สินค้าในตะกร้า [ 0 ชิ้น ]
 
บทความจากร้านค้า
ข่าวที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการทำพวงหรีดพัดลม
บทความ ณ. วันที่ : 7/3/2010        จำนวนคนเข้าชมเว็บ : 7968 ครั้ง   
"พวงหรีด" ใช้สำหรับไว้อาลัยในงานศพ เพื่อแสดงความระลึกถึงผู้จากไป ที่นิยมทั่วไปโดยเฉพาะในวัดที่อยู่ในตัวเมืองมีอยู่ ๒ ชนิด คือ พวงหรีดดอกไม้สด และพวงหรีดดอกไม้แห้ง สามารถสร้างสีสัน และสร้างความสดชื่นต่อการประดับในพิธี เนื่องจากผู้ผลิตสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้หลากหลายรูปแบบ ตามแต่ชนิดของดอกไม้ที่เลือกใช้
 แต่พบว่า เมื่อเสร็จงานแล้ว ดอกไม้สดต่างๆ จะถูกทิ้งไปอย่างไร้ประโยชน์ จะเหลือเพียงโครงฟางมัดที่อาจนำมาใช้ซ้ำได้ สนนราคาของพวงหรีดดอกไม้สด ถือว่าค่อนข้างมีราคาแพง ส่วนใหญ่ในราว ๔๐๐-๓,๐๐๐ บาท หากเป็นขนาดพิเศษ ตกแต่งสวยหรู ราคาก็จะสูงกว่านั้น ในรายผู้ตายที่มีชื่อเสียง พวงหรีดมากถึงขนาดที่ว่า เจ้าภาพต้องแกะเอาเฉพาะป้ายกระดาษมาติดเพียงอย่างเดียว หลังจากเสร็จงานแล้ว พวงหรีดที่เคยสวยหรูกลับกลายเป็นขยะสร้างปัญหาตา

 ด้วยปัญหาดังกล่าว มีลูกหลานและเจ้าภาพผู้ตายประกาศ "งดรับพวงหรีด" แต่ด้วยเหตุที่คนส่งไม่ทราบ เจ้าภาพก็ต้องรับไว้ บางงานจึงมีพวงหรีดกับข้าวของครื่องใช้ต่างๆ ปนกันไป เว้นแต่บางอำเภอ ที่มีธรรมเนียมปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง ภาพของพวงหรีดที่เป็นดอกไม้ก็เปลี่ยนเป็น พวงหรีดผ้าห่ม จะพบได้ตามพื้นที่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะวัดตามอำเภอและตำบลต่างๆ พวงหรีดชนิดนี้จะนำผ้าห่ม  หรือผ้าปูโต๊ะ มาจับจีบ ประดับแซมด้วยดอกไม้กระดาษ และติดแถบป้ายชื่อของผู้ส่ง เมื่อเสร็จจากงานศพ ทางวัดสามารถนำผ้าห่มหรือผ้าปูโต๊ะไปใช้ประโยชน์ได้

 นอกจากนี้ ยังมีพวงหรีดเสื้อ พบได้ไม่บ่อยนัก ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ชนบท หรือวัดในตำบล ชุมชน ในต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่  สำหรับพวงหรีดนาฬิกา พบตามต่างจังหวัดเช่นกัน โดยการนำนาฬิกาแขวนชนิดที่เป็นพลาสติก ใส่ถ่านไฟฉาย มาประดับกับพวงหรีด  อาจประดับร่วมกับพวงหรีดผ้าห่ม หรือแยกเป็นเฉพาะอย่างติดกับกระดาษแข็ง แซมด้วยดอกไม้ประดับ เมื่อเสร็จงานแล้ว ทางเจ้าภาพจะมอบให้โรงเรียน รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ที่ขอมา

   ใครจะไปคิดว่า งานศพของ คุณพ่อดี ไชยศิริ วัย ๘๕ ปี บิดาของ นพ.กวี ไชยศิริ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ซึ่งป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ จะมีเพื่อนฝูงและคนรู้จัก นำเอาพัดลมไปแทนพวงหรีดมากมายขนาดนี้ แม้ว่า เรื่องการบริจาคพัดลมแทนพวงหรีดจะไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยมีหลายวัด หลายแห่งรณรงค์ให้คนบริจาคของใช้ประโยชน์ได้แทนพวงหรีด ที่พอดอกไม้แห้ง หรือเน่าก็เหม็น แต่ไม่มีงานศพงานไหน ที่สามารถรณรงค์และปลุกพลังให้คนหันมาส่งพัดลมทนพวงหรีดดอกไม้สดมากถึง ๓๓๒ ตัว นอกจากนี้ ยังมีต้นไม้อีกหลายสิบต้น

 "การขอรับพัดลมแทนพวงหรีดนั้น มาจากเจ้าอาวาสวัดแห่งหนึ่งใน จ.อุบลราชธานี ซึ่งท่านเคยบอกกับผมว่า ทุกวันหลังจากการเผาศพเสร็จ ก็ต้องนำพวงหรีดดอกไม้สดที่อยู่ภายในงานมาทิ้ง และดอกไม้ก็จะส่งกลิ่นเหม็น เมื่อดอกไม้เน่า เหี่ยวเฉา ทำให้ผมคิดว่า ในงานศพของคุณพ่อ หากคนที่มานำสิ่งของที่เป็นประโยชน์ และนำไปใช้ต่อได้ โดยเฉพาะนำไปบริจาคให้ผู้ขาดแคลน น่าจะเป็นการดี  เพราะคนที่นำมาให้ก็จะได้บุญ คนที่นำไปส่งต่อก็จะได้บุญ ถือเป็นการทำบุญทั้งสองฝ่าย และได้ประโยชน์ต่อส่วนรวมด้วย ทำให้มีการบอกต่อๆ กันว่า หากเป็นไปได้ และไม่ลำบาก คนที่จะมาร่วมงานศพ ของดพวงหรีด แต่ขอรับเป็นพัดลมแทนจะดีกว่า" นี่คือ แนวคิดของ นพ.กวี

 ทั้งนี้ หลังจากเสร็จสิ้นงานศพแล้ว นพ.กวี จะนำพัดลมที่ได้รับจากแขกเหรื่อทั้งหมด ไปบริจาคให้วัด โรงเรียน และโรงพยาบาลกว่า ๖๐ แห่ง ทั่ว จ.นครราชสีมา ที่ยังขาดแคลน โดยแยกไปบริจาคยังสถานที่ต่างๆ ประกอบด้วย หน่วยงานราชการและเอกชนจำนวน ๖๔ หน่วยงาน แบ่งเป็นโรงเรียน  ๓๐ แห่ง วัด ๒๔ แห่ง และที่เหลือเป็นสถานีอนามัย ศูนย์ กศน.ตำบล และชมรมผู้สูงอายุ ส่วนต้นไม้จะมอบให้เพื่อนบ้าน และสถานีอนามัยต่างๆ ไปปลูก เพื่อเป็นการลดภาวะโลกร้อน และสร้างความชุ่มชื้นอีกด้วย

 พร้อมกันนี้ นพ.กวี ยังบอกด้วยว่า หากเปรียบเทียบระหว่างราคาพวงหรีดกับราคาพัดลมแล้ว พวงหรีดราคาขั้นต่ำประมาณ ๕๐๐ บาท ในขณะที่พัดลมบางตัวราคาถูกกว่าด้วยซ้ำ แถมใช้ประโยชน์ได้ด้วย ราคาพัดลมที่มีผู้ส่งมาเคารพศพ แทนพวงหรีดดอกไม้ราคาตั้งแต่ ๕๐๐-๒,๐๐๐ บาท การส่งพัดลมมาแสดงความอาลัย ได้ประโยชน์สองอย่างพร้อมๆ กัน คือ ได้แสดงความอาลัย และได้ทำบุญร่วมกับผู้ล่วงลับ ในขณะที่พวงหรีดพอเหี่ยวก็เอาไปทิ้ง ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย

ได้ประโยชน์ก็ได้บุญ พระครูศรีศาสนกิจ วัดศาลาลอย อ.เมือง จ.นครราชสีมา บอกว่า สำหรับการนำเอาพวงหรีดมาเคารพศพนั้น ไม่รู้มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่  แต่ในพระพุทธศาสนาแล้ว ไม่เคยมีการเขียนเรื่องนี้เอาไว้ แต่เป็นความเชื่อแบบท้องถิ่นมากกว่า ที่คิดว่า จะเอาสิ่งของมอบให้ผู้ตายเพื่อจะได้นำไปใช้ในปรโลก ก่อนหน้านี้อาจจะนิยมมอบข้าวของเครื่องใช้ให้ แต่หลังๆ กลับมีการนำเอาดอกไม้มามอบให้ และมาเป็นพวงหรีด ที่ติดป้ายชื่อคนมอบให้ จนกลายเป็นค่านิยมจนถึงทุกวันนี้

 แต่ถ้าถามว่า ถ้าไม่ให้พวงหรีดเพื่อเคารพศพจะได้บุญไหม อันนี้ขอตอบว่า ไม่ว่าเราจะถวายอะไรก็ตาม หากสิ่งของเหล่านั้นพระสงฆ์สามารถนำไปใช้ประโยชน์ หรือคนอื่นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทุกอย่าง ได้บุญทั้งนั้น

 ด้าน นางสุพิชาญ์ พจน์พิพัฒน์ ผู้จัดการบริษัทราชาอิมเมจ จำกัด อ.เมือง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่นำพัดลมมาร่วมคารวะศพของบิดา นพ.กวี ไชยศิริ ผอ.รพ.มหาราชนครราชสีมา บอกว่า ถือเป็นแนวคิดที่ดี น่านำไปเป็นแบบอย่าง เพราะพัดลมใช้ประโยชน์ต่อได้ ส่วนพวงหรีดจะสวยงามชั่วคราว หลังเสร็จงานก็ต้องทิ้ง แต่พัดลมนำไปบริจาคให้วัด หรือโรงเรียนไปใช้ประโยชน์ได้ ส่วนต้นไม้ก็นำไปปลูก เพิ่มป่าไม้ให้หมู่บ้าน และชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่ ซึ่งตนเองเห็นว่า เป็นแนวทางที่ถูกต้อง และอยากจะให้คนอื่นๆ ทำตามด้วย  เพื่อจะได้ประโยชน์ และได้บุญร่วมกัน

 ในขณะที่ จ่าสิบเอกอุไร สิทธิมงคล เจ้าหน้าที่ดูแลฌาปนสถานกองทัพบก วัดสุทธจินดาวรวิหาร อ.เมืองนครราชสีมา บอกว่า วัดสุทธจินดาวรวิหาร มีประชาชนนิยมนำศพญาติมาเผา เป็นจำนวนมาก หากวันไหนมีงานเผาศพ ก็จะทำให้มีจำนวนพวงหรีดมากเช่นเดียวกัน งานศพบางรายมีจำนวนพวงหรีดมากถึงกว่า ๑๐๐ พวง/งาน เมื่อเสร็จจากการเผาศพแล้ว ก็ต้องนำพวงหรีดไปทิ้ง ทางวัดจึงมีภาระต้องจ้างรถเก็บขยะมาเก็บทุกเช้า ทำให้วัดต้องมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นอีกเดือนละ ๒,๐๐๐ บาท หากเปลี่ยนเป็นของใช้ทั้งหมด วัดก็ไม่ต้องจ่ายค่าขนขยะพวงหรีด

 "การส่งพัดลมมาแสดงความอาลัย ได้ประโยชน์สองอย่างพร้อมๆ กัน คือ ได้แสดงความอาลัย และได้ทำบุญร่วมกับผู้ล่วงลับ ในขณะที่พวงหรีดพอเหี่ยวก็เอาไปทิ้ง ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย"

ที่มา : คมชัดลึก

เรื่อง - ภาพ... "ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ / นครราชสีมา"






 
   
เว็บไซต์นี้ เป็นเว็บร้านค้าสมาชิกของ SABUYJAISHOP ผู้ให้บริการทางการตลาดออนไลน์ สำหรับร้านค้าหรือผู้ประกอบการ ที่ต้องการนำเสนอสินค้า โฆษณา ประชาสัมพันธ์ร้านค้า หรือสินค้าในร้าน

©2008-2009 SABUYJAISHOP All Rights Reserved