สินค้าในตะกร้า [ 0 ชิ้น ]
 
การจัดอาหารให้ลูกก่อนวัยเรียน (อ่าน
บทความ ณ. วันที่ : 24/11/2011        จำนวนคนเข้าชมเว็บ : 457 ครั้ง   

      เด็กก่อนวัยเรียนควรได้รับอาหารให้ครบทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นข้าว เนื้อสัตว์ นม ผัก และผลไม้ ปริมาณอาหารที่ควรได้รับในวันหนึ่งที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดไว้ต่อวันควรรับประทานในปริมาณดังนี้ ข้าวหรือธัญพืชต่าง ๆ 4-5 ทัพพี ผักใบเขียวและผักอื่น ๆ 2-3 ทัพพี หรือประมาณ 1 ทัพพีในแต่ละมื้อผลไม้ 2-3 ชิ้น เช่น กล้วย 1 ผล มะละกอสุก 1 เสี้ยว เนื้อสัตว์ 5-6 ช้อนแกง ควรจะรับประทานไข่ 1 ฟอง และรับประทานเนื้อสัตว์อื่น ๆ 3-4 ช้อนแกง และควรดื่มนมเป็นประจำวันละ 2-3 แก้ว ไขมันหรือน้ำมันในการประกอบอาหาร 3-4 ช้อนโต๊ะ ควรฝึกให้เด็กรับประทานได้หลายชนิด ไม่ควรเลือกเฉพาะอย่าง และการประกอบอาหารก็ควรคำนึงถึงความสะอาด และต้องเป็นอาหารที่ย่อยง่ายด้วย ถ้าอาหารแข็งหรือเหนียวจนเคี้ยวยากก็ควรจะสับหรือต้มให้เปื่อย

           หลักในการจัดอาหารให้เด็กก่อนวัยเรียนคือ จัดอาหารให้มีการหมุนเวียนกันหลายชนิด และเสริมด้วยตับสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง เตรียมอาหารในปริมาณพอเหมาะ รสไม่จัดและเคี้ยวง่าย หลีกเลี่ยงของขบเคี้ยว ขนมหวานจัด ลูกอม น้ำอัดลม และอาหารไขมันสูงมาก ๆ ควรจัดให้เด็กได้รับประทานร่วมโต๊ะกับผู้ใหญ่ ระหว่างรับประทานก็ไม่ควรดุเด็กหรือบังคับให้เด็กรับประทานอาหาร เพราะจะทำให้มีปัญหาต่อไป หากเด็กเพิ่งไปเล่นมาไม่ควรให้รับประทานทันทีนะคะ ควรให้พักอย่างน้อย 15 นาทีก่อน จึงค่อยรับประทานอาหาร

      ลักษณะการจัดอาหารสำหรับเด็กที่โรงเรียน ควรทำดังนี้

      1. อาหารกลางวัน ลักษณะอาหาร ควรมีความสะดวกและรวดเร็วในการจัดเป็นรูปแบบอาหารจานเดียว ในลักษณะอาหารที่ปรุงสำเร็จใส่มาในจานเดียว รับประทานได้โดยไม่ต้องมีอาหารอื่น เพื่อเป็นการประหยัดเวลา แรงงาน สามารถกำหนดคุณค่าทางอาหารได้ชัดเจน เช่น ข้าวผัด ก๋วยเตี๋ยว ผัดมะกะโรนี หรืออาจเป็นข้าวสวยกับกับข้าวรสไม่จัดมากสักหนึ่งอย่าง เช่น แกงจืด ผัดต่าง ๆ หมูทอด แต่อย่างไรก็ตามต้องคำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารนั้น ๆ ต้องเป็นอาหารที่เสริมสร้างการเจริญเติบโต และมีคุณค่าทางอาหารมาก

      2. อาหารว่าง เป็นอาหารใช้สำหรับเสริมให้เด็กก่อนรับประทานอาหารกลางวัน ประมาณเวลา 10.00 น. เนื่องจากอาจมีเด็กบางคนรับประทานอาหารเช้ามาน้อย หรือไม่ได้รับประทานเลย และอีกครั้งก่อนกลับบ้านเวลา 14.00 น. เพื่อเสริมสำหรับเด็กที่รับประทานข้าวเที่ยงน้อยหรือไม่ให้ท้องว่างเกินไป ก่อนรับประทานอาหารเย็น ควรเป็นอาหารที่เตรียมง่ายหาได้ในท้องถิ่น เช่น ข้าวต้มมัด ฟักทองนึ่ง กล้วยน้ำว้า ขนมปังไส้ต่าง ๆ ขนมไทยพื้นบ้าน เป็นต้น นอกจากเหตุผลที่กล่าวมาแล้ว การใช้อาหารหรือผลไม้ในท้องถิ่นจะเป็นการสอนให้เด็กรู้จักอาหารพื้นบ้านไทย ที่เด็กบางคนไม่รู้จัก หรือไม่เคยรับประทานเลยก็ได้ หลักการจัดอาหารว่างให้แก่เด็ก ควรต้องจัดสิ่งที่ขาดอยู่ให้แก่เด็กในแต่ละวัน เพื่อให้ครบตามคุณค่าที่เด็กต้องการในแต่ละวัน

      3. ขนม เป็นอาหารที่สามารถเสริมคุณค่าของอาหารหลักได้ ควรเป็นขนมที่มีรสชาติหวานน้อย ไม่ควรเลือกที่ให้ความหวานแต่เพียงอย่างเดียว ควรเลือกขนมที่มีคุณค่าทางโภชนาการด้วย โดยการเสริมคุณค่าทางโภชนาการในขนมนั้น ๆ ด้วย การใส่ถั่ว ใส่งา ใส่ธัญพืช ใส่นมเพิ่ม เช่น วุ้นใส่ธัญพืช ขนมปังนมเย็น กล้วยบวดชี หรือฟักทองแกงบวดโรยงาคั่ว เป็นต้น

         แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แต่เพียงจัด ไม่ใช่แค่เพียงมีอาหารให้เด็กได้รับประทาน ควรให้ความรู้เรื่องโภชนาการที่ดีแก่เด็กในเรื่องกิจกรรมต่าง ๆ โดยสอดแทรกในรูปแบบการเรียนรู้ การแสดงละคร เชิดหุ่น นิทาน ประกอบภาพประกอบอาหาร เพื่อเป็นการปลูกฝังลักษณะนิสัยในการรับประทานอาหารให้แก่เด็ก ผู้ เลี้ยงดูเด็กก็จะต้องเป็นแบบอย่างให้แก่เด็กด้วย เช่น การไม่รับประทานผัก บางชนิดแล้วเขี่ยออก เมื่อเด็กเห็นก็จะเกิดการเลียนแบบ ควรปฏิบัติเป็นแบบอย่างที่ดี เช่น รับประทานอาหารหมดจานไม่เหลือทิ้ง ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร การแปรงฟันหลังอาหารทุกครั้ง โดยอาจทำไปพร้อมกับเด็ก ๆ ด้วย "ควรเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับเด็ก ๆ"


     ข้าวอบหมูย่าง  

      ส่วนผสม

       หมูสันใน 300 กรัม
       ข้าวสวย 1 ถ้วยตวง
       น้ำต้มกระดูกหมู 1/2 ถ้วยตวง
       กระเทียม 4-5 กลีบ
       ซีอิ๊วขาวสูตร 1 ตราภูเขาทอง 2 ช้อนโต๊ะ
       เห็ดหอม 1 ดอก
       พริกไทยป่นเล็กน้อย
       พริกหวานสีเขียว สีแดง สีเหลือง หั่นชิ้นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า

      วิธีทำ

       โขลกกระเทียม พริกไทยให้ละเอียด
       หมักหมูกับเครื่องที่โลกไว้ เติมซีอิ๊วขาวสูตร 1 ตราภูเขาทองพักไว้ 30 นาที
       นำหมูและเห็ดหอมไปย่างในกระทะจนสุก
       ตักข้าวสวยใส่หม้อหรือชามทนความร้อนสูง ใส่หมูย่าง เห็ดหอม น้ำต้มกระดูหมูลงไป ปิดฝา นำเข้าอบด้วย ไฟอ่อนจนข้าวสุกหอมอีกรอบ ตกแต่งด้วยพริกหวานพร้อมจัดเสิร์ฟ

      ไก่อบซอส  

        ส่วนผสม

       น่องไก่ติดสะโพก 1 ชิ้น
       ซอสมะเขือเทศ 1/2 ถ้วยตวง
       เนยสดชนิดเค็ม 4 ช้อนโต๊ะ
       เห็ดแชมปิยองลวก 100 กรัม
       ข้าวโพดอ่อนลวก 100 กรัม
       ข้าวสวย 2 ถ้วยตวง
       น้ำเปล่า 1 ถ้วยตวง
       กระเทียมสับ 1 ช้อนโต๊ะ
       เกลือป่น
       พริกหวานสีเขียว สีแดง สีเหลือง หั่นชิ้นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า

       วิธีทำ

     - ผสมไก่กับเกลือป่นและเนยสด 3 ช้อนโต๊ะ ให้เข้ากันหมักไว้ 15-20 นาที
     - นำไก่ไปนาบกับกระทะโดยใช้ไฟกลาง ๆ พอหอม และผิวมีลักษณะตึง
     - ใส่ซอสมะเขือเทศและน้ำเปล่าลงไป คนให้เข้ากัน ตั้งไฟเคี่ยวให้ไก่สุกและซอสเข้าเนื้อ
     - ใส่เนยสดที่เหลือลงในกระทะพอร้อน ใส่กระเทียมลงผัดจนหอมจึงใส่ข้าวสวย โรยเกลือป่นเล็กน้อย ผัดคลุกเคล้าให้เข้ากัน
     - จัดเสิร์ฟไก่อบซอสกับข้าวผัดกระเทียม ตกแต่งด้วยพริกหวานรับประทานคู่กับผักลวกได้เลยค่ะ


ที่มา .... แม่บ้าน






 
 
   
เว็บไซต์นี้ เป็นเว็บร้านค้าสมาชิกของ SABUYJAISHOP ผู้ให้บริการทางการตลาดออนไลน์ สำหรับร้านค้าหรือผู้ประกอบการ ที่ต้องการนำเสนอสินค้า โฆษณา ประชาสัมพันธ์ร้านค้า หรือสินค้าในร้าน

©2008-2009 SABUYJAISHOP All Rights Reserved