Always Stainless
 
 
 
 
    สินค้าในตะกร้า [ 0 ชิ้น ]
 
บทความจากร้านค้า
วิธีแก้ปัญหาตู้เค้กเบื้องต้น2
บทความ ณ. วันที่ : 19/6/2015        จำนวนคนเข้าชมเว็บ : 26099 ครั้ง   

มาต่อกับปัญหาที่เราอาจได้พบเจอกันนะคะ

4.ตู้เค้กมีเสียงดัง

ตู้เค้กแช่มีเสียงดัง เกิดได้จากหลายสาเหตุ หลายที่มาค่ะ ก่อนอื่นต้องหาให้ได้ว่าเสียงดังที่ว่านั่น เกิดจากตรงไหนของตู้เค้ก เช่น

4.1 ฝาครอบหน้าปัดดิจิตอลปิดไม่สนิท เวลาคอมเพรสเซอร์ตู้เค้กทำงาน มันก็สั่นแกร่กๆๆๆๆได้ค่ะ

4.2 ฝาตะแกรงปิดหลังตู้ ที่เราต้องเปิดทำความสะอาดคอยล์ร้อนนั่นแหละค่ะ บางครั้งเราเปิดทำความสะอาดแล้ว ใส่สกรูคืนเข้าไปไม่ดี สกรูหลวม ขันไม่แน่น ฝาตะแกรงไม่แนบดีๆ เวลาคอมเพรสเซอร์ทำงาน ก็ดังแกร๊งๆๆๆๆๆได้ค่ะ

4.3 เสียงมาจากใบพัดลม เหมือนใบพัดลมชนกับขอบของมัน แก้ง่ายค่ะ พัดลมมี2ที่ อันแรกพัดลมที่อยู่ใต้ชั้นวางเค้กชั้นล่างสุด แต่ละตู้จะมีพัดลมไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับขนาดของตู้แช่เค้กค่ะ เราก็เปิดชั้นวางเค้กชั้นล่างสุดออกมา แล้วมองดูว่าใบพัดพัดลมมันเฉไปโดนขอบรึเปล่า ถ้าโดนก็ใช้มือดัดเบาๆ ก็หายเสียงดังแล้วค่ะ ถ้าเป็นพัดลมตัวล่างที่ใช้เป่าคอมเพรสเซอร์อยู่ใต้ตู้เค้ก ก็ถอดฝาตะแกรงหลังออก เหมือนจะทำความสะอาดตู้ (ถ้าเปิดฝาข้างซ้าย ก็จะเอามือล้วงง่ายกว่าค่ะ ใช้ไฟฉายส่องดูตัวไหนน่าตาเหมือนพัดลมดูดอากาศ แล้วใช้มือล้วงเข้าไปดัดเบาๆก็หายแล้วค่ะ ไม่ต้องตามช่างมาให้กินเงินในกระเป๋า

4.4 เสียงดังตึ๊กๆๆ เวลาคอมเพรสเซอร์ตัด ปกติตู้เค้กก็จะมีเสียงคอมเพรสเซอร์ตัดดังกว่าตู้เย็นบ้านทั่วไปอยู่แล้วค่ะ ทำไมถึงเสียงดังกว่านั่นหรือคะ เพราะคอมเพรสเซอร์ของตู้แช่เค้กใหญ่กว่าคอมเพรสเซอร์ของตู้เย็นค่ะ คอมเพรสเซอร์ยิ่งใหญ่ ก็ยิ่งมีเสียงดังกว่าคอมเพรสเซอร์ลูกเล็กค่ะ อธิบายให้เห็นภาพง่ายๆคือ ขณะที่คอมเพรสเซอร์ทำงาน ข้างในคอมเพรสเซอร์จะมีลูกเหวี่ยงที่หมุนด้วยความเร็วเป็นหมื่นรอบต่อนาที พอเมื่อถึงอุณหภูมิตามที่กำหนด เวลาสั่งให้คอมเพรสเซอร์หยุดกระทันหัน ก็จะเป็นการหยุดลูกเหวี่ยงข้างในแบบกระทันหันด้วย จึงเป็นที่มาของการหยุดกึ๊กและตามด้วยเสียงสั่นๆ ถือเป็นเสียงปกติของตู้เค้ก ตู้แช่เค้ก ตู้มินิมาร์ท ตู้โค้ก ตู้เป๊บซี่ ตู้แช่ทั้งหลายค่ะ

4.5 เสียงที่ดังตอนคอมฯตัด ฟังแล้วเหมือนท่อสั่นๆ สะท้านๆ ดังมากๆๆๆๆ แบบนี้อาจพบได้ในตู้แช่ที่เริ่มมีอายุเกิน1ปี เคยเจออยู่ 2-3เคสที่มีเสียงดังมาจากท่อทองแดง ที่เราดัดให้งอผ่านเข้าไปในกล่องรับน้ำทิ้ง เพื่อให้ทำการระเหยน้ำให้กลายเป็นไออัตโนมัติ (คือท่อทองแดงมันร้อน พอจุ่มเข้าไปในกล่องรับน้ำ น้ำก็จะระเหยออกไป) ตอนที่โรงงานทำระบบระเหยน้ำอัตโนมัติของตู้แช่เค้กนั้น โรงงานจะใช้ซิลิโคนยิงยึดท่อทองแดงกับฐานล่างของกล่องรับน้ำไว้ พอใช้งานนานๆไป เมื่อซิลิโคนถูกน้ำซึ่งบางทีก็มีภาวะเป็นกรด เป็นด่างเข้มข้นไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่ ซิลิโคนอาจมีการเปื่อยยุ่ยหลุดได้ ท่อทองแดงก็เลยจะแกว่งๆได้ และเมื่อคอมฯของตู้แช่เค้กมีการตัดการทำงาน ระบบที่ถูกสั่งหยุดกระทันหัน จะทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือน ท่อทองแดงที่ลอยๆอยู่ก็อาจกระทบกับผนังของกล่องรับน้ำได้ ก็เป็นที่มาของเสียงดังสั่นๆๆๆๆๆๆๆๆ ดังมาก ดังน้อย แล้วแต่การแกว่งของท่อค่ะ

แต่ถ้าเราสังเกตว่า เสียงมันดังตึ่กๆๆๆ หรือต่ากๆๆๆเวลาคอมตัด ให้ลองฟังที่มาของเสียงดีๆว่ามาจากไหน เพราะเคยเจออยู่เคสหนึ่งค่ะ ที่บัลลาสต์ของหลอดไฟส่องสว่างของชั้นตู้เค้ก ที่เราซ่อนไว้ด้านล่างของฐานแท่นเครื่อง มันตกลงมาจากสกรูที่ยึดไว้ ก็เลยเป็นที่มาของเสียงต่ากๆๆที่ว่า ลองเปิดฝาตะแกรงหลังตู้ดูนะคะ บางทีอาจเป็นแค่ส่วนชิ้นเล็กชิ้นน้อย มันอยู่ผิดที่ผิดทางเท่านั้นเองค่ะ

สรุปง่ายๆให้ตรงนี้ว่า เมื่อได้ยินตู้แช่เค้กมีเสียงดัง ให้ลองตั้งใจฟังว่าดังมาจากแถวไหน ถ้าเป็นจากในห้องเครื่องก็ให้เปิดฝาหลังดู(เปิดเหมือนตอนที่จะทำความสะอาดคอยล์ร้อนน่ะค่ะ) ค่อยๆนั่งมอง ค่อยๆนั่งฟัง มองเฉยๆ สังเกตเฉยๆ ไม่จับอะไร ไฟไม่ดูดหรอกค่ะ อย่ากลัวเกินเหตุ ทุกอย่างสามารถแก้ไขได้ ลองทำเบื้องต้นเองก่อน ก่อนเสียเงินให้ช่างนะคะ

5.แย่แล้ว หน้าจอดิจิตอลขึ้นคำว่า dF หรือ dEF แปลว่าอะไรกัน อย่าเพิ่งตกใจนะคะ ถ้าคุณลูกค้าไปพบว่า ตู้ไม่ค่อยเย็น แถมหน้าจอดิจิตอลก็ขึ้น ตัวอักษร dF / dEF กระพริบสลับกับตัวเลขอุณหภูมิบ้าง หรือกระพริบตัวเองบ้าง (ดิจิตอลของตู้เค้กแต่ละยี่ห้อจะตั้งค่าการแสดงผลไม่เหมือนกัน แต่ก็จะประมาณๆนี้ค่ะ) นั่นแปลว่าตู้เค้กกำลังละลายน้ำแข็งอัตโนมัตินะคะ ไม่ต้องกังวลค่ะ ย้ำว่าเป็นระบบละลายอัตโนมัติค่ะ แม้ว่าเราจะไม่ได้ไปกดอะไร ตู้เค้กก็จะละลายน้ำแข็งเอง ตามโปรแกรมที่ตั้งไว้ค่ะ ปล่อยไว้อย่างนั้นไม่เกิน20นาที เดี๋ยวตู้เค้กกลับคืนสู่โปรแกรมเดิม เดินเครื่องตามปกติค่ะ

6.น้ำล้นจากกล่องรับน้ำ

มีอยู่ครั้งหนึ่งเคยเจอลูกค้า แจ้งให้ไปดูว่ามีน้ำไหลออกมาจากแถวกล่องรับน้ำ (ลูกค้ามั่นใจว่า ไม่ใช่น้ำจากการcondenseที่ไหลลงจากกระจกแน่ๆ) พอไปถึงตรวจดูก็พบว่า น้ำล้นออกมาจากกล่องรับน้ำจริงๆ ตรวจสอบดูตู้เค้กก็ยังเย็น แปลว่าคอมเพรสเซอร์ยังทำงาน เมื่อคอมฯทำงาน ท่อทองแดงที่จุ่มผ่านไปในกล่องรับน้ำก็ย่อมต้องร้อนเป็นปกติ (คือเอานิ้วจุ่มลงไป น้ำอุ่นเชียว) แล้วทำไมน้ำไม่ระเหยอัตโนมัตินะ???

ตรวจสอบไปมาพบว่า มีใครสักคนในร้าน ไปปรับตั้งอุณหภูมิของตู้เค้กให้เป็น 8 องศาเซลเซียส อาจด้วยเชื่อว่า ตั้งอุณหภูมิสูงๆแล้วเค้กจะไม่เกิดอาการหน้าเค้กแห้ง (เป็นความเชื่อที่ผิดนะคะ เดี๋ยวจะเขียนอธิบายเรื่องหน้าเค้กแห้ง ในบทความใหม่อีกบทความหนึ่งค่ะ) เมื่อเราตั้งอุณหภูมิที่สูงกว่า4 องศาเซลเซียสแล้ว จะไม่เกิดกระบวนการที่ไอน้ำ ความชื้นในตู้ จับตัวเป็นเกล็ดน้ำแข็งนะคะ ไอน้ำและความชื้นเมื่อควบแน่น ก็จะเป็นหยดน้ำทิ้งตัวลงมาด้านล่างเลย พอนานๆเข้าน้ำทิ้งเริ่มเต็มกล่อง เกินความสามารถที่ท่อทองแดงร้อนจะระเหยน้ำได้ น้ำก็เลยล้นออกมาค่ะ

วิธีแก้นะคะ 1.ปรับตั้งอุณหภูมิให้ต่ำกว่า 4 องศาเซลเซียส ให้มีไอน้ำ  หยดน้ำได้จับตัวเป็นน้ำแข็ง แล้วเข้าสู่กระบวนการละลายน้ำแข็งอัตโนมัติในทุกๆ 4-5ชั่วโมง ปริมาณน้ำที่ถูกละลายในรอบปกติแบบนี้ จะสามารถระเหยได้อัตโนมัติ ด้วยท่อทองแดงที่จุ่มผ่านลงไปในกล่องรับน้ำนั่นแหละค่ะ   2.ตักน้ำในกล่องรับน้ำที่ล้นอยู่ออกด้วยนะคะ เพื่อเป็นการเริ่มต้นระบบอัตโนมัติใหม่ค่ะ เพราะถ้าปล่อยให้ล้นอยู่อย่างนั้น มันเกินความสามารถของท่อทองแดงเล็กๆค่ะ  ใครเจอปัญหาประมาณนี้ก็ลองดูตามวิธีนี้กันนะคะ

ปัญหาบางปัญหาก็เป็นแค่เส้นผมบังภูเขา ลองตั้งสติ หาที่มาของมัน แล้วลองใช้แนวทาง/วิธีข้างต้นแก้ไขดูนะคะ หรือถ้าลูกค้าท่านใดมีปัญหานอกเหนือจากนี้ ก็สามารถส่งข้อความมาถามที่เมลได้เลยค่ะ ยินดีตอบค่ะ (แม้ว่าจะไม่ได้ซื้อสินค้าที่ร้าน เราก็ยินดีตอบค่ะ)

 

 






 
   
เว็บไซต์นี้ เป็นเว็บร้านค้าสมาชิกของ SABUYJAISHOP ผู้ให้บริการทางการตลาดออนไลน์ สำหรับร้านค้าหรือผู้ประกอบการ ที่ต้องการนำเสนอสินค้า โฆษณา ประชาสัมพันธ์ร้านค้า หรือสินค้าในร้าน

©2008-2009 SABUYJAISHOP All Rights Reserved