Always Stainless
 
 
 
 
    สินค้าในตะกร้า [ 0 ชิ้น ]
 
บทความจากร้านค้า
ใครเคยสงสัยเรื่องอุณหภูมิในตู้เค้กบ้างยกมือขึ้น
บทความ ณ. วันที่ : 19/6/2015        จำนวนคนเข้าชมเว็บ : 44601 ครั้ง   

      อุณหภูมิในตู้แช่เค้กเค้าวัดกันตรงไหน ยังไงน๊า

      มีใครเคยสงสัยบ้างไหมคะว่า อุณภูมิในตู้เค้ก ควรตั้งที่เท่าไหร่ดี ,ลองเอามือยื่นเข้าไปในตู้เค้กดู ปรากฏว่าชั้นบนๆเหมือนไม่ค่อยเย็นเท่าชั้นล่าง,ทำไมเค้กเสียง่ายทั้งที่อยู่ในตู้เค้ก,ขายเค้กหลายชนิด จะวางเค้กยังไงให้เหมาะสม ฯลฯกับความสงสัยที่เกี่ยวข้องเรื่องอุณหภูมิตู้แช่เค้ก ลองอ่านบทความด้านล่างดูค่ะ คงคลายความสงสัยได้บ้างนะคะ

      อุณหภูมิที่ดิจิตอล หมายถึงอะไร?  อุณหภูมิที่ดิจิตอล คืออุณหภูมิที่วัดจากหน้าคอยล์เย็นค่ะ คอยล์เย็นนี้จะอยู่ด้านล่างของตู้เค้ก (ถ้าเปิดชั้นวางสแตนเลสชั้นล่างสุดออก จะเห็นใบพัดลม แล้วเจ้าคอยล์เย็นก็จะอยู่แถวๆนั้นแหละค่ะ แต่ละยี่ห้อวางตำแหน่งไม่เหมือนกัน ต่างกันบ้างเล็กน้อย)  ทีนี้มาดูอุณหภูมิที่ตั้งไว้ที่ดิจิตอล เช่นตั้งไว้ 1 องศาเซลเซียส เมื่อคอยล์เย็นทำอุณหภูมิได้ที่ 1 องศาเซลเซียส คอมเพรสเซอร์ก็จะตัดการทำงานค่ะ เมื่ออุณหภูมิที่หน้าคอยล์เย็นเพิ่มสูงขึ้นถึงตามที่แต่ละโรงงานเซ็ทไว้อัตโนมัติ โดยทั่วไปจะเซ็ทไว้ที่ 4 องศาเซียลเซียสค่ะ คอมเพรสเซอร์ก็จะทำงานอีกครั้งค่ะ   ดังนั้นการที่เราอ่านค่าอุณหภูมิที่ดิจิตอลแสดงผลออกมาขณะนั้น ก็คือค่าอุณหภูมิที่หน้าคอยล์เย็นค่ะ ไม่ใช่อุณหภูมิในตู้เค้กนะคะ

     ทำไมชั้นบนๆถึงเย็นน้อยกว่าชั้นล่างๆ  ลูกค้าบางคนบอกว่าสงสัยพัดลมกระจายความเย็นขนาดเล็กไปมั้ง มีจำนวนพัดลมน้อยไปมั้ง ตู้โดนแดดมั้ง ความจริงแล้วเป็นอย่างนี้ค่ะ  เมื่อคอยล์เย็นมีหน้าที่ทำอุณหภูมิให้ได้ตามที่เซ็ทไว้ ในตู้เค้กจะใช้หลักการเป่าลมวน คือลมเย็นจะถูกเป่าให้กระจายไปทั่วตู้เค้ก แต่ยังมีหลักทางวิทยาศาตร์อีกข้อหนึ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ "ความเย็นจะลอยลงต่ำ" ดังนั้นสามารถฟันธงได้ง่ายๆว่า ในตู้แช่เค้กนั้น แต่ละชั้นวางจะมีอุณหภูมิไม่เท่ากัน ชั้นล่างสุดจะเย็นที่สุดค่ะ เพราะเหตุที่"ความเย็นจะลอยลงต่ำ"นี้เอง ที่ทำให้อุณหภูมิในแต่ละชั้นของตู้แช่เค้กไม่เท่ากัน  ส่วนสาเหตุอื่นๆก็สามารถทำให้ชั้นวางชั้นบนๆในตู้เค้ก เย็นน้อยลงไปอีก เช่น ตั้งขวดน้ำ โซดา โยเกิร็ต กระป๋องเบียร์หรือผลไม้ บังช่องลมค่ะ จะมีช่องลม2ด้านนะคะ ช่องเป่าลมขึ้น และช่องดูดลมวนลงค่ะ ถ้า2ช่องนี้โดนบังเมื่อไหร่ ลมเย็นก็เดินไม่สะดวก ตู้ก็ไม่เย็นแน่ๆค่ะ

    ทำไมเค้กที่อยู่ในตู้แช่เค้ก เสียเร็วกว่าเค้กที่อยู่ในตู้เย็น  บางคนสงสัยว่าทำไมเวลาเอาเค้กที่ทำมาพร้อมกัน แยกใส่ตู้เย็นส่วนหนึ่ง และแยกใส่ตู้เค้กส่วนหนึ่ง ทำไมเค้กในตู้เค้กเสียเร็วกว่าเค้กที่อยู่ในตู้เย็น นั่นเป็นเพราะเรื่องอุณหภูมิและแสงค่ะ อย่าลืมนะคะว่า ตู้เค้กจะเป็นกระจก4ด้าน ความเย็นไม่สามารถเทียบเท่าตู้เย็นได้อยู่แล้ว ประกอบกับมีแสงที่สามารถเข้าถึงตัวเค้กได้โดยตรง ต่างกับตู้เย็นที่มีผนังปิดทึบทั้ง4ด้าน และก็ต่างกับตู้แช่มินิมาร์ทที่มีผนังทึบถึง3ด้าน ดังนั้น โปรดเข้าใจว่า อายุของเค้กจะไม่สามารถเก็บได้นานเท่ากันแน่นอนค่ะ

    กรณีที่ขายเค้กหลายๆชนิด(หลายเนื้อเค้ก)  เจ้าของร้านถามคนส่งเค้กเลยค่ะว่า เค้กแต่ละชนิดควรแช่ที่อุณหภูมิเท่าไหร่ ถ้าคนส่งเค้กไม่ทราบจริงๆ ต้องหาข้อมูลจากคอมมูนิตี้คนทำเค้ก หรือจากอากู๋ดูแล้วค่ะ ว่าเค้กชนิดใด เหมาะสมกับการเก็บที่อุณหภูมิเท่าใด เค้กตัวใดต้องการความเย็นมากๆ เอาวางไว้ชั้นล่างเลยค่ะ  เค้กที่เสียง่ายเช่นเค้กมะพร้าวอ่อน เค้กลูกตาล จองชั้นล่างไว้ให้เค้าเลยค่ะ ส่วนบราวนี่ เค้กช็อคโกแลตบัตเตอร์ธรรมดา ก็วางชั้นบนๆได้ค่ะ ลองศึกษาดูนะคะ

    อุณหภูมิคร่าวๆของแต่ละชั้น  หลายคนคงอยากรู้แล้วว่า แล้วอุณหภูมิที่แท้จริงในตู้เค้ก อยู่ที่เท่าไหร่กันแน่ เมื่ออุณหภูมิที่ตั้งไว้ที่ดิจิตอลคืออุณหภูมิที่หน้าคอยล์เย็น ซึ่งมันอยู่ล่างสุดเลยจ้า เราตั้งอุณหภูมิไว้ที่เท่าไหร่ก็ตาม ชั้นบนที่อยู่สูงขึ้นไป อุณหภูมิจะบวกไปประมาณ 3 องศาเซลเซียส ชั้นต่อไปก็บวกไปอีกประมาณ 3 องศาเซลเซียส ชั้นบนสุดก็จะบวกอีกประมาณ 3 องศาเซลเซียส ย้ำว่านี่คือค่าประมาณนะคะ จะเอาให้เป๊ะะๆ ไม่สามารถบอกได้ค่ะ เพราะมันเป็นอุณหภูมิที่มีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ย่อมมีการบวก หรือลบได้เสมอ  ตัวอย่างง่ายๆนะคะ สมมุติตั้งอุณหภูมิที่ดิจิตอลไว้ที่ 1 องศาเซลเซียส  ชั้นวางชั้นล่างสุดก็จะมีอุณหภูมิประมาณ 4 องศาเซลเซียสค่ะ ชั้นที่สูงขึ้นไปอีกก็ประมาณ 7 องศาเซลเซียสค่ะ ชั้นบนสุดก็ประมาณ 10 องศาเซลเซียสค่ะ  รู้คร่าวๆแบบนี้แล้วก็จัดสรรเค้กในแต่ละชั้นได้เลยค่ะ  ตู้แช่เค้กจากโรงงานไหนๆ ระบบอุณหภูมิก็จะเป็นแบบนี้ค่ะ 

     แล้วทำไมอุณหภูมิมันไม่นิ่งล่ะ ทำไมขึ้นๆลงๆตลอด  เป็นปกติของตู้เค้กนะคะ ที่อุณหภูมิที่ดิจิตอลจะวิ่งขึ้นๆลงๆ เพื่อทำอุณหภูมิให้ได้ตามที่ตั้งไว้ ถ้าสังเกตเห็นว่าอุณหภูมิอยู่ในค่าบวกและลบอยู่ที่ 4 องศาเซลเซียลจากที่ตั้งไว้ ก็เป็นเรื่องปกติค่ะ แล้วถ้าเมื่อใดอุณหภูมิค่อยๆเพิ่มขึ้น สูงไปถึง 20 องศาเซลเซียล อย่าเพิ่งตกใจค่ะ ให้ลองสังเกตสัญลักษณ์บนหน้าปัดดิจิตอล ว่าตู้เค้กกำลังละลายน้ำแข็งอัตโนมัติอยู่รึเปล่า เพราะตู้เค้กจะมีการละลายน้ำแข็งอัตโนมัติทุกๆ 5-6 ชั่วโมง แล้วแต่โรงงานจะเซ็ทไว้ค่ะ และไม่ต้องห่วงว่าที่ชั้นวางเค้ก จะเป็นอุณหภูมิบวกๆๆๆขึ้นไปอีกนะคะ อุณหภูมิที่สูงๆที่หน้าคอยล์เย็นนั้น เพื่อให้น้ำแข็งละลายเร็วๆค่ะ ตู้แช่เค้กจะทำการละลายน้ำแข็งอย่างรวดเร็ว ให้มีผลกระทบต่ออุณหภูมิในตู้น้อยที่สุดค่ะ 

     แย่แล้ว หน้าจอดิจิตอลขึ้นคำว่า dF หรือ dEF แปลว่าอะไรกัน  อย่าเพิ่งตกใจนะคะ ถ้าคุณลูกค้าไปพบว่า ตู้ไม่ค่อยเย็น แถมหน้าจอดิจิตอลก็ขึ้น ตัวอักษร dF / dEF กระพริบสลับกับตัวเลขอุณหภูมิบ้าง หรือกระพริบตัวเองบ้าง (ดิจิตอลของตู้เค้กแต่ละยี่ห้อจะตั้งค่าการแสดงผลไม่เหมือนกัน แต่ก็จะประมาณๆนี้ค่ะ) นั่นแปลว่าตู้เค้กกำลังละลายน้ำแข็งอัตโนมัตินะคะ ไม่ต้องกังวลค่ะ ย้ำว่าเป็นระบบละลายอัตโนมัติค่ะ แม้ว่าเราจะไม่ได้ไปกดอะไร ตู้เค้กก็จะละลายน้ำแข็งเอง ตามโปรแกรมที่ตั้งไว้ค่ะ ปล่อยไว้อย่างนั้นไม่เกิน20นาที เดี๋ยวตู้เค้กกลับคืนสู่โปรแกรมเดิม เดินเครื่องตามปกติค่ะ

    อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หวังว่าคงมีความกระจ่างในเรื่องอุณหภูมิในตู้แช่เค้กมากขึ้นนะคะ ตู้เค้กดูแลง่ายค่ะถ้าเราใส่ใจ หากมีข้อมูลตรงไหนผิดพลาด สามารถแย้งได้นะคะ ยินดีน้อมรับค่ะ แล้วใครที่จะเอาบทความไปก็อปปี้ เผยแพร่ ก็ไม่หวงค่ะ แต่ขอเครดิตให้เว็บ www.alwaysstainless.com ด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ






 
   
เว็บไซต์นี้ เป็นเว็บร้านค้าสมาชิกของ SABUYJAISHOP ผู้ให้บริการทางการตลาดออนไลน์ สำหรับร้านค้าหรือผู้ประกอบการ ที่ต้องการนำเสนอสินค้า โฆษณา ประชาสัมพันธ์ร้านค้า หรือสินค้าในร้าน

©2008-2009 SABUYJAISHOP All Rights Reserved