บทความจากร้านค้า
(โรคของเส้นประสาทที่มีอาการชา)
บทความ ณ. วันที่ : 3/8/2012        จำนวนคนเข้าชมเว็บ : 2655 ครั้ง   

โรคของเส้นประสาทที่มีอาการชา

 

นายแพทย์ณัฐ พสุธารชาติ
อายุรแพทย์ระบบประสาท
 
พวกเราหลายคนอาจเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับ อาการชา การไม่รู้สึกเจ็บปวด ร้อนเย็น หรือ รู้สึกเจ็บปวด ร้อนเย็นน้อยกว่าปรกติบริเวณส่วนใดส่วนหนึ่งบนร่างกายโดยเฉพาแขนขา กันมาบ้าง เช่น บางคนเคยมีอาการชาแบบ ร้อน ซู่ ๆ บริเวณนิ้วก้อยขึ้นมาถึงท้องแขนด้านในเป็นแถบ ตอนตื่นนอนใหม่ ๆ สักพักอาการชา ซู่ๆ นั้นค่อยหายไปได้เอง ส่วนบางคนรู้สึกชายุบยิบที่ปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า ต่อมาจึงเปลี่ยนไปรู้สึกชา หนา ๆ ที่รู้สึกอยู่ตลอดเวลา ขึ้นแทน ในขณะที่ผู้สูงอายุหลายคนที่เริ่มมีการเสื่อมของกระดูกสันหลังบริเวณบั้นเอว จะมีอาการปวดหลัง และชาขา ร่วมไปกับอาการขาอ่อนแรงได้ เป็นต้น
จากตัวอย่างเหล่านี้ จะเห็นได้ว่าอาการชานั้น อาจเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว เป็น ๆ หาย ๆ หรือเป็นอยู่ตลอดเวลา อาจเกิดขึ้นบริเวณส่วนในส่วนหนึ่งหรือเกิดขึ้นหลายส่วนพร้อม ๆ กัน และบางครั้งอาจร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น อาการปวด หรือ อาการอ่อนแรงได้ อาการต่าง ๆ เหล่นนี้นั้นล้วนเกิดจากความผิดปรกติในการทำงานของระบบประสาททั้งสิ้น
 
อาการชาเป็นจากภาวะสมองขาดเลือดไปเลี้ยงหรือไม่

เมื่อเกิดอาการชาขึ้น มักทำให้หลาย ๆ คน เกิดความกังวลใจว่าจะกลายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตจากภาวะสมองขาดเลือดไปเลี้ยง ( Ischemic Stroke ) หรือไม่ อาการชาที่เกิดจากภาวะสมองขาดเลือดไปเลี้ยงนั้นจะมีลักษณะของการชาเฉพาะตัว เช่น ส่วนใหญ่จะเกิดอาการชาครึ่งซีก หมายถึงมีอาการชาของแขนขา รวมถึงใบหน้าและลำตัวข้างเดียวกันด้วย เป็นต้น ดังนั้น ถ้ารู้สึกชาแบบดังกล่าวนี้ และโดยเฉพาะถ้าเป็นอย่างรวดเร็ว ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
ส่วนอาการชาที่เกิดขึ้นที่ปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า อากรชาเป็นแถบ ๆ บริเวณ แขนขา ไม่ว่าจะเป็น อาการชายุบยิบ ๆ ชาหนา ๆ หรืออาการชาแบบร้อน ๆ มักเกิดจากความผิดปรกติของเส้นประสาท (Neuropathies)
 
อันตรายจากอาการชา และ โรคของเส้นประสาท

แม้ว่าอาการชาจากโรคของเส้นประสาท (Neuropathies) จะทำให้ผู้ป่วยเกิดความรำคาญบ้าง แต่ในระยะแรก ๆ มักไม่สร้างความเดือดร้อนต่อผู้ป่วยมากเท่าอาการอ่อนแรง หรืออาการปวด ดังนั้นจึงทำให้ผู้ป่วยหลายคนไม่ได้ปรึกษาแพทย์ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งบ่อยครั้งที่ปล่อยไว้โดยมิได้หาสาเหตุและป้องกัน แก้ไข จะทำให้โรคลุกลามมากขึ้น เกิดมีอาการอ่อนแรง และกล้ามเนื้อลีบลงได้ นอกจากนั้นถ้าอาการชามากขึ้นจนไม่รู้สึกเจ็บเลย จะทำให้มีโอกาสเกิดบาดแผลได้ง่ายขึ้นด้วย เนื่องจากขาดกลไกการป้องกันตัวเองจากของร้อน หรือของมีคม เป็นต้น
 
สาเหตุของโรคเส้นประสาท

1. เกิดจากมีการกดทับเส้นประสาทเฉพาะที่ กลุ่มนี้มักมีอาการชาเฉพาะส่วน ในช่วงแรก ๆ จะชาแบบเป็น ๆ หาย ๆ และต่อมาเป็นมากขึ้น ๆ จนชาอย่างถาวร ร่วมกับอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อบางมัดได้
ตัวอย่างเช่น ในผู้ที่ทำงานใช้ข้อมือมาก ๆ เช่น งานบ้าน ซักผ้า รีดผ้า พิมพ์ดีด จนเนื้อเยื่อที่ข้อมือหนาตัวขึ้น และกดรัดเส้นประสาทบางเส้น จะมีอาการชาที่นิ้วมือบางนิ้วได้ตั้งแต่ นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง บางส่วนของนิ้วนางได้ ระยะแรก ๆ มักจะเป็น ๆ หาย ๆ ซึ่งอาจเป็นตอนกลางคืน ถ้าสะบัดข้อมือในขณะที่มีอาการชาจะช่วยให้หายชาได้ และถ้าปล่อยไว้ จะชาบ่อยขึ้น ๆ จนเป็นอยู่ตลอดเวลา และนิ้วหัวแม่มือมีอาการอ่อนแรง ร่วมกับกล้ามเนื้ออุ้งมือลีบลงได้ เรียกโรคของเส้นประสาทกลุ่มนี้ว่า Carpal Tunnel Syndrome ภาวะนี้จะเกิดขึ้นที่มือข้างหนึ่งข้างใดหรือทั้งสองข้างก็ได้
ในบางคนโดยเฉพาะที่ค่อนข้างอ้วน เมื่อนั่งอยู่ในท่าทางเดิมนาน ๆ หรือใส่กางเกงที่รัดแน่นจนเกินไป จะรู้สึกชาที่ด้านข้างโพก จากการกดเบียดเส้นประสาทได้ เรียกโรคนี้ว่า Meralgia Paresthetica
2. เป็นผลจากโรคหรือภาวะผิดปรกติชนิดอื่น เช่น โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์บางชนิด โรคไตวายเรื้อรัง โรคติดเชื้อบางชนิด ความผิดปรกติทางระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น กลุ่มนี้มักมีอาการชาปลายมือปลายเท้า บางครั้งเกิดร่วมกับอาการอ่อนแรงของมือเท้า แขนขา ทั้งสองข้างพอ ๆ กันได้ และมักเป็นชนิดเรื้อรัง
ผู้ป่วยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักมีโรคประจำตัวบางอย่างอยู่ก่อนแล้ว เช่น ป่วยเป็นโรคเบาหวานมานาน ต่อมาเริ่มมีอาการชา หรืออ่อนแรงของ มือ เท้า ตามมาได้ เรียกโรคนี้ว่า Diabetic sensorimotor polyneuropathy แต่บางครั้งเกิดอาการชา หรืออาการอ่อนแรง เป็นอาการนำ เมื่อตรวจต่อไปจึงพบว่าผู้ป่วยมีโรค หรือความผิดปรกติอื่นร่วมอยู่ด้วย
3. สาเหตุอื่นๆ เช่น เกิดจากยา หรือ เกิดจากสารพิษ บางชนิด กลุ่มนี้ถ้าทราบและกำจัดสาเหตุ ตั้งแต่แรก อาการผิดปรกติต่าง ๆ มักจะ กลับเป็นปรกติได้ นอกจากนั้น บางครั้งโรคเส้นประสาทก็พบเป็นโรคทางพันธุกรรมโดยตรงได้
 
การตรวจหาสาเหตุ

แพทย์จะเริ่มจากการตรวจร่างกายด้วยอุปกรณ์การตรวจพื้นฐาน ได้แก่ การตรวจระดับความรู้สึกเจ็บด้วย วัตถุหลายแหลม ส่วนใหญ่จะใช้ไม้จิ้มฟัน หรือเข็มกลัดซ่อนปลาย การตรวจการรับความรู้สึกร้อนเย็น รู้สึกสัมผัส ความสั่นสะเทือน การตรวจ reflexes โดยการใช้ไม้เคาะเข่า การตรวจแรงของกล้ามเนื้อมัดต่าง ๆ ร่วมกับการตรวจเลือด น้ำเหลืองทางห้องปฏิบัติการเป็นต้น
ผู้ป่วยโรค Neuropathies ส่วนใหญ่ควรได้รับการตรวจการทำงานของเส้นประสาท และกล้ามเนื้อ (Electrodiagnosis) ด้วยเครื่องตรวจการทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ ด้วยไฟฟ้า เพื่อให้แพทย์ได้ข้อมูลที่ละเอียดขึ้น การตรวจด้วยอุปกรณ์ ดังกล่าวไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย แต่จะทำให้เจ็บเล็กน้อยขณะตรวจ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ป่วยด้วย
นอกจากนั้น ในผู้ป่วยบางราย อาจจำเป็นต้องได้รับการตรวจทางพยาธิวิทยา โดยตัดบางส่วนเส้นประสาทมาตรวจด้วย
 
การรักษา

การรักษาโรคของเส้นประสาท ( Neuropathies ) ขึ้นอยู่กับ สาเหตุของโรค Neuropathies นั้น ๅ การรักษาประกอบด้วย การกำจัดสาเหตุ การรักษาด้วยยา การผ่าตัด และการฟื้นฟูสมรรถภาพ ซึ่งในบางโรคต้องใช้ หลาย ๆวิธีร่วมกัน ตัวอย่างเช่น โรคเส้นประสาทถูกกดทับบริเวณข้อมือ ในระยะแรก ๆ ที่อาการไม่มากเป็นการรักษาแบบประคับประคอง ด้วยการลดการใช้ข้อมือ ร่วมกับ การใช้ยา เช่น vitamin บางชนิด ถ้าอาการเป็นมากขึ้นจึงต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อคลายเนื้อเยื่อพังผิดที่กด รัดเสันประสาท ในกรณีโรคเส้นประทางที่เกิดจากโรคหรือความผิดปรกติอื่น มักรักษาทางยา เช่น การใช้ยาปรับระบบภูมิคุมกันในกรณีที่เกิดจากความผิดปรกติทางระบบภูมคุ้มกัน การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ร่วมไปกับ vitamin บางชนิด เป็นต้น
 
สรุป

เช่นเดียวกับโรคอื่น โรคเส้นประสาทที่ได้รับการหาสาเหตุและแก้ไขป้องกันอย่างถูกต้อง แต่เนิ่น ๆ ย่อมให้ผลการรักษาที่ดี และป้องกันความพิการที่จะเกิดตามมาได้





   
เว็บไซต์นี้ เป็นเว็บร้านค้าสมาชิกของ SABUYJAISHOP ผู้ให้บริการทางการตลาดออนไลน์ สำหรับร้านค้าหรือผู้ประกอบการ ที่ต้องการนำเสนอสินค้า โฆษณา ประชาสัมพันธ์ร้านค้า หรือสินค้าในร้าน

©2008-2009 SABUYJAISHOP All Rights Reserved