท่วมใหญ่ปี 2485 เมื่อน้ำแห้งแล้วในปี 2486 ผมก็แต่งเพลงเรื่อยมาจนบัดนี้ว่า
            เราอาลัย "ศาลาเฉลิมไทย"ทำไม? ในเมื่อจากไปดีเช่นนี้" http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9490000083043

ประวัติของครูสง่า อารัมภีร(6)/ศาลาเฉลิมกรุง

ส่วนประวัติความเป็นมาของศาลาเฉลิมกรุงนั้นผู้จัดการออนไลน์ฉบับเมื่อ 3 มิถุนายน 2548 เขียนเอาไว้ใน "ศาลาเฉลิมกรุงวันเปลี่ยน คืนผ่าน แต่ความรู้สึกเดิม" เอาไว้น่าสนใจมากว่า...
            "...เมื่อ พ.ศ.2473 กรุงเทพมหานครจะมีการฉลองกรุงครบ 150 ปีได้มีการประชุมหารือกันในคณะรัฐบาลเพื่อจัดสร้างถาวรวัตถุขนาดใหญ่ซึ่งสามารถอำนวยสาธารณประโยชน์เป็นที่ระลึกการเฉลิมฉลองนี้
            ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระราชประสงค์จะสร้างโรงมหรสพอันเป็นที่เชิดหน้าชูตาของประเทศไว้ในโอกาสเฉลิมฉลองกรุงเทพฯ 150 ปีนี้ด้วย
            โดยทรงโปรดฯให้สร้างเป็นโรงภาพยนตร์สำหรับฉายภาพยนตร์เสียงขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทยแห่งนี้และพระราชทานนามของโรงมหรสพเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ออกแบบและเป็นอนุสรณ์แห่งงานเฉลิมฉลองกรุงเทพฯ 150 ปีว่า "ศาลาเฉลิมกรุง"
            สวลี ผกาพันธุ์ศิลปินแห่งชาติให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้ด้วยว่า
            "ถือว่าเป็นโรงหนังโรงแรกที่ดีที่สุดของเมืองไทยก็ควรเก็บรักษาไว้เพราะเป็นของคู่บ้านคู่เมืองเฉลิมกรุงเป็นของเก่าที่สวยงามมากถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯแค่เห็นหน้าโรงก็สวยเหลือเกินแล้วจนถึงวันนี้เราเองก็ยังมีความประทับใจอยู่..."
            ส่วน สุเทพวงศ์กำแหงศิลปินแห่งชาติอีกคนที่มีความผูกพันอย่างใกล้ชิดกับศาลาเฉลิมกรุงบอกว่า
            "...ก็คือสถานที่ๆ เรามาแจ้งเกิดอย่างไม่เป็นทางการในช่วงที่เราเด็กมากก็ไปต่อเพลงกับครูสง่าอารัมภีรที่หน้าโรงหนังเลย
            พอเราได้เป็นพระเอกหนังเรื่องแรกหนังเราก็ไปฉายที่นั่นด้วย ยิ่งทำให้ประทับใจและผูกพันมาก
            สมัยก่อนที่นี่ดูใหญ่โตโอ่โถงมากมายเพราะว่ามันเป็นที่งดงามมากถึงแม้ที่นั่งจะน้อยแต่มันก็ทำให้คนที่เข้าไปในนั้นรู้สึกภาคภูมิใจว่าเราเป็นคนไทยที่มีพระมหากษัตริย์ตั้งโรงภาพยนตร์ที่เป็นหนึ่งในเอเชีย"       .....
       เพลงละครเวที
       
     เนื่องจากครูสง่า อารัมภีร ได้แจ้งเกิดจากเพลง "น้ำตาแสงไต้" จากเรื่องพันท้ายนรสิงห์ของคณะศิวารมณ์จึงตัดสินใจลาออกจากกองทัพอากาศเพื่อมาทำงานด้านเพลงละครอย่างเต็มตัวตั้งแต่ปี พ.ศ.2488 เป็นต้นมา
            ในหนังสือ "ประวัติชีวิตและผลงานของนายสง่า อารัมภีร" นั้นได้กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า
            "...ชีวิตของนายสง่าอารัมภีร เป็นงานศิลปะ ประยุกต์ทางดนตรีและละครซึ่งต้องอาศัยความสามารถพิเศษหลายประการมารวมกัน ต้องอาศัยความรอบรู้ทั้งในการดนตรีการแสดง และการจัดการแต่งเพลงให้พอเหมาะกับคุณภาพเสียงของนักแสดงให้เหมาะกับบทบาท
            ในการแสดงละครนั้นดนตรีมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่ง มิฉะนั้นจะไม่สามารถดึงคนให้ชมละครอยู่ได้ถึง 2 - 3 ชั่วโมง
            เมื่อมีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จแล้วคณะละครอื่นๆได้ขอให้แต่งเพลงให้ อันได้แก่ คณะเทพศิลป์ คณะชื่นชุมนุมศิลปินฯลฯ
            เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงงานการแสดงละครที่โรงละครเฉลิมไทยก็เด่นดังขึ้น เป็นโรงละครโรงเอกในยุคนั้นงานแต่งเพลงก็เพิ่มขึ้นอีกเป็นทวีคูณ ทั้งเพลงที่ใช้ร้องในฉากจนถึงเพลงสลับหน้าม่าน นับจำนวนเพลงที่ผลิตในยุคนั้นไม่ต่ำกว่า 250 เพลง..."        .....
             นอกจากครูสง่า อารัมภีร จะแต่งเพลงละครเวทีแล้ว ยังแต่งบทละครเวทีบทละครวิทยุและเพลงประกอบละครกับพรรคพวกอีกหลายคน เช่น สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ไสลไกรเลิศ สมาน กาญจนผลิน ชาลี อินทรวิจิตร ฯลฯ
            ได้ร่วมงานด้านการผลิตแผ่นเสียงกับ ต.เง็กชวน นำไท และ กมลสุโกศลโดยคัดเลือกนักแสดงที่เป็นนักร้องบันทึกเสียงเอาไว้หลายคน เช่น สุรสิทธิ์ สัตย์วงศ์สวลี ผกาพันธุ์ ฉลอง สิมะเสถียร เป็นต้น
            ทั้งยั้งได้เรียนรู้ด้านการถ่ายภาพ แต่งภาพจาก มล.ต้อย ชุมสาย และ ประชุม ชาตบุตรโดยมีบ้านชาตพงศ์ที่สี่แยกวรจักรเป็นสถานที่ชุมนุมบรรดาพรรคพวกที่เป็นทั้งนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ นักถ่ายรูป จนได้พบรักกับวิภา ชาตบุตรและได้แต่งงานกันในเวลาต่อมา
            เมื่อแต่งงานแล้วครูสง่าอารัมภีร ก็พักอาศัยอยู่ที่บ้านชาตพงศ์ด้วยจึงตั้งนามปากกาของตนในการเขียนบทความด้านการดนตรี หรือแต่งนิทานเกี่ยวกับผีๆ ว่า "แจ๋ว วรจักร" เพื่อเป็นอนุสรณ์ในความรักของตนเอง
            บูรพาอารัมภีร เขียนเล่าไว้ในหนังสือเบื้องหลังเพลงรักสง่า อารัมภีรว่า
            "...ในปี พ.ศ.2490 ก็ได้แต่งงานมีครอบครัวกับวิภาชาตบุตร หรือ แม่อู๊ดของพวกลูกๆ ทั้งสี่คน
            พ่อเล่าว่าเจอแม่ที่บ้านชาติพงศ์ ที่ตั้งอยู่บนถนนวรจักร...หลังร้านถ่ายรูปชาตพงศ์ตรงข้ามสมาคมวาย.เอ็ม.ซี.เอ.(ปัจจุบันรื้อทิ้งไปหมดแล้ว)
            ที่พิเศษก็คือ เจ้าของบ้านมีชื่อเดียวกันคือ ประชุม (ชาย) และ ประชุม(หญิง)นามสกุลชาตบุตร ผมจำได้ว่า ตอนเด็กๆ ผมเรียกท่านว่า "ตาชุม" "ยายชุม"
            คุณประชุม(ชาย)เป็นเจ้าของร้านถ่ายรูปชาตพงศ์และที่บ้านชาตพงศ์นี้ก็มักจะเป็นที่ชุมนุมของนักเขียนนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น เช่นยาขอบ เวทางค์ ครูมาลัย ชูพินิจหม่อมหลวงต้อย ชุมสาย เป็นต้น       
             เพลงดาวประดับใจเป็นหนึ่งในหลายเพลงไพเราะที่พ่อแต่งให้แม่อู๊ด แต่งขึ้นประมาณ พ.ศ.2495 - 2496 ผู้ขับร้องเพลงนี้มีหลายคน อาทิ สุเทพ วงศ์กำแหง ธานินทร์ อินทรเทพ เป็นต้นและเพลงนี้ก็ได้รับความนิยมจากแฟนเพลงอีกเช่นกัน"        .....
       
       เพลงดาวประดับใจ
           
                คำร้อง ทำนอง สง่าอารัมภีร
       
                       ขับร้อง สุเทพ วงศ์กำแหง/ธานินทร์ อินทรเทพ
                             ชีวิตฉัน ศรัทธาฉัน รุ่งเรืองเพราะคุณ  แม่ยอดรัก เฝ้าการุณย์ร่วมสร้าง
       
     ชีวิตจึง เดินไป ตรงทาง                             ไม่อ้างว้าง เพราะเธอเป็นดาวประดับใจ
                       
ชีวิตเรา ที่จีรัง เพราะสัจจะ              ต่างมานะ พยายาม ให้อภัย
       
     จะมีน้อย ก็แบ่งปัน กันได้                          เพราะสองเราจริงใจ ไม่จืดจาง
                         
ชีวิตฉัน ศรัทธาฉันรุ่งเรืองเพราะคุณ  แม่ยอดรัก เฝ้าการุณย์ ร่วมสร้าง
       
     เรารักกัน เรารักัน ไม่อำพราง                                   ไม่อ้างว้าง เพราะเธอเป็นดาวประดับใจhttp://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9490000086267

ประวัติของครูสง่า อารัมภีร(7)

ในปีพ.ศ.2496 ภาพยนตร์เริ่มมีบทบาทมากขึ้นทำให้วงการละครเวทีเริ่มประสบปัญหาเพราะคนดูหันไปนิยมภาพยนตร์เสียงในฟิล์มมากกว่าจนคณะละครศิวารมณ์ต้องยุติบทบาทลงอย่างสิ้นเชิง ในปีพ.ศ. 2497 ที่โรงละครศรีอยุธยา
            ครูสง่า อารัมภีรจึงหันเข็มเข้าสู่วงการภาพยนตร์และแต่งเพลงอย่างเป็นเอกเทศเพื่อป้อนตลาดแผ่นเสียงต่อไปและได้เข้าร่วมงานกับหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เช่นหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทยนิตยสารดาราไทย ไทยรัฐ ฟ้าเมืองไทย ไทยโทรทัศน์ ถนนดนตรี ฯลฯจนมีผลงานการเขียนเป็นที่รู้จักและนิยมอ่านกันมากขึ้นเป็นลำดับ
            ซึ่งในเรื่องราวของชีวิตตอนนี้ รงค์ วงษ์สวรรค์นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่พี่เอื้อยของวงการน้ำหมึก ศิลปินแห่งชาติคนหนึ่งได้เขียนเอาไว้ว่า
            "...เขาพบและคบหาเป็นเพื่อนกับนักเขียนและคนหนังสือพิมพ์มากมายบางช่วงบางเวลาเขาทำงานกับค่ายสีลมในกองบรรณาธิการเดียวกับทองเติม เสมรสุต (น้าเติม) ชั้นแสงเพ็ญ ไชยยงค์ ชวลิต
            เขาเป็นเพื่อนผู้ถนอมความเป็นเพื่อนอย่างนอบน้อมและนุ่มนวลผ่านมาและผ่านไปถึงเสริมศรี เอกชัย วิมล พลกุล (นายเปี๊ยก) อาจินต์ ปัญจพรรค์ รัตนะยาวะประภาษ ใครและใคร ถึงเฉลิมศักดิ์ รงคผลิน ละเอียด นวลปลั่ง (นักเขียนชาวนา)ในท่ามกลางกระแสผันผวนแห่งชีวิต
            เขาเป็นใคร และอย่างไรเขาคงความอย่างนั้น
            ผู้อ่านถ้าคุ้นเคยกับ เฒ่าหนู เฒ่าโพล้งเฒ่าไปล่ ยายปลิก นังแหม็ด นายเทพ และครูสง่า ตัวละครอมตะของมนัส จรรยงค์ครูสง่านั้น ท่านผู้เป็นนักเขียนแห่งยุค จำลองออกมาจากนิสัยและบุคลิกของเขา...สง่าอารัมภีร
            เมื่อเกิดสถานีวิทยุโทรทัศน์ขาวดำ ช่อง 4 ไทยทีวีบางขุนพรหม ครูสง่า อารัมภีร ก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับวงการทีวีกับเขาด้วยทั้งในด้านการเขียนบทละครทีวี เพลงประกอบบทละครและการแสดงดนตรีออกรายการทีวีอีกด้วย
            หนังสือประวัติและผลงานนายสง่า อารีมภีร เขียนบอกไว้อีกว่า
            "...นายสง่า อารัมภีร ได้มีส่วนช่วยให้นักร้องเพลงไทยสากลมีผลงานดีเด่นเป็นที่รู้จักมากมายหลายคนอาทิ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี สุเทพ วงศ์กำแหงชรินทร์ นันทนาคร สวลี ผกาพันธุ์ จินตนา สุขสถิตย์ นริศ อารีย์ ม.ร.ว.ถนัดศรีสวัสดิวัฒน์ ธานินทร์ อินทรเทพ ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา สุพรรณ บูรณพิมพ์ ชาญ เย็นแขสุรสิทธิ์ สัตย์วงศ์ พิศมัย วิไลศักดิ์ นงลักษณ์ โรจนพันธุ์ฯลฯ..."
       .....ผลงานเพลงของ ครูสง่าอารัมภีร
             ครูสง่า อารัมภีรมีผลงานเพลงอมตะในช่วงแรกจากการแต่งเพลงประกอบละคร และเพลงสำหรับร้องสลับหน้าม่านโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงที่ทำงานอยู่กับละครคณะศิวารมณ์ เพลงประกอบละครเหล่านี้บางเพลงครูสง่า อารัมภีร ก็แต่งเองทั้งคำร้อง และทำนองบางเพลงก็แต่งทำนองเพียงอย่างเดียว เช่น เพลงกล่อม ที่นิพนธ์คำร้องโดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริซึ่งเป็นนักแต่งเพลงที่มีผลงานเพลงอมตะมากมายร่วมกับวงดนตรีสุนทราภรณ์อีกท่านหนึ่ง       
              เพลงกล่อม
                       
คำร้อง พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทำนองสง่า อารัมภีร
                             ลูกเอ๋ยนอนเถิดเสียเจ้า                  ยังอ่อนยังเยาว์ขวัญเจ้าดวงจิตแม่เอย
       
     ห่วงจริงแม่ไม่ทิ้งไปเลย                             นอนเสียเอ่ยตื่นได้เชยชมกัน
                       
ฟังกล่อมฟังเถิดจอมขวัญ               ฟังแม่รำพันให้สวรรค์คุ้มครองเจ้า
       
     ทวยเทพครองป่าครองเขา                           ลูกยังอ่อนเยาว์โปรดเฝ้าดูแล
                       
หลับเสียดวงหทัยของแม่               แม่อยู่ดูแลขวัญแม่นอนเถิดลูกนอน
           
ลูกเอ๋ยแม่เฉลยคำพร                                 บุญครั้งก่อนแม่เคยทำมา
                       
ขอให้บุญช่วยรักษา                      วอนไหว้บูชาให้ฟากฟ้ามาปกป้อง
           
คุ้มเหตุภัยเภททั้งผอง                               เทพเจ้าครองปกป้องดวงใจ
           เป็นเพลงในละครของคณะศิวารมณ์เรื่อง ขุนทัพพญายม จากบทประพันธ์ของ อรวรรณ หรือเลียวศรีเสวก ที่มีนามปากกาหลากหลาย เขียนนวนิยายได้หลายรูปแบบ ได้ชื่อว่าเป็นพญาอินทรีในวงการนักเขียนคนหนึ่งทีเดียว
            บูรพาอารัมภีร เขียนไว้ในหนังสือเบื้องหลังเพลงรัก ของ สง่า อารัมภีรว่า
            "...มีอยู่เพลงหนึ่งที่ใช้ขับร้องในละครเวทีเช่นเดียวกัน เพลงนี้ ท่านจักรทรงพระราชนิพนธ์ด้านคำร้องส่วนทำนองเป็นของพ่อ ชื่อเพลงว่า กล่อม จากละครเรื่อง ขุนทัพพญายม ของ อรวรรณจัดโดยคณะละครศิวารมณ์ซึ่งพ่อเคยคุยถึงการแต่งเพลงนี้ให้ฟังว่า
            "ท่านจักรเคยทำเพลงละครด้วยกันประมาณปี 2492 มั้ง ท่านแต่งเพลงเร็วพอใช้ สมัยนั้นศิวารมณ์ซ้อมละครกันที่บ้านชาตพงศ์ ถนนวรจักร
            เย็นลงราชการเลิกท่านก็ดิ่งมา พ่อดีดเปียโนทำนองเพลงกล่อมให้ฟังท่านฟังอยู่เที่ยวสองเที่ยวก็ทรงเนื้อร้อง ดีดทวนไปมา 4 - 5 เที่ยวเพลงกล่อมท่อนแรกก็จบ ท่านบอกพอแล้ว จำทำนองได้แล้ว ท่อนที่สองจะไปแต่งต่อที่บ้านพอรุ่งขึ้นก็เอาเพลงทั้งหมดมาให้แต่เช้าเลย..."
            เพลงนี้กัณฑรีย์ นาคประภา สิมะเสถียร เป็นผู้ขับร้องคนแรก มัณฑนา โมรากุลได้เป็นผู้ขับร้องบันทึกเสียงกับวงดนตรีโฆษณาการ/สุนทราภรณ์ เป็นคนแรกhttp://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9490000089290

ประวัติของครูสง่า อารัมภีร(8)

ส่วนกับครูแก้วอัจฉริยะกุลนั้น ครูสง่า อารัมภีร รักใคร่สนิทสนมกันมากถึงขนาดขายบ้านในกรุงเทพฯออกไปซื้อที่ปลูกบ้านติดกันที่ซอยเทพพนม ถนนติวานนท์ จ.นนทบุรี ตั้งแต่ปีพ.ศ.2506 จนถึงปัจจุบันนี้ ก็ได้ร่วมกันแต่งเพลงละครเอาไว้หลายเพลงด้วยกันแต่เพลงที่โด่งดังและมีชื่อเสียงมากก็คือเพลงหนึ่งในร้อยนั่นเอง       ...
           
เพลงหนึ่งในร้อย
       
                       คำร้องแก้ว อัจฉริยะกุล ทำนองสง่า อารัมภีร สมจิต ตัดจินดา/สวลี ผกาพันธุ์
                             พราวแพรสอันดวงแก้วแวววาม        สดสีงามหลายหลากมากนามนิยม
           
นิลกาฬมุกดาบุษราคำคม                             น่าชมว่างามเหมาะสมดี
          
                 เพชรน้ำหนึ่ง                               งามซึ้งซึ่งเป็นยอดมณี
           
ผ่องแผ้วสดสี                                           เพชรดีมีหนึ่งในร้อยดวง
                       
ความดีคนเรานี่ดีได้                      ดีน้ำใจที่ให้แก่คนทั้งปวง
       
     อภัยรู้แต่ให้ไปไม่ห่วง                               เจ็บทรวงหนักหน่วงใจให้รู้ทน
                         
รู้กลืนกล้ำ                                 เลิศล้ำความเป็นยอดคน
           
ชื่นชอบตอบผล                                       ร้อยคนมีหนึ่งเท่านั้นเอย
           เพลงนี้สมจิต ตัดจินดาเป็นผู้ขับร้อง บันทึกเสียงไว้เมื่อปี 2494
            บูรพา อารัมภีรเขียนเล่าเรื่องเบื้องหลังของเพลงนี้เอาไว้ในหนังสือเบื้อหลังเพลงรัก สง่า อารัมภีรว่า..."พ่อเล่าว่าสมัยโน้นที่ยุคละครเวทีเฟื่องฟูเป็นที่นิยมของประชาชนทั่วไปตอนนั้นเป็นหน้าร้อน เดือนเมษายน อาสุพรรณบูรณพิมพ์ได้โปรแกรมแสดงละครเวทีที่ศาลาเฉลิมไทยอาสุพรรณขึ้นป้ายโฆษณาริมถนนราชดำเนินว่า "ละครเวทีคณะสุพรรณ จะแสดงเรื่องหนึ่งในร้อย ของ ดอกไม้สด"
            พ่อเล่าว่าดอกไม้สดขอค่าลิขสิทธิ์นำเรื่องไปแสดงเป็นเงินประมาณ 8,000 กว่าบาทในสมัย พ.ศ.2497 นั้นมากทีเดียว...ต่อจากนั้นอาสุพรรณมอบหมายให้ลุงแก้วช่วยทำบทละครเวทีและให้พ่อช่วยแต่งเพลง "หนึ่งในร้อย"แล้วไปโฆษณาทางวิทยุให้ด้วย...เย็นวันนั้นพ่อกับลุงแก้วก็ไปหาอาหารรับประทานกันที่ท้องสนามหลวงไปที่ร้านของครูบุญช่วย กมลวาทิน สั่งแม่โขงพร้อมกับแกล้มนั่งละเมียดกันไปสองคน
            ตอนนั้นเป็นหน้าว่าวท้องสนามหลวงมีการแข่งว่าวจุฬา ปักเป้า นั่งดูว่าวเพลินๆ ลุงแก้วคว้ากระดาษออกมาว่า "เอ้า...แจ๋ว ขึ้นทำนองมา..." พ่อก็ฮัมเพลงเบาๆ "ลา...ลา...ลา"ลุงแก้วขึ้นเนื้อร้องว่า "ความดี คนเรานี้ดีใด ดีน้ำใจที่ให้แก่คนทั้งปวง"ว่าเรื่อยไปจนจบท่อน แล้วก็ขึ้นท่อนหนึ่งว่า "พราวแพรว อันดวงแก้วแวววามสดสีงามหลายหลากมากนามนิยม" จนจบท่อนแรก พ่อเล่าว่ายังไม่ทันพลบค่ำเพลงหนึ่งในร้อยก็เสร็จ
            ครูสง่า อารัมภีรเขียนเล่าถึงการหานักร้องมาร้องเพลงนี้เอาไว้ใน "3 อดีตกาล..ใครร้องเพลงหนึ่งในร้อย เป็นคนแรก" ว่า..."ยังไม่ทันพลบค่ำเพลงก็เสร็จ นัดพบกัน 10.00 น.ที่กรมโฆษณาการด้านหลังซึ่งมีร้านเหล้าริมสะพานเสี้ยวโก้อยู่ ขึ้นไปพบครูเอื้อสุนทรสนาน ครูเอื้อบอกว่าให้นักร้องของกรมไปร้องไม่ได้หรอก ผู้อนุญาตได้มี พล.ท.ขาบกุญชร คนเดียวเท่านั้นและนักร้องของกรมก็มีสัญญาอยู่กับนายเตียง โอศิริแผ่นเสียงตราหมาแดง หมาเขียว และตราโคลัมเบีย แห่งห้างกมลสุโกศลต้องขออนุญาตเขาก่อน มิฉะนั้นเขาฟ้องศาลจะต้องเสียเงินมาก
            ครูแก้ว ยกจอกเหล้าขึ้นดื่มโดยมิได้คาราวะอะไรเลยบอกกับแจ๋วว่า..."ไปโว้ยไปหานักร้องทหารเรือ ทหารบก ทหารอากาศ มีไหมเล่า"เราสองคนขึ้นรถรางสายรอบเมืองแล้วตรงไปศาลาเฉลิมบุรี วงดนตรีเนียน วิชิตนันท์สลับหนังไทยอยู่ พอดีหมดการแสดง สมจิต ตัดจินดา เดินออกมาครูแก้วเอ่ยขึ้น.."นี่สมจิต ร้องเพลงละครใหม่ๆ ที่ฉันแต่งกับแจ๋วได้ไหม..." "เพลงอะไร ครู" สมจิตถาม "เพลงหนึ่งในร้อย ร้องแผ่นดิบเอาไปโฆษณาในโรงละครและโฆษณาที่วิทยุรักษาดินแดน"
            "ไม่มีตราหนูร้องได้หากมีตราหนูไม่กล้าร้อง เพราะหนูมีสัญญากับตากระต่าย ของนาย ต.เง็กชวน บางลำพู" "โธ่ ไอ่พ่อค้าแผ่นเสียงพวกนี้มันยังไงกันวะ เชิดชูแต่นักร้องนักแต่งเพลงไม่กินเหล้า กินข้าวหรือยังไง" ครูแก้ว หัวเสียจนกลายเป็นครูถ้วยแล้วเราก็พบกันเพลวันรุ่งขึ้นที่ห้างดีคูเปอร์ยอนสตัน ใกล้ๆ อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยราชดำเนิน ผมเอาทำนองให้สุทิน เทศารักษ์ไปแยกเสียงจัดวงดนตรี
            11.00 น. เริ่มบันทึกเสียงยังไม่ถึงเที่ยงสมจิตก็ร้องเสร็จ จ่ายค่าร้องไป 200 บาท สมัยโน้นทองรูปพรรณบาทละ 150 เท่านั้น ต่อมาให้ครูสวลี ผกาพันธุ์ ค่าร้อง 500 บาท ทองหนักบาทละ 500 เท่านั้นสุดท้ายแจ้ดนุพล แก้วกาญจน์ นำไปร้อง เขาจ่ายมาหนึ่งหมื่นบาท ซื้อทองได้หนัก 2 บาทเท่านั้น ครูแก้วไปอยู่โลกอื่น จึงได้นำเงินไปแบ่งให้เจ๊ประภาศรีคนละครึ่ง
            แปลกแต่จริง...จากปี 2493 มาจน 2538 เป็นเวลา 45 ปีกว่าๆ เพลงก็ยังอยู่ ไม่มีใครมาเอาคอร์ดแปลกๆ มาใส่เพลงก็หวานไปเหมือนแม่น้ำเจ้าพระยา คงเป็นหนึ่งในร้อยตราบไปชั่วนิรันดร์หากไม่เปลี่ยนจังหวะใหม่ ใส่คอร์ดแปลกๆ เข้าไปคงกลายเป็นเพลงของคนเผ่าอื่นมิใช่เผ่าไทยเป็นแน่แท้"ครูแจ๋วตอดเอาไว้ทิ้งท้ายอย่างสะใจนักแต่งเพลงและนักดนตรีรุ่นใหม่ได้ไม่เลวเลย..http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9490000091971

ประวัติครูสง่า อารัมภีร(9)

                ครูเพลงอีกท่านหนึ่งที่มีผลงานเพลงที่แต่งไว้ไพเราะมากก็คือ ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ซึ่งทำหน้าที่บอกบทละครเวทีอยู่ก่อน แต่มีพรรสวรรค์ในด้านการประพันธ์คำร้องจึงมีโอกาสสร้างผลงานร่วมกับครูสง่า อารัมภีร โดยเฉพาะเพลงนางแก้วดวงใจที่สร้างชื่อเสียงให้กับบุญช่วย หิรัญสุนทร นักร้องเพลงสลับหน้าม่าน ประจำคณะละครศิวารมณ์       ...
                เพลงนางแก้วในดวงใจ
                                คำร้อง สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ทำนองสง่า อารัมภีร
                                ขับร้องบุญช่วย หิรัญสุนทร/มรว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์/ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา
                                นางแก้วพี่เอย พี่สุดเอ่ยเฉลยคำพร่ำ
                นอนยังฝันวันยังค่ำ ละเมอเพ้อพร่ำร่ำพรรณา
                นางแก้วคู่ใจ เจ้าจากไปพี่ครวญหา
                ใจโศกซึ้งถึงแก้วตา รำพึงถึงหน้าโฉมสมร
                เจ้าห่างพี่ไป คงห่วงใยฝันถึงพี่
                แม้นเจ้าฝันคงในดี คงในถึงพี่นางแก้วเอย
       ...
                เพลงนี้ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ตั้งใจใช้ "คำซ้ำ" เพื่อสร้างอารมณ์ และสื่อความหมายได้เป็นอย่างยอดเยี่ยม เช่น "นางแก้วพี่เอย" "นางแก้ว คู่ใจ" "คำ พร่ำ" "เพ้อ พร่ำ" "เจ้า จาก ไป" "เจ้า ห่างพี่ ไป" "เจ้า จาก พี่ ไป" "ใจ โศกซึ้ง" "ใจ อาวรณ์" "นอนยัง ฝัน" "พี่ ฝัน ถึงงามงอน" "คงห่วงใย ฝัน ถึง พี่" "แม้นเจ้า ฝัน" "จง ฝัน ถึง พี่" ซึ่งเป็นเสน่ห์และความไพเราะในเชิงวรรณศิลป์ของบทเพลงของครูเพลงรุ่นเก่าที่น่าเอาเยี่ยงอย่าง โดยเฉพาะวรรคสุดท้ายของท่อนแยกที่ว่า "รักรุมร้อนเร้าฤ - ดี นี่สุดยอดเลยจริงๆ"       
                เพลงนี้บันทึกเสียงเป็นครั้งแรกในปีพ.ศ.2497 โดยบุญช่วย หิรัญสุนทร นักร้องชนะเลิศการประกวดร้องเพลงของกรมโฆษณาการที่เป็นนักร้องรุ่นแรกของไทยที่มีผลงานเพลงไพเราะอยู่หลายเพลง       
                ในหนังสือเบื้องหลังเพลงรัก ของครูสว่า อารัมภีร นั้น บูรพา อารัมภีร เขียนบอกถึงเบื้องหลังความเป็นมาของเพลงนางแก้วในดวงใจ เพลงนี้ไว้ว่า       
                "...หลังจากที่พ่อได้แต่งเพลงน้ำตาแสงใต้เพลงเอกในละครเวทีเรื่องพันท้ายนรสิงห์ ที่มีสุรสิทธิ์ สัตย์วงศ์ แสดงนำคู่กับสุพรรณ บูรณพิมพ์ จนสำเร็จมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของประชาชนแล้ว พ่อได้แต่งเพลงขึ้นใหม่อีกหลายเพลงด้วยกัน       
                ต่อมาเมื่อคณะละครศิวารมณ์ได้ย้ายวิกจากศาลาเฉลิมไทยไปจัดการแสดงที่โรงละครกรมศิลปากรแต่แสดงอยู่ได้ไม่นานจึงมาปักหลักอยู่ที่ศาลาเฉลิมนครโดยเริ่มการแสดงด้วยเรื่องดำรงประเทศจากบทประพันธ์ของ เวทางค์ ซึ่งละครเรื่องนี้ได้รับการต้อนรับจากแฟนละครเวทีเป็นอย่างดี       
                คณะละครศิวารมณ์ยังคงตั้งมั่นอยู่ที่ศาลาเฉลิมนครต่อไปด้วยละครอีกหลายเรื่อง และที่บ่อของนักดนตรีที่หน้าเวทีของโรงละครแห่งนี้นั่นเอง มีเปียโนใหญ่ตั้งอยู่หนึ่งหลังซึ่งพ่อจะต้องมานั่งบรรเลงเพลงอยู่ที่นี่เป็นประจำทุกวันเพื่อซ้อมละครรวมไปถึงการแต่งเพลงด้วย       
                มีอยู่เพลงหนึ่งที่พ่อได้แต่งร่วมกับนักบอกบทละคร และท่านก็เป็นนักแต่งเนื้อร้องเพลงของคณะศิวารมณ์ด้วย       
                พ่อเล่าว่า..."วันนั้นเวลาประมาณ 5 โมงเช้า ขณะที่พ่อกำลังดีดเปียโนแต่งทำนองเพลงเพื่อจะให้นักร้องของวงดนตรีศิวารมณ์ขับร้องสลับฉากตอนนั้น สุนทรียา (ณ เวียงกาญจน์) นักแต่งเนื้อเพลงมาเห็นและได้ยินทำนองเพลงจากเปียโนก็หันไปหยิบเก้าอี้มานั่งใกล้ๆ       
                เมื่อพ่อเริ่มดีดทำนองเพลงขึ้นใหม่อีกครั้ง เขาก็เริ่มเขียนคำร้องตามขึ้นมาท่อนหนึ่ง ต่อจากนั้นพ่อก็ดีดเปียโนไปมาเป็นท่วงทำนองไพเราะตลอดทั้งเพลง เขาก็เขียนคำร้องตามทำนองที่ได้ยินตลอดทั้งเพลงเช่นเดียวกัน       
                ศิลปินทั้งสองนั่งแต่งเพลงด้วยกันใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงก็แต่งเพลงนี้สำเร็จซึ่งเป็นเพลงทางหวานปนเศร้า ลักษณะออกแบบไทยๆ โดยเนื้อร้องของเพลงกล่าวถึงความรัก ความใฝ่ฝันของนางแก้วนางในดวงใจผู้เป็นที่รักของบุรุษหนึ่งที่ต้องห่างเกินไป อย่างไรก็ตาม แม้ทั้งคู่จะต้องจากกัน แต่บุรุษได้ภาวนาให้เธอผู้เป็นที่รักได้นอนหลับฝันดี และจงฝันถึงเขาด้วย       
                หลังจากนั้นพ่อจึงต่อเพลงใหม่นี้ให้แก่นักร้องประจำวงของศิวารมณ์ คือ บุญช่วย หิรัญสุนทร เป็นผู้ขับร้องและบันทึกแผ่นเสียง โดยนำไปร้องบนเวทีสลับหน้าม่าน เวลาเปลี่ยนฉากละครที่โรงละครศาลาเฉลิมนคร แห่งนี้เป็นครั้งแรก       
                พ่อบอกว่าเพลงนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในคราวที่หม่อมรางวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ นำมาขับร้องและบันทึกแผ่นเสียงโดยใช้วงดนตรีกระชับมิตร ด้วยเป็นเพลงทำนองไทยแท้ที่เข้ากับเสียงของคุณชายถนัดศรี ได้เป็นอย่างดี       
                ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2535 นักร้องยอดนิยม ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา ก็ได้นำมาขับร้องบันทึกแผ่นเสียงอีกครั้งหนึ่งซึ่งยังได้รับความนิยมจากแฟนเพลงเป็นอย่างดีเช่นกัน"http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9490000095115

ประวัติครูสง่า อารัมภีร (10)

                มีเพลงอีกเพลงหนึ่งที่เราจะได้ยินได้ฟังกันอยู่เสมอๆ ในงานมงคลสมรสคือเพลงระฆังทอง ที่ชลอ ไตรตรองศร เป็นผู้ประพันธ์คำร้อง และมีนักร้องเอาไปร้องกันหลายคน หลายรุ่น เช่น เพ็ญศรี พุ่มชูศรี, ชาญ เย็นแข, สวลี ผกาพันธ์, สุเทพ วงศ์กำแหง เป็นต้น       .....
                พลงระฆังทอง
                                คำร้อง ชลอ ไตรตรองศร ทำนองสง่า อารัมภีร
                                ขับร้อง เพ็ญศรี พุ่มชูศรี/ ชาญ เย็นแข/ สวลี ผกาพันธ์/ สุเทพ วงศ์กำแหง       
                                กล่อมเอยกล่อมหัวใจ ลอยล่องไปยังทิพย์วิมาน
                ครองเรือนหอสำราญ ทิพย์สถานพิมานทอง
                กล่อมเอยเสียงระฆัง แว่วหวานดังเพลงทิพย์หวานก้อง
                นอนเถิดหนอนวลน้อง ระฆังทองกล่อมให้ภิรมย์
                                วิญญาณล่องลอยสมสู่ ชื่นชูแนบเนื้อชิดชม
                เย็นละลิ่วแรงลม สวาทประพรมเคล้าเสียงระฆัง
                กล่อมเอยคู่วิวาห์ ร้อยด้วยมาลาผูกหอเวียงวัง
                พรทั่วทิศไหลหลั่ง มนต์น้ำสังข์สร้างวังสวาทเลย

                บันทึกแผ่นเสียงครั้งแรกโดยชาญ เย็นแข เมื่อปี พ.ศ.2496       
                นอกเหนือจากมีครูเพลงท่านอื่นๆ มาช่วยแต่งคำร้องให้แล้ว ครูสง่า อารัมภีร มักจะแต่งทั้งคำร้องและทำนองเสียเป็นส่วนมาก แล้วมอบหมายให้นักร้องที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น เป็นผู้ถ่ายทอด เช่น บุญช่วย หิรัญสุนทร ชาญ เย็นแข ปรีชา บุณยเกียรติ ฯลฯ เป็นต้น       
                แต่เพลงที่สง่า อารัมภีร เข้าไปเกี่ยวข้องและมีอิทธิพลต่อชีวิตรักของชรินทร์ นันทนาคร นักร้องชื่อดังในยุคต่อมาถือได้ว่าเป็นเพลงที่มีอิทธิพลต่อบรรดาผู้ชายธรรมดาๆ หลายร้อยคนทั่วประเทศพากันหัดร้องเพื่อไปร้องสารภาพ ความในใจกับ ดอกฟ้า ที่ตนหมายปอง เพลงนั้นก็คือเพลงทาษเทวีที่ทำให้ชรินทร์ งามเมือง (นามสกุลเดิม) สามารถคว้าเอาดอกฟ้า อย่าง สปัน เธียรประสิทธิ์ มาเป็นคู่ครองได้อย่างไม่มีใครคาดฝัน       .....
                เพลงทาษเทวี
                                คำร้อง ทำนอง สง่า อารัมภีร ขับร้อง ชริทนร์ นันทนาคร
                                บุญฉันมีแต่คงไม่ถึง ฟ้าจึงไม่เวทนา
                คอยเฝ้าแต่คอยทุกครา ดวงจันทราไม่ลอยเลื่อมาใกล้เรา
                คง แหงนคอยแต่คอยหาย เสียดายดวงจันทร์ไม่บรรเทา
                ลอยลับไม่เหลือแม้เงา รู้หรือเปล่าว่าเรานี้ช้ำชอกฤดี    
                                เธอเป็นดอกฟ้า รู้ไหมว่าเราเป็นดังทาษเทวี
                แม้ไม่ปราณี ทาษนี้คงระทมอยู่เรื่อยไป
                รอฉันรอด้วยใจวิงวอน ขอบังอรเมตตารับฝากใจ
                เพียงยิ้มสักนิดฤทัย ฉันคงพอเรื่อยไปด้วยธุลีเมตตาของเธอ
       .....
   ด้วยเนื้อร้องที่มีความหายกินใจอย่าง "บุญฉันมี แต่ คงไม่ถึง ฟ้า จึง ไม่เวทนา" "เธอเป็นดอกฟ้า รู้ไหมว่าเราเป็นดังทาษเทวี" "รอ ฉันรอด้วยใจวิงวอน ขอบังอร เมตตารักฝากใจ" "ฉันคง พอง เรื่อยไป ด้วยธุลีเมตตาของเธอ"...สาวใดได้ฟังก็คงใจอ่อนด้วยความเวทนา เมตตาสงสารอย่างแน่นอน ยิ่งชรินทร์ นันทนาคร ขับร้องเพลงนี้อย่างใส่อารมณ์และวิญญาณเข้าด้วยแล้วต้องบอกว่าในยุคนั้นสมัยนั้น เพลงนี้ดังสุดยอดและตกเป็นข่าวในหนังหนังสือพิมพ์อยู่หลายวัน กลายเป็นตำนานรักที่เล่าขานกันไม่รู้จบ       
                ในเรื่องนี้ ชรินทร์ นันทนาคร ได้เล่าเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า...
                "ความรักและความลับหลายอย่างแม้จดหมายลับเฉพาะอันหมายถึงความเป็นและความตายของชีวิตผม ผมก็ให้ลุงแจ๋วเก็บไว้ และท่านก็ไม่เคยบอกใคร มีหลายคนถามผมว่าลุงแจ๋วทราบเรื่องราวชีวิตผมหรือไม่ ก่อนที่ท่านจะแต่งเพลงทาษเทวี ก็ขอเรียนตามความเป็นจริงว่า ผมไม่ทราบ แต่พี่สุวัฒน์ วรดิลก เขียนถึงสง่า อารัมภีร ในมติชนเกี่ยวกับเพลงทาษเทวี ว่า..."เป็นเสมือนตาข่ายครอบคลุมสังคมให้อบอวลไปด้วยกลิ่นไอของความรักระหว่างทาศและเทวี..." คงเป็นคำตอบที่ดีที่สุด"       
                และศิวะ รณชิต (สุวัฒน์ วรดิลก) เองก็เขียนไว้ในหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ว่า..."พ.ศ.2498 -2500 เราได้หวนกลับมาร่วมงานกันอีกครั้งด้วยงานวิทยุกระจายเสียงของกองทัพอากาศกับภาพยนตร์บริษัทสถาพรฯ(กึ่งราชการ) เป็นช่วงที่แจ๋ว เพื่อนเราได้แสดงออกซึ่ง "อิทธิมหาเสน่ห์" ของเพลงจนเกิดกรณีนักร้องพาลูกสาวมหาเศรษฐีหนี ฉาวไปทั่วสังคมไทยยุคนั้น (มกราคม 2500...) จนดูเหมือนว่าครูสง่า อารัมภีร กับชรินทร์ นันทนาคร เป็นนักแต่งเพลงและนักร้องที่ถูกคู่กันมาตลอด เพราะผลงานในช่วงหลังๆ ของชรินทร์ที่ครูสง่าแต่งให้ฮิต ติดอันดับเรื่อยมา เช่น เพลงเรือนแพ เพลงสไบแพร เพลงแก้วตาพี่ เพลงกิ่งแก้วแขวนฟ้า เพลงเกร็ดแก้ว ฯลฯ เป็นต้น       
                แต่สำหรับสุเทพ วงศ์กำแหง นั้น มีผลงานของครูสง่า อารัมภีร อยู่หลายเพลงเช่นกัน เช่นเพลงสุดที่รัก เพลงพี่ยังรักเธอไม่คลาย เพลงดาวประดับใจ ฯลฯ แต่ไม่ดังหรือฮิตเท่าเพลงที่ครูสมาน กาญจนะผลิน แต่งทำนองให้ เช่น เพลงรักคุณเข้าแล้ว ที่ใครๆ รู้จักกันดี       
                เพลงที่เป็นผลงานของครูสง่า อารัมภีร และสร้างชื่อเสียงให้กับสุเทพ วงศ์กำแหง ในยุคแรกๆ คือเพลงพี่รักเธอคนเดียว ซึ่งก็เป็นเพลงขวัญใจของชายหนุ่มในยุคนั้น เช่นเดียวกันกับเพลงทาษเทวีของชรินทร์ นันทนาคร ข้างต้น เช่นกัน

มีเพลงอีกเพลงหนึ่งที่เราจะได้ยินได้ฟังกันอยู่เสมอๆ ในงานมงคลสมรสคือเพลงระฆังทอง ที่ชลอ ไตรตรองศร เป็นผู้ประพันธ์คำร้อง และมีนักร้องเอาไปร้องกันหลายคน หลายรุ่น เช่น เพ็ญศรี พุ่มชูศรี, ชาญ เย็นแข, สวลี ผกาพันธ์, สุเทพ วงศ์กำแหง เป็นต้น       .....
                เพลงระฆังทอง
                                คำร้อง ชลอ ไตรตรองศร ทำนองสง่า อารัมภีร
                                ขับร้อง เพ็ญศรี พุ่มชูศรี/ ชาญ เย็นแข/ สวลี ผกาพันธ์/ สุเทพ วงศ์กำแหง       
                                กล่อมเอยกล่อมหัวใจ ลอยล่องไปยังทิพย์วิมาน
                ครองเรือนหอสำราญ ทิพย์สถานพิมานทอง
                กล่อมเอยเสียงระฆัง แว่วหวานดังเพลงทิพย์หวานก้อง
                นอนเถิดหนอนวลน้อง ระฆังทองกล่อมให้ภิรมย์       
                                วิญญาณล่องลอยสมสู่ ชื่นชูแนบเนื้อชิดชม
                เย็นละลิ่วแรงลม สวาทประพรมเคล้าเสียงระฆัง
                กล่อมเอยคู่วิวาห์ ร้อยด้วยมาลาผูกหอเวียงวัง
                พรทั่วทิศไหลหลั่ง มนต์น้ำสังข์สร้างวังสวาทเลย
       .....
                บันทึกแผ่นเสียงครั้งแรกโดยชาญ เย็นแข เมื่อปี พ.ศ.2496
               นอกเหนือจากมีครูเพลงท่านอื่นๆ มาช่วยแต่งคำร้องให้แล้ว ครูสง่า อารัมภีร มักจะแต่งทั้งคำร้องและทำนองเสียเป็นส่วนมาก แล้วมอบหมายให้นักร้องที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น เป็นผู้ถ่ายทอด เช่น บุญช่วย หิรัญสุนทร ชาญ เย็นแข ปรีชา บุณยเกียรติ ฯลฯ เป็นต้น       
                แต่เพลงที่สง่า อารัมภีร เข้าไปเกี่ยวข้องและมีอิทธิพลต่อชีวิตรักของชรินทร์ นันทนาคร นักร้องชื่อดังในยุคต่อมาถือได้ว่าเป็นเพลงที่มีอิทธิพลต่อบรรดาผู้ชายธรรมดาๆ หลายร้อยคนทั่วประเทศพากันหัดร้องเพื่อไปร้องสารภาพ ความในใจกับ ดอกฟ้า ที่ตนหมายปอง เพลงนั้นก็คือเพลงทาษเทวีที่ทำให้ชรินทร์ งามเมือง (นามสกุลเดิม) สามารถคว้าเอาดอกฟ้า อย่าง สปัน เธียรประสิทธิ์ มาเป็นคู่ครองได้อย่างไม่มีใครคาดฝัน       .....
                เพลงทาษเทวี
                                คำร้อง ทำนอง สง่า อารัมภีร ขับร้อง ชริทนร์ นันทนาคร
                                บุญฉันมีแต่คงไม่ถึง ฟ้าจึงไม่เวทนา
                คอยเฝ้าแต่คอยทุกครา ดวงจันทราไม่ลอยเลื่อมาใกล้เรา
                คง แหงนคอยแต่คอยหาย เสียดายดวงจันทร์ไม่บรรเทา
                ลอยลับไม่เหลือแม้เงา รู้หรือเปล่าว่าเรานี้ช้ำชอกฤดี
                                เธอเป็นดอกฟ้า รู้ไหมว่าเราเป็นดังทาษเทวี
                แม้ไม่ปราณี ทาษนี้คงระทมอยู่เรื่อยไป
                รอฉันรอด้วยใจวิงวอน ขอบังอรเมตตารับฝากใจ
                เพียงยิ้มสักนิดฤทัย ฉันคงพอเรื่อยไปด้วยธุลีเมตตาของเธอ
       .....   ด้วยเนื้อร้องที่มีความหายกินใจอย่าง "บุญฉันมี แต่ คงไม่ถึง ฟ้า จึง ไม่เวทนา" "เธอเป็นดอกฟ้า รู้ไหมว่าเราเป็นดังทาษเทวี" "รอ ฉันรอด้วยใจวิงวอน ขอบังอร เมตตารักฝากใจ" "ฉันคง พอง เรื่อยไป ด้วยธุลีเมตตาของเธอ"...สาวใดได้ฟังก็คงใจอ่อนด้วยความเวทนา เมตตาสงสารอย่างแน่นอน ยิ่งชรินทร์ นันทนาคร ขับร้องเพลงนี้อย่างใส่อารมณ์และวิญญาณเข้าด้วยแล้วต้องบอกว่าในยุคนั้นสมัยนั้น เพลงนี้ดังสุดยอดและตกเป็นข่าวในหนังหนังสือพิมพ์อยู่หลายวัน กลายเป็นตำนานรักที่เล่าขานกันไม่รู้จบ       
                ในเรื่องนี้ ชรินทร์ นันทนาคร ได้เล่าเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า...
                "ความรักและความลับหลายอย่างแม้จดหมายลับเฉพาะอันหมายถึงความเป็นและความตายของชีวิตผม ผมก็ให้ลุงแจ๋วเก็บไว้ และท่านก็ไม่เคยบอกใคร มีหลายคนถามผมว่าลุงแจ๋วทราบเรื่องราวชีวิตผมหรือไม่ ก่อนที่ท่านจะแต่งเพลงทาษเทวี ก็ขอเรียนตามความเป็นจริงว่า ผมไม่ทราบ แต่พี่สุวัฒน์ วรดิลก เขียนถึงสง่า อารัมภีร ในมติชนเกี่ยวกับเพลงทาษเทวี ว่า..."เป็นเสมือนตาข่ายครอบคลุมสังคมให้อบอวลไปด้วยกลิ่นไอของความรักระหว่างทาศและเทวี..." คงเป็นคำตอบที่ดีที่สุด"       
                และศิวะ รณชิต (สุวัฒน์ วรดิลก) เองก็เขียนไว้ในหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ว่า..."พ.ศ.2498 -2500 เราได้หวนกลับมาร่วมงานกันอีกครั้งด้วยงานวิทยุกระจายเสียงของกองทัพอากาศกับภาพยนตร์บริษัทสถาพรฯ(กึ่งราชการ) เป็นช่วงที่แจ๋ว เพื่อนเราได้แสดงออกซึ่ง "อิทธิมหาเสน่ห์" ของเพลงจนเกิดกรณีนักร้องพาลูกสาวมหาเศรษฐีหนี ฉาวไปทั่วสังคมไทยยุคนั้น (มกราคม 2500...) จนดูเหมือนว่าครูสง่า อารัมภีร กับชรินทร์ นันทนาคร เป็นนักแต่งเพลงและนักร้องที่ถูกคู่กันมาตลอด เพราะผลงานในช่วงหลังๆ ของชรินทร์ที่ครูสง่าแต่งให้ฮิต ติดอันดับเรื่อยมา เช่น เพลงเรือนแพ เพลงสไบแพร เพลงแก้วตาพี่ เพลงกิ่งแก้วแขวนฟ้า เพลงเกร็ดแก้ว ฯลฯ เป็นต้น       
                แต่สำหรับสุเทพ วงศ์กำแหง นั้น มีผลงานของครูสง่า อารัมภีร อยู่หลายเพลงเช่นกัน เช่นเพลงสุดที่รัก เพลงพี่ยังรักเธอไม่คลาย เพลงดาวประดับใจ ฯลฯ แต่ไม่ดังหรือฮิตเท่าเพลงที่ครูสมาน กาญจนะผลิน แต่งทำนองให้ เช่น เพลงรักคุณเข้าแล้ว ที่ใครๆ รู้จักกันดี       
                เพลงที่เป็นผลงานของครูสง่า อารัมภีร และสร้างชื่อเสียงให้กับสุเทพ วงศ์กำแหง ในยุคแรกๆ คือเพลงพี่รักเธอคนเดียว ซึ่งก็เป็นเพลงขวัญใจของชายหนุ่มในยุคนั้น เช่นเดียวกันกับเพลงทาษเทวีของชรินทร์ นันทนาคร ข้างต้น เช่นกัน

http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9490000098638

ประวัติครูสง่า อารัมภีร (11)              

                เพลงพี่รักเธอคนเดียว
                                คำร้อง/ทำนอง สง่า อารัมภีร ขับร้อง/สุเทพ วงศ์กำแหง      
                                นวลอนงค์อ่าองค์โสภา
                ที่ยิ้มนั่นหนาฉันอยากรู้ว่านามใด
                กรุณาอย่าปิดบังใจ
                เมตตาเผยวาจาให้พี่ซาบซึ้งในฤดี
                                 จอมนงรามโปรดอย่าหมางเมิน
                ช่วยชี้ชวนเชิญให้พี่หายเก้อเขินที
                บุญบันดาลหรอกหนาเทพี
                เจอะกันครั้งเดียวเท่านี้เหมือนมีไมตรีนาน
                                ชาติก่อนนี้คงได้ร่วมบุญ
                ทั้งการุณย์เกื้อกูลตลอดกาล
                มาชาตินี้จึงได้แผ้วพาน
                สมานไมตรีแนบตรึงซึ้งหทัย
                                จอมดวงใจโปรดได้หันมา
                พี่รักดอกหนาใช่ว่าเซ้าซี้กวนใจ
                จงฟังคำถ้อยสัญญาไว้
                ตราบฟ้าดินมอดสลายพี่ขอรักเธอคนเดียว
        .....
                เพลงนี้สุเทพ วงศ์กำแหง ขับร้องและบันทึกแผ่นเสียงไว้ในปี พ.ศ.2498       
                สุเทพ วงศ์กำแหง นักร้องยอดนิยม ศิลปินแห่งชาติบอกไว้ในคอลัมน์ "พี่แจ๋ว" จากหนังสือคอนเสิร์ต เชิดชูครูเพลง ครั้งที่ 3 สง่า อารัมภีร ว่า..."ชีวิตของผมหากขาดพี่หมาน (สมาน กาญจนผลิน) และพี่แจ๋ว (สง่า อารัมภีร) ศิลปินแห่งชาติทั้งสองท่านเสียแล้วก็ไม่ทราบว่าป่านนี้จะมีนักร้องที่ชื่อสุเทพ วงศ์กำแหง ร้องเพลงให้ชาวไทยได้ฟังกันหรือไม่ เพราะท่านทั้งสองนั้นเป็นผู้กรุยทางหรือเปิดทางให้ผมได้ใช้ความสามารถในการขับร้องเพลงของท่าน ท่านละเพลงสองเพลง ณ ห้องอัดเสียงของโรงละครศาลาเฉลิมไทยเมื่อปี พ.ศ.2495...       
                แน่นอนที่ว่าถ้าท่านไม่ให้โอกาสแก่ผมในครั้งนั้น สุเทพ วงศ์กำแหง ย่อมไม่เกิด คุณูปการในหัวใจของท่านทั้งสองยิ่งใหญ่เหลือคณา ตอบแทนบุญคุณอย่างไรก็ไม่อาจทดแทนได้หมด"       
                สำหรับผลงานเพลงที่แต่งให้นักร้องยอดนิยมอมตะมหานิรันดร์กาล ชรินทร์ นันทนาคร และสุเทพ วงศ์กำแหง ทั้งสองท่านขับร้องนี้ ครูสง่า อารัมภีร เขียนบอกเอาไว้ว่า       
                "ผมไม่ค่อยยอมให้นักร้องใหม่ๆ นำมาบันทึกเสียงเหมือนใครอื่นเลย บอกตรงๆ ว่า ใครจะร้องสู้สองคนนั้นร้องไม่ได้ ผมเป็นคนชอบความหลัง วันแห่งความหลังที่เราได้มีชีวิตอยู่ร่วมกันในโรงหนัง โรงละคร ทั้ง ชรินทร์ และสุเทพ ก็เคยร้องสลับฉากละคร ผมคิดถึงวันเก่าๆ ของเราที่ยากจนอดอยากกันมา ผมจึงถนอมเพลงดังกล่าวไว้"       
                ด้านนักร้องหญิงนั้นครูสง่า อารัมภีร เขียนเพลงให้หลายคน เช่น เพ็ญศรี พุ่มชูศรี สวลี ผกาพันธุ์ และ รวงทอง ทองลั่นธม ขับร้องและเป็นเพลงยอดนิยมที่ประชาชนให้การตอบรับที่เด่นและดังมากในแต่ละช่วง เช่น เพลงระฆังทอง เพลงเริงละลม เพลงรักคนที่เขารักเราดีกว่า เพลงสอนรัก เพลงหากรู้สักนิด เพลงหนึ่งในร้อย เพลงดวงใจ เพลงที่รักเราไม่ควรพบกันเลย เพลงยอดอนงค์ เพลงแม้แต่ทะเลยังระทม ฯลฯhttp://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9490000100945

ประวัติครูสง่า อารัมภีร (11) - ที่มาของเพลง "ดวงใจ"

                เพลงดวงใจ
                                คำร้อง ทำนอง สง่า อารัมภีร
                                ขับร้อง สวลี ผกาพันธุ์

ดวง...ใจ ทุกคนมีสิทธิ์จะรักกันได้

ถึงอยู่ห่างไกล ก็ยังส่งใจไปถึงกัน       

อ้อมแขนของฉัน คอยสัมพันธ์รักอันตราตรึง

คอยวันสุขซึ้ง จากดวงใจที่จริงจังมั่นคง

 เธอเป็นคนต่างแดน แต่แนบแน่นด้วยไมตรีสูงส่ง

มีใจรักมั่นคง ไม่มีผู้ใดเสมอ

 เธอเป็นความสว่าง พร่างดังเพชรประกายเลิศเลอ

                ฉันได้จุมพิตจากเธอ ฉันภูมิใจและสุขใจทุกคืนวัน   
                เพลงนี้ครูสง่า อารัมภีร แต่งขึ้นในปี พ.ศ.2506 อันเป็นยุคภาพยนตร์ของเสียงในฟิล์ม ซึ่งนิยมแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ด้วย       
                บูรพา อารัมภีร เขียนเล่าเอาไว้ในหนังสือเบื้องหลังเพลงรัก สง่า อารัมภีร ว่า..."พ่อเล่าว่ามีอยู่เพลงหนึ่งที่คิดขึ้นได้ตอนนั่งรถราง คราวนั้นราวๆ ปี พ.ศ.2506 คุณปริญญา ทัศนียกุล เจ้าของโรงภาพยนตร์และเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ด้วย กำลังจะสร้างหนังเรื่อง เพชรตัดเพชร ที่ใช้ดาราแสดงนำทั้งดาราไทยและดาราจีนจากต่างประเทศ       
                ทั้งนี้เจ้าของภาพยนตร์ต้องการให้มีหลายๆ เพลงในภาพยนตร์เรื่องนี้ และอยากให้มีผลงานของนักแต่งเพลงหลายๆ คนด้วย ทำให้เพลงที่ใช้ประกอบภาพยนตร์มีหลายเพลง แต่เพลงที่ฮิตนั้นมีเพียงสองเพลงเท่านั้น เพลงแรกคือเพลงเพชรตัดเพชร ชื่อเพลงเหมือนชื่อเรื่อง เป็นผลงานประพันธ์คำร้องและทำนองของครูสุรพล โทณะวณิก...       
                ส่วนอีกเพลงหนึ่งชื่อว่า "ดวงใจ" โดยให้พ่อเป็นผู้ประพันธ์ ซึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องแสดงถึงความรักของฅนที่ต่างชาติต่างภาษาและอยู่ห่างกันคนละประเทศแต่ทั้งสองก็มารักกันได้       
                พ่อเล่าว่า ตอนสายๆ ของวันนั้นหลังจากขับเจ้าม้าลายจากบ้านทุ่งกระสอมาจอดไว้ที่หลังห้างกมลฯ อย่างเคยแล้ว ก็นั่งรถรางจากหน้าห้างกมลฯ วังบูรพา ไปทำงานที่ห้องอัดเสียงทุ่งมหาเมฆ วันนั้นพ่อทำงานเสร็จตอนเย็นก็จะใช้เส้นทางเดิม คือนั่งรถรางกลับมาที่ห้างกมลฯ ระหว่างที่พ่อนั่งรถรางมา เมื่อรถวิ่งมาถึงบริเวณสามย่าน รถจอดรับผู้โดยสาร ตอนนั้นมีนักศึกษาชายหญิงคู่หนึ่งขึ้นมาบนรถ ทั้งคู่นั่งที่ตรงข้ามที่พ่อนั่งอยู่       
                เมื่อรถวิ่งมาถึงหัวลำโพงพ่อเห็นว่าหนุ่มสาวคู่นั้นเริ่มมีปากเสียงกัน       
                เมื่อฝ่ายชายพูดกับฝ่ายหญิงก็จะถูกฝ่ายหญิงหยิกแขนทุกครั้งไป จนมาถึงเยาวราช ทั้งสองเริ่มทะเลาะกันเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงบริเวณวังบูรพาหน้าโรงภาพยนตร์แกรนด์ เมื่อรถจอดรับผู้โดยสาร นักศึกษาหญิงผู้นั้นได้ยืนขึ้นและเอากระเป๋าที่ถือมาด้วยฟาดใส่หน้าอกฝ่ายชายที่นั่งอยู่แล้วรีบเดินลงรถไปอย่างรวดเร็ว       
                พอฝ่ายชายรู้สึกตัวก็ลุกขึ้นและตะโกนตามหลังฝ่ายหญิงไปว่า       
                "นี่ ฉันมีสิทธิ์รักเธอนะ" พูดจบก็วิ่งลงรถรางตามหญิงสาวไป       
                พ่อยังคงนั่งอยู่ที่เดิมบนรถรางคันนั้นพลันก็ได้เนื้อเพลง ดวงใจท่อนแรกว่า       
                "ดวง...ใจ ทุกคนมีสิทธิ์จะรักกันได้..."       
                พ่อบอกว่า เมื่อรถรางวิ่งผ่านหน้าบริษัทกมลฯ ก็ไม่ได้ลงไปเอาเจ้าม้าลายเพราะเริ่มคิดเนื้อเพลงดวงใจได้ขึ้นเรื่อยๆ จนรถวิ่งไปถึงท่าเขียวไข่กา พ่อก็แต่งเพลงเสร็จ       
                หลังจากนั้นอีกไม่กี่วันได้ให้วงดนตรี ฟรังโก้ ทอมเบ็ตต้า ที่บรรเลงประจำหน้าห้องอาหารโลลิต้ามาบันทึกเสียง พร้อมกับการขับร้องของสวลี ผกาพันธุ์ ลงแผ่นเสียงสปีด 15 (แผ่นเล็ก) ด้านหนึ่งคือเพลงดวงใจ อีกด้านหนึ่งคือเพลง เพชรตัดเพชรhttp://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9490000104115

ประวัติครูสง่า อารัมภีร (12)

ผลงานเพลงที่ ครูสง่า อารัมภีร แต่งให้ รวงทอง ทองลั่นธม ร้อง ในช่วงที่ลาออกมาจากวงดนตรีสุนทราภรณ์ นั้น มีไม่กี่เพลงเช่น เพลงที่รักเราไม่ควรพบกันเลย เพลงยอดอนงค์ เพลงสวรรค์หาย ฯลฯ แต่เพลงที่ได้รับความนิยมและ รวงทอง ทองลั่นธม ชอบมากก็คือ เพลงแม้แต่ทะเลยังระทม ซึ่งเป็นเพลงที่ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี เคยขับร้องมาก่อน       ...
                เพลง แม้ทะเลยังระทม
                                คำร้อง ทำนอง สง่า อารัมภีร
                                ขับร้อง เพ็ญศรี พุ่มชูศรี/รวงทอง ทองลั่นธม

แม้แต่ทะเลยังครวญคร่ำ

 ฟังคลื่นซัดร่ำดังเสียงโหยไห้
 โอ้เราจะทำฉันใด
 หมองไหม้มิวายเว้นวัน

 กรรมเวรไม่แปรผัน

 ตามฉันให้เศร้าระทม

 แม้จันทร์กระจ่าง
 แต่สองเราตรม

 โอ้ความหวังเหมือนสายลม

                 เหลือข่มให้ใจหายครวญ
                ทะเลก็ยังกำศรวล
                 เราคงครวญอยู่มิวาย

               รวงทอง ทองลั่นธม ศิลปินแห่งชาติ เขียนบอกไว้ใน หนังสืออนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ นายสง่า อารัมภีร ว่า
                "ได้เห็นใบหน้าของ ลุงแจ๋ว ตั้งแต่อายุ 17 ปี ครั้งนั้น ลุงแจ๋วทำงานอยู่บริษัทกมลสุโกศล บริษัทนี้เป็นที่ผลิตแผ่นเสียงและจัดจำหน่ายเพลงของ "สุนทราภรณ์" รู้จักลุงแจ๋วเพราะเป็นผู้แต่งเพลงเพราะๆ ไว้ให้ประทับใจมากมาย เช่น แม้แต่ทะเลยังระทม น้ำตาแสงไต้ เป็นอาทิ และแล้ว ลุงแจ๋ว ก็มาแต่งเพลงให้ขับร้องหลายสิบเพลง เมื่ออำลาจากวงสุนทราภรณ์ ออกมาร้องเพลงอิสระ..."       
                ในหนังสือ อนุทินชีวิตและเพลงของข้าพเจ้า รวงทอง ทองลั่นธม ได้เขียนไว้ว่า
                "...ลุงแจ๋ว เป็นผู้มีพระคุณต่อดิฉันมากมายคนหนึ่ง เมื่อครั้งดิฉันต้องประสบความลำบากยากแค้น ลุงแจ๋ว เคยให้ความช่วยเหลือแก่ดิฉัน...ไหนจะแต่งเพลงให้ร้อง ไหนจะเล่นดนตรีให้ร้อง ไหนจะช่วยเหลือเวลาได้รับความทุกข์...เช่นนี้แล้ว ดิฉันจะไม่รำลึกถึง ลุงแจ๋ว ได้อย่างไร..."       
                ส่วน ครูสง่า อารัมภีร เอง ก็เขียนถึง รวงทอง ทองลั่นธม เอาไว้เช่นกันว่า
                "...เรารู้จักกันที่ห้องอัดเสียง กมลสุโกศล จำกัด สาธร เธอมาร้องเพลงให้คณะสุนทราภรณ์ เฮียเอื้อ แนะนำให้รู้จักกัน ก็คงจะปี 2500 นั่นแหละครับ...มาสนิทขึ้นอีกหน่อยก็เมื่อ ลุงเตียง โอศิริ หัวหน้าแผนกแผ่นเสียง นายโดยตรงของผมแนะให้ผมแต่งเพลงให้รวงทองร้อง 6 เพลง อีตอนนี้ก็มีการนัดหมายกันบ่อยๆ ขึ้นกระทั่งอัดเพลงสำเร็จ แผ่นออกจำหน่ายเรียบร้อย...พอเธอออกจากวงดนตรีสุนทราภรณ์ มาร้องเพลงที่ไนท์คลับ ชื่ออะไรจำไม่ได้เสียแล้ว เปิดขึ้นข้างๆ โรงหนังกรุงเกษม ตรงข้ามหัวลำโพง สถานีรถไฟโน่นแหละครับ       
                สุรัสน์ พุกกะเวส แห่งดาราไทย เขียนเนื้อร้องให้ผมใส่ทำนอง เพื่อจะให้เธอร้องเพลงที่ไนท์คลับและอัดแผ่นเสียง ผมก็เลยไปที่ไนท์คลับแห่งนั้นบ่อยๆ ไม่ได้ไปติดพันอะไรเธอเหมือนมดแดงทั้งหลายหรอก ไปต่อเพลงแล้วติดพันอยู่กับสุรา อันว่าเหล้า ตามประสาของผม       
                จากนั้น ก็เจอกันบ้างไม่เจอกันบ้าง แต่ผมแต่งเพลงภาพยนตร์ให้เธอร้องเสมอๆ ในระยะนั้น เช่น ภาพยนตร์เรื่อง ยอดอนงค์ เรื่อง ยอดเยาวมาลย์ เพลงที่เธอชอบมาก เห็นจะได้แก่ เพลง แม้ทะเลยังระทม..."http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9490000106928

ประวัติครูสง่า อารัมภีร (13) : เพลงคืนหนึ่ง

                ในระยะที่ ภาพยนตร์เสียงในฟิล์มกำลังฟูเฟื่อง ครูสง่า อารัมภีร ก็ได้มีโอกาสสร้างสรรค์ผลงานเพลงอมตะไว้ในวงการดนตรีสากลของไทย โดยเฉพาะเพลงประกอบภาพยนตร์ของ บริษัทอัศวินภาพยนตร์ ที่เป็นของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล (องค์ชายใหญ่) ไว้หลายเรื่อง นอกเหนือไปจากเพลง น้ำตาแสงไต้ จากเรื่อง พันท้ายนรสิงห์ เมื่อหลายปีก่อน เช่น เพลงคืนหนึ่ง เพลงปิ่นทอง เพลงเรือนแพ ฯลฯ เป็นต้น       .....
                เพลงคืนหนึ่ง
                                คำร้อง ภาณุพันธ์/ทำนอง สง่า อารัมภีร
                                ขับร้อง สุเทพ วงศ์กำแหง / ธานินทร์ อินทรเทพ / จินตนา สุขสถิตย์

                                คืนหนึ่งยังซึ้ง
                ตรึงใจ ตรึงใจเรา
                ฉันเฝ้าอิงแนบแอบอกอุ่น
                ลมโชยโปรยกลิ่นผกากรุ่น       
                                รุ่งอรุณ
                เริ่งรางสว่างฟ้า
                 เธอประคองตระกองกอด
                ตระกองกอดยอดรัก
                                ฉันบอกสมัคร
                 ขอรักชั่วชีวา
                ขอเตือนเธออย่าลืมวาจา
                ที่เคยสัญญากันไว้ในคืนนั้น

               เป็นเพลงเอกในภาพยนตร์เรื่อง จำปูน ซึ่งเป็นบทประพันธ์ของ เทพ มหาเปารยะ โดยมี แมน ธีระพล กับดาราสาวสวยจากฮ่องกง มิสจูลี่ ซีเหย่น และ ธานินทร์ อินทรเทพ แสดงนำ กำกับการแสดงโดย ส. อาสนจินดา และได้บันทึกเสียงโดย ธานินทร์ อินทรเทพ และ จินตนา สุขสถิตย์ เมื่อปี พ.ศ. 2507       
                ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานใน งานตัดสินแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ที่สถานลีลาศ สวนลุมพินี       
                ใน หนังสือเบื้องหลังเพลงรัก ของ สง่า อารัมภีร นั้น บูรพา อารัมภีร เขียนเล่าเบื้องหลังของเพลงนี้เอาไว้อย่างน่าติดตามว่า       
                "...ในหนังเรื่องนี้ มีเพลงเอกอยู่เพลงหนึ่ง ที่พ่อแต่งทำนองได้ไพเราะมาก จนได้รางวัลเกียรติยศ นั่นคือ เพลงคืนหนึ่ง ที่พ่อเล่าว่า
                "ไปเฝ้าเสด็จองค์ชายใหญ่ที่ บริษัทอัศวินภาพยนตร์ ซอยนาคราช แถวๆ ยศเส ตอนนั้นเป็นช่วงปีใหม่ พ่อไปสวัสดีปีใหม่พระองค์ท่าน เมื่อทักทายกันตามธรรมเนียมแล้ว เสด็จได้หยิบรูปถ่ายแล้วส่งให้ดูแล้วบอกกับพ่อผมว่า "เอ้านี่แน่ะ แจ๋ว เมื่อปลายปีที่แล้ว ข้าไปนั่งอยู่ตั้งแต่หัวค่ำจนสว่างที่ทัชมาฮาลกับปริมเขา อยากให้แต่งเป็นบทเพลงรักหวานในทำนองที่ แจ๋ว ถนัด ข้าตั้งชื่อไว้แล้วว่า คืนหนึ่ง ขึ้นต้นวรรคแรกไว้แล้วด้วย"       
                แล้วเสด็จ ก็ขึ้นคำร้องว่า "คืนหนึ่งยังซึ้ง ตรึงใจ ตรึงใจเรา...เอ้า...เอาไปต่อให้เสร็จ"       
                พอกล่าวจบ ก็ส่งเนื้อเพลงให้พ่อ หลังจากนั้น พ่อได้ขึ้นไปยังห้องบันทึกเสียงที่อยู่ชั้นบน       
                พ่อเล่าว่า ในรูปเห็นท่านทั้งสอง คือ เสด็จกับหม่อมปริม พร้อมทั้งเห็นความงดงามของอุทยานแห่งความรัก ซึ่งเป็นสิ่งมหัศจรรย์อีกแห่งหนึ่งของโลก       
                พ่อเอารูปวางบนเปียโนที่มีกระดาษโน้ตวางไว้ก่อนแล้ว ต่อจากนั้นก็ดีดเพลงตั้งแต่ทุ่มหนึ่งเป็นต้นไป ทั้งทำนองและคำร้อง ก็พรั่งพรูว่า       
                "คืนหนึ่งยังซึ้ง ตรึงใจ ตรึงใจเรา - ฉันเฝ้าอิงแนบ แอบอกอุ่น - ลมโชยโปรยกลิ่นผกากรุ่น - รุ่งอรุณ เริ่มรางสว่างฟ้า..."       
                จนเวลาผ่านถึงตีสอง เสด็จฯ ได้ขึ้นมาฟังทำนอง แล้วทรงร่วมแต่งคำร้องที่เหลือทั้งเพลง ซึ่งทรงพอพระทัยมาก วันรุ่งขึ้นจึงเรียก ปรีชา เมตไตรย์ พร้อมวงกระชับมิตร มาบันทึกเสียงที่ห้องอัดเสียงอัศวิน โดยจัดเสียงเป็นการร้องคู่ และมอบให้ ธานินทร์ อินทรเทพ ร้องเป็นเสียงพระเอก จินตนา สุขสถิตย์ ร้องเป็นเสียงของนางเอกจำปูน       
                เมื่อภาพยนตร์เข้าฉายที่ศาลาเฉลิมเขตร์ เพลงคืนหนึ่ง ก็ได้รับการต้อนรับจากประชาชน ตลอดจนแฟนเพลงเป็นอย่างมาก จนมีนักร้องท่านอื่นนำไปร้องกันหลายคู่"http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9490000109963

ประวัติครูสง่า อารัมภีร (14) : ที่มาของเพลงเรือนแพ

              ในบรรดาเพลงประกอบภาพยนตร์ของ บริษัทอัศวินภาพยนตร์ ที่โด่งดังเป็นอมตะและได้รับความนิยมนั้น นอกจาก เพลงคืนหนึ่ง แล้ว เพลงเรือนแพ ที่ ชรินทร์ นันทนาครขับร้องไว้ก็เป็นเพลงที่ฮิตมากอีกเช่นกัน       .....
           เพลงเรือนแพ
                           คำร้องชาลี อินทรวิจิตร
                           ทำนอง สง่า อารัมภีร ขับร้อง ชรินทร์นันทนาคร       
                   เรือนแพ สุขจริง อิงกระแสธารา
          หริ่งระงมลมพลิ้วมา กล่อมพฤกษา ดังว่าดนตรี
           หลับอยู่ในความรักรับความชื่น ชั่ววันและคืนเช่นนี้
           กลิ่นดอกไม้รัญจวน ยังอบอวลยวนยีสุดที่จะพรรณนา
                   เรือนแพ ล่องลอย คอยความรักนานมา
           คอยน้ำค้างกรุณา หยาดมา จากดาราแหล่งสวรรค์
           วิมานน้อยลอยริมฝั่ง ถึงอ้างว้างหัวใจรำพัน
          หิวหรืออิ่ม ก็ยิ้มพอกันชีวิตกลางน้ำสุขสันต์       
         
โอ้สวรรค์ในเรือนแพ
            เป็นเพลงเอกในภาพยนตร์ เรื่องเรือนแพ ของอัศวินภาพยนตร์ ซึ่ง ชรินทร์ นันทนาคร เป็นผู้ขับร้อง และบันทึกเสียงเป็นคนแรกในปีพ.ศ. 2504       
            เพลงนี้ เป็นเพลงเอกเพลงหนึ่งของ ครูชาลีอินทรวิจิตร ที่แต่งคู่กันกับ ครูสง่า อารัมภีร ซึ่งความเป็นมาของ เพลงเรือนแพเพลงนี้ ครูชาลี อินทรวิจิตร เขียนเล่าไว้ใน หนังสือบันเทิงบางทีดังนี้ว่า       
            "...เพลงแหวนรัก เพลงนี้เพราะจริงๆผมร้องสลับในละคร เรื่องนันทาเทวี ของ อัศวินการละครและภาพยนตร์ เป็นพระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลเพลงที่เปิดประตูให้ผมเดินเข้าไปในวังอัศวินไปเข้าเฝ้าและบัดนี้ ผมกำลังอยู่เบื้องพระพักตร์ของ สมเด็จพระองค์ชายใหญ่ของดาราของสถาบันภาพยนตร์และองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะของศิลปินนักแสดง       
            เสด็จฯ ทรงรับสั่งอย่างเป็นกันเอง แบบ สง่า อารัมภีร (แจ๋ว) ก็นับว่าเสด็จทรงพระกรุณาเป็นล้นพ้นแล้ว    
            "ฉันรู้จากแจ๋วว่าแกแต่งเพลงร้องเองสลับฉากละครของ ศิวารมณ์ เทพศิลป์และยังแต่งเพลงให้หนังไทยหลายต่อหลายเรื่องใช่ไหม?" เสด็จรับสั่งกับผม         
             ผมกราบถวายความเคารพ ก่อนจะตอบว่า "พ่ะย่ะค่ะ"       
            "ฉันจะให้แกแต่งเพลง "เรือนแพ" ให้แจ๋วแต่งทำนองอยากให้คนรุ่นใหม่อย่างแก ใช้อาภรณ์จากธรรมชาติ ใช้อารมณ์จากห้วงน้ำสร้างอุปรากรงานเพลงที่งดงาม เป็นภาษาดนตรีและภาษาอักษรใช่เป็นเพลงนำในภาพยนตร์ยิ่งใหญ่ที่ฉันร่วมงานสร้างกับฮ่องกง       
             เรื่องนี้ฉันแต่งไว้เพลงหนึ่งแล้ว คือ "เงาไม้" ให้แกแต่ง 2 เพลง เพลงเรือนแพเป็นเพลงไตเติล และอีก 1 เพลงเป็นเพลงอะไรก็ได้ขอให้ไพเราะก็แล้วกัน       
            พระเอกคนที่ 2 เป็นนักร้องเสียงดีพอๆ กับ ชรินทร์ นันทนาคร ประมาณนั้น"       
            หลังจากเสด็จทรงเล่าพฤติกรรมของตัวละคร ความผูกพันความรักของสามชายกับหนึ่งหญิงให้ฟังอย่างละเอียดละเมียดละไมแล้วกาแฟหนึ่งถ้วยกับน้ำเย็นก็ถูกพนักงานนำมาเสิร์ฟให้ทันที       
        21.00 น. เด็กพนักงานในวัง กลับเข้านอนกันหมดแล้ว เหลือ เสด็จ แจ๋ว และผม เพียง 3 คนเท่านั้น ไม่เหลืออะไรเลย แม้แค่กาแฟถ้วยที่ 2       
             พระเอกคนแรกเป็นนักศึกษา ตั้งความหวังไว้ว่าจะเป็นนายร้อยตำรวจ คนที่ 2 เป็นนักร้องเสียงดี มีอนาคต พระเอกคนที่ 3 เป็นนักเลงชีวิตสู้ทุกรูปแบบ       
             ทั้ง 3 คนเป็นเพื่อนรักกันเช่าเรือนแพโกโรโกโสหลังคาทะลุโหว่ มองเห็นพระจันทร์แง้มดวงเป็นเพื่อนดึกยามหลับนอนทุกคนสมัครใจเช่าอยู่ร่วมกันพอประทังชีวิตให้มีที่ซุกหัวนอนเท่านั้น       
            เรือนแพริมน้ำยามพายุกระพือโหม คลื่นกับฝนกระหน่ำซ้ำซัดก็โกลาหลจนแทบไม่ได้หลับไม่ได้นอน แต่กระนั้นฟ้ายังกรุณาปรานี ส่งกระแสสื่อความรักให้ลอยลิบๆ มากระซิบกับหัวใจให้พร่ำเพ้อละเมอหา แม่ชาวฟ้าที่ปรายตามาเยือนเพื่อนทุกคนเห็นเงาของดวงตาที่ซ่อนแอบเสน่หาไว้ภายใน       
            ตลอดเวลา เสด็จจะเสวยวิสกี้กับแจ๋ว และคุยกันเสียเป็นส่วนใหญ่ นานๆ แจ๋วก็มาเคาะเปียโนให้เสด็จฟัง กว่าจะลงตัวก็ปาเข้าไป 24.00 น. เพิ่งจะได้ทำนองท่อนแรกต่อจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของผม       
                   เรือนแพ สุขจริงอิงกระแสธารา
           หริ่งระงมลมพลิ้วมา กล่อมพฤกษา ดังว่า ดนตรี
           หลับอยู่ในความรัก รับความชื่น ชั่ววันและคืนเช่นนี้
           กลิ่นดอกไม้รัญจวนยังอบอวลยวนยี สุดที่จะพรรณนา
          จบท่อนแรกเสด็จทรงอ่านเนื้อเพลงแล้วให้ผมร้องให้ท่านฟังเสด็จพระองค์ชายใหญ่ท่านทรงพระปรีชาในด้านนี้อยู่แล้วไม่ทรงตำหนิอะไรเลยกลับทรงพอพระทัย กล่าวชมวรรคที่ 3 ที่ว่า"หลับอยู่ในความรัก"
          เสด็จตรัสว่า "ดีกว่าหลับอยู่ในความฝันมันล้ำหน้ากว่ากันเยอะ"
                   "เรือนแพ ล่องลอยคอยความรักนานมา
          คอยน้ำค้างกรุณา หยาดมาจากดาราแหล่งสวรรค์
           วิมานน้อยลอยริมฝั่ง ถึงอ้างว้างหัวใจรำพัน
           ทุกข์หรือสุขก็คล้อยตามกันชีวิตกลางน้ำสุขสันต์
           โอ้สวรรค์...ในเรือนแพ"       
          กว่าเพลงจะจบก็ใกล้สว่างเสด็จพระองค์ชายใหญ่ทอดพระเนตรเพลงท่อนจบอย่างพินิจพิเคราะห์       
          "เพลงบรรทัดที่ 2 คำร้องดีมาก ที่บ่งความหมายถึงคอยความรัก ความกรุณาจากแม่ชาวฟ้าลูกสาวของเถ้าแก่เจ้าของเรือนแพ แต่ในคำบรรทัดที่ 4 ที่ว่าทุกข์หรือสุขก็คล้อยตามกัน ตรงนี้มันง่ายไปนะ ชาลี คิดใหม่ คิดใหม่หาคำใหม่มาแทนคำว่า ทุกข์หรือสุขก็คล้อยตามกัน"       
           ตรัสแล้วทรงพาพระวรกายหายเข้าไปทำธุรกิจในห้องน้ำ แจ๋ว มองตามเสด็จแล้วหันมามองหน้าผมอย่างเห็นอกเห็นใจว่า ผมจะหาคำอะไรมาทดแทน       
        ความหิว ความง่วง บวกกับความน้อยใจทำให้ผมคิดอะไรแวบเข้ามาในหัวใจทันที       
                   "วิมานน้อยลอยริมฝั่ง ถึงอ้างว้างหัวใจรำพัน
           หิวหรืออิ่มก็ยิ้มพอกันชีวิตกลางน้ำสุขสันต์
           โอ้สวรรค์...ในเรือนแพ"
                         เขียนจบเพลง ผมเลื่อนเนื้อเพลงส่งให้ สง่า อารัมภีรแล้วผมก็หมุนตัวกลับลงบันไดไปข้างล่าง ขึ้นรถกลับบ้านทันทีจริงๆ แล้ว ประโยคที่ขีดเส้นใต้นั้น ผมตั้งใจเขียนประชดเสด็จท่านเพราะผมหิวจริงๆหลายวันต่อมา ผมเจอแจ๋ว แจ๋วบอกว่าเสด็จโปรดคำใหม่นี้มาก หิวหรืออิ่มก็ยิ้มพอกัน ก็เป็นอันรอดตัวไปครับ"http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9490000112168

ประวัติครูสง่า อารัมภีร (17) : เพลงทะเลไม่เคยหลับ

เพลงไพเราะที่ ครูสง่า อารัมภีรแต่งให้กับนักร้องรุ่นหลัง มีความไพเราะไม่แพ้รุ่นแรกๆ โดยเฉพาะ เพลงทะเลไม่เคยหลับซึ่งน่าจะเป็น เวอร์ชันที่ 2 ต่อจาก เพลงแม้แต่ทะเลยังระทม ที่กล่าวมาแล้วในตอนต้นครูสง่า อารัมภีร มอบให้ วงดนตรีดิอิมพอสสิเบิล ของกลุ่ม ปราจีน ทรงเผ่า โดยมีเศรษฐา ศิระฉายาเป็นผู้ขับร้อง
              เพลงทะเลไม่เคยหลับ
                              คำร้องทำนอง สง่า อารัมภีร/ขับร้อง เศรษฐา ศิระฉายา
                           มอง ซิมอง ทะเล
           เห็นลม คลื่นเห่ จูบหิน
           บาง ครั้งมัน บ้าบิ่น
           กระแทกหิน ดังครืนๆ       
       
                    ทะเล ไม่เคยหลับใหล
           ใครตอบได้ไหม ไฉนจึงตื่น
           บางครั้ง ยังสะอื้น
           ทะเลมันตื่น อยู่ร่ำไป       
                   
ทะเล หัวใจของเรา
          แฝงเอา รักแอบเข้าไว้
           ดู ซิเป็นไปได้
           ตื่นใจเหมือนดัง ทะเลครวญ
                   ยาม หลับใหลชั่วคืน
          ก็ถูกคลื่นฝัน ปลุกฉันรัญจวน
           ใจ รักจึงเรรวน
           มิเคยจะหลับ เหมือนกับทะเล       ...          

จะเห็นได้ว่าผลงานเพลงอมตะของ ครูสง่า อารัมภีร นั้น เริ่มมาจากเพลงประกอบละครเวทีเพลงสลับหน้าม่าน เพลงประกอบภาพยนตร์ เพลงประกอบละครวิทยุ ละครโทรทัศน์และเพลงที่แต่งเนื่องในโอกาส วาระต่างๆ มีประมาณ 2,000 เพลง ซึ่งยังคงเป็นที่นิยมชื่นชมอยู่ในหมู่แฟนเพลงรุ่นเก่าๆ ที่ขณะนี้หาฟังได้ยากมากเพราะสถานีวิทยุเกือบทุกแห่งกลายเป็นกิจการค้าขายผลประโยชน์ด้านโฆษณาของค่ายเพลงไปเสียแล้วอย่างน่าเสียดาย       
             อย่างไรก็ดี เพลงอมตะเหล่านี้ยังพอจะหาฟังกันได้ จากสถานีวิทยุเพื่อชุมชนเอฟเอ็ม 104.75 ของคุณ อัจฉรา กรรณสูตร ใครสนใจลองติดตามฟังกันดูตามอัธยาศัย        
             นอกเหนือจากการเป็นครูเพลงผู้ประพันธ์คำร้อง ทำนองอย่างหลากหลาย เป็นนักเขียน คอลัมนิสต์เกี่ยวกับวงการเพลงและละคร เรื่องเกี่ยวกับผีแล้ว ครูสง่า อารัมภีร ยังมีคุณูปการต่อวงการอื่นๆ หลายวงการ เช่นเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมนักแต่งเพลง สมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ฯลฯ
            สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้จัดคอนเสิร์ต เชิดชูครูเพลง ครั้งที่ 3 สง่าอารัมภีร ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 ขึ้น เพื่อระลึกถึงและเชิดชูผลงานเพลงอมตะของ ครูสง่า อารัมภีรที่ได้รับการกล่างถึงอย่างมากมาย
            ผลงานของ ครูสง่า อารัมภีรนั้น นัจนันท์ พฤกษ์ไพบูลย์ ได้ทำการวิจัยไว้ในเรื่องวิเคราะห์ความสามารถในการประพันธ์เพลง เพื่อใช้ในงานสื่อมวลชน ของ สง่า อารัมภีรว่า
            "...สง่า อารัมภีร เป็นนักประพันธ์เพลงที่มีความรู้ความสามารถหลากหลายอยู่ในตัว ไม่เพียงแต่ประพันธ์ทำนองได้ไพเราะน่าฟังเท่านั้นด้านคำร้องก็สามารถประพันธ์ได้อย่างงดงาม สละสลวยไม่แพ้กวี นอกจากนั้นยังมีความสามารถในการขับร้อง แยกเสียงประสาน ควบคุมวงดนตรี
            อีกทั้งมีสายตาอันแหลมคมในการสรรหาและคัดเลือกนักร้องที่เหมาะสมมาร้องเพลงที่ตนเองแต่งขึ้นจึงทำให้บทเพลงนั้นประสบความสำเร็จ และส่งเสริมนักร้องจำนวนมากให้มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ...
            ผลงานเพลงที่แต่งนั้น มีความสมบูรณ์ไพเราะ และสื่อทั้งความหมาย อารมณ์จินตนาการของผู้แต่ง ถ่ายทอดไปยังผู้ฟังได้อย่างดีที่สุดยากที่ใครจะลอกเลียนแบบได้...       
             ตลอดระยะเวลา 53 ปีของการทำงานในอาชีพนักแต่งเพลงของ สง่า อารัมภีร นั้นได้ประพันธ์เพลงสำหรับใช้ในทุกสื่อ ได้แก่ เพลงประกอบละครเวที เพลงประกอบภาพยนตร์เพลงประกอบละครโทรทัศน์ และเพลงขับร้องทั่วไป ซึ่งการสร้างสรรค์ผลงานเหล่านั้นมาจากจินตนาการและแรงบันดาลใจที่ได้มาจากประสบการณ์ต่างๆ ในชีวิตรวมทั้งงานอดิเรกที่ทำเป็นประจำ เช่น การอ่านหนังสือ ท่องเที่ยว ฯลฯก็มีส่วนสัมพันธ์กับการสร้างสรรค์ประกอบกับผลงานได้รับการเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ อาทิภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์ทำให้เป็นที่รู้จักของประชาชนโดยทั่วไป...       
            ..และยังคงหมุนเวียนกลับมาได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในทุกยุคทุกสมัย..."http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9490000120829

ประวัติครูสง่า อารัมภีร (จบ) : บทเชิดชู

ส่วนปริญญานิพนธ์ ของ มัยลา ศรีโมลา เรื่อง การวิเคราะห์บทเพลงของ สง่า อารัมภีร ได้สรุปเอาไว้ว่า
                "...ในด้านการใช้คำ อันเป็นศิลปะเฉพาะตัวของผู้แต่งแต่ละคนนั้น บทเพลงของ สง่า อารัมภีร มีการใช้คำที่ทำให้เกิดอรรถรสที่มีคุณค่าทางวรรณศิลป์ ได้แก่ วิธีการใช้คำซ้ำ การใช้วิธีการสรรคำ การใช้คำอุทาน และการหลากคำ       
                สง่า อารัมภีร สามารถใช้คำได้อย่างเหมาะสม ทำให้ผู้ฟังหรือผู้อ่านเกิดความเข้าใจในเนื้อหาและถ้อยคำภาษาในบทเพลง อันทำให้เกิดอารมณ์คล้อยตามลีลาการใช้ถ้อยคำ...
                การใช้โวหารภาพพจน์ ในบทเพลงของ สง่า อารัมภีร มีการใช้อุปมา อุปลักษณ์ บุคคลาธิษฐาน อติพจน์ ปฏิปุจฉา ปฏิภาคพจน์ และสัทพจน์ ซึ่ง สง่า อารัมภีร ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ร้อยกรองบทเพลงด้วยลีลาการใช้โวหารนั้น เพื่อเป็นสื่อในการถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด และความฝันต่างๆ ไปยังผู้ฟังหรือผู้อ่าน...
                บทเพลงของ สง่า อารัมภีร เป็นผลงานที่ใช้ความรู้ ประสบการณ์ชีวิต บวกกับความสามารถในการแต่งเพลง จึงทำให้บทเพลงของ สง่า อารัมภีร เป็นสื่อเพื่อความบันเทิงและได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน
                ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะการใช้ถ้อยคำ การใช้โวหาร ภาพพจน์ มีส่วนช่วยส่งเสริมให้บทเพลงมีความงามทางภาษา ที่มีลีลาชวนฟัง มีความไพเราะเสนาะหู ให้อารมณ์ ความรู้สึก และความหมายที่ดี ทำให้ผู้ฟังเกิดมโนภาพ สามารถรับอรรถรส และสุนทรียรสได้เป็นอย่างดี...
                จึงกล่าวได้ว่า บทเพลงของ สง่า อารัมภีร มีคุณค่าแห่งวรรณกรรม ทั้งในด้านศิลปะการใช้ถ้อยคำ ในด้านการประเทืองอารมณ์ และในด้านบำรุงความคิดและสติปัญญาอย่างครบถ้วน..."
                สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ยกย่องให้ ครูแจ๋ว หรือ สง่า อารัมภีร เป็น ศิลปินแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2532 สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล) ว่า
                "...นายสง่า อารัมภีร เป็นนักประพันธ์เพลงไทยสากลที่มีความสามารถรอบตัว โดยประพันธ์ทั้งบทร้อง ทำนอง และแยกเสียงประสาน ควบคุมวงดนตรี สรรหานักร้องที่เหมาะสมกับบทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นนั้น ตลอดจนการบันทึกเสียง ได้ส่งเสริมให้นักร้องจำนวนมากมาย มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ
                เป็นนักเขียนหลายนามปากกา และสามารถรจนาบทเพลงร้องที่เป็นเลิศในลักษณะแห่งกวีนิพนธ์ ตลอดจนถ่ายทอดนิพนธ์ของกวีเอก ออกเป็นเพลงไทยสากลได้อย่างแนบเนียน ถึงพร้อมด้วยสุนทรียภาพแห่งการดนตรี ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2487 จนถึงปัจจุบันhttp://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9490000123581

ครูสง่า อารัมภีร กับ หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์(1)

ในบรรดานักร้องชายที่ "ครูสง่า อารัมภีร" แต่งเพลงให้ขับร้องนั้น ส่วนมากจะเป็นรุ่นลูกศิษย์ลูกหาเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่กับหม่อมราชวงศ์ ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ นั้น เป็นเพื่อนสนิทที่ร่วมก๊วนเที่ยวเตร่เฮฮา รินสุรามาดื่มกันกับครูแจ๋วอยู่เป็นประจำ       
                เดิมนั้น หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ สนิทสนมและใกล้ชิด รวมทั้งเคยเป็นนักร้องของวงดนตรีสุนทราภรณ์มาก่อน เพราะสนิทสนมกับอาภรณ์ สุนทรสนาน ภริยาของ ครูเอื้อ สุนทรสนาน หัวหน้าวง จนมีเพลงเอกที่ไพเราะอยู่หลายเพลง เช่น ยามรัก หวงรัก อย่าเกลียดบางกอก ฯลฯ เป็นต้น       
                สำหรับเพลงที่ ครูสง่า อารัมภีร แต่งให้ หม่อมราชวงศ์ ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ ขับร้องนั้น มีอยู่ไม่มาก แต่ไพเราะน่าฟังเกือบทุกเพลง เช่น เพลงขุ่นลำโขง เพลงครวญ เพลงคอยอ้อมกอดพี่ เพลงคืนนี้ เพลงดวงชีวัน เพลงเที่ยงคืน เพลงทำไมหนอ เพลงน้ำใจน้ำค้าง เพลงฝนนี้ เพลงเพื่อเธอ เพื่อเธอ เพลงแล้งในอก เพลงวนาลี เพลงวนาสวาท เพลงวานลมจูบ เพลงสักวา เพลงสาวตางาม เพลงสายสวาท เพลงสีชัง เพลงโศก เพลงอนิจา ฯลฯ       .....
                เพลงสีชัง
                                คำร้อง ร.6
                                ทำนอง สง่า อารัมภีร
                                ขับร้อง ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์
       
                โคลง 4
                                สีชังชังชื่อแล้ว อย่าชัง
                อย่าโกรธพี่จริงจัง จิตข้อง
                ตัวไกลแต่ใจยัง เนาแนบ
                เสน่ห์สนิทน้อง นิจโอ้อาดูร
       
           กาพย์
                           สีชังชังแต่ชื่อเกาะนั้นหรือจะชังใคร
           ขอแต่แม่ดวงใจ อย่าชิงชังพี่จริงจัง
           ตัวไกลใจพี่อยู่ เป็นคู่น้องครองยืนยัง
           ห่างเจ้าเฝ้าแลหลังตั้งใจติดมิตรสมาน       
           เป็นเพลงในภาพยนตร์ เรื่องน้องสาว ของอาษา ซึ่งฉากทั้งเรื่องอยู่ที่ เกาะสีชัง ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ขับร้องไว้เมื่อปี พ.ศ. 2502       
          พลงนี้ได้รับรางวัลนักร้องชายรองชนะเลิศในการประกวด เพลงแผ่นเสียงทองคำพระราชทานครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2507       .....
           เพลงแล้งในอก
                   คำร้อง อาจินต์ปัญจพรรค์/ทำนอง สง่า อารัมภีร
                           ขับร้อง ม.ร.ว.ถนัดศรีสวัสดิวัฒน์       
                           ไปเถิดหนาแม่ไป ไปเที่ยวตามใจของเจ้า
          พี่นี้คอยเป็นเงา จะเที่ยวคอยเฝ้าคอยมอง
           เห็นหญ้าเขียวๆพี่เดินลดเลี้ยวตามน้อง
           ตามเที่ยงมองแม่นางโอ้ละเหนอ
                   ฝนตกสุยๆ ตัวพี่ลุยน้ำบ่า
          เปียกฝนท่วมหน้า พี่อุตส่าห์ยืนคอย
           ลมพัดหวิวๆน้ำเป็นพลิ้วเป็นพร้อย
           ใจพี่ลอยเหมือนลมโอ้ละเหนอ
                   ฝนโปรยเป็นสาย ดินละลายเป็นหล่ม
           อกหนาวเอารักห่ม อกพี่อมไอไฟ
          แดดส่องเป็นแสงดินก็แล้งเป็นต้นไม้
           มองหาใบ ไม่เห็นมีโอ้ละเหนอ
                    ใจเออหนอว่าใจ ดุจดังไฟเผาพี่
           พี่แล้งแสงระวี ไม่เท่าตัวพี่แล้งใจ
           ในใจแล้งนักถ้าแม้นมีรักมาไล้
           ได้สมใจสิ้นแล้งเอยโอ้ละเหนอ       
            เพลงนี้ อาจินต์ ปัญจพรรค์ศิลปินแห่งชาติแต่งคำร้องให้ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ขับร้องโดยเฉพาะในเพลงชุดนี้มีอยู่ด้วยกัน 4 เพลง คือ เพลงสาวตางาม เพลงขุ่นลำโขงเพลงเว้าสาวอีสาน และเพลงแล้งในอก
            ความสัมพันธ์ ความผูกพันที่ ครูสง่า อารัมภีร มีต่อหม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ และ อาจินต์ ปัญจพรรค์นั้น ครูสง่า อารัมภีร เขียนเล่าเอาไว้ใน หนังสือรวมเพลง ลำนำบทกวีเคล้าดนตรีละครเรื่อง เบื้องหลัง ที่มาของ ลำนำกวีดนตรีละคร ว่า...
            "เมื่อปี 2500 คณะเราอันมี บ.ก. ไทยโทรทัศน์ทีวีช่อง 4 คุณอาจินต์ ปัญจพรรค์เป็นแกนกลางอยู่ที่บางขุนพรหม แทบทุกเย็นเราก็ไปพบกัน เวียนกันไป เวียนกันมาระหว่าง คุณนพพร บุณยฤทธิ์ คุณรงค์ วงษ์สวรรค์ คุณรัตนะ ยาวะประภาษ คุณชายถนัดศรีสวัสดิวัฒน์ และข้าพเจ้า นักแต่งเพลงละคร นานๆก็นัดเที่ยวต่างจังหวัดกันสักครั้ง
            คุณอาจินต์เขียนเนื้อเพลงสวัสดีบางกอก คุณเอื้อ สุนทรสนาน เขียนทำนอง ม.ร.ว.ถนัดศรีสวัสดิวัฒน์ ขับร้อง เพลงนี้กระหึ่มก้องฟ้าเมืองไทยมาแล้ว คุณเอื้อกับ วังสันต์ก็เขียน เพลงยามรัก ให้เขาร้องอีกวงการเพลงสนั่นกึกก้องตามเคย
            ปี 2501 ผมเป็นฝ่ายจัดรายการภาคเช้า วิทยุทหารอากาศ ทุ่งมหาเมฆ แต่ไปชอบพอกับ นาวาอากาศตรีกำธน สินธวานนท์ หัวหน้าสถานีวิทยุ 01 กรมสื่อสารทหารอากาศเข้า เย็นๆก็ไปเจอกันที่ห้องอาหารสาลินีซึ่งเป็นญาติห่างๆ ของคุณชายถนัดศรีคณะเราจึงมาพบกันที่นี่บ่อย แล้วยกคณะไปห้องส่งวิทยุ 01 ดอนเมือง
            คุณชายถนัดศรีร้องเพลงไทยผมคลอด้วยแอ็คคอร์เดียน จึงรู้ระดับเสียงเขาดีและเขาก็แปลกใจที่เริ่มเรียนร้องเพลงไทยเดิม ทว่าเข้าใจจังหวะต่างๆของเพลงไทยสากลดี ร้องท่วงทำนองสากลในจังหวะวอลทซ์ โบเลโร่ เพลงสีชังอันเป็นพระราชนิพนธ์ ร.6 ได้ไพเราะยิ่ง...http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9490000115572

ครูสง่า อารัมภีร กับ มรว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ (2)

จากนั้นมา 2502 - 2503 ผมจึงแต่งเพลงให้เขาร้อง เพราะเขาทำรายการวิทยุ 01 แล้วยังมาทำรายการ เพลินเพลงกับ ม.ร.ว.ถนัดศรี ยังโทรทัศน์ทหารบกขาวดำ ช่อง 5 สนามเป้าสมัยที่ พ.อ.ถาวร ช่วยประสิทธิ์ มาเป็นหัวหน้าฝ่ายจัดรายการแทน พ.อ.การุณเก่งระดมยิง       
                ใกล้ชิด เที่ยวเตร่กันจนแยกกันไม่ค่อยออก มิหนำซ้ำยังชวน กัปตันพร้อม แห่งบริษัทไทยอินเตอร์ ภายหลังเปลี่ยนเป็น บริษัทการบินไทย มาร่วมโต้รุ่งที่ตลาดประตูน้ำบ่อยๆ       
                ตอนบ่ายๆ มาร้องเพลงลงแผ่นเสียงที่ห้องอัดกมลสุโกศล ซอยอรรถการประสิทธิ์ตกค่ำถ้าไม่มีรายการวิทยุและโทรทัศน์ ก็ตระเวนละเลียดเหล้ากัน ตามร้านอาหารจีน ในตรอกเทียนกัวเทียนและร้านข้าวต้มหน้าห้อยเทียนเหล้า หลังโรงพยาบาลกลาง กระทั่งริกินเหล้ากับผลไม้ อาทิ ทุเรียน และลำใย เรารู้ขึ้นมาทันทีว่าร่างกายไม่รับ จะมีผื่นขึ้นและเจ็บไข้เอาดื้อๆ เราจึงค่อยๆ ห่างกันไปรักษาตัว       
                แต่เพลงเราก็ยังร่วมกันผลิตอยู่เรื่อยๆ เป็นเพลงจินตนาการที่ ม.ร.ว. ถนัดศรี พานักแต่งเพลงละครบ้านนอกไปพบสาวๆ นักเรียนนอกเพื่อนของเขา เพลงเพื่อเธอ เพื่อเธอ และ วานลมจูบ และ ทำไมหนอ จึงเกิดขึ้น       
                เพลงจากภาพยนตร์ เช่น วนาลี วนาสวาท และอื่นๆ ก็เกิดขึ้นในระยะนี้ เสียดายที่สมัยโน้น แผ่นเสียงทำด้วยครั่ง แตกง่าย และเป็นเส้นเสียงเดียว มาสมัยแผ่นไวนิล และเทปสเตอริโอจึงต้องทำกันใหม่       
             วันเวลาก็ผ่านมาถึง 2522 เป็นเวลา 20 ปีกว่าทีเดียว ม.ร.ว.ถนัดศรี กำลังทำรายการ "มหาวิทยาลัยชาวบ้าน"ทางไทยทีวีสีช่อง 9 และรายการครอบจักรวาล ทางวิทยุ ททบ. เอฟเอ็มโด่งดังมากเหลือเกิน       
                วันหนึ่งเมื่อเราคุยกันถึงความหลัง ผมก็ปรารภว่า อยากนำเพลงที่เคยร้องไว้เมื่อกาลก่อน นำมาทำดนตรีใหม่ ให้อยู่ในระบบสเตอริโอโฟนิค ว่างๆ มาช่วยร้องให้หน่อยนะ
                เขานั่งนิ่งอยู่สักครู่ หลังจากที่ดื่มน้ำมังสวิรัติไปแล้วครึ่งถ้วย ก็พูดเบาๆ ว่า "เอาซิ"
                นี่คือที่มาของเทปปก ถนัดศรี 81 และชุด ข้องจิต ซึ่งได้ฟังกันมาทางวิทยุโดยทั่วไปแล้ว       
             พิเศษสุด ก็เมื่อ ตุลา 2524 พาผมไปเที่ยวนครเวียนนา ไปคารวะท่าน โยฮัน สเตราส์ มหาคีตะดุริยางค์ในแนวทางควิกวอลทซ์ ที่งานของท่านแพร่หลายไปทั่วโลก ทำให้ผมมีพลังจะสร้างเพลงและดนตรีต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด"
                หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ เอง ก็เขียนถึง ความผูกพันที่มีอยู่กับ ครูสง่า อารัมภีร ว่า
                "เรารู้จักกันมากว่าห้าสิบปีแล้วนะ ตั้งแต่สงครามยังไม่สงบ แต่เพิ่งมาใกล้ชิดกันตอนปี 2502 นี่แหละ
                แจ๋วคงจำได้ เมื่อแจ๋วมาขอให้ร้องเพลง "สีชัง" อัดแผ่นเสียง และเพลงนี้อิตอันดับแผ่นเสียงทองคำเสียด้วย หลังจากนั้นมา เราก็ได้ร่วมงานกันมาตลอด
                ตอนที่เราทำห้องอัดเสียงทอง ก็ซื้อลิขสิทธิ์เพลงของแจ๋วไว้ทั้งหมด
                ในช่วงเวลานั้น เราเหมือนคู่แฝด หัวหกก้นขวิดอยู่ด้วยกัน โลดแล่นไปทุกหนทุกแห่ง บางวันนั่งละเลียด "โง่วเกียพ้วย" แกล้มไก่ตอนอยู่ที่ร้านไท้เฮง บางคราวไปปักหลักกันที่โคราช ลำปาง แถมยังเลยไปเวียงจันทน์
                มีอยู่ครั้งหนึ่ง ได้พาแจ๋วไปไหว้ "โยฮัน เสตร๊าส์" ที่เวียนนา สมปรารถนาของแจ๋ว
                เรื่องราวต่างๆ ที่เราได้ร่วมกันประพฤติ มีอยู่มากมายยิ่งนัก เหตุการณ์เหล่านั้น ก็ผุดขึ้นมาในความทรงจำอย่างชัดเจน แต่ถ้าจะเขียนให้หมด ก็จะยืดยาวเป็นวิทยานิพนธ์..."

http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9490000118345

สมาน กาญจนะผลิน (1)

เกิดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2464
           เป็นคนกรุงเทพมหานคร เป็น บุตรคนที่ 4 จากจำนวนพี่น้องทั้งหมด 7 คน ของหมื่นคนธรรพ์ประสิทธิสาร ( แตะ กาญจนะผลิน ) และ นางแหวว กาญจนะผลินมีพื้นฐานด้านดนตรีไทยเดิมมาตั้งแต่เด็กเพราะบิดาเป็นหัวหน้าวงดนตรีไทยที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ในยุคนั้น โดยมี ครูพริ้งกาญจนะผลิน พี่ชาย เป็นผู้สอน       
            เริ่มเรียนหนังสือ ที่โรงเรียนมณีโสภา โรงเรียนวัดบางโพ โรงเรียนสุวรรณประสิทธิ์ และเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนนาฎดุริยางค์ กรมศิลปากร ในสาขาวิชาการดนตรีโดยมีครูสอนวิชาการดนตรีต่างๆให้หลายคน เช่น ครูมนตรี ตราโมท เรืออากาศเอกทองต่อกลับชื่น ขุนสมานเสียงประจักษ์ ครูเอื้อ อัมพลิน ครูประเสริฐ วิเศษศิริ และพระเจนดุริยางค์ ทั้งด้าน ดนตรีไทยเดิม ดนตรีสากลและการเรียบเรียงเสียงประสาน       
             สำหรับครูคนแรกที่สอนในด้านการดนตรีนั้น ครู สมาน กาญจนะผลิน เขียนไว้ในบทเพลงสุดท้ายของพี่พริ้ง ว่า       
            “...พี่พริ้งเป็นนักดนตรีที่มีความสามารถ บรรเลงเครื่องดนตรีไทยได้ทุกชิ้น เช่น ระนาด ฆ้อง ทุ้มกลอง เครื่องหนังทุกชนิด หรือแม้กระทั่งการขับร้องเพลงไทยที่ข้าพเจ้ายอมรับเช่นนี้เพราะข้าพเจ้าเป็นผู้ที่เคยติดสอยห้อยตาพี่พริ้งมาตั้งแต่สมัยที่ข้าพเจ้ายังเป็นเด็ก ไม่ว่าไปบรรเลงที่งานไหนข้าพเจ้าต้องติดตามไปด้วยทุกครั้งก็ว่าได้       
             พี่พริ้งนอกจากจะเป็นพี่ชายร่วมสายโลหิตแล้ว พี่พริ้งยังเป็น ครูที่ประสิทธิประสาทวิชาดนตรีให้แก่ข้าพเจ้าด้วยใช่แต่เพียงจะเป็นครูของข้าพเจ้าในตอนเด็กๆ เท่านั้นก็หาไม่
           เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่มีอายุมากแล้ว พี่พริ้ง ก็ยังเป็น ครู คอยช่วยเหลือให้คำแนะนำข้าพเจ้า ในเรื่องดนตรีไทยอยู่ตลอดเวลา       
            ทุกครั้งที่ข้าพเจ้าอัดแผ่นเสียงในแบบ ดนตรีสังคีตประยุกต์ส่วนมากจะใช้ทำนองเพลงไทยเดิม โดยใช้เครื่องดนตรีสากลบรรเลงผสมกับดนตรีไทยก็ได้อาศัยพี่พริ้งนี่แหละ ที่เป็นผู้คอยช่วยให้คำแนะนำตักเตือนและแก้ไขทำนองเพลงที่ผิดพลาด เช่นขาดหรือเกิน ขากของเดิมไปบ้างทำให้เพลงออกมาอย่างถูกต้อง”       
             ในปี พ.ศ. 2485 เมื่อเรียนจบแล้ว ได้เข้ารับราชการในวงดนตรีดุริยางค์สากล กรมศิลปากรในตำแหน่งนักดนตรีไทย และต่อมาได้ย้ายมาเป็นนักทรัมเป็ต ของวงดุริยางค์สากลและออกหางานพิเศษเพื่อเพิ่มรายได้ โดยกลางวันรับราชการที่กรมศิลปากรส่วนกลางคืนเล่นดนตรีตามบาร์และไนท์คลับ หลายแห่ง เช่นภัตตาคารห้อยเทียนเหลาหรือหยาดฟ้าภัตตาคารที่โด่งดังและเป็นที่นิยมกันมากในหมู่ชาวกรุงเทพฯ       
            ปี พ.ศ. 2489 ได้ชักชวน ประสิทธิ์ พยอมยงค์ จำนรรจ์ กุณฑลจินดา และพรรคพวกตั้งวงดนตรีกาญจนศิลป์ ออกรับงานทั่วๆ ไป และเล่นประจำตามร้านอาหาร โรงแรมห้องอัดเสียงและ สถานีวิทยุ โดยมี เพ็ญแข กัลยจารึก ชาญ เย็นแข วินัย จุลละบุษปะนภา หวังในธรรม เป็นนักร้องประจำวง       
            ครูสมาน กาญจนะผลินเริ่มแต่งเพลงทำนองเองเป็นเพลงแรก คือ เพลงกลิ่นเนื้อนาง ที่ ครูสุนทรียา ณเวียงกาญจน์ เป็นผู้แต่งคำร้อง และ ชาญ เย็นแข เป็นผู้ขับร้อง โดยอาศัยทำนองจากเพลงไทยเดิม ชื่อเพลงดาวทอง       ..........
              เพลงกลิ่นเนื้อนาง
                              คำร้องสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์/ทำนอง สมานกาญจนะผลิน
                              ค่ำคืนฝืนใจเหลือข่ม
       
       พี่ต้องตรมระทมอุรา
       
       นอนเพ้อหาแก้วตาวุ่นวาย
       
       สุดข่มใจหลับใหลไม่ลง       
                         
พะวงไม่คลาย
       
       โอ้กลิ่นกายเนื้อนวลนิ่มนางยังฝังใจ
       
       กลิ่นนวลเนื้อนางยังกรุ่น
       
       หมอนที่หนุนครั้งนอนแนบพี่       
       
                       ตรึงฤดีพี่หอมไม่คลาย
       
       โอ้บัดนี้น้องนางจากพี่ไปแห่งใด
       
       จากพี่ไป
       
       ทิ้งเพียงกลิ่นกายให้หมองอุรา       
       
                       พี่ครวญละเมอเพ้อพร่ำ
             
ใครเล่าช้ำระกำเหมือนพี่
       
       ตรมฤดีไม่มีสร่างซา
       
       เฝ้ากอดหมอนนวลน้องแนบนอนอ่อนระอา       
                         
สุดข่มตา
       
       ร้าวรอนอุราผวาครวญ
             ต่อมาในปี พ.ศ. 2493 ครูสมาน กาญจนะผลิน ได้แต่ง เพลงเดียวดาย ร่วมกับ ครูไสล ไกรเลิศเป็นเพลงประกอบละครเวที เรื่องนางไพร ของ รพีพร หรือ สุวัฒน์ วรดิลกโดยนำทำนองมาจาก เพลงไทยเดิม ชื่อ เพลงคิดถึงซึ่งเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมกันอย่างกว้างขวางและแพร่หลายมากในสมัยนั้น       ..........
            เพลงเดียวดาย
                              คำร้อง ไสลไกรเลิศ/ทำนอง สมาน กาญจนะผลิน
                              ขวัญเอ๋ย เคยภิรมย์ชิดชื่นสุขสันต์
       
       หลงเพ้อฝันรักมั่น มิทันจะเนิ่นเธอเมินหมาง
       
       โอ้อ้างว้างอาวรณ์ฤดี เหมือนโนรีจากคอน
       
       หลงรังนอนลืมที่ เหมือนชีวีเดียวดายเอกา       
       
                       โอ้ดึกเดือนคล้อย เดือนเจ้าจะลอยจากตา
       
       มองนภายังเห็นดาราเรียงราย
       
       เหลียวหา จนทิวาโฉมเจ้าแลหาย
       
       หรือรักแล้วแหนงหน่าย รักเอยลืมง่ายไยเมินเฉย       
       
                       โอ้ใจเอ๋ย ใจเลยแรมรอน
       
       ฉันยังจำติดตาทุกทิวาคืนก่อน เหลืออาวรณ์ใจเอย ค่ำลง
       
       โอ้ใจสะท้อน จะหลับจะนอนพะวง
       
       ลืมไม่ลง มันเหมือนมีมนต์ดลใจ       
            เพลงนี้บันทึกเสียงแผ่นเสียง โดย ชรินทร์ นันทนาคร เมื่อ พ.ศ. 2496

http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9500000072148

ครูสมาน กาญจนะผลิน (2)

สุวัฒน์ วรดิลก เขียนถึงผลงานชิ้นนี้ ของ ครูสมาน กาญจนะผลิน ไว้ ใน “ผู้รู้วันตาย” ว่า...       
            “...ผู้เขียนรู้จักผลงานเพลงของสมาน กาญจนะผลิน ก่อนรู้จักตัว ถ้าจำไม่ผิด เดือนตุลาคม 2493 ในฐานะผู้อำนวยการสร้างละคร คณะชุมนุมศิลปิน ได้นำเสนอละครจากนวนิยาย นางไพร ในนสพ.เดลิเมล์วันจันทร์ ณ เวทีเฉลิมนคร       
            เพื่อความสนใจของแฟนละครในสมัยนั้น ซึ่งนิยมเพลงประกอบเรื่องหลายๆเพลงผู้เขียนได้ชุมนุม นักแต่งเพลงมาร่วมงานหลายคน โดยมี สง่า อารัมภีร เป็นหลักในจำนวนนักเพลงเหล่านั้น ไม่มี สมาน กาญจนะผลิน แต่มี ไศล ไกรเลิศซึ่งนำเพลงเดียวดาย จากทำนองเพลงไทย คิดถึง(อิเหนาหรือจะมาตามด้วยความรัก) มาเสนอผู้เขียนชอบมาก จึงนำมาตั้งชื่อใหม่ว่า “เดียวดาย” ปัจจุบัน เป็นเพลงเอกของละครนางไพร ให้ สุรสิทธิ์ สัตย์วงศ์ ขับร้อง       
             จ่ายค่า(เช่า)เพลงให้ ไศล ไกรเลิศ ไปแล้ว จึงได้ทราบความจริงว่า เพลงเดียวดาย ไศลแต่งเฉพาะเนื้อร้อง ทำนองเพลงนั้น ผู้แต่งคือ สมาน กาญจนะผลินซึ่งเมื่อได้รู้จักกัน เขาก็หัวร่อร่า อารมณ์ดี บอกว่า “ไม่เป็นไรๆ”       
             เบื้องหลังของ เพลงเดียวดาย นี้ ชรินทร์นันทนาคร เขียนเอาไว้ ใน “แด่...ความงามของความรัก” จาก คอลัมน์ หกแยกบันเทิง ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ เมื่อ 30 มกราคม พ.ศ. 2540 ไว้อย่างน่าสนใจว่า       
            “...เคยเสียใจไม่ได้เป็นนักกีฬาของอัสสัมชัญ เพราะสะบ้าหัวเข่าแตกจากอุบัติเหตุรักบี้ฟุตบอล       
             ลมอะไรก็ไม่รู้ พัดพาไปจุฬาซอย 11 ได้พบครูเพลงผู้ยิ่งใหญ่ ไสล ไกรเลิศ กินกับครู นอนกับครู มิไยที่น้ำไฟถูกตัดและภรรยาครูหอบผ้าหนีไปอยู่บ้านแม่ แต่ครูยิ้ม และตั้งใจเขียน เพลง ” ขวัญเอ๋ยเคยภิรมย์ชิดชื่นสุขสันต์ หลงเพ้อฝันรักมั่น มิทันจะเนิ่นเธอเมินหมาง”       
             แล้วก็มาติดตรง สระอางซึ่งจะต้องหาคำสัมผัสที่ละมุนละไมและไพเราะ 3 วันก็ยังไม่ได้ถ้อยคำที่ถูกใจ
            เลยออกความเห็นกับครูว่าน่าจะเปลี่ยนเป็นสระอื่นที่ง่ายกว่า       
             ครูมองเหมือนจะโกรธ       
            “จำไว้นะ ชรินทร์ หนทางชีวิต หรือหนทางเพลง มันจะยากแค้นกันดารอย่างไร อย่าไปยอมแพ้ ถ้าเราแพ้มันเสียครั้งหนึ่งเราจะยอมแพ้มันตลอดไป”       
             นี่คือบทเรียนที่ยิ่งใหญ่ของมหาวิทยาลัยชีวิต และคืนนั้น ตีสองนอนกับครูในมุ้งเล็กๆ ครูพรวดพราดลุกขึ้นจุดไม้ขีด เขียนเพลงในกระดาษที่เตรียมไว้เขียนจนไฟลามก้านไม้ขีดไหม้มือครู แต่ครูก็ยังเขียนจนสิ้นแสงวอมแวมไปกับมือนั่นแหละครูถึงได้หยุด พร้อมกับถอนใจอย่างโล่งอก       
             ครูเล่าว่าเทวดามาบอกให้เขียนเพลงต่อจากที่ค้างไว้       
             คือประโยคที่ว่า “มิทันจะเนิ่น เธอเมินหมาง”       
             ให้ต่อด้วย “โอ้อ้างว้างอาวรณ์ฤดี เหมือนโนรีจากคอน หลงรังนอนลืมที่ เหมือนชีวีเดียวดายเอ้กา...”       
            ครูลืมเจ็บที่ไฟไหม้มือก็เพราะเทวดามาบอกให้รีบเขียน       
            แท้จริงก็คือการที่ครูไม่ยอมแพ้ แม้ยามหลับ สมองก็ยังแต่งเพลงอยู่ “       
            ผลงานที่โดดเด่นมาก ของ ครูสมาน กาญจนะผลิน น่าจะเป็น การที่นำเอาดนตรีไทยมาบรรเลงผสมกันกับ ดนตรีสากล ที่เรียกชื่อว่า “สังคีตประยุกต์” ซึ่งมีอยู่หลายสิบเพลง เช่น เพลงวิหคเหินลม ( ดู สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ )เพลงง้อรัก เพลงจูบเย้ยจันทร์ เพลงความรักเจ้าขา เพลงนกเขาคูรัก เพลงรัก ( ดูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ) เพลงสัญญารัก เพลงหวานรัก ฯลฯ ผลงานเหล่านี้เป็นผลงานที่แต่งร่วมกันกับ ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ และ ครูเกษม ชื่นประดิษฐ์เป็นส่วนใหญ่       
            เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2500 ครูสมานกาญจนะผลิน ได้ร่วมเดินทางไปกับคณะ ผู้แทนศิลปินไทย นำโดย สุวัฒน์ วรดิลกไปแสดงที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จนกลายเป็นบันทึกประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของวงการดนตรีและการแสดงของไทย
              ในการเดินทางไปแสดงดนตรีคราวนั้น สุเทพวงศ์กำแหง เล่าถึงความประทับใจไม่รู้ลืมไว้ ใน เทพเจ้าแห่งความปรานี ไว้ว่า        
            “...สิ่งที่ประทับใจผม และไม่เคยลืมเลย จนกระทั่งบัดนี้ก็คือ เพลงนางอาย และ คำคน รวมทั้ง ชีวิตเมื่อคิดไป ที่ท่านนำมาให้ผมร้องไว้ตั้งแต่ก่อนเดินทางไปเชื่อมสัมพันธไมตรี กับ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน เมื่อปี 2500 นั้นท่านได้ใช้ดนตรีไทยผสมกับดนตรีสากลบรรเลงอย่างไพเราะเพราะพริ้ง       
             เมื่อผมเอาไปร้อง ที่ประเทศจีน ตามคำแนะนำของ ท่านหัวหน้าทีม (คุณสุวัฒน์ วรดิลก)ปรากฏว่า ได้รับความนิยมจากประชาชนชาวจีนอย่างมากมาย ยิ่ง ครูบุญยง เกตุคง(ศิลปินแห่งชาติ) บรรเลงตอนท่อนรับ ด้วยระนาดด้วยแล้ว ท่านประธานเหมา เจ๋อ ตุง และท่านนายกรัฐมนตรี โจว เอิน หลาย ถึงกับเอ่ยปากว่า “เสียงระนาดที่ครูเล่นหยั่งกับไข่มุก หล่นบนจานหยกนั่นเทียว”       
             ผมถึงกับขนลุกกับถ้อยคำประโยคนั้น และบัดนี้ก็ยังไม่เคยลืมเลย”        ...
              เพลงนางอาย
                              คำร้อง - สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์/ทำนอง - สมานกาญจนะผลิน
                              เพลินเผลอมอง น้องนางอายเอียง
       
       นวลพักตร์พริ้มเมินเพียง มองแล้วเลี่ยงสะเทิ้น
       
       เนตรสดใสชม้อยชม้ายขวยเขิน
             
เย้ายวนฤทัยเหลือเกินพี่เพลินเผลอมองไม่วาย       
       
                       วงพักตร์ดังพระจันทร์ วันเพ็ญ
             
เหมือนเพียรจะหลบจะเร้น งามเด่นไม่จาง
       
       ยิ่งอายยิ่งยิ้มพริ้มพรายงามสล้าง
       
       ระเรื่อปรางหลบพลางค้อนให้ในที       
       
                       มิมีอะไร จะงาม
       
       เหมือนยามเมื่อน้อง มองสะเทิ้น
       
       มิมีสิ่งใด จะงามเกิน
       
       เหมือนยามแม่เมิน เมียงชม้าย       
       
                       แอบเพียงอายสายตาพี่ชม
       
       สวยเกินคำพร่ำ เหมือนน้ำค้างพรม
       
       พิศยิ่งยั่วชวนให้หลงชม
       
       พิศยิ่งยั่ว ชวนให้หลงชม       
       
                       เพลินอารมณ์
             
ยามชมน้องนาง เอียงอาย       
            เพลงนี้ ครูสมานกาญจนะผลิน นำเอาทำนอง มาจากเพลงไทยเดิม ที่ชื่อว่า เขมรโพธิสัตย์ ชั้นเดียวมาดัดแปลง จึงมีความไพเราะมาก ดังที่ สุเทพ วงศ์กำแหง ได้เขียนเล่าเอาไว้ข้างต้นซึ่งน่าจะถือได้ว่า เป็นความอัจฉริยะด้านดนตรี ของ ครูสมาน กาญจนะผลินศิลปินแห่งชาติ ของเราคนนี้http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9500000074700

ครูสมาน กาญจนะผลิน (3)

เพลงความรักเจ้าขา
                        คำร้อง สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์/ทำนอง สมานกาญจนะผลิน
                              ความรักเจ้าขา
       
       ข้าสงสัยในอุราว่าหน้าตาเจ้าเป็นฉันใด
       
       คงสวยน่าพิสมัย
       
       น่ารักน่าใคร่ละเมียดละไม โสภา       
       
                       ความรักเจ้าเอย
       
       ใจร้ายนั้นคงไม่เคย เจ้าคงเคยแต่กรุณา
       
       ไม่ทำให้ช้ำอุรา
       
       เปี่ยมล้นเมตตา ล้ำเลิศหนักหนาใช่ไหมคนดี       
       
                       ข้าเป็นทาสเจ้าแล้ว
       
       หมอบราบคาบแก้วแล้วแต่จะคิดปรานี
       
       อกของข้าครานี้
             
เป็นตายร้ายดีแล้วแต่รักที่เวทนา       
       
                       ความรักคนสวย
       
       โปรดจงสงสารข้าด้วย ช่วยข้าสมดังปรารถนา
       
       กราบแล้วความรักเจ้าขา
       
       โปรดคิดเมตตา สักคนเถิดหนาข้าขอวิงวอน       
            เพลงนี้ บันทึกแผ่นเสียง โดย เพ็ญศรีพุ่มชูศรี เมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๙๘        ...
            ในปี พ.ศ.2498 ครูสมานกาญจนะผลิน แต่ง เพลงรักปักใจ ร่วมกันกับ ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ในท่วงทำนองเป็นเพลงจีน ก็สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับ นันทา ปิตะปิละผลิน และ ลินจงบุนนากรินทร์ ในระยะต่อมา
            เพลงรักปักใจ
                              คำร้อง สุนทรียา ณเวียงกาญจน์/ทำนอง สมาน กาญจนะผลิน
                              รักปักใจ โอ้ใครช่วยฉันที
       
       ทุกนาทีเหมือนดังไฟมาจี้เหลือที่บรรเทา
       
       อาวรณ์ใจร้อนรน
       
       พะวักพะวงก่นก่นซึมเซา       
       
                       ตรึงฤทัยให้หลงเมา
       
       หัวใจกระเส่า นี่ตัวเราหรือตัวใคร
       
       ครั้งแรกแต่เพียงเห็นกัน
       
       นึกนึกหวั่นกระสันหัวใจ       
       
                       พอรู้ตัวที่ไหนได้
       
       เหลือจะหักใจ ให้บางให้เบา
       
       รักปักใจ ผู้ใด ใครไหนเล่า
       
       คิดบรรเทาเพราะความมึนเมาเหลือปัดเป่าไป       
       
                       นานวันมันลุกลาม
       
       แม้นเรายิ่งห้ามยิ่งหนักใหญ่
       
       ตัวชักลอยเหาะเหินไป
       
       ถึงไม่มีใครไม่เป็นไรยิ้มคนเดียว       
       
                       นี่แหละที่เขาเรียกกัน
       
       รักรักมั่นกระสันมัดเกลียว
      
        ใจนั้นเต้นเป็นเสียงเดียว
       
       รักแท้แน่เทียว ไม่ลืมไม่เลือน       
            เพลงนี้บันทึกเสียงเป็นครั้งแรก โดย นันทา ปิตะนิละผลิน เมื่อ ปี พ.ศ. 2498        ...
            ส่วน เพลงคู่ ที่ ครูสมาน กาญจนะผลิน แต่งร่วมกันกับ ครูสุนทรียา ณเวียงกาญจน์ ล้วนได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง เช่น เพลงโกรธรัก เพลงจันทรา มาลีเพลงชื่นรักตักนาง เพลงเชื่อรัก เพลงถนอมรัก เพลงเธออยู่ไหน เพลงนกเขาคูรักเพลงเมื่อรักกลับคืน เพลงรัก ( ดู สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ) เพลงรักเดียวเพลงลาแล้วแก้วตา เพลงวอนรัก เพลงสะอิ้งรัก เพลงสาบานรัก เพลงสัญญารัก เพลงหวานรักเพลงออเซาะรัก ฯลฯ
            เพลงนกเขาคูรัก
                              คำร้อง สุนทรียา ณเวียงกาญจน์/ทำนอง สมาน กาญจนะผลิน
                              ช. โน่นแน่ะนกเขาคู จุ๊กจุ๊กกรู นกมันเฝ้าคูหาคู่มัน
       
       ญ. โถ โก่งคอทำเสียงหวาน ช่างน่าสงสารหนอกระไรใจเจ้า
       
       ช. ก็พี่ปักใจใฝ่รัก รัก เจ้าไยไม่เห็นใจเมตตา
       
       ญ. นกมันรักกัน รักมันก็มีแต่จ๊ะจ๋า
       
       ไม่มีมารยาเสมือนร้อยลิ้นคนพร่ำ       
       
       ช. ดวงใจเอ๋ยนกมันเหมือนพี่เฉลย เอ่ยคำ
       
       ญ. พูดไปแล้วต้องจำ
           
ช.พูดไปแล้วพี่จำ มิต้องพูดซ้ำดวงใจ
       
       ญ.พี่อย่าเป็นเหมือนเช่นนกแก้ว       
       
       ช. พี่ไม่เป็นเหมือนเช่นนกแก้ว
       
       ญ. พูดแจ้ว แจ้วเรื่อยไป
       
       ช. ออกจากปากพี่ไป
       
       ญ.ขอให้ออกจากใจ       
       
       ช. พี่ปากกับใจตรงกัน
       
       ญ. แน่ะใคร
       
       ช. ไหนใคร
       
       ญ. โน่นแน่ะแฝงตัวร่มเงาไม้ใหญ่
       
       ช. ใช่ใคร นกเขาคู่มัน
       
       ญ.เสียงใคร
       
       ช. ไหนกัน
       
       ญ. เสียงนั้น       
       
       ช. อ๋อนกมันพลอดคำรำพัน ฝากชีวันรักกันไงเล่า
       
       ญ. ไยรู้
       
       ช. ดูเอาพี่เห็นมันเฝ้าหยอกเย้าต่อกัน
       
       ญ. พี่ต้องเอาอย่างมัน
       
       ช.พี่จะเอาอย่างมัน มิเปลี่ยนแปรผันเลยเอย       
             เพลงนี้บันทึกแผ่นเสียง โดย เพ็ญศรี พุ่มชูศรี และ ชรินทร์ นันทนาคร เมื่อ ปี พ.ศ. 2496

http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9500000077658

ครูสมาน กาญจนะผลิน (4)

ครูเพลงคนสำคัญอีกคนหนึ่งที่มีผลงานโดดเด่น ไม่แพ้ครูเพลงคนอื่นๆ ในยุคนั้น ได้แก่ ครูเกษม ชื่นประดิษฐ์ ที่แต่ง เพลงคุณจะงอนมากไปแล้ว ได้ไพเราะน่าฟัง และได้รับความนิยมมาก ไม่แพ้เพลงรักคุณเข้าแล้ว ของ ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ เลย โดยเฉพาะ เป็น เพลงใน จังหวะช่ะ ช่ะ ช่า ที่กำลังฮิต ติดลม ของบรรดานักลีลาศเท้าไฟทั้งหลายอยู่ในขณะนั้นแม้ในปัจจุบัน       ...
            เพลงคุณจะงอนมากไปแล้ว
                              คำร้อง -เกษม ชื่นประดิษฐ์/ทำนอง - สมาน กาญจนะผลิน
                              คุณจะงอน มากไปแล้ว
       
       รู้ไหมแก้วตา ผมชักระอาเต็มที
       
       ผมจะไม่ง้อ หรือก้อไม่ดี
       
       จะขาดไมตรี คุณเห็นได้ที ยิ่งทำเป็นงอน       
                         
เอาแต่ทำหน้าง้ำ คอยค้อนร่ำไป
             
เจอพักตร์ทีไร ต้องงอน
       
       ผมขัดใจนิดนิดหน่อยแกล้งงอน
       
       ตะบึงตะบอน ต้องคอยพร่ำวอนง้องอนร่ำไป       
       
                       คิดตามใจตัว หรือก็เท่านั้น
       
       ซ้ำดื้อรั้น ยิ่งกว่าใคร
       
       จะเอาอะไร แล้วต้องดังใจ
       
       ถ้าขืนร่ำไร ชักพาลผิดใจ หน้างอ       
       
                       แม้นคุณคิดอยากได้เดือน
       
       หรือหวังได้ดาว ผมมิต้องเอา มาพะนอ
             
เห็นว่าได้ทีแล้วแกล้งให้พอ
       
       อย่ารีอย่ารอ ยิ่งเฝ้าพะนอยิ่งเอาดังใจ       
             เพลงนี้ บันทึกแผ่นเสียง โดย สุเทพวงศ์กำแหง เมื่อ ปี พ.ศ.2498       
             ครูเกษม ชื่นประดิษฐ์ นั้นแต่งเพลงร่วมกับ ครูสมาน กาญจนะผลิน มาตั้งแต่ยุคต้นๆ ในราวๆปีพ.ศ.2492 เป็นต้นมาก่อนที่จะเข้ารับราชการที่กรมบัญชีกลาง เพราะเป็นเพื่อนสนิทของ อุทิตต์ ทินกรนักดนตรีมือดีของวงดนตรี อส. คนหนึ่ง       
             ครูสมาน กาญจนะผลินเขียนไว้ ใน อาลัย เกษม ชื่นประดิษฐ์ ว่า “...เกษม กับผมเคยร่วมงานแต่งเพลงกันมาหลายปี เพลงแรกที่ผมแต่ง ก็ดูเหมือนเกษม นี่แหละแต่งเนื้อร้อง ชื่อว่า เพลงห่วงอาวรณ์ นภา หวังในธรรมเป็นผู้ขับร้อง       
             สมัยนั้น แต่งกับเกษม อีกหลายเพลง เช่นเพลงลมหวนครวญสวาท บุญเลิศ เสมาชัย ขับร้อง เล่ห์รักลมลวง มาโนช ศรีวิภา ขับร้องพี่ง้อเจ้างอน ชาญ เย็นแข ขับร้อง หนาวลมรัก สุเทพ วงศ์กำแหงร้อง       
        ...ยุคนั้นเพลงรำวงของ เบญจมินทร์ กำลังฮิต เกษมก็นึกสนุกขึ้นมา จึงลองมาช่วยกันแต่งเพลงรำวงดูบ้าง เช่น เพลงพม่าแทงกบพม่าคว้าว่าว พม่างมหอย...       
             หลังจาก เกษม ลาออกจากราชการแล้วผมก็ยังส่งทำนองเพลงจังหวะต่างๆ ให้เกษมอีกมากมาย เช่นเพลงแผ่นดินไม่ไร้เท่าใบพุทรา หักใจไม่คิด คิดถึงพี่บ้างนะ เอื้องดอกฟ้าคุณจะงอนมากไปแล้ว ผมต้องวิวาห์เสียที ฯลฯ ...”       
             เพลงคู่ ที่ครูเกษม ชื่นประดิษฐ์ แต่งร่วมกันกับ ครูสมาน กาญจนะผลินก็มีอยู่หลายเพลงอีกเช่นกัน       
             ได้แก่ เพลงจูบเย้ยจันทร์เพลงจำใจจำจาก เพลงชื่นรัก เพลงทุยฝันร้าย เพลงทุยจ๋าทุย เพลงนกเขาคูรักเพลงนิทรารัก เพลงบทเรียนก่อนวิวาห์ เพลงพ่อแง่แม่งอน เพลงสมอรา ฯลฯแต่เห็นจะไม่มีเพลงใดที่ฮือฮา และเป็นกรณี “ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์” ในสมัยนั้นเท่ากับ เพลงบทเรียนก่อนวิวาห์ไปได้       ...
              เพลงบทเรียนก่อนวิวาห์
                        คำร้อง - เกษมชื่นประดิษฐ์/ทำนอง - สมาน กาญจนะผลิน
                        ช.ใกล้ถึงวันวิวาห์แล้วหนายอดดวงใจ ญ. หวั่นไม่หายน้องหวั่นไม่หายพี่เอย
       
       ช. เจ้าจะหวั่นอะไร ไม่เห็นจะน่ากลัวเลย ญ. โธ่พี่เอ๋ย ก็ไม่เคย ยังกลัวในใจ
       
       
       ช. วิวาห์พาชื่นกมลอย่ากังวลเลยน้องเอย แม้นเจ้าไม่เคย จะเฉลยให้รู้นัย
       
       ญ.ไหนลองบอกหน่อยเป็นไรช. หันมาใกล้ๆ หน่อยซีแล้วไยน้องพี่เมนเฉย
       
       
       ญ. น้องกลัวจะมาเกินเลยช.แม้นฟังเพียงเอ่ย ไฉนจะรู้
       
       ญ. งั้นทำไงเล่า พ่อคนเจ้าชู้ช.ตามใจครูเป็นไร
       
           
ญ. ก็ครูคอยคิดไม่ซื่อช. พุทโธ่จะถือทำไม
       
       ญ. จมูกอย่าหันมาใกล้ช.เอ็ดไปเฉยไว้คนดี
       
       
       ญ. อุ๊ย เบื่อเหลือใจ ขาดทุนร่ำไปทุกทีช.แม้อยากรู้ดี ก็ควรต้องมียกครู
       
       ญ. เอากำไรเรื่อยไป ว่าอย่างไรก็ไม่ฟัง ช.โธ่ อย่าทำตึงตัง หอมแก้มอีกข้างเถอะโฉมตรู
       
       
       ญ. ไม่เอานะช.นิดเดียวน่า
       
       ญ. ไม่เอาน่าช. นิดเดียวน่า
       
       
       ญ.ก็จะบอกเรื่องวิวาห์ช. เดี๋ยวเถอะน่า จงเชื่อครู
       
       ญ. อุ๊ย พอนะช.ประเดี๋ยวซี่
       
       
       ญ. อุ๊ย พอน่าช. ประเดี๋ยวซี่
       
       ญ.อีกเมื่อไหร่จะรู้ดีช. หอมอีกทีเถอะแก้วตา
       
       
       ญ. โธ่ จะช้ำช.ช่างเป็นไร พี่สอนให้ต้องตามตำรา
       
       ญ. ก็เร็วซีช.ประเดี๋ยวซี่
       
       
       ญ. เร็วๆซี่ช. ประเดี๋ยวซี่
       
       ญ.กว่าจะบอกสักที น้องเหลือที่จะระอาช. จะฟัง รึ
       
       
       ญ. ก็ฟังนะซี่ช. ฟัง นะ
       
       ญ. ก็ฟังนะซี่ช. พี่จะบอกวิธีอย่างนี้แหละเริ่มวิวาห์
       
       
       ญ. อ๋อ กอดกันนิดช. จ้ะ จูบอีกหน่อยจูบฝังรอย รักเป็นพิมพ์ใจ
       
       ญ. ไหนบอกอีกนิดช. โอ๊ะ บอกไม่ได้อดหัวใจไว้รอวันวิวาห์       
             เพลงนี้ เพลงนี้เป็นทำนองมาจากเพลงไทยเดิมที่ชื่อว่า มอญมอบเรือ ซึ่ง วงดนตรีสุนทราภรณ์ ก็นำเอาไปแต่งเป็นเพลงสัญญาชีวิต ผลงานของ ครูธาตรี และ ครูเอื้อ สุนทรสนาน ขับร้องโดย เลิศประสมทรัพย์ และ ชวลีย์ ช่วงวิทย์ ( ขึ้นต้นว่า “ไม่เห็นนงเยาว์ พี่นี้เศร้าดวงใจเศร้าเพียงไหน เศร้าทำไมพี่เอย...) เช่นกัน       
           
เพลงบทเรียนก่อนวิวาห์ นี้ บันทึกเสียงเป็นครั้งแรก โดย สุเทพ วงศ์กำแหง และ สวลีผกาพันธุ์ เมื่อ ปี พ.ศ.2498 ซึ่งนักร้องคู่นี้สามารถถ่ายทอดอารมณ์ของเพลงได้อย่างยอดเยี่ยม จนสถานีวิทยุกระจายเสียงหลายแห่งถูกขอร้องไม่ให้เปิดเพลงนี้อยู่เป็นเวลานานทีเดียว แม้ปัจจุบันนี้ก็ยังหาฟังได้ยากอยู่

http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9500000080994

ครูสมาน กาญจนะผลิน (5)

นอกจากเพลง สังคีตประยุกต์ ที่นำเอาทำนองเพลงไทยเดิมมาดัดแปลงแล้ว ครูสมานกาญจนะผลิน ยังนำเอาทำนองเพลงจีน มาดัดแปลงโดยให้ ครูเกษม ชื่นประดิษฐ์ ครูพรพิรูณแต่งคำร้อง เพลงจากเธอที่กวางเจา เพลงคิมหันต์สวาทก็ได้รับความนิยมไม่น้อยอีกเช่นกัน       ...
            เพลงจากเธอที่กวางเจา
                              คำร้อง เกษม ชื่นประดิษฐ์/ทำนอง สมานกาญจนะผลิน
                              คืนก่อนเรานั่ง ริมน้ำกวางเจา
       
       ความหลังครั้งเก่า เร้าฤทัยใฝ่ฝัน
       
       เธอพลอดเธอพร่ำหวานล้ำจำนรรจ์
             
เธอชวนชี้พระจันทร์เป็นเพื่อน       
       
                       รอยหยิกยังอยู่ ไม่รู้ลืมเลือน
       
       เหมือนฝากรอย ติดเตือน ไม่เลือน เพื่อนสาว เพื่อนสาว
       
       รอยชื่นรอยฉ่ำ ริมน้ำกวางเจา
       
       เธอยังนึกหรือเปล่ายามห่าง       
       
                       คอยสักเมื่อไหร่ ได้เห็นกวางเจา
       
       ใจหวนเศร้า ถึงกวางเจา ไม่จาง
       
       คืนที่จำพราก จากน้องนวลนาง
       
       ใจฉันระคาง หมองไหม้       
       
                       เธอร่ำพิลาป วาบหวิวฤทัย
       
       เหมือนดังลาง ดลใจ ไม่กลับมาหา มาหา
       
       คอยกว่าวันใหม่ได้หวนคืนมา
       
       คงมีหวัง พบหน้า กันใหม่       
            เพลงนี้บันทึกแผ่นเสียง โดย สุเทพ วงศ์กำแหง เมื่อ พ.ศ. 2503       ...
            เพลงเพลงคิมหันต์พิศวาส
                              คำร้องพรพิรุณ/ทำนอง สมาน กาญจนะผลิน
                        เมื่อคิมหันต์ ฉันได้จูบเธอ
       
       ต่างพร่ำเพ้อ ละเมออาลัย
       
       พอเหมันต์เธอกลับ เปลี่ยนแปลง จางไป
       
       ร้าวใจ เมื่อไม่มีเธอ       
                         
ต่างฝากคำ รักพร่ำจูบพรม
       
       เฝ้าชื่นชม รสรักบำเรอ
       
       ครวญคะนึง คราวหนึ่ง ที่เคยทีเธอ
       
       ฉันรอ คอยเธอไม่จาง       
       
                       โอ้ไฟรักร้อนเร่าแผดเผาดวงใจจน
       
       เหลือทน ไม่รู้สร่าง
       
       โอ้ราตรีรัวราง เหมือนดาวพราวแสงพร่าง
       
       ร่วงหล่น จากนภา       
       
                       เมื่อคิมหันต์ฉันได้จูบเธอ
       
       ต่างพร่ำเพ้อ ละเมอวิญญา
       
       พอเหมันต์ก็กลับเปลี่ยนแปลงโรยรา
       
       นิทราอาลัยไม่ลืม       
       
                       พอเหมันต์ ก็กลับเปลี่ยนแปลงโรยรา
       
       นิทรา อาลัยไม่ลืม       
                         
เมื่อคิมหันต์ฉันได้จูบเธอ
      
      เพลงนี้ บันทึกแผ่นเสียง โดย ชรินทร์นันทนาคร เมื่อ ปี พ.ศ. 2506
           ความสัมพันธ์ใกล้ชิด ระหว่างครูพรพิรุณ กับ ครู สมาน กาญจนะผลิน นั้น ครูพรพิรุณ เขียนไว้ ใน น้าหมานครูผู้ให้ตลอดกาล ว่า
             “...ได้พบ น้าหมาน หรือที่ใครๆ เรียกว่า ครูสมานเมื่อปี 2501 โดยการแนะนำของ คุณชูยศ จุลานุกะ ทนายความชื่อดังที่สามารถว่าความเอาตัวเองออกจากคุก ในคดีที่กระฉ่อน นวลฉวี
            ตอนนั้น ได้มีการแต่งเพลงมานานแล้ว มีผลงานอยู่ตามวงดนตรีต่างๆ โฆษณาสาร ที่ครูสมพงษ์ ทิพยะกลิน เป็นหัวหน้าวงบ้าง วงโรงงานสุราบางยี่ขัน วงวายุบุตร นามปากกาก็ตั้งให้เปรอะไปหมด จนเดี๋ยวนี้ จำไม่ได้ว่า มีอะไรบ้าง
            ครูสมาน ได้เป็นผู้นำเพลงที่แต่งเป็นกลอน ไปใส่ทำนอง และบันทึกเสียงโดย คุณรวงทองทองลั่นธม...”
            เพลงที่กล่าวถึงก็คือ เพลงเสียดาย ซึ่งเป็นเพลงแรก ที่ครูพรพิรูณ แต่งร่วมกับ ครูสมานกาญจนะผลิน
       ...
            เพลงเสียดาย
                              คำร้อง พรพิรุณ/ทำนองสมาน กาญจนะผลิน
                              เสียดายใจที่ต้องมาหลงรัก
       
       เสียดายศักดิ์สูงส่งดังหงส์เหิน
       
       เสียดายตัวที่มัวหลงพะวงเพลิน
           
เสียดายเดินทางผิดคิดโทษใคร       
       
                       น้ำจิตชายรักง่ายแล้วหน่ายรัก
           
เพิ่งประจักษ์ชัดคล้ายสายน้ำไหล
       
       หากครวญคร่ำร่ำหาคงอาลัย
       
       หักจิตใจหักปรารถนา ดีกว่าเอย       
             เพลงนี้ บันทึกแผ่นเสียง โดยรวงทอง ทองลั่นธม ภายหลังที่ลาออกมาจาก วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ ของ ครูเอื้อสุนทรสนาน เพื่ออกหาประสบการณ์ ด้วยการเป็นนักร้องอิสระ และร้องเพลงตามไนท์คลับในช่วงนั้น ประมาณ ปี พ.ศ. 2502       
             เพลงนี้บันทึกแผ่นเสียงเป็นครั้งแรก โดย สุเทพ วงศ์กำแหง เมื่อ ปี พ.ศ. 2503 ซึ่ง ครูพรพิรุณ เล่าต่อไปอีกว่า       
            “...หลังจากบันทึกเสียงไม่กี่วันน้าหมาน ก็ไปหาที่ทำงาน หน่วยย่อยของสงเคราะห์แม่และเด็กเทศบาลฯ ที่วัดสุนทรธรรมทาน (วัดแค) นางเลิ้ง นำเงินไปให้ บอกว่า เป็นค่าเพลงบันทึกเสียงไปแล้ว
            200 บาท สมัย 72 ปี ที่แล้วค่ามันเหลือหลาย แต่ยิ่งกว่าค่าของเงิน คือค่าของความจริงใจซึ่งยากจะหาได้จากครูเพลงบางคน       
             วันดีคืนดี น้าหมานก็ตั้งนามปากกาให้ใหม่ว่า พรพิรุณ ที่มาที่ไป ก็เคยเล่าในหนังสือหลายฉบับและก็วันดีคืนดีอีก ก็บังคับให้ไปเรียนเปียโนที่ ร้านสายสมรตรงวัดสระเกศ
            ท่านบอกว่า วันข้างหน้าอีกยาวนานจะได้มีอาชีพข้างเคียงได้อีก ก็รับปากและเรียนไปงั้นๆ 11 หน้า       
             แต่ 11 หน้าที่เรียนมานั้น เป็นพื้นฐานแท้จริงทางดนตรีใช้หากินเลี้ยงชีพมา จนบัดนี้...” http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9500000084782

ครูสมาน กาญจนะผลิน (6)

ส่วน รวงทอง ทองลั่นธมศิลปินแห่งชาติ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก จากผลงานเพลงชุด ขวัญใจเจ้าทุย นั้นก็มีผลงานแต่งเพลงร่วมกับ ครูสมาน กาญจนะผลิน เหมือนกัน คือเพลงรักทุย       ...
            เพลงรักทุย
                              คำร้อง รวงทองทองลั่นธม/ทำนอง สมาน กาญจนะผลิน
                              เหลือง เหลือง รวงข้าวพลิ้ว
       
       หวิว หวิว หวั่นใจรัว
       
       รัก รัก หนักพันพัว
       
       ลมรักรัวร่ำรอน รอน       
       
                       หมอง หมอง ครองโศกศัลย์
       
       ฝัน ฝันใฝ่อาวรณ์
       
       ครวญ ครวญ ด่วนจากจร
       
       ตามร้าวรอนร้อนอกรวง       
       
                       พรำ พรำ น้ำฟ้าพรม
       
       ตรม ตรมน้ำตาร่วง
       
       แผ่ว แผ่ว แว่วคำ ทวง
       
       ทุยหวง ห่วงทวงสัญญา       
       
                       เหงา เหงา ทุยเจ้าพ้อ
       
       ขอ ขอคู่ชีวา
       
       คอย คอย คู่รวงมา
       
       ทุยของข้าน่ารักจริง       
            เพลงนี้ บันทึกแผ่นเสียง โดย รวงทองทองลั่นธม ในจังหวะออฟบีท ที่กำลังฮิตกันอยู่ เป็น เพลงแก้ เพลงขวัญใจเจ้าทุย ของครูสมศักดิ์ เทพานนท์ และ ต่อมาก็มี เพลงทุยจ๋าทุย เพลงทุยฝันร้าย ของ ครูเกษมชื่นประดิษฐ์ ในราวปี พ.ศ. 2504 ตามมาอีก       
            รวงทอง ทองลั่นธมมีโอกาส ได้ขับร้อง เพลงแก้ ของ ครูชาลี อินทรวิจิตร และ ครูสมาน กาญจนะผลินอีกหลายเพลง เช่น เพลงสาวมหาชัย เพลงมหาชัย อาลัย ท่าฉลอม ซึ่ง เป็น เพลงแก้เพลงท่าฉลอม และ เพลงแสนแสบที่แสบแสน ซึ่งเป็น เพลงแก้ เพลงแสนแสบ เป็นต้น ในหนังสือ อนุทินชีวิต และเพลงของข้าพเจ้า รวงทอง ทองลั่นธม เขียนถึง ครูสมานกาญจนะผลิน เอาไว้ว่า “...น้าหมาน หรือ สมาน กาญจนะผลิน เป็นครูเพลงอีกผู้หนึ่งซึ่งมอบผลงานให้ดิฉันร้องมากที่สุดอีกเช่นกัน...ดิฉันจึงภูมิใจและปิติที่จะกล่าวถึง น้าหมาน       
             น้าหมานถูกยกย่องจากศิลปินทุกแขนง ด้วยความดีและความสามารถในด้านเพลงและดนตรี...น้าหมานให้ความเอื้ออารี ต่อนักร้องทุกคนยากที่จะกล่าวถึงให้จบสิ้นได้...”       
             ครูเพลงซึ่งมีผลงานส่วนใหญ่ อยู่กับ วงดนตรีสุนทราภรณ์ ของ ครูเอื้อ สุนทรสนานที่ได้มีโอกาส แต่งเพลงร่วมกับ ครูสมาน กาญจนะผลิน นอกจาก ครูพรพิรุณ และ รวงทองทองลั่นธม แล้ว ก็มีอีกหลายคน เช่น ครูสุรัฐ พุกกะเวส ครูเอิบ ประไพเพลงผสมครูศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ ฯลฯ เป็นต้น       ...
              เพลงลืมรัก
                              คำร้อง สุรัฐ พุกกะเวส/ทำนอง สมาน กาญจนะผลิน
                              ฟ้าร่ำคร่ำครวญคราง
             
เหมือนพี่อับปาง รักร้างแรมไกล
             
เป็นอันใดหนอดวงใจเคยปลื้ม
       
       กลับทำลืมจำนรรจา       
       
                       กลิ่นเนื้อเจ้า ยังหอม
       
       หอมเนื้อกลิ่นหอมยิ่งดอกฟ้า
       
       รอยรัก ยังหวาน ซ่านวิญญา
       
       ชื่นชีวามิควรมาลืมพี่ ลืมนึกถึงคืนที่ มารศรีแนบนอน       
       
                       เจ้าลืมรส กำสรดสยุมพร
       
       ลืมที่บรรจถรณ์
       
       เจ้าลืมหมอน ที่นอนม่านเมียง
             
ลืมเตียง กกเกย ลืมเขนย เคยหนุนอุ่นละไม       
       
                       ช่างกระไรหนอดวงใจลืมได้
       
       ลืมรัก ที่เคยให้ โลมไล้พลอดกัน
           
เจ้าลืมสัมพันธ์ ลืมนึกถึงคำมั่น
       
       ลืมนึกถึงคืนวัน กระสันสวาท ใจพี่จะขาดแล้วเอย       
             เพลงนี้ บันทึกแผ่นเสียง โดย ชรินทร์นันทนาคร เมื่อปี พ.ศ.2498
            ครูสมาน กาญจนะผลิน นำเอาทำนองเพลงไทยเดิม ชื่อ เพลงลาวลำปาง มาแต่งเป็นทำนองใหม่ และเป็นเพลงที่สร้างความนิยมให้กับ ชรินทร์ นันทนาคร ไม่แพ้เพลงอื่นๆ ที่ ครูสุรัฐพุกกะเวส แต่งให้เลย เช่น เพลงสาวน้อยเป็นต้น       ...
            เพลงความรักในดวงใจ
                              คำร้องอ.ประไพเพลงผสม/ทำนอง สมาน กาญจนะผลิน
                              ความรักในดวงใจ
       
       เขาตัดเยื่อไย ไม่มอง
       
       เมื่อไม่สม หวังดังใจปอง
       
       น้ำตาไหลนอง ฉันต้องโศกครวญ       
       
                       ไม่เป็นอัน จะกินนอน
       
       ตรมอุรา โศกาอาวรณ์ ไม่แน่นอน เรรวน
       
       ลวงหลอกให้ หัวใจรัญจวน
             
แกล้งทำยั่วยวน ความรักมารบกวนเกาะกินใจ       
       
                       หลงระเริง เพลิงรักไหม้
       
       เสียใจเพราะเชื่อคำ รำพัน
       
       ความรักในดวงใจ
       
       เสียวซ่านอยู่ในใจฉัน       
       
                       ฝ้าละเมอ เพ้อพร่ำรำพัน
       
       ทุกคืนทุกวัน หมายมั่นเชยชม
             
นอนสวดมนต์ ภาวนา
       
       วอนต่อพระคุณเทวา ช่วยมาอุ้มสม       
       
                       ให้ได้ครองสมปองเชยชม
       
       ได้ร่วมภิรมย์ เชยชิดชมสมสู่ คู่ชีวา
       
       เดชะบุญคุณพระเมตตา
       
       ขอให้ สมปรารถนาข้าเอย
            เพลงนี้บันทึกแผ่นเสียง โดย เพ็ญศรี พุ่มชูศรี เมื่อ ปีพ.ศ.2498       ...
              เพลงสาวสะอื้น
                              คำร้อง อ.ประไพเพลงผสม/ทำนอง สมาน กาญจนะผลิน
                              โอ้ตัวเรา
       
       คิดไปแสนเศร้า ใจหนักหนา
       
       บ้านอยู่เขา ลำเนาพนา
       
       แดนดงป่า เราเกิดมาอาภัพยิ่ง       
       
                       เมื่อมีชายหมายปองครองมั่น
             
ทำให้หวั่นใจหญิง
       
       ขอฝากรัก แต่รักไม่จริง
       
       ยังเกรงกริ่ง นึกกลัวจริงๆน้ำใจผู้ชาย       
       
                       เราเป็นหญิง ชาวเขาป่าดง
       
       ชายประสงค์เพียงหลงรูปกาย
       
       ได้ชม พอสมใจก็หน่าย
       
       ความหวานคลายกลับกลายเป็นรอยน้ำตา       
                         
เจ็บและอาย
       
       เหมือนคนใจง่ายใครเขาไม่นำพา
       
       เหมือนเช่นเรา อับเฉาเกิดมา
       
       ไร้ราคา หัวใจวาจายังซื่อสัตย์เอย
             เพลงนี้ บันทึกแผ่นเสียง โดย วงจันทร์ ไพโรจน์เมื่อ ปี พ.ศ.2499 และ สร้างชื่อเสียงให้ วงจันทร์ ไพโรจน์ให้เป็นที่นิยมจากบรรดาแฟนเพลงอีกเพลงหนึ่ง เนื่องจากมีท่วงทำนองและน้ำเสียงที่เหมาะกับแนวเพลงเศร้าแบบนี้เป็นเพลงเอกจาก ภาพยนตร์ เรื่องพิษรักแรงหึง       ...
              เพลงมนต์รักฤดูร้อน
                              คำร้องศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ/ทำนอง สมานกาญจนะผลิน
                              ลมฤดูร้อนแห่งเดือนเมษา
       
       ผ่อนพัดมาพาให้ร้อนรน
             
ร้อนเหมือนคน หายใจแรงข้น
       
       พรายพลิ้วมนต์ของรักมา       
                         
ในฤดูร้อนก่อนเคยได้ฝัน
             
ฝากสัมพันธ์คำมั่นสัญญา
       
       รักร้อนแรงแฝงลมชมหล้า
       
       อนิจจาอ่อนใจ       
       
                       ปากคอ คิ้วคางหว่างทรวงล่วงล้ำเลย
       
       อกเอ๋ย พี่เชยชมทั่วไป
       
       ดั่งลอยพลอยชมวิมานฟ้าไกล
       
       กอดกายไว้เคียงใกล้ไม่ยอมห่าง       
       
                       ในฤดูร้อนแห่งคืนคิมหันต์
       
       ใต้แสงจันทร์งามทั่วทุกทาง
       
       รักร้อนรน หาคนคลอร่าง
       
       ดับร้อนพลางดื่มฝันฒ       
             เพลงนี้ บันทึกแผ่นเสียงโดย สุเทพ วงศ์กำแหง เมื่อ ปี พ.ศ.2498 โดยนำทำนองเพลงจีน มาดัดแปลง เช่นเดียวกับเพลงจากเธอที่กวางเจา เพลงคิมหันต์สวาท ที่กล่าวมาแล้วในตอนก่อน

http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9500000086814

ครูสมาน กาญจนะผลิน (7)

เพลงที่ครูสมาน กาญจนะผลิน ได้แต่งร่วมกันกับ อิงอร หรือ ศักดิ์เกษม หุตาคมนักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่อีกคนหนึ่งในยุทธจักร และได้รับความนิยมมากเช่นกัน คือเพลงหนาวตัก ซึ่งขับร้อง โดย พิศมัย วิไลศักดิ์ซึ่งเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมไม่แพ้เพลงประกอบละครหรือภาพยนตร์อื่นเลย       ...
              เพลงหนาวตัก
                              คำร้อง อิงอร/ทำนอง สมาน กาญจนะผลิน
                              ทะเลงามยามดื่นดึก เมื่อคลื่นหลับ
       
       แสงเดือนจับ เจิดนภาเวหาหาว
             
นั่งเรือน้อย เคลื่อนคล้อย ใต้แสงดาว
       
       พร่างน้ำพราวผ่องเพชร เกล็ดนที       
                         
ดูซิดู ใครสอน ให้นอนหนุนตัก
       
       ซุกซนนัก ไม่กลัว น้องจะหมองศรี
       
       หนาวตัก หนักจิต ดรรชนี
       
       หากนาวี อรุโณทัย ไม่กลับคืน       
            เพลงนี้เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ เรื่องดรรชนีนาง ของ อิงอร บันทึกเสียงแผ่นเสียงเป็นครั้งแรก โดย พิศมัย วิไลศักดิ์ เมื่อ พ.ศ. 2511       
             ส่วนครูไพบูลย์ บุตรขัน ราชานักแต่งเพลงลูกทุ่ง ชื่อดังของไทยนั้นก็เคยมีผลงานร่วมกันกับ ครูสมาน กาญจนะผลิน อยู่ด้วย คือ เพลงวาสิษฐีจำแลงอีกเช่นกัน       ...
              เพลงวาสิษฐีจำแลง
                              คำร้อง ไพบูลย์บุตรขัน/ทำนอง สมาน กาญจนะผลิน
                              แม่งามดังวาสิษฐี
       
       ผ่องพรรณโสภีเฉลย
       
       สวยจริงน้องเอย
       
       น่าเชยชิดชมภิรมย์เคล้าคู่       
       
                       สุภางค์ดังนางสวรรค์
       
       เปรียบเธอกับจันทร์อดสู
       
       หรือเป็นยอกพธุ
       
       จากกรุงโกสัมพีมาแม่เอย       
       
                       ดังหนึ่งจำแลงเร้นกายแอบแฝง
       
       ติดตามแม่งามทรามเชย
       
       ยามแย้มวจี เอื้อนเอ่ย
       
       โอ้กามนิตเอยเธออยู่แดนไหนจงมา       
                         
โอ้วาสิษฐีอย่าแหนง
             
แม่กลายกลับแปลงร่างมา
       
       เหมือนเป็นขวัญตา
       
       หยาดมาชวนชมภิรมย์ชั่วยาม       
             เพลงนี้ บันทึกแผ่นเสียง โดย สุเทพวงศ์กำแหง ประมาณปี พ.ศ.2498       
             ในบรรดาครูเพลงที่แต่งคำร้องร่วมกันกับ ครูสมาน กาญจนะผลินจนได้รับรางวัลต่างๆมากมายหลายเพลง โดยเฉพาะ รางวัลแผ่นเสียงทองคำ พระราชทาน และรางวัลเสาอากาศทองคำ ซึ่งนอกจากครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ในยุคต้นๆแล้วก็คงจะได้แก่ ครูชาลี อินทรวิจิตร ที่มีผลงานและความผูกพันอย่างใกล้ชิดกับ ครูสมานกาญจนะผลิน มากกว่าใครๆ ในยุคหลัง       
             ที่จริงแล้ว ครูชาลีอินทรวิจิตร ไม่เคยรู้จัก ครูสมาน กาญจนะผลิน มาก่อนแม้จะเป็นนักแสดงละครเวทีมีชื่ออยู่แล้วก็ตามมีเหตุบังเอิญให้ได้พบและร่วมงานกันกับ ครูสมาน กาญจนะผลินก็เมื่อครั้งที่ไปร่วมแสดงละครทีวี เรื่องบ้านทรายทอง ที่ สถานีโทรทัศน์ ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม ซึ่ง ครูชาลี อินทรวิจิตร ให้สัมภาษณ์ วัลลภา ดิเรกวัฒนะ ไว้ในหนังสือพิมพ์เสรีชัย ว่า       
            “...ต่อมาละครเริ่มไม่เป็นที่สนใจง่อนแง่น เฉลิมกรุง เฉลิมไทย ก็จะฉายหนัง ละครต้องปิดฉาก ผมก็ไปเล่นละครทีวี เป็นท่านต้อม ในเรื่อง บ้านทรายทอง สวลี เล่นบทเป็น พจมาน สว่างวงศ์ ถักผมเปียตอนนั้นสาวสด อายุประมาณ 22 ปี ผมอายุ 24 - 25 เห็นจะได้ ฉลอง สิมะเสถียร เป็นชายกลาง ฉลอง เป็นสามีของ กัณฑรีย์ นาคประภา       
             กัณฑรีย์บอกผมว่า พรุ่งนี้ละครจะออกอากาศแล้ว ยังไม่มีเพลงไตเติลให้ช่วยแต่ง       
            ผมถามว่าแต่งแล้วจะเอาทำนองที่ไหนเขาก็ชี้ไปยังคนๆ หนึ่งที่นั่งหันหลังให้ ผมก็ว่า คนนี้หรือที่ให้ไปแต่งด้วยเขาเป็นใคร มาจากไหน กัณฑรีย์ ตอบว่า ชื่อ สมาน กาญจนะผลินให้ผมเขียนเนื้อเพลงมาท่อนหนึ่งก่อน แล้วเอาไปให้เขาใส่ทำนอง ผมเขียน 15 นาทีเพราะรู้เรื่องบ้านทรายทอง ละเอียด พวกเรื่องน้ำเน่าคลาสสิกผมรู้ดีทีเดียว       
                        “นี่คือ สถานแห่งบ้านทรายทอง ที่ฉันปองมาสู่
       
       ฉันยังไม่รู้เขาจะต้อนรับขับสู้เพียงไหน
      
        อาจมียิ้มอาบฉาบบนใบหน้าว่ามีน้ำใจ
       
       แต่สิ่งซ่อนไว้ในดวงจิตคือความริษยา”
            สักพัก ฉลอง เข้ามาหา ผมบอกว่าเสร็จครึ่งเดียว อีกครึ่งไว้พรุ่งนี้ ผมต้องซ้อมละครก่อนถ้ามัวแต่แต่งเพลงเดี๋ยวเขาไม่ให้ผมเล่น แล้วใครจะรับผิดชอบ ในวันพรุ่งนี้ละครออกอากาศตอนกลางคืน เช้าผมจะแต่งอีกท่อน เที่ยงให้ สวลีมาร้องอัดเสียง       
             คุณสมาน ก็ตกลง แต่ขอฟังเนื้อเพลงพร้อมทำนองให้ผมร้องเพื่อเป็นต้นแบบให้ สวลี       
             กลางคืนผมนั่งเขียนจนจบ       
            “เขตรั้วไพศาล แห่งบ้านทรายทองคือแขนของพระเจ้า ขอจงเอื้อมมือ และโอบกอดเรา ผู้ผ่านเข้ามาเพียงเดียวดายอาจตายเพราะโง่ โอ้อนิจจา โปรดอย่าอิจฉา สมาชิกใหม่ของบ้านทรายทอง”       
             ผมเอาไปให้คุณสมาน พอเขาเห็นเนื้อร้องก็มองหน้าว่าเนื้อเพลงดีมาก ผมเกิดความรู้สึกว่า คนนี้จะต้องแต่งเพลงด้วยกันตลอดไป...”       
             ครูชาลี อินทรวิจิตรยังเล่าถึงการเข้าไปร่วมงานกับ วงดนตรีประสานมิตร ของ พ.ต.อ.พุฒ บูรณสมภพไว้อีกว่า       
            “...ผมได้พบกับครูสมาน อีกครั้งที่วงดนตรีประสานมิตร ซึ่ง อธิบดีเผ่า ศรียานนท์ เป็นผู้อุปถัมภ์ ให้พันตำรวจเอกพุฒ บูรณสมภพ และ พันตำรวจเอกพันศักดิ์ วิเศษภักดีเป็นเจ้าของ       
            ตอนที่ผมพบกับพี่พุฒ กับ พี่พันศักดิ์เขาถามผมว่า ทำอะไรอยู่ ผมก็บอกว่าเดินเตะฝุ่น ไม่มีงานทำเขาก็ชวนผมไปร้องเพลงกับวงดนตรี ขณะนั้น มี อัมพร มหาสินานนท์ พิทยา บุณยรัตพันธุ์มาโนช (ศรีวิภา) อุโฆษ (จันทร์เรือง) ร้องอยู่วงนี้       
             เมื่อได้พบคุณสมานอีกครั้ง ได้แต่งเพลงคู่ เพลงรักชั่วชีวิตแต่งเพลงให้พิทยาร้อง ถ้าฉันจะรัก แล้วก็แต่งกับคุณสมาน จนได้ตุ๊กตาทองตัวแรก คือเพลงพระรัตนตรัย ใน ภาพยนตร์ เรื่องลูกทาส ตัวที่สอง ลูกเจ้าพระยา กับ ค่าของคน ที่ฉลอง (สิมะเสถียร) ร้องได้ สุพรรณหงส์ทองคำ...” http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9500000089375

ครูสมาน กาญจนะผลิน (8)

จะเห็นได้ว่า เพลงที่ ครูชาลี อินทรวิจิตร แต่งร่วมกันกับ ครูสมานกาญจนะผลิน นั้น มีมากกว่าแต่งร่วมกับคนอื่น เช่น ครูสง่า อารัมภีร หรือ ครูสุรพลโทณะวณิก เพราะ ครูเพลงทั้งสองท่านต่างก็มีความสามารถทั้งการแต่งคำร้องและทำนองส่วน ครูสมาน กาญจนะผลิน นั้นแต่งได้เฉพาะ ทำนอง และ ครูชาลี อินทรวิจิตร ก็แต่งได้เฉพาะ คำร้องจึงเป็นผลงานที่ลงตัวที่สุด คล้ายกับกับ ครูเอื้อ สุนทรสนาน และ ครูแก้วอัจฉริยะกุล แห่ง วงดนตรีสุนทราภรณ์ ที่สร้างสรรค์บทเพลงไพเราะอมตะเอาไว้มากมาย        
              ซึ่ง ครูชาลี อินทรวิจิตร ให้สัมภาษณ์เอาไว้อีกว่า       
            “...ผมถือว่าคนที่แต่งเพลงให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ เป็นอันดับหนึ่งคนที่สองต้องยอมยกนิ้วให้ คือ เอื้อ สุนทรสนาน กับ แก้วอัจฉริยะกุล
              คู่ที่สาม ก็คือผม ที่ต้องยึดครูสมาน คู่กับผม เพราะคุณสมานไม่เคยแต่งเนื้อส่วนผมไม่เคยแต่งทำนอง...”       
              เพลงที่ศิลปินแห่งชาติ ทั้งสองท่านแต่งร่วมกันนั้น ได้แก่เพลงกระท่อมทิพย์ เพลงไกลบ้าน เพลงกว๊านพะเยา เพลงกรุงเทพ เพลงจูบฉันแล้วจงตายเสียเพลงจำเลยรัก เพลงเจอะคุณเข้าอีกแล้ว เพลงคนหลายใจ เพลงครวญ เพลงค่าของคนเพลงฉันรอจูบจากเธอ เพลงดอกแก้ว เพลงดอกหญ้า เพลงถ้าฉันจะรัก เพลงท่าฉลอมเพลงทุ่งรวงทอง เพลงเท่านี้ก็ตรม       
                เพลงเธออยู่ไหนเพลงนารี เพลงนี่หรือชาย เพลงเพื่อน้อง เพลงโพระดก เพลงบ้านทรายทอง เพลงบัวขาวเพลงปล่อยฉันไป เพลงป่าลั่น เพลงผู้หญิง เพลงมหาชัยอาลัยท่าฉลอม เพลงแม่กลองเพลงแม่จ๋า เพลงยามชัง เพลงยามไร้ เพลงรอยไถ เพลงรักอย่ารู้คลาย เพลงเรือนแพเพลงลาก่อนสำหรับวันนี้ เพลงวังบัวบาน เพลงสวรรค์มืด เพลงสาวนครชัยศรีเพลงสาวมหาชัย เพลงสุริยะจันทร์ เพลงแสนแสบ เพลงหนามชีวิต เพลงหลงเงา เพลงหยาดเพชรเพลงอาลัยรัก ฯลฯ       ...
             เพลงยามชัง
                              คำร้องชาลี อินทรวิจิตร/ทำนอง สมานกาญจนะผลิน       
                              ยามชังพี่ยิ่งช้ำทุกยามเช้า ไม่เห็นเจ้า เหงาจิตคิดจนเกือบสาย
             
วานอย่าทำให้พี่ช้ำถึงยามบ่าย อย่าให้ชาย หมายคอย จนคล้อยเย็น
       
       ค่ำแล้ว แสงเดือนงามอร่ามสรวง ดาวลอยดวง ดูกลับทราม เมื่อยามเห็น
       
       ฟังเพลงรัก เหมือนเพลงลาน้ำตากระเซ็น ไม่วายเว้น สวาทหวามยามน้องชัง       
            เพลงนี้ บันทึกเสียงโดยทนงศักดิ์ ภักดีเทวาเมื่อ พ.ศ. 2503 ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ พระราชทาน ครั้งที่ 2 เมื่อ ปี พ.ศ. 2509 ครูชาลี อินทรวิจิตรเล่าว่า ที่แต่ง เพลงยามชัง ก็เพื่อจะแข่งกับ ครูสุรพล โทณะวณิก ที่แต่ง เพลงยามรักที่ มรว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เป็นผู้ขับร้อง ให้กับ วงดนตรีสุนทราภรณ์ ของ ครูเอื้อสุนทรสนาน ที่ได้รับความนิยมมากเพลงหนึ่ง       
            “...เพลงนี้ที่จริงผมจะแต่งแข่งกับ สุรพล โทณะวณิก เขาแต่ง เพลงยามรัก ... เป็นเพลงที่น่าสนใจลองนำไปเปรียบเทียบกับของ สุรพลดู...”       ...
            เพลงทุ่งรวงทอง
                              คำร้อง ชาลีอินทรวิจิตร/ทำนอง สมานกาญจนะผลิน       
       
                       ทุ่งเอ๋ยทุ่งรวงทอง เห็นข้าวออกรวง น่ามอง ดุจแสงทอง สีแห่งศรัทธา
       
       พี่มาได้ยลนฤมล นวลน้องบ้านนา ถึงจะ สวยตามประสา ก็โสภา ยิ่งกว่านางใด
       
       ทุ่งเอ๋ยทุ่งรวงทอง น้ำเปี่ยมอยู่เต็ม ฝั่งคลอง เช่นพี่รัก น้องเปี่ยมฤทัย
       
       สะพานเชื่อมคลอง เหมือนพี่กับน้องเชื่อมใจ ถึงอยู่แสนไกลแค่ไหนเชื่อมหัวใจให้สมปอง       
       
                       พี่เยือน ถึงถิ่นน้องเอยอย่าหมิ่น น้ำใจเพื่อนใหม่ จะหมอง
       
       ขออยู่ ขอตายจนวันสุดท้ายกับน้อง ให้ทุ่งรวงทอง นี่เป็นเจ้าของเรือนตาย
       
       ทุ่งเอ๋ยทุ่งรวงทอง แม้นหาก ขาดพี่ขาดน้อง ทุ่งรวงทองก็หมดความหมาย
       
       พี่มาจากกรุงหมายมุ่งมาหาเพื่อนตาย รับปากรักพี่ ได้ไหม โอ้ขวัญใจทุ่งรวงทอง       
            เพลงนี้ บันทึกแผ่นเสียง โดยชรินทร์ นันทนาครได้รับรางวัล แผ่นเสียงทองคำ พระราชทาน ครั้งที่ 2 เมื่อ ปี พ.ศ. 2509เพลงที่ครูสมาน กาญจนะผลิน ร่วมกันแต่งกับ ครูชาลี อินทรวิจิตรแล้วมอบให้ สวลี ผกาพันธุ์ เป็นผู้ขับร้องนั้น มีอยู่ด้วยกันหลายเพลงแต่เพลงที่ได้รับความนิยม จากแฟนเพลง ก็น่าจะเป็น เพลงปล่อยฉันไป เพลงรักเอ๋ยรักข้าเพลงจำเลยรัก ฯลฯเป็นต้น       ...       
            เพลงปล่อยฉันไป
                              คำร้องชาลี อินทรวิจิตร/ทำนอง สมานกาญจนะผลิน       
       
                       ปล่อยฉันไป ปล่อยฉันไป เมื่อหัวใจเธอมี คนคอยบัญชา
       
       น้ำตาฉันจะปริ่ม แม้ยิ้มจะปร่า มันหมดคุณค่าสำหรับตัวเธอ
       
       ปล่อยฉันไป ปล่อยฉันไป อย่าสนใจอาลัยปันใจบำเรอ
       
       แม้ยิ้มฉันจะปร่า น้ำตาจะเอ่อ ขอหลั่งให้เธอเสมอคำเอ่ยลา       
       
                       ไม่มีน้ำตา จากฉันต่อไป ไม่มีจิตใจจะปรารถนา
       
       ไม่มีรอยยิ้ม พริ้มยล ไม่มีแม้จนวาจา แม้เพียงคำว่าลาก่อน
       
       ปล่อยฉันไป ปล่อยฉันไป เมื่อหัวใจ เธอมีคนคอยอาวรณ์
           
ฉันเป็นคนเก่า มิงามเหมือนก่อน ไหนจะอรชรเหมือนคนใหม่เอย
       
       ปล่อยฉันไป ปล่อยฉันไป ปล่อยฉันไปปล่อยฉันไป
            เพลงนี้ บันทึกเสียง โดยสวลี ผกาพันธุ์เมื่อ ปี พ.ศ. 2505 ซึ่งเป็นเพลงที่สร้างชื่อเสียงให้กับ สวลี ผกาพันธุ์ มากอีกเพลงหนึ่งเฉพาะอย่างยิ่ง การเล่นคำว่า “ปล่อยฉันไป” ซ้ำถึง 10 คำ ในการแต่งเพลงโดยครูชาลี อินทรวิจิตร ที่เริ่มต้นในท่อนแรก ท่อนที่สอง และในท่อนสุดท้าย และคำสรุปจบเพลง ทำให้เกิดความรู้สึกว่า “อยากจะไป” เสียเต็มทีไม่อยากจะอยู่ให้เห็นหน้ากันอีกต่อไปแล้วหมดเยื่อหมดใยอย่างแท้จริง       
              ซึ่งถือว่าเป็นมือระดับปรมาจารย์จริงๆhttp://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9500000092383

สมาน กาญจนะผลิน (9)

เพลงหยาดเพชร
                              คำร้อง ชาลี อินทรวิจิตร/ทำนอง สมานกาญจนะผลิน
                           เปรียบเธอเพชรงามน้ำหนึ่ง
       
       หวานปานน้ำผึ้งเดือนห้า
       
       หยาดเพชร เกล็ดแก้วแววฟ้า
       
       หยาดมาจากฟ้าหรือไร       
       
                       หยาดมาแล้วอย่าซ้ำโศก
       
       พลอยคนทั้งโลกร้องไห้
       
       หยาดเพชรเกล็ดแก้วผ่องใส
       
       นั้นอยู่ไกลเกินผูกพัน       
                         
แม้ยามเพชรหยาดจากฟ้า
       
       ล่วงลงมา ฟ้าคงไหวหวั่น
       
       ดวงดาวก็พลอยเศร้าโศกศัลย์
       
       มิอาจกลั้นน้ำตาอาลัย       
                         
เอื้อมมือคว้าหยาดเพชรแก้ว
             
เผลอรักแล้วจึงฝันใฝ่       
       
       หยาดเพชรหยาดละอองผ่องใส
       
       แม้อยู่ในความมืดมน       
             เพลงนี้ บันทึกแผ่นเสียงโดย ชรินทร์ นันทนาคร เมื่อ ปี พ.ศ.2518 เป็นเพลงประกอบ ใน ภาพยนตร์ เรื่อง เงินเงิน เงิน       
            ครูชาลี อินทรวิจิตร บอกเอาไว้ ใน หนังสือคอนเสิร์ต เชิดชูครูเพลง ครั้งที่ 2 ชาลี อินทรวิจิตร ว่า       
            “...ผมแต่งเพลงนี้ ให้ ชรินทร์ ขับร้อง เพราะรู้ว่า ตั้งแต่เขาเลิกกับภรรยาคนเก่ามาเขากำลังชอบเพชรา อยู่เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ เรื่อง เงิน เงิน เงิน ผมบอกเขาว่าร้องให้ดีนะ ร้องแล้วคงรู้ว่า ผมหมายถึงใคร เป็นเพลงเอกของภาพยนตร์ดังกล่าว ที่สุดชรินทร์ ก็สมหวังในชีวิตรัก...”       
            วัลลภา ดิเรกวัฒนะเขียนสัมภาษณ์ ถึงเรื่องนี้ ใน หนังสือพิมพ์เสรีชัย สหรัฐอเมริกา ชื่อ ชาลีอินทรวิจิตร ปรมาจารย์แห่งวงการเพลง ว่า       
            “...ผมเคยเป็นผู้กำกับหนัง แฟนผม ศิรินทิพย์ ศิริวรรณ เป็นผู้อำนวยการสร้างทำเงินมากที่สุด เรื่อง ไอ้หนึ่งแต่ง เพลงเรือนแพ ทำให้ระบือลือลั่นว่าเป็นนักแต่งเพลงยอดเยี่ยม ต่อมา ชรินทร์ ไปชอบ เพชรา ก็มาอ้อนวอนให้ผมแต่งให้ดอกดิน เพลงฝนแรก เขาเป็นผู้จัดการด้านโฆษณาของดอกดิน เขารัก เพชราก็พยายามเอาอกเอาใจ ดอกดิน ต้องไปแต่งให้ ทั้งๆ ที่ผมมีหลายบริษัทใหญ่ หยาดเพชรก็เหมือนกัน ชรินทร์ ขอให้แต่งเพื่อเพชรา...”       ...
            เพลงโพระดก
                              คำร้อง ชาลีอินทรวิจิตร/ทำนอง สมาน กาญจนะผลิน       
                        เสียงนก โพระดก
       
       มันร้อง โฮ่กโป๊ก โฮกโป๊ก อยู่หนไหน เอ่ย เออ เอิงเอย
       
       พระพุทธเจ้าข้า
       
       จับกิ่งเพกานั่นเป็นไร       
       
                       ตัวมัน เขียวเขียว
       
       บินเลี้ยวไปเข้าโพรงไม้ ทางนี้เอย
       
       เสียงนก โพระดก
       
       มันร้อง โฮ่กโป๊กโอ่กโป๊ก ส่งเสียงใส เอ่อ เออ เอิง เอย       
       
                       พระพุทธเจ้าข้า
             
อยากจับตัวมา เข้ากรงใจ
       
       ฟังมัน เพ้อพก โฮ่กโป๊กไป
       
       กักตัวไว้ ฟังเสียงเอย       
       
                       ฉันรักโ พระดก
       
       มันร้องโอ่กโป๊ก โฮ่กโป๊ก อยู่หนไหน เอ่อ เออ เอิงเอย
       
       พระพุทธเจ้าข้า
       
       ช่วยจับตัวมาเถิดไวไว       
       
                       มันเปรียว เลี้ยววับ บินลับไป
       
       เข้ากรงใจใครแล้วเอย       
            เป็น เพลงเอกประกอบ ในภาพยนตร์ เรื่องนางสาวโพระดก ของ รพีพร กำกับการแสดงและ เขียนบท โดย คุณาวุฒิ (วิจิตร คุณาวุฒิ)ซึ่งได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง รวม 3 รางวัลด้วยกัน คือ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมกำกับการแสดงยอดเยี่ยม และ บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม       
             ครูชาลีอินทรวิจิตร เขียนบอกว่า       
            “... ผมแต่ง เพลงโพระดกจากทำนองดั้งเดิม ที่ดัดแปลงของ สมาน แม้จะไม่ได้รับรางวัลเพลงนำภาพยนตร์ก็พลอยยินดีกับ คุณาวุฒิ เศรษฐีตุ๊กตาทอง ในยุคนั้น...”       
             และใน หนังสือ บันเทิง บางที ชาลี อินทรวิจิตร นั้น เขียนบอกถึง คุณาวุฒิเอาไว้อย่างยกย่อง ว่า       
            “...ภาพ คือ แสง สี เงาเปรียบเสมือนงานจิตรกรรมแห่งโลกภาพยนตร์ บทภาพยนตร์ ไม่ต่างอะไรกับวรรณกรรมรังสรรค์ผ่านอักษร ถ่ายทอดให้เกิดความเคลื่อนไหวฉุดคนให้เคลิ้มคล้อยไปกับภาพเบื้องหน้า ความเด่น ของ คุณาวุฒิ ก็คือ บทภาพยนตร์มีผู้กำกับจากยุโรป ให้ข้อคิดว่า ไม่มีใครสร้างหนังดีได้ จากบทที่เลวแต่มีคนสร้างหนังเลวได้จากบทที่ดี"       
            "บทภาพยนตร์จึงไม่ต่างจากหัวใจของภาพยนตร์ ฉะนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่า คุณาวุฒิ คือผู้กำกับผู้สร้างบท คือหัวใจของภาพยนตร์ รับผิดชอบเรื่องนี้ไว้ในอุ้งมือ...”

http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9500000095908

ครูสมาน กาญจนะผลิน (9) : กำเนิดเพลงสดุดีมหาราชา(1)

ในบรรดาผลงานเพลงอมตะที่ ครูสมาน กาญจนะผลิน แต่งทำนองเอาไว้ ร่วมกันกับครูเพลงคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ครูเกษม ชื่นประดิษฐ์ และครูชาลี อินทรวิจิตร ฯลฯ จนได้รับรางวัลมากมายหลายเพลงดังกล่าวข้างต้นนั้น
              เพลงที่ได้รับความนิยมสูงสุดและเป็นเพลงที่เจ้าตัวภาคภูมิใจมากที่สุด เห็นจะไม่มีเพลงไหน เกินไปกว่าเพลงสดุดีมหาราชาไปได้       .....
            เพลงสดุดีมหาราชา
                              คำร้อง ชาลีอินทรวิจิตร/ทำนอง สมาน กาญจนะผลิน
                        ขอเดชะ องค์พระประมุข ภูมิพล
       
       มิ่งขวัญปวงชน ประชาชาติไทย
       
       มหาราช ขัตติยะ ภูวนัย
       
       ดุจร่มโพธิ ร่มไทร ของปวงประชา       
       
                       ขอเดชะองค์สมเด็จพระราชินี
       
       คู่บุญบารมี จักรีเกริกฟ้า
       
       องค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาราชา
       
       ข้าพระพุทธเจ้าขอสดุดี       
       
                       อ่า องค์พระสยม บรมราชันย์ขวัญหล้า
             
เปล่งบุญญา สมสง่า บารมี
             
ผองข้าพระพุทธเจ้า น้อมเกล้าขออัญชุลี
             
สดุดี มหาราชา สดุดี มหาราชินี
            เพลงนี้ เป็นเพลงในภาพยนตร์ เรื่องลมหนาว ที่ชรินทร์ นันนทนาคร ได้อัญเชิญชื่อเพลงพระราชนิพนธ์ ลมหนาวมาเป็นชื่อเรื่อง จากบทประพันธ์ของ สุวัฒน์ วรดิลก เมื่อ ปีพ.ศ. 2509       
             ใน หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสมานกาญจนะผลิน บอกว่า เพลงสดุดีมหาราชา เพลงนี้ แต่งเสร็จในปี พ.ศ. 2507 และมอบให้วงดนตรีลูกฟ้า บรรเลงเป็นครั้งแรก ที่เวทีสวนลุมพินี เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2507 ใน งานแผ่นเสียงทองคำ พระราชทาน ครั้งที่ 1       
             ต่อมาครูสมานกาญจนะผลิน ได้เรียบเรียงเสียงประสานใหม่ และบันทึกเสียงอีกครั้ง ในราวปี พ.ศ. 2514 โดยมี สุเทพ วงศ์กำแหง ธานินทร์ อินทรเทพ ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา สุวัจชัย ชุติมา นภาหวังในธรรม เพ็ญศรี พุ่มชูศรี สวลี ผกาพันธุ์ จินตนา สุขสถิตย์ ดาวใจ ไพจิตรและพราวตา ดาราเรือง เป็นผู้ขับร้อง       
            ชรินทร์ นันทนาครเขียนเล่าถึงเบื้องหน้า เบื้องหลัง ความเป็นมาของเพลงนี้เอาไว้ ใน เรื่อง อัจฉริยชนคนธรรมดา จากคอลัมน์ หกแยกบันเทิง ใน หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน เมื่อ 11 ธันวาคม 2539 ไว้โดยละเอียด และน่าสนใจยิ่ง ว่า       
            “...ก็ขอย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ. 2507 ผมมีโอกาสขึ้นไปดูสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ ที่บ้านป๋าแป๋ที่มีน้ำพุร้อนสวยที่สุดในเชียงใหม่ เห็นแม้วเป๊อะของเต็มกระบุงเดินขึ้นดอยมาที่ขอบกระบุงมีธง ภ.ป.ร. ผืนน้อยเสียบอยู่ ถามดูได้ความว่า ซื้อมาจากในเมืองอันละ 8 บาท จะเอาไปติดบูชาที่ประตูบ้าน ในวันสำคัญของเจ้าพ่อหลวง       
             ผมมองตามธงผืนนั้น ไกลออกไป ในระหว่างหุบเขา และจะด้วยอะไรก็ไม่รู้ผมนึกชื่อขึ้นมาได้ชื่อหนึ่งว่า “สดุดีมหาราชา”       
            เก็บชื่อและคิดว่าจะทำอะไรอยู่เกือบ 2 ปี จึงได้ไปพบผู้มีพระคุณท่านหนึ่งซึ่งผมนับถือเสมือน “พ่อ” ท่านคือ พระยาศรีวิศาลวาจา กราบเรียนถามท่านว่าถ้าเราจะแต่งเพลงรักและบูชา พระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีของเราโดยใช้ถ้อยคำธรรมดาง่ายๆ แบบชาวบ้านจะเป็นการมิบังควรหรือเปล่า       
             ท่านบอกว่า เป็นความคิดที่ดีรีบไปทำได้เลย       
             นักประพันธ์เพลงที่ฝีมือดีมีมากมายในบ้านเราแต่ผู้ที่จะมาสร้างทำนองเพลงอันสำคัญนี้ คงเป็นใครไม่ได้ นอกจาก “น้าหมาน” หรือคุณสมาน กาญจนะผลิน เพราะตลอด 10 ปี ที่ผ่านมา เคยบันทึกเสียงเพลงมาด้วยกันผมทราบดีว่า คนๆ นี้ “อัจฉริยะ"       
            ปัญหาอยู่ที่เนื้อร้องผมตรงไปพบ คุณสุรัฐ พุกกะเวส นักประพันธ์เพลงอาวุโส และช่วงนั้นท่านเป็นนายกสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงด้วย ท่านขอเวลา ๒ วัน ถึงเวลาไปรับเนื้อเพลงมาปรากฏว่ายาวมาก ถ้อยคำส่วนใหญ่จะเป็นราชาศัพท์ ไม่ตรงกับใจที่หวังไว้ถึงอย่างไรก็ถือว่า ได้เริ่มต้นกันแล้ว       
            คิดอยู่อีกนานว่าจะทำอย่างไร เผอิญได้พบกับ คุณชาลี อินทรวิจิตร ในร้านอาหารเล็กๆ แห่งหนึ่งผมระบายความในใจและสิ่งที่อยากจะได้ให้เขาฟัง บอกชื่อเพลงเขาไปว่า “สดุดีมหาราชา”       
            เขาถอนหายใจยาว ใบหน้าเริ่มแดงระเรื่อลึกเข้าไปในดวงตาของชาลี ผมมองเห็นเหมือนเทียนเล่มน้อยจุดประกายแวววาว       
             รุ่งขึ้นรับชาลีที่บ้านหลังศาลเจ้าแซ่ซิ้ม ธนบุรี ตี 5 ครึ่งบึ่งไปบ้านน้าหมานในซอยข้างวัดเทพธิดาราม 6 โมงเช้า น้าหมานเดินโซเซลงบันไดบอกเพิ่งกลับจากเล่นดนตรีที่ บาร์ลูน่าคลับขอผลัดไปแต่งตอนบ่าย       
             ผมหรือชาลีก็ไม่ทราบ โพล่งออกไปว่าน้าหมานไม่รักในหลวงหรือ?       
             เท่านั้นแหละน้าหมานรีบขึ้นบันได ไปล้างหน้าปะแป้งลงมา พร้อมกับชูกระดาษสีเหลืองเก่าๆให้ผมดู
            “อย่าคิดว่า ชรินทร์ได้รับพระราชทานนามสกุลคนเดียวนาของฉันก็มี” น้าหมานบอก       
             เป็นใบพระราชทานนามสกุลจริงๆจากล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ให้แก่ หมื่นคนธรรพ์ประสิทธิ์สาร( ชื่อเดิม แดะ)พระราชทานให้ว่า “กาญจนะผลิน” และท่านคือบิดาของน้าหมาน       
             พอเริ่มแต่งเพลง ชาลีเริ่มเกร็ง       
             เนื้อร้องต้องมาก่อนเอาง่ายๆ แบบชาวบ้าน แต่ประทับใจ ผมบอก       
             ชาลีเถียงนั่นแหละยาก ชาลีถามผมขึ้นลอยๆ ว่า       
            “เออ ชรินทร์ถ้าเผอิญในหลวงมาในซอยนี้ แล้วเราไปเจอพระองค์ท่าน เราจะทำยังไง ?”       
             ผมก็บอกไปว่า “เราก็คงต้องนั่งหรือคุกเข่าพนมมือ       
            “ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า” แล้วเรามีอะไรก็กราบบังคมทูลพระองค์ท่าน”       
             ชาลีรีบเขียนในกระดาษ       
            “ขอเดชะ องค์พระประมุขภูมิพล มิ่งขวัญปวงชน ประชาชาติไทย...เหมือนลมเย็นพัดมาวูบหนึ่ง แล้วก็พาความวิตกกังวลที่สุมอยู่ในหัวใจผมมานาน หายไปในพริบตา       
            ผมดึงเนื้อเพลงบรรทัดนั้น ส่งให้น้าหมานท่านพรมนิ้วลงบนคีย์เปียโนไล่เสียงไม่นานเลย แล้วทำนองเพลงก็หลั่งไหลมาครั้งเดียวก็ดีเยี่ยม เป็นทำนองที่เราท่านทั้งหลาย ร้อง สดุดีมหาราชา จากวันนั้นถึงวันนี้และตลอดไป       
             นี่คือ อัจฉริยชนคนธรรมดา ที่ชื่อ “สมาน กาญจนะผลิน” http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9500000098750

ครูสมาน กาญจนะผลิน (จบ) : สดุดีมหาราชา

...ได้บรรทัดแรกมาเราสามคนก็หายจากอาการเกร็ง ฟ้าดินเป็นใจเราแล้ว ก็แต่งต่อจนจบท่อนสดุดีมหาราชินี
            แล้วชาลี ก็พูดขึ้นอีกว่าต่อไปนี้เป็นท่อนจบ ความไพเราะทั้งหลายทั้งปวง จะต้องมารวมกันอยู่ที่ตรงนี้และนี่คือเนื้อเพลง ...อ่าองค์พระสยมบรมราชันย์ขวัญหล้า...อ่านบรรทัดที่หนึ่งผมก็นิ่ง
            ชาลีเขาอ่านสีหน้าผมออก ยิ่งกว่าอ่านแบบเรียนเร็ว
            ชาลีพูดเสียงดัง “กูตามใจมึงมา 8 บรรทัดแล้ว จะแต่งตามใจกูสักบรรทัดไม่ได้เชียวหรือวะ ชรินทร์ ?”
            เออ ก็ต้องรีบประนีประนอมขอฟังทำนองจากน้าหมานก่อน
            ถ้าเพราะก็คงไม่ยากน้าหมานอ่านเนื้อ แล้วไล่คีย์เปียโน บอกว่า ทำนองจะขาดไป 2 ห้องต้องทำสะพานดนตรีลงมารับ กับคำร้องท่อนสุดท้าย อ่าองค์พระสยม...แล้วท่านก็ดีดให้ฟัง       
            อีกครั้งอัจฉริยชนคนธรรมดา สำแดงฤทธิ์ทางดนตรี ดีดทีเดียวก็ไพเราะจับใจท่านผู้อ่านลองร้องดูเถอะครับ       
        ...อ่า องค์พระสยมบรมราชันย์ ขวัญหล้า เปล่งบุญญา สมสง่าบารมี ผองข้า พระพุทธเจ้า
            น้อมเกล้า ขออัญชุลี สดุดี มหาราชา สดุดี มหาราชินี...       
            เพลงสดุดีมหาราชา เผยแพร่สู่ประชาชนครั้งแรก โดยบรรจุไว้ในภาพยนตร์ เพลงพระราชทานลมหนาว ที่ผมสร้าง ฉายที่ศาลาเฉลิมกรุง เมื่อปี 09       
             เป็นตอนใกล้จบเรื่อง มีภาพนักโทษการเมืองและพระเอกของเรื่อง ได้รับพระราชทานอภัยโทษเนื่องในวันเฉลิมพระชนม์พรรษา เดินออกจากคุก แล้วพร้อมใจกันก้มกราบระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ เพลงสดุดีมหาราชา ก็กระหึ่มขึ้น มีภาพธงชาติไทย ธง ภ.ป.ร.ประดับประดาตามบ้านเรือน       
             ผู้ที่เข้ามาดูภาพยนตร์ในรอบแรกต่างลุกขึ้นยืนถวายความเคารพจนจบเพลงคนเฝ้าประตูใหญ่ด้านข้างของเฉลิมกรุงก็เปิดประตู ผู้คนเข้าใจว่าภาพยนตร์จบแล้วต่างก็กรูกันออกมาเต็มฟุตบาทริมถนนเจริญกรุง       
             ไม่นานก็ได้เรื่อง ตำรวจพาตัวผมไปโรงพักพระราชวัง เพราะมีคนไปแจ้งความว่าผมเอาเพลงอะไรก็ไม่รู้ มาเปิดแทนเพลงสรรเสริญพระบารมีอธิบายให้ตำรวจฟังยังไงก็ไม่เข้าใจ เพราะตำรวจก็คือตำรวจ ทางโรงก็ไม่กล้าฉายหนังผมก็ต้องโทรถึงที่พึ่งของผม       
             ระหว่างรอคอยท่านผมโทรเล่าเรื่องให้น้าหมานฟัง น้าหมานตกใจมาก บอกเดี๋ยวจะเอาโฉนดไปด้วยเผื่อเขาให้ประกัน ผมก็บอก ผมโทรไปกราบเรียนท่านแล้วคงไม่เป็นไร       
             พักใหญ่ที่พึ่งของผมท่านก็มาตำรวจตั้งแถวกันพรึบพรับทั้งโรงพัก และทุกอย่างก็จบลงด้วยรอยยิ้มและความเข้าใจภาพยนตร์ก็ฉายได้ตามปกติ       
            30 ปี จากวันนั้น ถึงวันนี้เพลงสดุดีมหาราชา ได้กลายเป็นเพลงของประชาชนคนไทยทั้งประเทศไปแล้ว ถ้าสวรรค์มีจริงอัจฉริยชนคนธรรมดา และเป็นคนดี ที่พร้อมอย่าง น้าหมาน ท่านคงยิ้มอย่างเป็นสุขอยู่บนนั้น”       
             ส่วน ครูชาลี อินทรวิจิตร ก็เขียนถึงเพลงสดุดีมหาราชา เอาไว้ ใน หนังสือคอนเสิร์ต เชิดชูครูเพลง ครั้งที่ 2 ชาลีอินทรวิจิตร       
            “...สดุดีมหาราชา เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องลมหนาว บทประพันธ์ของ สุวัฒน์ วรดิลก ชรินทร์ สร้าง กำกับโดย พันคำ (พร้อมสินศรีบุญเรือง)       
             จริงๆ แล้ว เพลงนี้ผมแต่งเนื้อร้องเพียงคนเดียว ที่อ้างๆ กันอีกคนสองคนนั้นของเทียมทั้งนั้น       
             สมาน กาญจนะผลินให้ทำนอง       
             เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจผมเคยสาบานหน้าวัดพระแก้วว่า ถ้าผมไม่ได้แต่งจริง ขอให้หายนะภายใน 3 วัน 7 วันแต่ถ้าผมแต่งคนเดียว ขอให้เจริญยิ่งขึ้นไป       
            ซึ่งก็แปลกที่หลังจากนั้น ไม่กี่วัน ผมก็ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ...”       
             ด้วยเหตุที่ ครูสมาน กาญจนะผลินเป็นผู้ที่...มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของ เพลงอย่างแตกฉาน มีความสามารถสูงในการบรรเลงเครื่องดนตรีสากลจนถึงระดับแสดงฝีมือเดี่ยวได้เป็นอย่างดี       
             ในขณะที่อารยธรรมตะวันตก เข้ามามีอิทธิพลต่อวงการดนตรีในประเทศ ...ได้พยายามที่จะหาแนวร่วมในการประสานวัฒนธรรมทั้งสองแบบนี้ ให้ดำเนินไปด้วยกัน       
            จึงเป็นผู้ประดิษฐ์ เพลงไทยสากล ประเภท สังคีตประยุกต์ ขึ้น โดยนำเพลงไทยของเก่ามาประดิษฐ์ให้เป็นทาง สำหรับบรรเลงด้วยงวงดนตรีสากล และจัดเป็นเพลงขับร้องให้ผู้ฟังรับได้ง่ายขึ้น สามารถประสมดนตรีทั้งสองแบบให้เข้ากันได้อย่างสนิทสนม       
             ได้ประพันธ์เพลงไทยสากลอย่างเป็นเอกเทศไว้ทุกรูปแบบ ตั้งแต่เพลงปลุกใจ เพลงเพื่อจริยธรรม ศาสนาเพลงสำหรับเด็ก ลูกเสือ เนตรนารี เพลงประกอบภาพยนตร์และละคร       
             ได้มีส่วนสร้างนักร้องมีชื่อ ไว้ในประเทศเป็นจำนวนมาก
            เพลงที่มีชื่อเสียงมาก เป็นเพลงยอดนิยม และได้รับการยกย่องให้เป็นเพลงของชาติขับร้องในรัฐพิธี ต่างๆ คือ เพลงสดุดีมหาราชา และเพลงอื่นๆ อีก มากกว่า 2,000 เพลง       
            เคยได้รับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงทองคำ มาแล้วถึง 9 รางวัล เหรียญพระปรมาภิไธย ภปร. รางวัลเสาอากาศทองคำ รางวัลสังข์เงินและรางวัลอื่นๆ อีกเป็นอันมาก       
             ซึ่งเป็นเครื่องรับรองคุณภาพของผลงาน และประกาศเกียรติคุณ ในฐานะบุคคลสำคัญของชาติ ที่ได้ผลิตผลงานรับใช้ประเทศชาติ และเผยแพร่ผลงานไปทั่วโลกมาแล้ว       
             สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จึง ประกาศเกียรติคุณ ยกย่องเชิดชูเกียรติให้       
            ครูสมาน กาญจนะผลิน เป็น ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล) ปี พ.ศ. 2531...
            ในวันอาทิตย์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2538 ครูสมาน กาญจนะผลิน ก็จากพวกเราไปอย่างน่าเสียดาย ศิริรวมอายุได้ 74 ปี 3 เดือน 15 วัน และได้รับ พระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2538 ณ วัดมกุฎกษัตริยารามอย่างสมเกียรติ และ สมความภาคภูมิ       
             ทิ้งผลงานเพลงไพเราะอมตะมากมายหลายร้อยเพลง ให้เป็นตัวอย่างความเป็นอัจฉริยะทางดนตรีที่หาตัวจับได้ยากคนหนึ่งของเมืองไทย

http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9500000101631

ประสิทธิ์ พยอมยงค์ (1)

            "ประสิทธิ์ พยอมยงค์" เป็นชาวกรุงเทพฯ เกิดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2469 ในสมัย รัชกาลที่ 7 ณ บ้านเลขที่ 22 ถนนโยธา ตำบลตลาดน้อย อำเภอสัมพันธวงศ์นับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก เป็นบุตรชายคนโตของ นายสุธรรม นางนิล พยอมยงค์มีน้องสาวอีกหนึ่งคน       
            เดิมนั้น ใช้แซ่เตียว แต่ต่อมาร.อ.ประทีป พยอมยงค์ ร.น. ซึ่งเป็นอา ได้รับพระราชทานนามสกุล
พยอมยงค์ จึงขอใช้นามสกุลร่วมด้วย และใช้ติดต่อกันเรื่อยมาจนปัจจุบัน       
             บิดา ประกอบอาชีพ ธุรกิจค้าขาย ส่วนมารดานั้นเป็นช่างตัดเย็บเสื้อผ้า
            เข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนอัสสัมชัญ แล้วเข้าศึกษาต่อที่ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนักศึกษา เตรียม ม.ธ.ก. รุ่นที่ 5 ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกันกับ ฯพณฯ ธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี และ นายมารุต บุนนาคนักการเมืองชื่อดัง แต่เรียนไม่จบ เพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 และเมื่อมหาวิทยาลัยปิดการสอน จึงหันไปประกอบอาชีพเป็นนักดนตรีเต็มตัวออกหารายได้เป็นงานหลักต่อไป
                           ใน วิทยานิพนธ์ เรื่องลักษณะเฉพาะทางดนตรี ของ นายประสิทธิ์ พยอมยงค์ โดย สิชฌน์เศก ย่านเดิมเขียนบอกเอาไว้ว่า
            “...ตระกูลทางฝ่ายมารดา ของ นายประสิทธิ์พยอมยงค์ สืบขึ้นไป 1 รุ่น นับว่ามีความสามารถทางดนตรี กล่าวคือ ขุนสาลีรวิทยาวิลาศ (นายพโยม เลาหบุนร) มีศักดิ์เป็นพี่ชาย ของ นางนิล พยอมยงค์ และ นางอรุณ (เลาหบุตร)ศรีสวัสดิ์ กับ นายชัยวัธน์ เลาหบุตร มีศักดิ์เป็นน้องสาวและน้องชาย...
            บุคคลดังกล่าวข้างต้นเป็นบุตรของ ขุนนิติโทรการ ( นายเฮง เลาหบุตร)ที่มีความสามารถด้านดนตรีและบางคนประกอบอาชีพเป็นครูสอนดนตรีด้วย...”
            เริ่มเรียนดนตรี เมื่ออายุได้ 10 ขวบ กับ น้าชาย นายชัยวัธน์ เลาหบุตร ซึ่งเป็นครูคนแรกที่สอนเปียโนให้จึงมีพื้นฐานของทฤษฏีและการปฏิบัติดนตรีเป็นอย่างดี
            แนวของดนตรีที่เริ่มเรียนนั้น ส่วนมากจะเป็นแนวเพลงคลาสสิค แต่เนื่องจากเป็นคนรูปร่างเล็ก และ มีนิ้วมือสั้นมาก ทำให้เทคนิคบางอย่างของการเล่นเปียโนด้านคลาสสิค ทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร จึงเปลี่ยนแนวมาเล่นเปียโน ประเภทป็อปปูล่าแทน
            เมื่อครั้งที่เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้ร่วมกันกับพรรคพวก ตั้งวงดนตรีของมหาวิทยาลัยขึ้นแล้วออกแสดงตามงานต่างๆ โดยมี จำนรรจ์ กุณฑลจินดา อดีตหัวหน้าวงดนตรีกรรณเกษมร่วมอยู่ด้วย
            ส่วนการเรียบเรียงเสียงประสาน นั้นได้จากการสังเกตและเรียนรู้ด้วยตนเอง เพราะนำเอาคอร์ดกีต้าร์มาหัดแยกและเรียบเรียงเสียงประสาน โดยอาศัยผลงาน เพลงไทยสากล ประกอบภาพยนตร์ของครูนารถ ถาวรบุตร เป็นแนวทางโดยเฉพาะ การเล่นเปียโนสองมือ

              ใช้ ออร์เคสตราชี้ทซึ่งเป็นโน้ตเพลงสากลจากต่างประเทศ มาเขียนเป็น สกอร์ ของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นประยุกต์ใช้กับ เพลงไทยสากล และศึกษาการเรียบเรียงเสียงประสาน ของ นายบิลลี่ (คีติคีตากร) นักดนตรีชาวฟิลิปปินส์ จาก วงดนตรีกรมโฆษณาการ และ วงดนตรีสุนทราภรณ์เป็นแนวทาง       
            เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงก็เกิดแหล่งบันเทิงขึ้นในกรุงเทพมหานคร อย่างมากมาย แพร่หลายไปทั่วจึงตัดสินใจหันไป เล่นดนตรีเป็นอาชีพเต็มตัว       
             ผู้ที่ชักชวนให้ ครูประสิทธิ์ พยอมยงค์ หันมาเอาดีด้านดนตรีก็คือ ครูไสล ไกรเลิศนักดนตรีและนักแต่งเพลงชื่อดัง ในยุคนั้น ทั้งๆ ที่เพิ่งมีอายุ ได้เพียง 20 ปีเท่านั้น       
            เริ่มอาชีพนักดนตรีครั้งแรกที่ภัตตาคารห้อยเทียนเหลา หรือ หยาดฟ้าภัตตาคาร มีสมาชิก นักดนตรีที่มีชื่อหลายคน เช่นจำนรรจ์ กุณฑลจินดา ฮอน หาญบุญตรง ธนิต ผลประเสริฐ ครูเวส สุนทรจามร เฉลียวคีติกานต์ หรือ ซีเลียว นักดนตรีฟิลิปปินส์ผู้มากด้วยฝีมือ และ ครูสมาน กาญจนะผลินฯลฯโดยเล่นดนตรีในแนวของ เพลงสำหรับลีลาศ โดยเฉพาะ       
             ต่อมาในพ.ศ. 2493 ได้ก่อตั้ง วงดนตรี กรุงเทพสวิงขึ้น เพื่อเล่นดนตรีออกอากาศทางสถานีวิทยุ จ.ส. ของ พ.อ. การุณ เก่งระดมยิง ในสมัยนั้น และเริ่มแต่งเพลงกับพรรคพวก นักดนตรี เช่น อุทิตต์ ทินกร ณ อยุธยา เกษม ชื่นประดิษฐ์ สุนทรียา ณเวียงกาญจน์       
             ครูประสิทธิ์ พยอมยงค์ เขียนเล่าเอาไว้ ในหนังสือ เบื้องหลังเพลงดัง ถึงความเป็นมาของชีวิตในช่วงนี้เอาไว้ว่า       
            “...เริ่มแรกที่ผมแต่งเพลง ก็เพราะประมาณ 32 ปีที่แล้ว ผมมี วงดนตรีกรุงเทพสวิง ซึ่งรวมเพื่อนๆ นักดนตรีประมาณ 7-8 คน เล่นที่สถานีวิทยุ จ.ส. ซึ่ง ผู้พันการุณ เก่งระดมยิงเป็นหัวหน้าสถานีอยู่       
             ผมมีหน้าที่เรียบเรียงเสียงประสานและแต่งทำนองเพลงให้กับวง ด้วยความจำเป็นบังคับเพราะวงดนตรีต้องมีเพลงของคณะตนเอง       
             ขณะนั้น มี คุณอุทิศทินกร คุณเกษม ชื่นประดิษฐ์ คุณสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ เป็นผู้เขียนคำร้องให้นี่เป็นการเริ่มต้นของการที่จะเป็นนักแต่งเพลง       
             ผมได้ศึกษาการแต่งเพลง จากนักแต่งเพลงอาวุโสหลายท่าน เช่น ครูนารถ ถาวรบุตรครูเอื้อ สุนทรสนาน ครู มล.พวงร้อย อภัยวงศ์และอีกหลายๆท่าน...       
             ต่อมาผมก็ได้แต่งเพลงควบคู่กับการเรียบเรียงเสียงประสานเรื่อยมา และได้พยายามหาจุดบกพร่องของตัวเอง โดยถือคติว่าผิดเป็นครู อยู่ตลอด โดยที่ผมเล่นปิอาโนได้พอสมควรก็ได้ซื้อโน้ตเพลงสากลของฝรั่งมาหัดเล่นก็เลยได้ความรู้ทางด้านสากลอีกทางหนึ่ง...”       
             เข้าทำงานที่บริษัทจำหน่ายแผ่นเสียงแถว วังบูรพารับผิดชอบการสั่งแผ่นเสียงจากต่างประเทศมาจำหน่าย และดูแลห้องบันทึกเสียงอีกด้วยเช่น บริษัท อัศวินการละครและแผ่นเสียง บริษัท ดีคูเปอร์ แอนด์ยอห์นสัน และ บริษัทแบล๊คแอนด์ไว้ท์
       
             พ.ศ. 2496 เป็นนักดนตรี วงดนตรี ประสานมิตรของ พ.ต.อ.พุฒ บูรณสมภพ ร่วมกับพรรคพวก เช่น ครูสมาน กาญจนะผลิน ครูสง่า ทองธัชมรว.พรพุฒิ วรวุฒิ มาโนช ศรีวิภา เล็ก ชอุ่มงาม โดยมี ชาลี อินทรวิจิตรเป็นนักร้องประจำวง
            เมื่อ วงดนตรีประสานมิตรสลายตัวลงตามภาวะทางการเมือง ก็ตั้ง วงดนตรีกรรณเกษม ขึ้นมาใหม่ร่วมกับพรรคพวกนักดนตรีรุ่นเดียวกัน เช่น จำนรรจ์ กุณฑลจินดา ไพบูลย์ ลีสุวัฒน์ครูสมาน กาญจนะผลิน ฯลฯ เป็นต้น
            พ.ศ. 2500 เดินทางร่วมคณะไปจีนแดง กับ สุวัฒน์ วรดิลก       
             พ.ศ. 2502 เข้ารับราชการ กรมประชาสัมพันธ์ อยู่กับ ครูเอื้อ สุนทรสนาน แล้วย้ายไป อยู่กับสุทิน เทศารักษ์ ที่ วงดนตรีเทศบาลนครกรุงเทพฯ แต่ยังเล่นดนตรีตามไนท์คลับ อีก เช่นโรฟิโน และ โลลิต้า ย่านถนนราชดำเนิน       
             พ.ศ. 2512 เข้าทำงานเป็นครูสอนดนตรี ที่ โรงเรียนดนตรีสยามกลการ       
             เข้าเรียนวิชาการเรียบเรียงเสียงประสาน กับ อาจารย์แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ พร้อมกันกับนริศร์ ทรัพยะประภา และ ชัยยุทธ เวชสวรรค์ หัวหน้า วงดนตรี คณะเวชสวรรค์และเป็นอาจารย์สอนพิเศษ ตามสถาบันต่างๆอีกหลายแห่ง       
             พ.ศ. 2532 ได้รับการยกย่อง ให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปการแสดง ดนตรีไทยสากล

http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9510000083649

ประสิทธิ์ พยอมยงค์ (2)

ผลงานเพลงที่ครูประสิทธิ์ พยอมยงค์แต่งร่วมกันกับครูเพลงอื่นๆ มี ประมาณ 83 เพลง ดังนี้คือ       
           เกษม ชื่นประดิษฐ์ : เพลงหน้าชื่นอกตรม       
             ขุนวิจิตรมาตรา :เพลงกลิ่นประทุม เพลงธารานารี เพลงน้ำใสใจจริง       
             ชาลีอินทรวิจิตร : เพลงเก็บใจไว้รอ เพลงข้างขอบลาน เพลงคนขายเสียง เพลงจูบฟ้าลาดินเพลงซอสวาท เพลงตะวันยอแสง เพลงนักโทษรัก เพลงบ้านเรา เพลงผยองเพลงพลังแห่งความคิดถึง เพลงไม่เคยรักใครเท่าเธอ เพลงรักเธอเสมอ เพลงว้าเหว่เพลงสายชล เพลงหัวใจที่ถอดวาง เพลงหยาดรุ้ง เพลงเหมือนไม่เคย เพลงเหมือนตายจากกันเพลงอยากสอยดาว       
             ทิพย์ประภา :เพลงคนเดียวในดวงใจ       
            เนรัญชรา :เพลงทะเลชีวิต       
             ร้อยแก้ว : รักไทย เพลงเกลียดคนสวยเพลงข้าวนอกนา เพลงชีวิตคนดำ       
             วงดนตรี ดิ อิมพอสซิเบิล :เพลงระเริงชล เพลงโอ้รัก       
            สุรพล โทณะวณิก : เพลงรักทรงฤทธิ์และเรียบเรียงเสียงประสานให้ หลายเพลงด้วยกัน เช่น เพลงจูบ เพลงฉงนเพลงในโลกแห่งความเป็นจริง เพลงบาดหัวใจ เพลงเบื่อหมอน เพลงฟ้ามิอาจกั้น เพลงภาษาใจเพลงรอ เพลงหากฉันขาดเธอ ฯลฯ       
             สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ :เพลงจดหมายรัก เพลงโรครัก       
             อ.กวี สัตโกวิท : เพลงไกลชู้เพลงฆ่าฉันให้ตายดีกว่า เพลงเธอเป็นหัวใจของฉัน เพลงโธ่เอ๋ย เพลงรักดาว เพลงหนีรักเพลงอย่าทรมานอีกเลย       
             อุทิตต์ ทินกร ณ อยุธยา : เพลงเดือนเอ๋ยฯลฯ       
           รางวัล เกียรติยศ ที่ได้รับ
           พ.ศ. 2509 รางวัลแผ่นเสียงทองคำ พระราชทาน ครั้งที่ 2 เพลงดาวประดับเมือง
             พ.ศ. 2514 รางวัลแผ่นเสียงทองคำ พระราชทาน ครั้งที่ 3 เพลง ลมหวน
             พ.ศ. 2516 รางวัล ตุ๊กตาเงิน เพลงประกอบดีเด่น จากภาพยนตร์ เรื่อง ชู้ ของ เปี๊ยกโปสเตอร์
             พ.ศ. 2519 รางวัล เสาอากาศทองคำ ครั้งที่ 2 เพลงข้าวนอกนา
             พ.ศ. 2532 เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขา ศิลปการแสดง ประเภทเพลงไทยสากล เรียบเรียงเสียงประสาน
             พ.ศ. 2542 ได้ร่วมแต่งเพลงภูมิแผ่นดิน นวมินทร์มหาราชา กับ ครูเพลง ศิลปินแห่งชาติ หลายท่าน เช่น ครูสง่าอารัมภีร ครูนคร ถนอมทรัพย์ ครูแมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ครูชาลี อินทรวิจิตร ครูอาจินต์ปัญจพรรค์ ครูสุรพล โทณะวณิก เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ คุณหญิงกุลทรัพย์เกษแม่นกิจ       
             จากวิทยานิพนธ์ ของ สิชฌน์เศก ย่านเดิม เขียนถึงผลงาน ด้านการเรียบเรียงเสียงประสาน ของ ครูประสิทธิ์ พยอมยงค์ ว่ามีหลากหลายด้วยกัน เช่น       
             เทปเพลงพระราชนิพนธ์ขับร้องประสานเสียง (พ.ศ. 2523) / เทปเพลงพระราชนิพนธ์ ชุดพิเศษ ของ คณะกรรมการเอกลักษณ์แห่งชาติ ( พ.ศ. 2524) / เทป เพลงใครหนอ เพลงอย่าทรมานฉันอีกเลย และ เพลงหนีรัก ของห้างแผ่นเสียงตรามงกุฎ / เทปเพลงประสานเสียงของ โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย /เทปชุดเพลงประทับใจในอดีต ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายชุด เช่น ชุด ท่านผู้หญิงพวงร้อยอภัยวงศ์ ชุด สมาน กาญจนะผลิน ชุด สง่า อารัมภีร ชุด นารถ ถาวรบุตร ชุด สง่า ทองธัชชุด ป.ชื่นประโยชน์       
            ชุด สุรพล แสงเอก ชุด เนรัญชรา ชุด สนิทศ. ชุด ไสล ไกรเลิศ / เทปรักเธอเสมอ ของ บริษัท สยามกลการ และ เพลงพ่อแห่งแผ่นดินที่แต่งร่วมกันกับ ครูเพลง ศิลปินแห่งชาติเมื่อไม่นานมานี้       ...
          เพลงหากรู้สักนิด

           คำร้องพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ ยุคล/

ทำนอง ม.ล.ประพันธ์สนิทวงศ์/เรียบเรียงเสียงประสาน ประสิทธิ์ พยอมยงค์

                หากฉันรู้สักนิด ว่าเธอรักฉัน
           บอกกันวันนั้น ให้รู้สักหน่อย
           ว่าดวงใจที่ฉันเฝ้าคอย
           ยังไม่เลื่อนลอยเป็นของใคร       
       
                    หากฉันรู้ สักนิด ว่าเธอรักฉัน
           บอกกันวันนั้น ว่ารักสักหน่อย
           ว่าดวงใจ ที่ฉันเฝ้าคอย
           คงไม่เลื่อนลอย เป็นของใคร       
       
                    เพียงแต่กระซิบว่าสุดที่รัก
           ฉันก็จัก มิอาจจากไป
           ใจเราสอง ชอกช้ำระกำใน
           คงไม่สลาย มลายไปพลัน       
                  
หากฉันรู้ สักนิดว่าเธอรักฉัน
           บอกกันวันนั้น ให้รู้สักหน่อย
           ยอดดวงใจที่ฉันเฝ้าคอย
           คงไม่เลื่อนลอยจากสุดที่รักเอย       
             เป็นเพลงจาก ละคร เรื่อง บ้านทรายทองของ ก.สุรางคนางค์ ขับร้องโดย ธานินทร์ อินทรเทพ

ได้รับ รางวัลแผ่นเสียงทองคำ พระราชทาน ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2514 รางวัลนักร้องชายรองชนะเลิศ
เดิมนั้น ขับร้องบันทึกเสียง โดย สวลี ผกาพันธ์ เมื่อ พ.ศ. 2494 มาก่อน       ...
          เพลงรักเธอเสมอ

           คำร้อง ชาลีอินทรวิจิตร/ทำนอง ประสิทธิ์ พยอมยงค์
                            หากตราบใด สายนที ยังรี่ไหล
           สู่มหา ชลาลัย กระแสสินธุ์
           เกลียวคลื่นยัง กระทบฝั่ง ดังอาจิณ
           เป็นนิจสิน ตราบนั้น ฉันรักเธอ       
       
                    เช่นตะวันนั้นยังคง ตรงต่อเวลา
           แน่นอนนัก รักท้องฟ้าสม่ำเสมอ
          เช่นกับฉัน นั้นมั่นคง ตรงต่อเธอ
          ฉันรักเธอเสมอฉันรักเธอเสมอ ชั่วนิจนิรันดร์       
            บันทึกแผ่นเสียง โดย สวลีผกาพันธุ์ เมื่อ พ.ศ. 2509 เพลงนี้ ชื่อซ้ำกันกับ เพลงรักเธอเสมอ ของ ครูอิงอร และครูสมศักดิ์ เทพานนท์ วงดนตรีสุนทราภรณ์ (ดวงฤดีของพี่นี้หนอ...)       
             ท่วงทำนอง ดูออกจะเรียบง่ายแต่มีความไพเราะลงตัว ยิ่งเนื้อเพลง ที่ครูชาลี อินทรวิจิตร แต่งเหมือนกลอนแปดและลงท้ายด้วย ฉันรักเธอเสมอ ฉันรักเธอเสมอ เพื่อย้ำเตือน อย่างหนักแน่นก็ยิ่งทำให้ เพลงรักเธอเสมอ เพลงนี้ เกิดความหมายกินใจยิ่งขึ้น       ...
           เพลงฟ้ามิอาจกั้น
                           คำร้อง/ทำนองสุรพล โทณะวณิก/เรียบเรียงเสียงประสาน ประสิทธิ์พยอมยงค์
                           ถึงฟ้าจะกั้น ให้ฉันและเธอ
           ไกลกันสุดตา
           หรือว่าภูผา ทอดยาวขวางหน้า
           บังตาแค่ไหน
                   แม้มีทะเล เหลือหยั่งคะเน
           มากั้นเราไว้
           อย่าได้ตกใจ ถึงห่างแค่ไหน
           ก็ไม่สำคัญ       
       
                    อำนาจใดๆ ที่ในโลกนี้
           ไม่มีความหมาย
           แม้แต่ภูผาก็อาจทะลาย
           เพราะแรงขวางกั้น

รักเรามีปีก บินหลีกข้ามฟ้า

ไปมาหากัน
ขอให้รักฉัน แน่นอนเท่านั้น
ฟ้าดินเกรงกลัว

เพลงนี้ ขับร้อง โดย สวลีผกาพันธุ์ ครูสุรพล โทณะวณิก บอกว่า แต่งเอาไว้เมื่อครั้งที่บวชเป็นพระ อยู่ที่ คณะ 2 วัดสุทัศน์เทพวราราม หน้าเสาชิงช้า กทม. ในราว ปี พ.ศ. 2500       
            “นี่ก็เป็นอีกเพลงหนึ่ง ที่แต่งวันนี้แล้ววันรุ่งขึ้นผมไปบวช ความหมายของเพลงบอกว่า ถึงผมบวชแล้วอยู่คนละโลกก็เหมือนกับเพลงนั่นแหละ และผมก็คิดว่า ท่านผู้ฟังเพลงนี้คงมีหัวใจเหมือนผมฟ้าหรือจะกั้น ความรักได้”       
             คำขึ้นต้นของ เพลงฟ้ามิอาจกั้น ของ ครูสุรพล โทณะวณิกด้วยคำว่า       
            “ถึงฟ้าจะกั้น ให้ฉันและเธอ ไกลกันสุดตาหรือว่าภูผา ทอดยาวขวางหน้า บังตาแค่ไหน “ นั้น เป็นถ้อยคำที่ท้าทายอย่างมั่นอกมั่นใจ เพราะ...รักเรามีปีก บินหลีกข้ามฟ้า ไปมาหากัน ขอให้รักฉันแน่นอนเท่านั้น ฟ้าดินเกรงกลัว”       
             ต่างกันกับ เพลงอาลัยรัก ของครูชาลี อินทรวิจิตร และ ครูสมาน กาญจนะผลิน ที่...“แม้มีปีก โผบิน ได้เหมือนนกอกจะต้อง ธนูเจ็บปวดนัก ฉันจะบิน มาตาย ตรงหน้าตัก ให้ยอดรัก เช็ดเลือด และน้ำตา”http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9510000086649

ประสิทธิ์ พยอมยงค์ (3)

เพลงหนีรัก
                           คำร้อง อ.กวีสัตโกวิท/ทำนอง ประสิทธิ์ พยอมยงค์
                           ตะเกียกตะกาย หนีรักไม่พ้นสักที
           ทั้งๆที่ เข็ดรัก เหลือหลาย
           สู้หลีกลี้ หนีพ้นเพียงกาย
           แต่ใจไม่วาย จะคิดจะใฝ่       
       
                    หนักจิต กระโจนพลัดลงห้วงรัก นิจจา
           ล้ำลึกกว่า ห้วงเหว ไหนไหน
           ตกห้วงรักแล้วยังหายใจ
          ตายก็ไม่ตาย ทรมาน ทรมาน       
       
                    ถ้ารักสมรัก สมปรารถนา แห่งใจ
           รักไม่เปลี่ยนไปรักไปชั่วกาล
           ถ้ารักไม่หนี คงไม่หนีรัก ซมซาน
           คงรักกันนานตราบวันวอดวาย       
       
                    เบื่อโลกเต็มทน เพราะรักไม่พ้น ร้างรา
           ถึงตั้งหน้า มุ่งหนี รักร้าย
           อยากหลีกหนี ทั้งใจและกาย
          อยากให้โลกทลาย ตายตายเสียที
          (ขับร้องบันทึกแผ่นเสียง โดยสวลี ผกาพันธุ์ เมื่อ พ.ศ. 2502)       
            ต้องชมว่า เนื้อ เพลงหนีรักนี้ ครู อ.กวี อัตโกวิท เข้าใจ เลือกคำ มาใช้ได้อย่างเหมาะสมกลมกลืน ลงตัวให้ความหมายและอารมณ์เพลงดีมาก เช่น ตะเกียก / ตะกาย / เข็ดรัก / กระโจน / พลัดลง /ล้ำลึก / ทรมาน / ซมซาน / วอดวาย / เบื่อโลก / เต็มทน / ตาย ตาย / เสียทีฯลฯ       
             ทั้งยังมี คำซ้ำ ที่ดูเก๋ไก๋ แต่ได้ใจความ อีกเช่นกันคือ ตะ เกียก ตะ กาย / หนี รัก เข็ด รัก / หลีก ลี้ หนี พ้น / จะ คิด จะ ใฝ่ /ห้วงเหว ไหนไหน / ถ้า รัก สม รัก / รัก ไม่เปลี่ยน ไป / รักไป ชั่วกาล / ถ้า รักไม่หนี / คง ไม่ หนีรัก ฯลฯ       
            เฉพาะ คำว่า “รัก” มีอยู่ถึง 13 คำ ด้วยกัน เรียกว่า สุดยอดจริงๆ       
             ท่วงทำนอง ที่ ครูประสิทธิ์พยอมยงค์ นำมาประกอบกับบทเพลง ก็ทำให้เกิดอารมณ์ ความเจ็บช้ำ จนถึงขั้น ต้อง หนีรักเพราะ รักร้าย จึงเกิดอาการ เบื่อโลก เต็มทน จนต้อง อยากหลีกหนี ทั้งใจและกายอยากให้โลกทลาย ตาย ตายเสียที ในท้ายที่สุดจนได้       ...
           เพลงฆ่าฉันให้ตายดีกว่า
                           คำร้องอ.กวี สัตโกวิท/ทำนอง ประสิทธิ์ พยอมยงค์
                           ฆ่าฉัน ฆ่าฉัน ให้ตายดีกว่า
           ไยถึงไม่เข่นฆ่า เมื่อไม่ไยดี
           ทิ้งฉันขื่นขม สมใจผละหนี
           ฝากไว้คือความบัดสี ราคีติดกาย       
       
                    ฆ่าฉัน ฆ่าฉันให้ตายดีกว่า
           ให้ผืนดินกลบหน้า พอจะหลบอาย
          เศร้านักชาตินี้รู้ดีเมื่อสาย
           เจ็บรักหักทรวงสลายโหดร้ายสิ้นดี       
       
                    ไม่ปรารถนา แล้วมารักกันทำไม
           ฉันเลวอย่างไร ฉันเลวแค่ไหน กันนี่
           จึงสลัด รักไม่ไยดี
          ทำเสียป่นปี้ เหมือนฉันไม่มีหัวใจ       
       
                    ฆ่าฉัน ฆ่าฉันให้ตายดีกว่า
          ชีวิตนี้ไร้ค่า จะมองหน้าใคร
           ไม่รักมาผลาญฉันใช่เหล็กไหล
           อนิจจาฉันทนไม่ไหว ต้องตายสักวัน
          (ขับร้องบันทึกแผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ เมื่อ พ.ศ. 2507 ได้รับ รางวัลแผ่นเสียงทองคำ พระราชทาน ครั้งที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2507)       
             เพลงนี้ก็เช่นกัน ที่ ครู อ.กวี อัตโกวิทใช้ฝีมือในด้านการประพันธ์คำร้องที่กินใจมาก โดยเน้นคำว่า “ฆ่าฉัน ฆ่าฉันให้ตายดีกว่า ” เป็นหัวใจสำคัญของเพลง เหมือนชื่อ เพื่อตอกย้ำ ความเจ็บปวดเจ็บช้ำของ ผู้หญิงคนหนึ่งที่ถูกทอดทิ้ง จนต้องออกมาประกาศว่า “ฆ่าฉัน ฆ่าฉันให้ตาย ดีกว่า” เพราะทนทุกข์ทรมาน กับ ความผิดหวังความเจ็บปวดไม่ไหว       
             เมื่อ สวลี ผกาพันธุ์ ศิลปินแห่งชาติเน้นคำ และปั้นคำ ในเพลงเพราะ ตีบท จนแตกกระจายเพลงนี้จึงได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว สร้างชื่อให้กับ ครูประสิทธิ์ พยอมยงค์ในฐานะผู้ประพันธ์ทำนอง ควบคู่กันไปด้วย
           เพลงโธ่เอ๋ย
                           คำร้อง อ.กวี สัตโกวิท/ทำนอง ประสิทธิ์พยอมยงค์
                           โธ่เอ๋ย กรรมของคุณแท้ๆ
           ใครให้มาแส่มารักฉันงมงาย
           ฉันเชื่อแน่ๆ ว่าคุณปลงใจ
           โถคงหม่นไหม้ โถใจคงวุ่น       
       
                    โธ่เอ๋ย กรรมของคุณแท้
           ฉันได้แต่เวทนาในตัวคุณ
          เห็นหน้าเศร้าๆ พ่อเจ้าประคุณ
           โถอย่าหมกมุ่นแต่ฉันนักเลย       
       
                    ทำไมนะ ผู้หญิงอื่นมีถมไป
           ทำไมไม่เลือก ไว้เป็นคู่เชย
           ใช่ว่าฉัน เกลียดคุณเปล่าเลย
          เฉยๆ เพราะฉันรักใคร ไม่ได้       
                  
โธ่เอ๋ยกรรมของคุณแท้ๆ
          รอวันแก่ อย่างสิ้นหวังทำไม
           รู้เสียแต่แรกควรรีบกลับใจ
          ขอบอกก็ได้ ว่าฉันมีคู่แล้วเอย
          (บันทึกเสียงครั้งแรก โดย สวลี ผกาพันธุ์ เมื่อ พ.ศ. 2507)       
             ครู อ.กวี อัตโกวิท แต่งเพลงนี้เอาไว้ เหมือนกับ การเขียนเรื่องสั้นที่หักมุมในตอนจบ ได้อย่างสง่างาม
            เริ่มต้นด้วย “ใครให้มาแส่มารักฉันงมงายฉันได้แต่เวทนาในตัวคุณ ...โถอย่าหมกมุ่นแต่ฉันนักเลย...
              ใช่ว่า ฉันเกลียดคุณ เปล่าเลย เฉยๆเพราะฉันรักใครไม่ได้” ดังนั้น จึงเป็น “กรรมของคุณแท้ๆ...ควรรีบกลับใจ” เพราะ ว่าคำตอบสุดท้ายก็คือ“ฉันมีคู่แล้วเอย” มันเป็น กรรมของคุณ จริงๆเสียด้วย       ...
          เพลงเธอเป็นหัวใจของฉัน
                           คำร้องอ.กวี สัตโกวิท/ทำนอง ประสิทธิ์ พยอมยงค์
                           สุดหัวใจ ของฉัน
           โปรดอย่าให้ฉัน ต้องขาดเธอไป
           เพราะถ้าขาดเธอ ฉันคงขาดใจ
           จะอยู่อย่างไร ไม่มีความหมาย       
                    
เธอนั้น เป็นที่หวัง
           ความรักจึงฝัง แน่วอยู่ในใจ
           ฉันมั่นในเธอ มาแล้วเท่าไหร่
           คงมั่นตลอดไป ตราบนานเท่านาน       
       
                    เธออาจเพียรสร้างทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อฉัน
           แต่สิ่งที่เธอสร้างสรรค์ฉันไม่เคยต้องการ
           ต้องการสิ่งเดียว คือตัวเธอ คนเดียวเท่านั้น
           เธอเป็นหัวใจ ของฉัน รู้ไหม       
       
                    สุดหัวใจ ของฉัน
           โปรดอย่าให้ฉัน ต้องขาดเธอไป
           เพราะถ้าขาดเธอ ฉันคงต้องตาย
           เธอเป็นหัวใจ ของฉันคนเดียว
          (ขับร้องบันทึกแผ่นเสียง โดยสวลี ผกาพันธุ์ เมื่อ พ.ศ. 2508)       
             ท่วงทำนองเพลงเธอเป็นหัวใจของฉัน ของ ครูประสิทธิ์ พยอมยงค์ เป็นไปอย่างเรียบๆ ไม่โลดโผนเพราะเป็นเหมือน การเล่าเรื่อง บอกความในใจ ให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับทราบความในใจ       
            ครู กวี อ.อัตโกวิท ใช้ วรรคสำคัญ เพื่อเน้นย้ำ คือ “โปรดอย่าให้ฉัน ต้องขาดเธอไป เพราะถ้าขาดเธอ ฉันคงขาดใจ” ถึงสองช่วง ในท่อนแรกและท่อนสุดท้าย เพราะว่า...“เธอเป็นหัวใจของฉัน รู้ไหม และ เธอเป็นหัวใจของฉันคนเดียว” ที่ลงตัว       ...
          เพลงคนเดียวในดวงใจ
                           คำร้อง ทิพย์ประภา/ทำนอง ประสิทธิ์ พยอมยงค์
                   เธอมาจากไหน
          เธอจะเป็นใคร ฉันไม่เคยคิด
          รู้แต่บัดนี้ เธอมาสถิต
           มาอยู่ใกล้ชิด ในดวงใจฉัน       
                    
เธอ มาจากไหน
          จากดินผืนใด หรือจากสวรรค์
           ฉันก็รัก รักเธอเท่ากัน
           ไม่เคยจะหวั่น แม้คำนินทา       
       
                    คนเดียวเท่านั้น ในชีวิต
           คนเดียวสนิท แนบอุรา
           คนเดียว ที่ฉันบูชา
           ที่ปรารถนา คนเดียวในโลก       
       
                    เธอ มาจากไหน
           เธอจะเป็นใคร ฉันถือเป็นโชค
           แม้รักเธอแล้ว ฉันต้องเศร้าโศก
           เป็นคนโชคร้าย ในโลกก็ยอม
          (บันทึกแผ่นเสียงครั้งแรก โดยสุเทพ วงศ์กำแหง เมื่อ พ.ศ. 2508)       
             ครูจงรัก จันทร์คณาเขียนเล่าเอาไว้ ใน หนังสือเบื้องหลังเพลงดัง ว่า ทิพย์ประภา นั้น เป็น นามปากกาของสุวิทย์ สัตโกวิท โดยบอกเอาไว้ว่า “...สมัยที่กลุ่มนักแต่งเพลงหนุ่มไปรวมตัวเช่าบ้านอยู่ละแวกเดียวกัน ในซอยสีคาม แถวศรีย่าน มี นครถนอมทรัพย์...ประยูร เวชชประสิทธิ์... อ.กวี สัตโกวิท และ สุวิทย์ สัตโกวิทผู้ใช้ชื่อแต่งเพลงว่า “ทิพย์ประภา” คนแต่ง เพลงคนเดียวในดวงใจ       
            ด้วยเนื้อร้องกินใจ “เธอมาจากไหนเธอจะเป็นใคร ฉันไม่เคยคิด...” ท่านรัฐบุรุษ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์เคยนำมาร้องเพลงประจำตัวอยู่นานหลายปี

http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9510000089673

ประสิทธิ์ พยอมยงค์ (จบ)

เพลงเบื่อหมอน
                       
คำร้อง/ทำนอง สุรพลโทณะวณิก/เรียงเรียงเสียงประสาน-ประสิทธิ์ พยอมยงค์
                              ฉันไม่เคยเห็นน้ำใจของคุณ ว่าเป็นฉันใด
       
       แต่พอรู้ได้ ที่ในสายตาแสนคมของคุณ       
       
                       ช่างไม่เมตตา ไม่กรุณาปล่อยฉันว้าวุ่น
       
       โธ่คุณนะคุณ คุณจะสงสารฉันบ้างเป็นไร       
       
                       ถึงลมจะร้อน แต่ฉันนอนหนาวเพราะความเป็นหนุ่ม
       
       ผ้าห่มไม่นุ่ม หมอนข้างไม่นิ่มสู้คุณไม่ได้       
       
                       ผ้าห่มไม่ยิ้ม หมอนข้างไม่แย้มและไม่หายใจ
       
       ขืนบ้ากอดไป ไหนเลยจะชื่นเหมือนได้กอดคุณ
            เพลงนี้ขับร้อง โดย ชรินทร์นันทนาคร       
             แนวการประพันธ์เพลงของ ครูสุรพล โทณะวณิกจะแตกต่างแหวกแนวกว่า ครูเพลงคนอื่นๆ เพราะจะใช้ถ้อยคำธรรมดา แต่เข้าใจเปรียบเทียบอุปมาอุปมัย ทำให้เกิดจินตนาการในเพลงได้ชัดเจน

ครูสุรพล โทณะวณิก เคยแต่งเพลงแม่เนื้ออุ่น ให้ มรว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เมื่อ ปีพ.ศ. 2504 เข้าใจว่าเพลงนี้ก็คงอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน เพราะมี เนื้อความใกล้เคียงกัน คือ “พลิกซ้ายพบหมอน พี่นอนผวา พลิกขวา ไม่ได้เจอ แม่เนื้ออุ่น เนื้อผ้าห่ม ห่มไม่นิ่มเหมือนเนื้อคุณ ต้องเนื้อน้อง อ่อนละมุน อุ่นถึงทรวง”       
             เพลงนี้ท่วงทำนอง จึง ทำให้ ชรินทร์ นันทนาคร ศิลปินแห่งชาติ ขับร้องได้อย่างสบายๆเพราะมีเสียงสูงกว่าใครๆ อยู่แล้ว       
             วรรคทอง ของเพลงนี้น่าจะอยู่ที่ “ถึงลมจะร้อน แต่ฉันนอนหนาว เพราะความเป็นหนุ่ม ผ้าห่มไม่นุ่มหมอนข้างไม่นิ่ม สู้คุณไม่ได้ ผ้าห่มไม่ยิ้ม หมอนข้างไม่แย้ม และไม่หายใจขืนบ้ากอดไป ไหนเลยจะชื่น เหมือนได้กอดคุณ” ทำให้เกิดอาการ เบื่อหมอนด้วยประการฉะนี้       ...
              เพลงข้าวนอกนา
       
                       คำร้องร้อยแก้ว รักไทย/ทำนอง ประสิทธิ์ พยอมยงค์
                              แต่เกิดมาเป็นตนนั้น
       
       ขอรำพันไว้เป็นบทเพลงเศร้า
       
       เจ็บปวดร้าวเรื่องราวชีวิตเรา
       
       คิดดูราวเหมือนข้าวขึ้นนอกนา       
       
                       ไม่มีใครมองปกป้องแต่ไหนมา
       
       ไร้ราคา ไร้คนไยดี
       
       ต้องผจญกับความลำเค็ญช้ำ
       
       หมองระกำช้ำในอกใจนี่       
       
                       ดั่งกากเดนที่เลวไม่เหลือดี
       
       ช้ำชีวีระทมจำข่มใจ
       
       ต่างเกิดเป็นคนเหยียดกันแบ่งชั้นไย
       
       เขาทำไมไร้ความเมตตา       
       
                       เขาเสพกามาคราร่าเริงสุข
       
       แล้วทิ้งเศษทุกข์ให้ฉันเกิดมา
       
       บาปกรรมอันใดจึงเสือกไสพา
       
       เหมือนข้าวนอกนา เขาไม่ตั้งใจ       
       
                       หล่นออกไปแล้วงอกเงย
       
       สุขก็เคยประสบผ่านลองลิ้ม
       
       ทุกข์เคยชิมรสมาจนเหลือเอ่ย
       
       ด้านอุดตันจนกลายเป็นเฉยเมย       
       
                       ฉันคุ้นเคยแล้วเลยไม่หวั่นไหว
       
       แต่ยังรอคอยหยาดฝนหลั่งย้อมใจ
       
       ชุบชีวาฉันให้ชื่นฉ่ำ       
             เพลงนี้เป็นเพลงเอกในภาพยนตร์ เรื่องข้าวนอกนา ของ เปี๊ยก โปสเตอร์ ขับร้องโดย ฉันทนากิตติยะพันธุ์ บันทึกเสียงที่ ห้องบันทึกเสียงศรีกรุง เมื่อ พ.ศ. 2518 โดย วงดนตรีดิ อิมพอสสิเบิลส์ เป็นผู้เรียบเรียง เสียงประสาน และบรรเลง โดยมี วิชัย อึ้งอัมพรปรมาจารย์ด้านดนตรีอีกคนหนึ่ง มาช่วยเสริมให้เกิดความไพเราะมากขึ้น       
             ได้รับ รางวัลตุ๊กตาทองพระสุรัสวดี ในปี พ.ศ. 2519 ด้านยอดเยี่ยมเพลงและดนตรีประกอบ       
             ในปี พ.ศ. 2546 ศาลาเฉลิมกรุง ได้จัด คอนเสิร์ตเชิดชูตรูเพลง ประสิทธิ์ พยอมยงค์ขึ้น เพื่อแสดงความรัก ความห่วงใย ที่ ครูประสิทธิ์ พยอมยงค์ ล้มป่วยต้องพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน โดยความร่วมมือของสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมนักร้องแห่งประเทศไทย สมาคมนักแต่งเพลงแห่งประเทศไทยและองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน       
             มีบรรดาศิลปินแห่งชาตินักร้องรับเชิญหลายท่าน ที่มาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง เช่น สวลี ผกาพันธุ์ สุเทพวงศ์กำแหง ชรินทร์ นันทนาคร จินตนา สุขสถิตย์ นริศ อารีย์ สุวัจชัย สุทธิมา สุดาชื่นบาน มีศักดิ์ นาครัตน์ ศรวณี โพธิเทศ ดาวใจ ไพจิตร ทิพวัลย์ ปิ่นภิบาล จิตติมาเจือใจ ฯลฯ โดยมี ปราจีน ทรงเผ่า และ วิรัช อยู่ถาวรเป็นพิธีกรกิตติมศักดิ์ของรายการ       
             และ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 เมษายน 2551 ก็มี คอนเสิร์ต ทะเลชีวิต ประสิทธิ์ พยอมยงค์ ที่ ศาลาเฉลิมกรุงอีกครั้ง โดย วงดนตรีเฉลิมราชย์ ในความควบคุมของ ครูวิรัช อยู่ถาวรมีศิลปินแห่งชาติ นักร้องรับเชิญ ไปร่วมงานกันหมากมายหลายคน เช่น ครูชาลีอินทรวิจิตร สวลี ผกาพันธุ์ สุเทพ วงศ์กำแหง จินตนา สุขสถิตย์ ศรวณี โพธิเทศ ฉันทนากิตติยะพันธุ์ เศรษฐา ศิระฉายา วินัย พันธุ์รักษ์ วิชัย ปุญญะยันต์ สมา สวยสด ฯลฯและ มี กำธร นันทวัน สุวรรณปิยะศิริ เป็นพิธีกรคู่ขวัญของงาน       
            เป็นกิจกรรมที่นำเอาผลงานเพลงอมตะ ที่ครูประสิทธิ์ พยอมยงค์ ประพันธ์ทำนอง หรือเรียบเรียงเสียงประสานมาเผยแพร่ให้ฟังกันอย่างเต็มอิ่ม เป็นการสืบสาน ผลงานเพลงอมตะเหล่านี้ให้คงอยู่คู่วงการเพลงไทยสากล ลูกกรุง ของไทยอยู่ต่อไปอีกตราบนานเท่านาน

http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9510000092592

พระที่นั่งเทวราชสภารมย์

 

   
เว็บไซต์นี้ เป็นเว็บร้านค้าสมาชิกของ SABUYJAISHOP ผู้ให้บริการทางการตลาดออนไลน์ สำหรับร้านค้าหรือผู้ประกอบการ ที่ต้องการนำเสนอสินค้า โฆษณา ประชาสัมพันธ์ร้านค้า หรือสินค้าในร้าน

©2008-2009 SABUYJAISHOP All Rights Reserved