เธเรซา เฉิน เหมือนจะเป็นสตรีที่โชคร้ายไม่น้อย เธอหูหนวกตั้งแต่อายุ 14
หลังจากนั้นไม่นาน ดวงตาทั้งสองข้างก็ค่อยๆ มืดบอด
จนในที่สุดโลกทั้งใบของเธอก็ตกอยู่ในความมืดและความเงียบ
ไม่สามารถได้ยินเสียง ไม่อาจเห็นภาพใดๆ ได้อีกต่อไป
ต่อๆ มาเธอก็เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับมัน เธอตั้งหลักใหม่
หยุดเศร้าโศกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว และใช้ชีวิตอย่างมีความหวัง
พร้อมจะเปิดรับทุกสิ่งทุกอย่างที่เดินทางเข้ามาสู่ชีวิต
ทำให้เธเรซาผ่านประสบการณ์ชีวิตมาอย่างโชกโชน
ได้ทำหลายสิ่งหลายอย่างเกินหน้าเกินตาคนที่มีร่างกายสมบูรณ์พร้อมไม่น้อย
เธอได้เรียนต่อที่อเมริกาใช้ชีวิตที่นั่นนานกว่า 10 ปี
เธอหัดเต้นรำ ขี่ม้า เล่นสเกตน้ำแข็ง เคยรับบท จูเลียต ในละครวิทยาลัย
เมื่อกลับสิงคโปร์ก็เข้าทำงานเป็นครูในโรงเรียนสอนเด็กพิการ เท่านั้นยังไม่พอ
ในวัย 61 คุณยายเธเรซายังได้เป็นดารา รับบทเด่นในหนังชื่อ Be With Me เรื่องนี้ด้วย
เอริก คู พบเธเรซา เฉินครั้งแรกในปี 2003 ที่งานเลี้ยงแต่งงานรายการหนึ่ง
เขาฟังคุณยายเล่าถึงประสบการณ์ชีวิตของตนเองด้วยความทึ่ง
และในที่สุดก็ใช้มันเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนบทหนังเรื่อง Be With Me
พร้อมกันนั้นก็เชื้อเชิญคุณยายให้มารับบทเป็นตัวเองในหนัง
Be With Me ประกอบด้วยเรื่องราวของคน 3 คู่
คู่แรกคือคุณยายเฉินกับพ่อม่ายชรา
เจ้าของร้านขายของชำเล็กๆ ร้านหนึ่ง
คู่ที่สองเล่าเรื่องของเด็กสาววัยรุ่น 2 คน
ที่รู้จักกันทางอินเตอร์เนต
หลังจากนั้นก็สานต่อความสัมพันธ์ในเชิงชู้สาวกันอย่างลึกซึ้ง
ส่วนในคู่สุดท้าย ฝ่ายชายเป็นยามอ้วนสกปรก
ผู้ซึ่งชีวิตดูจะบกพร่องไปเสียทุกอย่าง
แต่ดันไปหลงรักหญิงสาวระดับผู้บริหารที่ทำงานอยู่ในตึกนั้น
จุด เด่นของ Be With Me อยู่ที่วิธีการเล่าเรื่อง
ซึ่งแม้จะเรียบและนิ่ง ไม่บีบคั้นและไม่ฟูมฟาย
ทว่าสามารถดึงดูดความสนใจของผู้ชมได้ตั้งแต่ต้นจนจบ
จังหวะจะโคนและลีลาการนำเสนอของหนัง
รวมถึงดนตรีประกอบซึ่งเป็นผลงานของ เควิน แมธิวส์ กับ คริสตีน แชม
ดูจะออกแบบมาเพื่อทำให้คนดูเกิดอาการ ‘สะอึก’ เป็นระยะๆ
ก่อนที่เอริก คูจะใช้ฉากเล็กๆ ธรรมดาๆ เพียงฉากเดียว
เป็นทีเด็ดไม้ตายหมัดน็อคในช่วงท้าย
ผู้ชมกลุ่มที่บ่อน้ำตาไม่ลึกอยู่แล้ว
สามารถอุทิศน้ำตาให้กับหนังได้อย่างไม่ต้องอายใคร
และไม่ต้องรู้สึกสงสัยว่าตัวเองอ่อนไหวเกินไปหรือไม่
Be With Me เปิดตัวที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ 2005
โดยได้รับเลือกให้ฉายในสาย Directors’ Fortnight
เล่ากันว่า หลังจากที่หนังจบลง
ผู้คนในโรงถึงกับลุกขึ้นยืนปรบมือให้หนังนานถึง 5 นาทีเต็ม
…ไม่ เฉพาะแต่ความเป็น ‘หนังดี’ เท่านั้น ที่ผู้ชมอุทิศเสียงปรบมือให้
แต่เพราะนี่คือหนังที่ทำให้ทุกคนตระหนักว่า
เพราะเหตุใด ‘ความรัก’ จึงมีความสำคัญต่อชีวิตนัก