แสดงภาษา  :     
    สินค้าในตะกร้า [ 0 ชิ้น ]
 
ความเชื่อ ถูก ผิด เกี่ยวกับการให้น้ำนมเเม่ :)
บทความ ณ. วันที่ : 21/1/2014        จำนวนคนเข้าชมเว็บ : 134 ครั้ง   

~~ปฏิเสธไม่ได้ว่า การให้นมลูกถือเป็นช่วงเวลาพิเศษสุดระหว่างแม่กับลูก ใครที่เคยเป็นคุณแม่คงทราบดีว่าการได้สัมผัส มองตา และยิ้มให้ลูกขณะดูดนม เป็นความรู้สึกที่ดีและตื้นตันใจขนาดไหน ปัจจุบันมีการรณรงค์และให้ความรู้เรื่อง ‘นมแม่’ กันมากขึ้น แต่ก็ยังมีอีกหลายความเชื่อที่อาจยังทำให้คุณแม่สงสัยและไขว้เขวอยู่บ้าง สำหรับคุณแม่ที่กำลังประสบปัญหานี้อยู่ ข้างล่างนี้มีคำตอบค่ะ

• หลังเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 6 เดือน จำเป็นต้องใช้นมชนิดอื่นเลี้ยงทารกด้วย
ไม่จริง นมแม่ให้คุณค่าทุกอย่างแก่ทารกเช่นเดียวกับนมชนิดอื่นและมีมากกว่าด้วยซ้ำไป เด็กทารกที่มีอายุมากกว่า 6 เดือนควรเริ่มกินอาหารเสริมสำหรับทารกเป็นหลัก เพื่อให้ทารกได้เรียนรู้วิธีการกินและได้รับธาตุเหล็กจากอาหารแหล่งอื่นนอกจากนมแม่ เนื่องจากในระยะ 7-9 เดือน หากดื่มแต่นมแม่เพียงอย่างเดียวอาจได้รับธาตุเหล็กไม่ เพียงพอ ดังนั้น ตราบใดที่ทารกยังกินนมแม่ และได้กินอาหารเสริมหลากหลายชนิดในปริมาณที่ร่างกายต้องการควบคู่กันไป นมวัวหรือนมผสมก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็น

• นมผงดัดแปลงสำหรับทารกสมัยนี้ ดีเกือบจะพอๆ กับนมแม่
ไม่จริง นมผสมรุ่นใหม่ในปัจจุบันนั้นคล้ายคลึงกับนมแม่เพียงผิวเผินเท่านั้น นมผสมไม่มีแอนติบอดี เซลล์ที่มีชีวิต เอนไซม์ต่างๆ รวมทั้งไม่มีฮอร์โมน นมผสมประกอบไปด้วยธาตุอะลูมิเนียม แมงกานีส แคดเมียม และธาตุเหล็ก มากกว่าที่มีในนมแม่ และนมผสมก็มีโปรตีนมากกว่านมแม่อย่างชัดเจน โปรตีนและไขมันต่างๆ ในนมผสมนั้น โดยพื้นฐานแล้วแตกต่างจากโปรตีนและไขมันในนมแม่ นมผสมชนิดต่างๆ ไม่มีความแตกต่างของสารอาหารไม่ว่าจะวันเวลาใด ต่างจากนมแม่ตรงที่ถูกสร้างขึ้นตามความต้องการให้เหมาะสมกับลูกของคุณโดยเฉพาะ

• ควรทำความสะอาดหัวนมทุกครั้งก่อนให้ลูกดูดนมแม่
ไม่จริง การให้ทารกดื่มนมผสมนั้นต้องใส่ใจเรื่องความสะอาด เพราะนมผสมนอกจากจะไม่ได้ช่วยป้องกันทารกจากการติดเชื้อแล้ว ยังสามารถปนเปื้อนและเป็นแหล่งแพร่เชื้อแบคทีเรียได้อย่างง่ายดายอีกด้วย ในทางตรงข้าม นมแม่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันการติดเชื้อให้แก่ทารก การล้างทำความสะอาดหัวนมก่อนการให้นมลูกแต่ละครั้งนั้นทำให้เกิดความยุ่งยากโดยไม่จำเป็น ทั้งยังเป็นการชะล้างไขมันตามธรรมชาติซึ่งช่วยต่อต้านแบคทีเรียออกไปจากบริเวณหัวนมด้วย

• ถ้าแม่ป่วยเป็นโรคติดต่อ ต้องหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ไม่จริง ยกเว้นเพียงบางกรณีเท่านั้นซึ่งมีน้อยมาก ทารกจะได้รับการปกป้องจากการดื่มนมแม่ โดยแม่ยังคงให้นมลูกต่อไปได้ เป็นต้นว่าเมื่อแม่เป็นไข้ ไอ อาเจียน ท้องร่วง หรือมีผื่นแพ้ ทารกก็ได้รับเชื้อโรคจากแม่แล้วตั้งแต่ก่อนที่แม่จะรู้ตัวว่าป่วยเป็นโรค ด้วยซ้ำ การปกป้องทารกจากการติดเชื้อหรือโรคติดต่อที่ดีที่สุดนั้นก็คือ การที่แม่ยังคงเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไป ถ้าทารกป่วย เขาจะป่วยไม่มากนักถ้าแม่ยังคงเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม มีบางครั้งที่อาจจะเป็นทารกเองที่ป่วย และแม่ได้รับเชื้อโรคจากลูก เพียงแต่ทารกไม่ได้แสดงอาการป่วยเพราะว่าทารกนั้นได้ดื่มนมแม่ เช่นเดียวกันกับการติดเชื้อที่เต้านมของแม่ ซึ่งได้แก่ฝีที่เต้านม หรือแม้แต่การเจ็บคัดเต้านมก็ตาม สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สาเหตุที่จะทำให้ต้องหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยแท้จริงแล้ว การติดเชื้อที่เต้านมนั้นดูเหมือนจะหายได้อย่างรวดเร็วกว่า ถ้าแม่ยังคงเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยให้ลูกดูดนมข้างที่เป็นนั้นต่อไป

• ถ้าทารกท้องร่วงหรืออาเจียน แม่ควรหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ไม่จริง การรักษาการติดเชื้อทางเดินอาหารที่ดีที่สุดของทารกคือการดื่มนมแม่ ช่วงที่ทารกท้องร่วงหรืออาเจียนอาจให้หยุดกินอาหารอย่างอื่นสักระยะหนึ่ง แต่ควรให้ลูกดื่มนมแม่ต่อไป นมแม่นั้นเป็นของเหลวเพียงชนิดเดียวที่ลูกต้องการเมื่อเด็กไม่สบาย ยกเว้นภายใต้สภาวะผิดปกติบางอย่างเท่านั้น

• เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่ได้ เพราะไม่มีนม หรือนมไม่พอ
ไม่จริง จริงๆ แล้วแม่ส่วนใหญ่มีนมสำหรับลูกเกินพอเสียอีก การที่ทารก บางคนร้องมากๆ ในช่วงสัปดาห์แรกไม่ใช่เพราะนมแม่ไม่พอ แต่เป็นเพราะการดูด ไม่ถูกต้อง ทำให้ทารกไม่ได้รับน้ำนมที่มีอยู่ในอกแม่ตามต้องการ วิธีแก้ปัญหาคือให้ลูกดูดให้ถูกวิธี ดูดบ่อยๆ ในวันแรกๆ เพื่อกระตุ้นการสร้างน้ำนม เพราะหากแม่คิดว่าไม่มีน้ำนมและแก้ปัญหาด้วยการให้นมผสม นานวันเข้าร่างกายคุณแม่จะตอบสนองด้วยการหยุดสร้างน้ำนมจริงๆ เพราะคิดว่าไม่มีความต้องการแล้ว ดังนั้น สิ่งสำคัญคือไม่ว่าจะคลอดเองหรือผ่าคลอด ควรให้ลูกดูดนมให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และอย่าลืมว่าก่อนออกจากโรงพยาบาล ต้องแน่ใจแล้วว่าลูกดูดนมแม่ได้อย่างถูกต้องแล้วค่ะ

• ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ต้องหยุดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ไม่จริง การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังคงดำเนินต่อไปได้ มีผู้หญิงจำนวนมากที่ยังคงให้นมลูกคนที่โตกว่าต่อไปถึงแม้จะคลอดลูกคนใหม่ออกมาแล้วก็ตาม ผู้หญิงหลายคนตัดสินใจหยุดให้นมลูกเมื่อตั้งครรภ์ เนื่องจากมีอาการเจ็บคัดที่เต้านมหรือด้วยเหตุผลอื่นๆ แม้ปริมาณนมแม่อาจลดลงระหว่างการตั้งครรภ์ แต่หากเด็กได้รับอาหารเสริมอย่างอื่นได้ เรื่องการให้นมแม่ระหว่างการตังครรภ์ก็ไม่เป็นปัญหาใดๆ

ที่มาข้อมูล : นิตยสารเปรียว






 
   
เว็บไซต์นี้ เป็นเว็บร้านค้าสมาชิกของ SABUYJAISHOP ผู้ให้บริการทางการตลาดออนไลน์ สำหรับร้านค้าหรือผู้ประกอบการ ที่ต้องการนำเสนอสินค้า โฆษณา ประชาสัมพันธ์ร้านค้า หรือสินค้าในร้าน

©2008-2009 SABUYJAISHOP All Rights Reserved