.
 สถานะของเว็บ
วันที่สร้างเว็บ :22/9/2012
ปรับปรุงเว็บครั้งล่าสุดเมื่อ :9/12/2016
จำนวนคนเข้าชมเว็บนี้ :423797
ประวัติ หลวงพ่อหลิว วัดไร่แตงทอง เจ้าตำรับเหรียญพญาเต่าเรือน
บทความ ณ. วันที่ : 23/9/2012        จำนวนคนเข้าชมเว็บ : 608 ครั้ง   

"หลวงพ่อ หลิว ปัณณโก" อดีตเจ้าอาวาสวัดไร่แตงทอง อ.กำแพงแสน เป็นหนึ่งในเกจิอาจารย์ดังแห่งเมืองนี้ ซึ่งมี "ของดี" รู้จักกันทั่วประเทศคือ "เหรียญพญาเต่าเรือน" ท่านเป็นพระผู้มีจริยวัตร และการปฏิบัติครองเพศบรรพชิตที่สูงส่ง บารมีธรรมของท่านแผ่กระจายไปทั่วสารทิศ มีพุทธศาสนิกชนในประ เทศและต่างประเทศมาสมัครตัวเป็นลูกศิษย์ ศึกษาพระธรรมจากท่านมากมาย

แม้ท่านจะสิ้นไปแล้ว แต่คงเป็นปูชนียสงฆ์ที่มีผู้เคารพศรัทธา และกล่าวขวัญถึงอยู่เสมอ โดยเฉพาะในช่วงเดือนก.ย.ของทุกปีตรงกับวันที่ 4 ก.ย. เป็นวาระสำคัญแห่งการรำลึกถึงคุณงามความดีของท่าน

ย้อนไปในอดีตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 ธ.ค. 2448 ท่านได้ถือกำเนิดขึ้น ณ หมู่บ้านหนองอ้อ ต.บ้านสิงห์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ในตระกูล "แซ่ตั้ง ของนายเต่ง นางน้อย เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวน 9 คน ในวัยเด็กนั้น ท่านมีความคิดเห็นที่แตกต่างจากเด็กรุ่นเดียวกันอย่างสิ้นเชิง

ขณะที่เพื่อนๆ ไปวิ่งเล่นซุกซนตามประสา แต่ท่านกลับมองเห็นความยากลำบากของครอบครัว จึงช่วยทำงานอย่างขยันขันแข็ง พร้อมกับเรียนวิชาช่างไม้จากผู้เป็นบิดาไปด้วย

เมื่อเติบใหญ่จึงมีฝีมือทางช่างเป็นเลิศ อีกทั้งสนใจใฝ่ศึกษาเกี่ยวกับยาสมุนไพรมากมาย จนกลายเป็นหมอยาประจำหมู่บ้านหนองอ้อ, ทุ่งเจริญ, บ้านเก่า และละแวกใกล้เคียง หลังจากนั้น ชะตาชีวิตได้หักเหให้ท่านต้องทิ้งบ้านเกิดเข้าป่าไปเรียนวิชาอาคมกับพระ อาจารย์ขมังเวทชาวกะเหรี่ยงอยู่ 3 ปี ก่อนที่จะกลับมาปราบโจรผู้ร้ายที่รังแกครอบครัวจนพ่ายแพ้อย่างราบคาบ และบางคนก็มาขอเป็นศิษย์ไปเลยก็มี

เมื่อบ้านของท่านเกิดความสงบสุขแล้ว ท่านก็แยกตัวออกมาทำงานของตัวเอง อาทิ เผาถ่าน เก็บเห็ดเพาะขาย รับจ้างทำไร่ และอยู่กินกับ "นางหยด" จนมีลูกชายด้วยกันหนึ่งคน

กระทั่งอายุ 27 ปีก็เกิดความเบื่อหน่ายในชีวิตฆราวาส จึงตัดสินใจเข้าบรรพชาอุปสมบท ณ วัดโบสถ์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ตรงกับประมาณเดือน 7 ก่อนเข้าพรรษา พ.ศ. 2475 หลวงพ่อโพธาภิรมย์ แห่งวัดบำรุง เมือง เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่ออินทร์ วัด โบสถ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ห่อ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาทางธรรมว่า "ปัณณโก"

จากนั้นได้ไปจำพรรษาที่วัดหนองอ้อ บ้านเกิด และเดินทางไปศึกษาวิชาอาคมเพิ่มเติมกับอาจารย์ชาวกะเหรี่ยงอีกครั้ง รวมทั้งหลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ จ.เพชรบุรี พ่อท่านคล้าย วัดสวนขัน จ.นครศรีธรรมราช หลวงพ่ออุ้ม จ.นครสวรรค์ รวมถึงคณาจารย์อีกหลายท่าน

ระหว่างปีพ.ศ.2481-2482 "หลวงปู่หลิว ปัณณโก" อยู่เรียนพระปริยัติธรรมในสำนักวัดหนองอ้อ แต่เรียนนักธรรมตรีได้เพียง 5 เดือนก็ต้องหยุดชะงัก เพราะต้องไปสร้างศาลาการเปรียญให้กับวัดโคก จ.สุพรรณบุรี ต่อมาได้ย้ายไปจำพรรษา ณ วัดร้างในหมู่บ้านท่าเสา ช่วยสร้างกุฏิและโบสถ์จนเสร็จ จึงกลับมายังวัดหนองอ้อ

ปีพ.ศ.2484 ได้รับนิมนต์ไปช่วยบูรณะวัดสนามแย้ จ.กาญจนบุรี จนมีความเจริญรุ่งเรือง กลายเป็นวัดใหญ่โตอีกแห่งในท้องถิ่น หลวงปู่หลิวสร้างสรรค์พัฒนาวัดสนามแย้อย่างยาวนานถึง 36 ปี จึงไปสร้างวัดขึ้นใหม่ที่ ต.จระเข้เผือก อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี ใช้เวลาถึง 5 ปีจึงเป็นรูปเป็นร่าง ตั้งชื่อว่า "วัดไทรทองพัฒนา"

ช่วงที่อยู่วัดนี้ท่านได้เก็บสะสมเงินจากการบริจาคของญาติโยมไปสร้าง "วัดไร่แตงทอง" ในเขต ต.ทุ่งลูกนก อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ก่อนที่จะย้ายมาจำพรรษา และสร้างสรรค์พัฒนาจนเป็นวัดที่ใหญ่โตมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป นอกจากนี้ ยังไปสร้างสำนักสงฆ์ประชาสามัคคี อ.บ้าน โป่ง จ.ราชบุรี ตลอดจนสถานีอนามัยบ้าน ไร่แตงทอง (หลวงปู่หลิว ปัณณโก อุปถัมภ์) เฉลิม พระเกียรติ ปี 2540 ท่านก็กลับมาจำพรรษายังวัดหนองอ้ออีกครั้ง ในฐานะเพียงพระลูกวัด

หลวงปู่หลิวเป็นพระทรงอภิญญาและมีพุทธาคมสูงส่ง มากด้วยเมตตาพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากในทุกๆ สถานที่ที่ท่านไปจำพรรษาอยู่ ทั้งนี้ ได้เคยตั้งปณิธานด้วยสัจจะ 2 ประการคือ 1.ลดเลิกอบายมุขทุกชนิด 2.เมื่อมีโอกาสจะสั่งสมบารมี ด้วยการสร้างเสนาสนะภายในวัด เช่น โบสถ์ วิหาร กุฏิ ศาลาการเปรียญ จนกว่าชีวิตจะหาไม่

อุปนิสัยถือสันโดษ ไม่ลุ่มหลงทั้งทางโลกและทางธรรม ไม่รับและไม่ยินดียินร้ายต่อสมณศักดิ์ แม้ลูกศิษย์ลูกหาจะอ้อนวอนเพียงใดท่านก็หายอมรับไม่ มีบุคคลต่างๆ จากทั่วสารทิศมาพึ่งบารมีขอพร ขอให้ท่านช่วยคลายทุกข์มากมาย ลูกศิษย์ของท่านจึงมีทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน ฮ่องกง

ท่านอยู่แบบสมถะ เรียบง่าย ในกุฏิไม่มีเครื่องปรับอากาศ ไม่มีทีวี ไม่มีตู้เย็น และสิ่งอันเป็นกิเลสยวนใจทั้งหลาย อาหารที่ขบฉันเน้นแบบง่ายๆ ทุกมื้อต้องมีผักต้มนิ่มๆ มะระขี้นก น้ำพริกรสไม่เผ็ด แกงเลียง ข้าวต้ม ผัดหมี่ซั่ว และผลไม้ที่ชอบมากก็คือ ทุเรียน รวมทั้งชอบฉันหมากเป็นประจำ

นอกจากมีวัตรปฏิบัติ ที่เพียบพร้อมแล้ว ท่านยังมีอารมณ์ขัน จนเป็นที่ทราบของบุคคลใกล้ชิดทั่วไป จนมีการรวบรวมอารมณ์ขันของท่านมารวมได้เป็นเล่มทีเดียว ท่านได้ให้แง่คิดเกี่ยวกับการบำเพ็ญบารมีของท่านว่า "ชีวิตการดำรงอยู่ในเพศแห่งบรรพชิตนอกจากจะต้องบำเพ็ญเพียรศึกษาธรรมปฏิบัติ ธรรมวินัย เพื่อนำไปประกาศเผย แผ่ให้แก่สาธุชนคน ผู้ปรารถนาความสงบสุขทางจิตแล้ว เราในฐานะเป็นพระสงฆ์ เป็นพระ เป็นผู้นำทางด้านจิตใจและต้องมีส่วนในการพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญหูเจริญตา ทั้งทางจิตใจและสาธารณวัตถุ อันเป็นประโยชน์แก่คนหมู่ใหญ่ โดย ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง การสร้างเสนาสนะวัดวาอารามเป็นการชักนำให้ประชาชนได้บำเพ็ญทานบารมี รู้จักทำบุญเข้าวัด มีศาสนสถานไว้ประกอบศาสนกิจ เพื่อให้อนุรักษ์วัฒนธรรม ศีลธรรมอันดีงามของไทยสืบไป"

วัตถุมงคลของหลวงพ่อหลิว ปัณณโก เริ่มสร้างประมาณปี พ.ศ.2500 ที่วัดสนามแย้ ในยุคแรกๆ จะเป็นพระเนื้อผงเป็นส่วนใหญ่ โดยเหรียญรูปเหมือนรุ่นแรกออกที่วัดนี้ในปีพ.ศ.2505 วัตถุมงคลของท่านมีหลายรูปแบบทั้งเหรียญ, รูปหล่อลอยองค์, พระบูชา, พระสังกัจจายน์, พระปิดตา ส่วนเครื่องรางของขลัง เช่น ตะกรุดคาดเอว, จิ้งจกสองหาง, กัณหาชาลี, ล็อกเกต

แต่วัตถุมงคลที่สร้างชื่อเสียงและได้รับการยอมรับมากที่สุดก็คือ "พญาเต่าเรือน" ซึ่งท่านศึกษาวิชานี้มาจากหลวงพ่อย่น วัดบ้านฆ้อง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

ลักษณะโดยทั่วไปของพญาเต่าเรือน จะมีลักษณะเป็นรูปเต่า มี 4 ขา ปลายหัวด้านบนจะมีหูติดลักษณะเดียวกับหูเหรียญ ส่วนรายละเอียดในตัวจะมีความแตกต่างกันไปตามรุ่น ซึ่งแต่ละรุ่นไม่เหมือนกัน โดยท่านได้บอกถึงเหตุผลในการสร้างว่า "ต้องการทำวัตถุมงคลให้แปลกและดี จึงนึกถึง "เต่า" เพราะว่าเต่าเป็นสัตว์ที่มีอายุยืนยาว เต่าเป็นสัตว์มีศีลธรรม นอกจากนี้พระพุทธเจ้ายังเคยเสวยพระชาติเป็นเต่ามาแล้ว"

เหรียญพญาเต่าเรือนนี้มีพุทธคุณดีหลายด้าน ทั้งคงกระพันชาตรี เมตตามหานิยม สู้คดีความ ทำมาค้าขาย โชคลาภ

บั้นปลายชีวิต เริ่มเข้ากลางปี 2543 หลวงปู่หลิวก็เริ่มอาพาธด้วยโรคชรา ก่อนหน้านั้นท่านมักปรารภกับลูกหลานว่า ท่านเกิดที่หนองอ้อ ก็อยากมรณภาพที่หนองอ้อ และหากถึงเวลาที่ท่านต้องจากไป ก็อย่าหน่วงเหนี่ยวไว้ เพราะวัฏสงสารเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ จะยื้อยุดฉุดกระชากอย่างไร ก็ต้องพบกับความจริงข้อนี้วันยังค่ำ

ในค่ำคืนวันจันทร์ที่ 4 ก.ย.2543 เวลา 20.35 น. หลวงพ่อหลิวได้ละสังขารอย่างสงบท่ามกลางลูกหลานที่คอยมาดูใจเป็นครั้งสุด ท้าย ที่กุฏิของท่าน ณ วัดหนองอ้อ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี รวมอายุ 95 พรรษา 74

ต่อมาในปีพ.ศ.2548 พระใบฎีกาสายชล จิตตะกาโร เจ้าอาวาสวัดไร่แตงทองรูปปัจจุบัน และคณะศิษย์ ได้ดำเนินการจัดสร้างรูปเหมือนหลวงปู่หลิว นั่งประทับพญาเต่าเรือน องค์ใหญ่ สูง 8 เมตร 1 ศอก กว้าง 6 เมตร 1 คืบ และยาว 8 เมตร 1 คืบ พร้อมด้วยวิหารครอบ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความดี

ปัจจุบันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งซึ่งบรรดาผู้เลื่อมใสศรัทธาต่าง หลั่งไหลไปชม และลอดใต้ตัวเต่า ด้วยคติความเชื่อที่ว่าเพื่อให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ รวมทั้งลอดแล้วจะอายุยืนเหมือนเต่า และเหมือนหลวงพ่อหลิวที่มีอายุยืนยาวถึง 95 ปี นอกจากนี้ บางคนมาลอดเพื่อขอโชคลาภ เพราะกิตติศัพท์วัตถุมงคลหลวงพ่อหลิว พุทธคุณเด่นด้านค้าขาย และเมตตามหานิยม






เว็บไซต์นี้ เป็นเว็บร้านค้าสมาชิกของ SABUYJAISHOP ผู้ให้บริการทางการตลาดออนไลน์ สำหรับร้านค้าหรือผู้ประกอบการ ที่ต้องการนำเสนอสินค้า โฆษณา ประชาสัมพันธ์ร้านค้า หรือสินค้าในร้าน
©2008-2010 SABUYJAISHOP All Rights Reserved