.
 สถานะของเว็บ
วันที่สร้างเว็บ :5/2/2013
ปรับปรุงเว็บครั้งล่าสุดเมื่อ :18/5/2016
จำนวนคนเข้าชมเว็บนี้ :896239
อย่าไว้ใจน้ำ
บทความ ณ. วันที่ : 11/7/2010        จำนวนคนเข้าชมเว็บ : 617 ครั้ง   

จากการวิจัยเรื่องการตายจากอุบัติเหตุในเด็กไทย เฉพาะในกรุงเทพมหานครเด็กจมน้ำตายปีละกว่า 60 คน
เด็กจมน้ำตายส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็ก มักเกิดขึ้นอย่างคาดไม่ถึงภายในบ้าน เช่น จมถังน้ำ อ่างอาบน้ำ หรือแม้แต่กะละมัง หรือไม่ก็อาจจะจมน้ำในแหล่งน้ำรอบๆ บ้านเช่นคูน้ำหลังบ้าน บ่อน้ำ หรือสระว่ายน้ำ สิ่งแวดล้อมที่ดูเหมือนจะไม่มีอันตรายสำหรับผู้ใหญ่อย่างเราๆ นี่เองเป็นภัยที่คาดไม่ถึง เพราะไม่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กเล็กที่กำลังซุกซนและเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา สำหรับกลุ่มเด็กโตที่จมน้ำส่วนใหญ่สาเหตุแตกต่างออกไป มักเกิดจากการเดินทางทางน้ำ การเล่นกีฬา หรือช่วงวันหยุดพักผ่อน บางครั้งเกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์

ที่น่าเสียใจก็คืออุบัติเหตุจมน้ำในเด็กเล็กมักเกิดขึ้นในขณะที่เด็กอยู่ในความดูแลของพ่อแม่นี่แหละ เพียงแต่พ่อแม่เผลอเรอชั่วขณะเด็กก็เกิดการจมน้ำได้ เช่น พ่อแม่เดินไปเข้าห้องน้ำ ไปล้างจาน รับโทรศัพท์ คุยเพลิน หรือเผลอหลับไปเพียงครู่เดียว

เด็กที่โตกว่าอายุ 2 ปีสามารถเข้าใจในเรื่องอันตรายจากน้ำ และพ่อแม่สามารถสอนเรื่องความปลอดภัยจากแหล่งน้ำได้ อย่างไรก็ตามเด็กก็คือเด็ก การปล่อยให้เด็กวิ่งไปมาใกล้แหล่งน้ำที่ไม่มีรั้วกั้นมีความเสี่ยงต่อการจมน้ำอย่างมาก เด็กที่จมน้ำจะขาดอากาศหายใจ หากเกิน 4-5 นาทีสมองจะเกิดภาวะสมองตายซึ่งไม่สามารถกลับฟื้นได้ ทำให้เสียชีวิตหรือพิกลพิการตลอดชีวิต เด็กจมน้ำส่วนใหญ่จะเสียชีวิตก่อนมาถึงโรงพยาบาล ดังนั้นทางที่ดีที่สุดพ่อแม่ควรป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์จมน้ำเกิดขึ้น และหากเกิดขึ้นเด็กจะต้องได้รับการปฐมพยาบาลและปฏิบัติการกู้ชีพเบื้องต้นที่ถูกต้องและรวดเร็วที่สุด

ป้องกันได้หากไม่ประมาท การป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับเด็กเล็กคือการแยกเด็กให้ห่างไกลแหล่งน้ำ ได้แก่

* สร้างสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้ปลอดภัย โดยเฉพาะหากมีลูกในวัยหัดเดิน โดยทำรั้วกั้นให้เด็กมีพื้นที่ที่จำกัด ไม่สามารถเดินเข้าห้องน้ำได้ หรือปิดประตูห้องน้ำ หรือ ใช้ถังน้ำที่มีฝาปิด หรือใช้ถังน้ำที่ความสูงเพียงพอที่เด็กจะไม่สามารถปีนขึ้นได้ หรือเทน้ำในถังทิ้ง การป้องกันลักษณะนี้คือการสร้างสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยตั้งแต่แรก พ่อแม่ไม่ต้องพะวงกับการเฝ้าดูลูกตลอดเวลา(ซึ่งก็เป็นไปได้ยากด้วย)

* ไม่ปล่อยให้ลูกคลาดสายตา การป้องกันเด็กจมน้ำในอ่างอาบน้ำ กะละมังได้โดยไม่ปล่อยเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปีเล่นน้ำในอ่างหรือสระว่ายน้ำตื้นๆแต่เพียงลำพัง พ่อแม่พึงคิดไว้เสมอว่าระดับน้ำตื้นๆ สามารถทำให้เด็กจมน้ำได้ เวลาชั่วขณะที่พ่อแม่เดินห่างจากเด็กที่อยู่ในอ่างน้ำเช่นพูดโทรศัพท์ คุยกับเพื่อนบ้าน ล้างจาน เข้าห้องน้ำ เด็กจะจมน้ำได้

* ใส่ใจสิ่งแวดล้อมรอบชุมชน การใส่ใจสิ่งแวดล้อมภายในบ้านไม่เพียงพอที่จะทำให้ลูกหลานของเราปลอดภัย บ่อน้ำ คู คลองในชุมชนก็เป็นจุดอันตรายที่ทำให้เด็กจมน้ำได้เหมือนกัน อย่าคิดว่า"เรื่องอย่างนี้คงไม่เกิดกับลูกเราหรอก" เพราะอาจจะมีสักวันที่ลูกเราออกไปวิ่งเล่นนอกบ้านแล้วอาจเกิดอุบัติเหตุขึ้น คนในชุมชนจึงต้องมีความตั้งใจร่วมกันที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมให้ลูกหลานในชุมชนสามารถวิ่งเล่นไปมาได้โดยปลอดภัย เพราะฉะนั้นควรช่วยกันสำรวจรอบชุมชนเพื่อดูว่าตรงไหนบ้างที่เป็นจุดเสี่ยง อาจทำให้เด็กจมน้ำได้ เช่นบ่อน้ำ คูน้ำ แล้วทำรั้วกั้น รั้วต้องสูงอย่างน้อย 150 ซม. ซี่รั้วต้องไม่ห่างเกิน 10 ซม.เป็นต้น

* สอนลูกอย่าไว้ใจน้ำ เด็กอายุ 18 เดือนขึ้นไปควรได้รับการสอนให้รู้จักอันตรายของการอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปีก็สามารถเรียนว่ายน้ำได้ อย่างน้อยเพื่อให้สามารถช่วยตัวเองให้โผล่พ้นน้ำขึ้นมาได้เมื่อจมน้ำ ทำให้มีผู้พบเห็นและช่วยได้ทัน อย่างไรก็ตามพ่อแม่ไม่ควรวางใจให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปีที่ว่ายน้ำเป็นอยู่ในแหล่งน้ำตามลำพัง(แม้ว่าจะว่ายน้ำเป็นแล้วก็ตาม) ไม่ใช่ความผิดของเด็กที่ซุกซนจนเกิดอุบัติเหตุ เพราะเป็นพฤติกรรมตามวัยของเด็ก แต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของพ่อแม่ ชุมชน หน่วยงานการแพทย์ปฐมภูมิ หน่วยงานการแพทย์ฉุกเฉินและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง

สิทธิเด็กที่สำคัญข้อหนึ่งคือเด็กต้องมีเสรีในการเรียนรู้และอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ทุกคนที่ต้องสร้างความปลอดภัยให้กับเด็ก

….พ่อแม่น่าจะเป็นบุคคลแรกที่ต้องตระหนักถึงสิทธิเด็กข้อนี้ครับ

เรียนรู้วิธีกู้ชีพฉุกเฉิน

นอกเหนือจากการป้องกันแล้ว สิ่งที่พ่อแม่ควรตระเตรียมไว้เพื่อความปลอดภัยของลูกคือเรียนรู้วิธีกู้ชีพฉุกเฉิน การปฏิบัติการกู้ชีพโดยพ่อ แม่ หรือผู้อื่นที่อยู่ใกล้เหตุการณ์เช่น เพื่อนบ้าน หรือคลินิก-เจ้าหน้าที่อนามัยใกล้หมู่บ้านเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยเหลือเด็ก หน่วยฉุกเฉินที่ต้องโทรศัพท์เรียกมา ห้องฉุกเฉิน และไอ.ซี.ยู.ของโรงพยาบาลจะช่วยลูกได้น้อยมาก ผลการวิจัยพบว่าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ที่พ่อแม่หรือผู้อยู่ใกล้ชิดเด็กที่จมน้ำทำการปฐมพยาบาลผิดวิธี มักใช้ท่าอุ้มพาดบ่าเพื่อเอาน้ำออก บางคนเอาเด็กวางลงบนกระทะคว่ำเพื่อรีดเอาน้ำออก การกระทำดังกล่าวไม่ช่วยเหลือเด็กแต่อย่างไร แต่ทำให้เสียเวลาในการช่วยการหายใจเด็ก นอกจากนั้นผลการวิจัยยังพบว่าในรายที่พ่อแม่พาเด็กที่จมน้ำไปยังคลินิกใกล้บ้าน พ่อแม่มักจะได้รับคำแนะนำให้รีบพาส่งโรงพยาบาลต่อไปโดยที่แพทย์ไม่ได้ช่วยเหลือเบื้องต้นและไม่ได้นำส่งด้วยตัวเองทั้งๆ ที่เด็กมีอาการหนัก


 

 

 

จาก: นิตยสารรักลูก

 






เว็บไซต์นี้ เป็นเว็บร้านค้าสมาชิกของ SABUYJAISHOP ผู้ให้บริการทางการตลาดออนไลน์ สำหรับร้านค้าหรือผู้ประกอบการ ที่ต้องการนำเสนอสินค้า โฆษณา ประชาสัมพันธ์ร้านค้า หรือสินค้าในร้าน
©2008-2010 SABUYJAISHOP All Rights Reserved