.
ตะกร้า [0]
วันที่สร้างเว็บ :23/6/2012
ปรับปรุงเว็บครั้งล่าสุดเมื่อ :5/5/2015
จำนวนคนเข้าชมเว็บนี้ :577305
รับมือ 4 อาการป่วยของเบบี๋
บทความ ณ. วันที่ : 9/8/2012        จำนวนคนเข้าชมเว็บ : 371 ครั้ง   

 

รับมือ 4 อาการป่วยของเบบี๋
 

          แม้อาการเป็นไข้ ไอ อาเจียน เป็นอาการเล็กๆ แต่สำหรับทารกเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลแต่เนิ่นๆ ไม่ปล่อยทิ้งไว้ให้เนิ่นนาน ส่วนจะดูแลอย่างไรให้ถูกวิธีModern Mom มีวิธีการดูแลอาการเบื้องต้นมาฝากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ

ไข้ -ตัวร้อน

          ไข้คือการที่อุณหภูมิร่างกายสูงมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ถ้าลูกมีอุณหภูมิมากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส ถือว่าไข้สูง ซึ่งอาจทำให้เกิดชักได้โดยเฉพาะเด็กเล็ก ส่วนอุณหภูมิระหว่าง 37.5-38.5 องศาเซลเซียส ยังเป็นไข้ต่ำ

คุณแม่ควรใช้ปรอทวัดไข้ เพื่อประเมินความรุนแรงของไข้ ไม่ควรใช้เพียงมือสัมผัสเพื่อบอกว่าตัวรุม ๆ หรือตัวร้อนจัดเท่านั้น ยิ่งในเด็กเล็กวัย 3 เดือน – 2 ปี เป็นวัยที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อต่างๆ

 

การดูแล

เมื่อลูกตัวร้อน มีไข้ คุณพ่อคุณแม่ควรเช็ดตัวเป็นหลักและให้ยาลดไข้เสริม

เช็ดตัวลดไข้ : ควรเช็ดตัวให้ลูกในเบื้องต้น (ดูได้ที่ล้อมกรอบ) และควรวัดไข้ก่อนและหลังเช็ดตัวทุกครั้ง เพราะหลังเช็ดตัวอุณหภูมิควรลดลงประมาณ 1 องศาเซลเซียส แต่หากไข้ยังสูงก็ควรเช็ดตัวซ้ำค่ะ

          ให้ยา : สำหรับการใช้ยาลดไข้ในเด็กวัยแรกเกิด – 6 เดือนนั้นต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง หากต้องให้ก็ควรเป็นพาราเซตามอลที่ถือเป็นยาที่มีความปลอดภัยสูงในเด็ก ที่จะมีทั้งยาแบบหยดสำหรับเด็กเล็ก (ขนาด 1 ช้อนชาหรือ 5 ซีซีต่อน้ำหนักตัว 10 กก.) และแบบน้ำเชื่อมสำหรับเด็กโต (ขนาด 1 ช้อนชาต่อน้ำหนักตัว 20 กก.) ควรให้ทุก 4-6 ชม. เวลามีไข้  

 

ชัก

          อาการชักมักจะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อมีไข้ตัวร้อนสูงเกิน 39 องศาเซลเซียส และมักเกิดในช่วงวันแรกหรือวันที่ 2 ของการมีไข้ เด็กจะมีอาการเกร็งทั้งตัว ตาเหลือก กัดฟันและลิ้น แล้วตามด้วยการกระตุกของแขนและขาทั้ง 2 ข้าง ซึ่งจะกินเวลาประมาณ 1–3 นาที โดยอาจมีอาการน้ำลายฟูมปาก หรือริมฝีปากและปลายมือปลายเท้ามีสีคล้ำเขียวได้ในรายที่ชักเป็นเวลานาน หลังจากหยุดชักแล้วเด็กมักจะหลับ หรือมีอาการสะลึมสะลือไปชั่วครู่

 

การดูแล :

          คุณพ่อคุณแม่ควรตั้งสติ อย่าตกใจจนทำอะไรไม่ถูก และรีบปฐมพยาบาลลูก

1. จับลูกนอนหงาย และตะแคงศีรษะลูกไปด้านข้าง ให้อยู่ในระดับต่ำเล็กน้อย เพื่อให้น้ำลาย เสมหะ หรือเศษอาหารไหลออกมาได้สะดวก ป้องกันไม่ให้สำลักไปอุดตันในหลอดลม

2. ถอดหรือคลายเสื้อผ้า รวมถึงผ้าห่มที่อาจทำให้ลูกอึดอัดออก

 3. ระวังอย่าให้ลูกกัดลิ้นตัวเอง โดยการสอดด้ามช้อนที่หุ้มด้วยผ้านุ่มๆ เข้าในช่องปาก แต่ถ้าลูกกำลังเกร็งและกัดฟัน ก็อย่างัดปากลูกในทันที จะทำให้เกิดอันตรายหรือบาดเจ็บได้

4. ใช้ผ้าเช็ดตัวชุบน้ำอุ่น โปะไว้ตามข้อพับแขนขา และเช็ดตัวลูก (ดูวิธีเช็ดตัวได้ที่ล้อมกรอบ)

5. เมื่ออาการสงบแล้ว ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ที่ใกล้ที่สุด

ขณะที่ลูกชัก ไม่ควรเขย่าหรือตีเพื่อให้ลูกรู้สึกตัวจะทำให้ลูกชักมากขึ้น รวมถึงห้ามป้อนอะไรให้ลูกเด็ดขาด แม้กระทั่งยาลดไข้ เพราะทำให้สำลักได้

 


เช็ดตัวลูก

1. ถอดเสื้อผ้าของลูกออก แล้วใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นบิดให้หมาดๆ เพราะน้ำอุ่นช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว ความร้อนระบายออกได้ดี

2. เริ่มเช็ดตัวลูก โดยเช็ดแบบย้อนรูขุมขน เพื่อเป็นการเปิดช่องทางให้ผิวหนังได้ระบายความร้อนออกมา

3. เริ่มเช็ดตั้งแต่ส่วนบนคือ ใบหน้า ลำคอ แขน ลำตัวและขา โดยเฉพาะตามข้อพับ เช่น ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ เพราะเป็นบริเวณที่อุณหภูมิจะสูงกว่าส่วนอื่น

4. หลังเช็ดตัวเสร็จและตัวลูกแห้งดีแล้วให้สวมเสื้อผ้า แล้วใช้ผ้าขนหนูผืนเล็กชุบน้ำบิดหมาด วางบนหน้าผาก รักแร้ และซอกคอ เพื่อช่วยคลายความร้อน

 

อาเจียน

          อาเจียนเป็นอาการที่จะพบบ่อยในเด็กป่วย ซึ่งอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อาการถ่ายเหลว ปวดท้อง และไข้ อาการอาเจียนมักทุเลาลงหรือหายไปได้เองภายใน 24-48 ชั่วโมง คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตลักษณะที่ลูกอาเจียนออกมา ว่าเป็นเศษอาหาร เสมหะ สีอะไร อาเจียนแบบพุ่งหรือไม่พุ่ง หรือมีอาการอื่นร่วมด้วยไหม เนื่องจากจะช่วยในการวินิจฉัยโรคได้

อาเจียนอยู่เรื่อย :  กินอะไรก็อาเจียนหมด และกินน้ำไม่ได้เลย เป็นไปได้ว่าอาจเกิดการติดเชื้อที่ทางเดินหายใจ

อาเจียนและมีไข้ – อาจเป็นการติดเชื้อทางเดินอาหารส่วนบน

อาเจียน มีไข้ และท้องเสีย - แสดงว่าติดเชื้อที่ระบบทางเดินอาหาร

อาเจียนพุ่ง – อาจมีปัญหาเกี่ยวกับสมอง

อาเจียนมีสีเขียว(อาจเป็นน้ำดี) หรือสีแดง(อาจเป็นเลือด) ออกมาด้วย - อาจจะเป็นอาการ อุดตันของปลายกระเพาะ หรืออุดตันของลำไส้

การดูแล :

          หากลูกอาเจียนหนัก กินไม่ได้ อาเจียนพุ่ง มีเลือดออกมา รวมถึงมีอาการอื่นร่วมด้วยก็ควรรีบพาไปพบคุณหมอค่ะ แต่หากลูกยังพอเล่นได้ กินอาหารได้ ก็สามารถเฝ้าดูแลอาการที่บ้านได้ดังนี้ค่ะ

          - เริ่มต้นด้วยการจิบน้ำเกลือแร่ทีละน้อย ถ้ามีไข้ก็เช็ดตัว กินยาลดไข้ แต่ถ้าเด็กเล็กยังจิบน้ำเกลือไม่ได้ ซึม อ่อนแรงลง ยิ่งถ้าอาเจียน ก็ควรต้องพาไปพบหมอให้ตรวจดู

- ถ้าเป็นอาเจียนไม่มาก ในเด็กที่กินอาหารเสริมได้ก็เริ่มตามวัย เริ่มอาหารอ่อนๆ กินข้าวต้ม น้ำข้าว โจ๊ก จะช่วยชดเชยอาการขาดน้ำได้ อาจจะใส่เกลือหรือน้ำปลาหน่อย เพิ่มโปรตีน โดยการฉีกไก่ใส่ หรือไข่เจียว หมูหยอง ปลาทูทอดอีกนิดก็ได้ ที่สำคัญก็ต้องกินทีละน้อยแต่บ่อยๆ

 

ไอ

          อาการไอเป็นกลไกของการกำจัดเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมของร่างกาย ซึ่งอาการไอพบได้บ่อยในเด็กเล็กช่วง 4 เดือน – 2 ปี เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่ได้จากแม่เริ่มหมดลง เลยมีโอกาสรับเชื้อโรคได้ง่ายขึ้น หากมีอาการไอติดต่อมากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป ก็อาจจะเป็นการไอเรื้อรังได้ ซึ่งก็ต้องพาไปพบคุณหมอค่ะ

การดูแล :

            ในเด็กช่วงขวบปีแรก เบื้องต้นยังไม่ควรให้ยาแก้ไอ แต่ให้ลูกดื่มน้ำเยอะๆ และบ่อยครั้ง เพื่อให้เสมหะไม่เหนียว แนะนำให้ดื่มน้ำอุ่นจะทำให้ชุ่มคอและไม่ระคายเคือง ถ้าลูกไอแล้วสำรอกเสมหะออกมาก็จะดีขึ้น และต้องให้พักผ่อนให้เพียงพอด้วยค่ะ

 

          นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ก็อาจต้องคอยสังเกตอาการของลูกในรายละเอียด เพื่อเมื่อต้องไปหาคุณหมอจะได้มีข้อมูลให้คุณหมอามารถวินิจฉัยได้ถูกต้องค่ะ    

ที่มา