บทความจากร้านค้า
โรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal Tunnel Syndrome)
บทความ ณ. วันที่ : 3/8/2012        จำนวนคนเข้าชมเว็บ : 786 ครั้ง   

โรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal Tunnel Syndrome (CTS))

 

 

 

โรค Carpal Tunnel Syndrome หรือชื่อย่อคือ CTS เป็นโรคที่พบได้บ่อย เกิดจากเส้นประสาทมีเดียน (Median Nerve) ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่เลี้ยงกล้ามเนื้อบริเวณแขน และมือ และรับความรู้สึก บริเวณฝ่ามือ นิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และครึ่งหนึ่งของนิ้วนาง เส้นประสาทนี้จะเดินทางตั้งแต่บริเวณต้นคอจนถึงปลายนิ้วมือ ซึ่งบริเวณข้อมือนั้น จะต้องลอดช่องอุโมงค์ที่เรียกว่า Carpal Tunnel เมื่ออุโมงค์นี้เกิดการแคบลงจากสาเหตุต่างๆ เช่นการอักเสบ การบวมน้ำ หรือมีสิ่งอื่นมากดทับ ก็จะเป็นผลให้เส้นประสาท มีเดียนถูกกดทับ ผู้ป่วยจะมีอาการปวด ชา ตั้งแต่บริเวณข้อมือจนถึงปลายนิ้ว ซึ่งมักมีอาการมากบริเวณนิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลาง หรือในบางรายอาจมีอาการได้ทั้งฝ่ามือ ถ้าเส้นประสาทถูกกดทับมากขึ้น จะทำให้อาการอ่อนแรงของมือ หยิบจับของลำบาก หรือถือของหล่นบ่อยๆ และทำให้กล้ามเนื้อบริเวณฝ่ามือลีบลง

 

 

 

นายแพทย์ณัฏฐ์ชัย จิตต์ธรรมวาณิช
แพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู

 

 

อาการ

 

 

1. ชาหรือปวดบริเวณมือ โดยมีอาการข้างเคียงหรือทั้ง 2 ข้าง มักจะมีอาการเด่นชัดในมือข้างที่ถนัด อาการส่วนมากมักเป็นเวลากลางคืนหลังจากนอนหลับสักพักบางครั้งผู้ป่วยอาจตื่น ขึ้นมาเนื่องจากอาการปวด แต่เมื่อสะบัดมือแล้วอาการจะดีขึ้นขั่วคราว

 

 

2. เพศหญิงพบได้บ่อยกว่าเพศชาย

 

 

3. อายุที่พบบ่อยคือประมาณ 35-40 ปี

 

 

4. ผู้ที่มีข้อมือค่อนข้างกลม

 

 

5. สตรีอาจมีอาการขณะตั้งครรภ์

 

 

6. ผู้ที่ใช้ข้อมือกระดกขึ้นลงบ่อยๆ หรือทำงานที่มีการสั่นสะเทือน ของมือและแขนอยู่เป็นเวลานาน ตังนั้นจะพบโรคนี้ได้บ่อยในกลุ่มแม่บ้านที่ทำกับข้าว ซักผ้า พนักงานโรงงาน พนักงานขุด เจาะถนน

 

 

 

ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ด้วยอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น เมือตรวจร่างกาย จะพบว่ากล้ามเนื้อบริเวณมือที่เลี้ยงด้วยเส้นประสาทมีเดียนอ่อนแรง ทำให้ไม่สามารถต้านแรงของผู้ตรวจได้ นอกจากนี้ยังมีอาการชาของปลายนิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลาง รวมทั้งครึ่งนิ้วนางด้านนิ้วโป้งอีกด้วย บางครั้งเมื่อใช้นิ้วมือเคาะบริเวณข้อมือจะมีอาการคล้ายไฟช็อตไปตามนิ้วมือ

 

 

 

นอกจากนี้การตรวจด้วยไฟฟ้าวินิจฉัย (Electrodiagnosis) ซึ่งเป็นการตรวจที่สามารถยืนยันการวินิจฉัย และใช้แยกโรคบางอย่างที่มีอาการคล้ายๆ กัน เช่น โรคกระดูกต้นคอทับเส้นประสาท, การกดทับเส้นประสาท Median ที่บริเวณอื่น, การกดทับของเส้นประสาท Ulnar, Polyneuropathy, ภาวะปวดจากกล้ามเนื้อ ฯลฯ และยังสามารถช่วยติดตามผลของการรักษา

 

 

วิธีปฏิบัติตัว

 

1. หลีกเลี่ยงการกระดกข้อมือขึ้นลงในกิจวัตรประจำวัน โดยการเปลี่ยนมาใช้ข้อศอกหรือข้อไหล่ในการทำกิจกรรมต่างๆ แทนเช่น การกวาดบ้าน การแปรงฟัน ฯลฯ เพื่อลดอาการอักเสบบริเวณข้อมือ

 

 

2. การทำกายภาพบำบัด เช่น การทำอุลตร้าซาวด์ การบริหารมือ ซึ่งจะได้ผลดีในผู้ที่เริ่มต้นมีอาการไม่มาก

 

 

3. การใส่เครื่องช่วยพยุงมือในเวลากลางคืน ซึ่งจะช่วยจัดท่าของข้อมือให้อยู่ในท่าที่ดีที่สุดเวลานอน เพื่อช่วยลดอาการปวดและเป็นการเตือนผู้ป่วยไม่ให้กระดกข้อมือมากเกินไป เมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้นก็สามารถหยุดการใส่ได้

 

 

4. ยา ในกลุ่มยาลดการอักเสบ (NSAID) สามารถลดอาการอย่างได้ผล แต่ในผู้ที่รับประทานยาติดต่อกันนานๆ อาจมีผลข้างเคียงคือ ปวดท้อง และความสามารถในการแข็งตัวของเลือดลดลง จึงแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยาหลังอาหารทันที และดื่มน้ำตามมากๆ หรือบางครั้งอาจให้ร่วมกับยาลดกรดในกระเพาะอาหาร ซึ่งในปัจจุบันยากลุ่มนี้ได้มีการพัฒนาเพื่อทำให้ผลข้างเคียงดังกล่าวลดลง และจำนวนครั้งในการรับประทานต่อวันยังลดลงอีกด้วย

 

 

5. การผ่าตัด มักจะพิจารณาในผู้ที่มีอาการค่อนข้างมาก ซึ่งได้ผลดีในผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว หลังผ่าตัดแล้วผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้เลย และหลังจากที่แผลหายดีแล้ว ควรจะมีการฝึกการบริหารมือและข้อมือ เพื่อให้เส้นเอ็นและเส้นประสาทของมือเคลื่อนไหวได้สะดวก ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการเจ็บบริเวณแผลผ่าตัด ซึ่งอาจจำเป็นต้องใช้วิธีการทำกายภาพบำบัด เช่น การนวดหรือลูบเบาๆ บริเวณแผล การใช้ความร้อนความเย็น และยาเพื่อช่วยลดอาการเจ็บปวด

 

 

 

 

Cr.http://www.ladpraohospital.com/healthKnowledges.asp?id=15

 

 






   
เว็บไซต์นี้ เป็นเว็บร้านค้าสมาชิกของ SABUYJAISHOP ผู้ให้บริการทางการตลาดออนไลน์ สำหรับร้านค้าหรือผู้ประกอบการ ที่ต้องการนำเสนอสินค้า โฆษณา ประชาสัมพันธ์ร้านค้า หรือสินค้าในร้าน

©2008-2009 SABUYJAISHOP All Rights Reserved