.
 สถานะของเว็บ
วันที่สร้างเว็บ :13/9/2010
ปรับปรุงเว็บครั้งล่าสุดเมื่อ :3/5/2024
จำนวนคนเข้าชมเว็บนี้ :17510811
คณะสุภาพบุรุษ
บทความ ณ. วันที่ : 10/6/2012        จำนวนคนเข้าชมเว็บ : 975 ครั้ง   

 

คณะสุภาพบุรุษ

 

                                            “ผู้ใดเกิดมาเป็นสุภาพบุรุษ ผู้นั้นเกิดมาสำหรับคนอื่น”

                                                                                        “เล่นกับไฟ” โดย ศรีบูรพา (พิมพ์ครั้งแรก “เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์” สิงหาคม ๒๔๗๑)

 

การก่อเกิด “คณะสุภาพบุรุษ”

ช่วงรอยต่อระหว่างวัยรุ่นกับวัยหนุ่ม ขณะที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้ทำงานเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์‘                                                                                                           เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์’อยู่ประมาณสองปีเศษนั้น ได้มีเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้ "Young กุหลาบ"                                                                                                              ตัดสินใจเลิกคิดที่จะเอาดีทางรับราชการ และได้เบนชีวิตหันมาประกอบอาชีพนักเขียน นักหนังสือพิมพ์โดยอิสระเพียงอย่างเดียว                                                                                    ชนิด สายประดิษฐ์ ได้เล่าถึงเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ในบันทึกดังกล่าว มีใจความตอนหนึ่งว่า

"จบการศึกษา ก็หัดเขียนหนังสือส่งไปให้ที่ต่าง ๆ อยู่ระยะหนึ่ง แล้วได้ทำงานหนังสือ ‘เสนาศึกษาฯ’ของโรงเรียนนายร้อย                                                                                               จนได้เงินเดือนเต็มขั้น ขึ้นอีกไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นนายทหาร ระหว่างทำงานอยู่ที่นี่ ก็ได้พบท่าทีวางเขื่องของนายทหารสมัยนั้นต่อผู้ทำงานที่เป็นพลเรือน

"ระหว่างเงินเดือนถูกกดเพราะไม่ได้เป็นนายทหาร คุณกุหลาบได้สมัครสอบเป็นผู้ช่วยล่าม ที่กรมแผนที่ สอบได้ที่หนึ่ง                                                                                                     แต่ถูกเรียกไปต่อรองเงินเดือนจากอัตราที่ประกาศไว้ โดยเจ้าหน้าที่กรมแผนที่อยากจะให้คนอื่นที่สอบได้ที่ ๒                                                                                                                 ซึ่งเป็นลูกของผู้ดีมีบรรดาศักดิ์ หรือนายทหารชั้นผู้ใหญ่ได้ตำแหน่งนี้ เมื่อถูกต่อรองเป็นครั้งที่ ๒                                                                                                                                       คุณกุหลาบก็แน่ใจว่าเป็นการกีดกันและเล่นพรรคพวก ตั้งแต่นั้นก็ไม่คิดจะทำราชการอีก..."

บันทึกความทรงจำของ "ฮิวเมอริสต์" ว่าด้วย สุภาพบุรุษ ที่เขียนตอนแรกลงในนิตยสาร ไทยกรุง ฉบับปฐมฤกษ์ พ.ศ. ๒๕๓๑                                                                                          และต่อมาได้เขียนขยายความทรงจำว่าด้วย สุภาพบุรุษ ให้ยาวมากขึ้น โดยลงติดต่อกันเป็นตอน ๆ ในนิตยสาร ‘ลลนา’                                                                                                   ระยะใกล้เคียงกัน "ฮิวเมอริสต์" ได้ยกตัวอย่างด้วยอารมณ์ขันว่า เพราะกุหลาบมีปัญหากับทหารยามที่เฝ้าประตู                                                                                                         เนื่องจากเป็นพลเรือน เวลาจะผ่านประตูเข้าไปทำงานในกรมทหาร เขาต้องลงจากรถจักรยานก่อน                                                                                                                                  ส่วนพวกพลทหารนายทหารไม่ต้องลง ขี่จักรยานผ่านเข้าไปได้เลย กุหลาบเห็นว่าไม่ยุติธรรม                                                                                                                                            ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจ "เขียนใบลาออกจากหน้าที่ผู้ช่วยบรรณาธิการ" และได้ตรงไปหาครูอบในทันที

                "ครูครับ ผมลาออกแล้ว"

                ครูอบได้ฟังเหตุผลก็ตอบในทันทีเช่นเดียวกัน

                "เอา ออกก็ออกกัน สมเหตุสมผลแล้ว แล้วจะทำอะไรยังไงกันต่อไป"

                "เราออกหนังสือพิมพ์ของเราเองซีครู"

                "เอาก็เอา มีโครงการยังไงว่าไปซี"

                "เรื่องอยากออกหนังสือพิมพ์ของเรากันเองนี้ ผมก็คิดอยู่นานแล้ว เพราะมัวแต่ทำงานเป็นลูกจ้างของเขาอยู่ยังงี้                                                                                               เมื่อไหร่จะก้าวหน้าไปในทางที่เราคิดจะไปให้ใหญ่กว่านี้ ผมก็หาทางจะทำของเรากันเอง ให้ผลประโยชน์ตกอยู่แก่พวกเรา                                                                                             เราพอจะรวมกันเป็นกลุ่มก้อนได้ พอจะสามารถรับงานหนังสือพิมพ์รายอะไรได้สักฉบับหนึ่ง พอจะมีผู้ออกทุนให้ยืมมาก่อน                                                                                                 เพื่อเริ่มงานได้ขนาดออกรายปักษ์ ผมคิดอยู่นานแล้วว่าจะใช้คำว่า สุภาพบุรุษ เป็นชื่อหมู่คณะที่เราจะรวมกัน"

หนังสือพิมพ์ ‘สุภาพบุรุษ’รายปักษ์ ได้ถือกำเนิดออกฉบับปฐมฤกษ์ ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๒                                                                                                      จัดพิมพ์ที่โรงพิมพ์อักษรนิติ บางขุนพรหม ของนายวรกิจบรรหาร ออกจำหน่ายทุกวันที่ ๑ และ ๑๕ ของเดือน                                                                                                                       มี กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นบรรณาธิการและเจ้าของ "ห้องสมุดไทยหนุ่ม" เป็นเอเยนต์                                                                                                                                                  "ห้องเกษมศรี หน้าวัดชนะสงคราม" เป็นสำนักงาน ค่าบำรุง ๑ ปี ๖ บาท ครึ่งปี ๓.๕๐ บาท (เมล์อากาศ และต่างประเทศเพิ่ม ๑ บาท)                                                                            ราคาจำหน่ายขายปลีกเล่มละ ๓๐ สตางค์ เงินค่าบำรุงส่งล่วงหน้า

                "สารบาน" ของหนังสือ ‘สุภาพบุรุษ’ฉบับปฐมฤกษ์ จำนวน ๑๖๒ หน้า ประกอบด้วยเรื่องดังต่อไปนี้

                ปรารมณ์พจน์คำฉันท์ (คณะสุภาพบุรุษ)

                เชิญรู้จักกับเรา (บรรณาธิการ)

                ปราบพยส ("ศรีบูรพา")

                ธาตุรัก ("แม่อนงค์")

                ธรรมบางข้อ ("แหลมทอง")

                เรื่องกินใจที่สุด ("แมวคราว")

                พูดกันฉันท์เพื่อน (บรรณาธิการ)

                ม้าจริง ๆ เป็นอย่างไร ("ฮิวเมอริสต์")

                น้ำตาลใกล้มด ("แก้วกาญจนา")

                ลีลาศาสต์ (สนิท เจริญรัฐ)

                หมายเหตุเบ็ดเตล็ด ("อุททิศ")

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นหมุดหมายสำคัญในหนังสือ ‘สุภาพบุรุษ’รายปักษ์ ฉบับปฐมฤกษ์ น่าจะอยู่ที่ข้อเขียนในลักษณะบทบรรณาธิการ                                                                          ของตัวผู้เป็นทั้งเจ้าของและบรรณาธิการ ดังมีปรากฏอยู่ในเรื่อง ‘เชิญรู้จักกับเรา’และ ‘พูดกันฉันท์เพื่อน’

                ข้อเขียนเรื่อง เชิญรู้จักกับเรา’กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้ประกาศหมุดหมายที่สำคัญไว้เป็นตัวอย่างให้แวดวงวรรณกรรมชั้นหลัง                                                                       ได้ประจักษ์อย่างสำคัญ ก็คือทัศนะที่บอกว่า งานเขียนหนังสือเป็นงานที่มีเกียรติ และเป็นอาชีพได้             

                "เพื่อที่จะให้หนังสือ ‘สุภาพบุรุษ’อุ่นหนาฝาคั่งไปด้วยเรื่องอันมีค่ายอดเยี่ยม จึงขอประกาศไว้ในที่นี้ว่า เราปรารถนาเป็นอย่างยิ่งที่จะรับซื้อเรื่องจากนักประพันธ์ทั้งหลาย ทั้งที่เป็นเรื่องบันเทิงคดี และสารคดี..."

"ทำไมเราจึงซื้อเรื่อง

                "สำหรับหนังสือพิมพ์ที่ออกเป็นรายปักษ์ หรือรายเดือน ดูเหมือนยังไม่เคยมีฉะบับใด ได้นำประเพณีการซื้อเรื่องเข้ามาใช้ การซึ่งเราจะกระทำขึ้นเป็นครั้งแรกนี้ ก็เพราะเห็นว่าถึงเวลาอันสมควรที่จะกระทำแล้ว... การประพันธ์ของชาวเราทุกวันนี้ เป็น เล่น เสียตั้ง ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ที่จัดว่าเป็น งาน เห็นจะได้สัก ๑๐ เปอร์เซ็นต์ดอกกระมัง บัดนี้จึงควรเป็นเวลาที่เราจะช่วยกันเปลี่ยนโฉมหน้าการประพันธ์ ให้หันจาก เล่น มาเป็น งาน..."

                สำหรับข้อเขียนของบรรณาธิการอีกชิ้นหนึ่ง ‘พูดกันฉันท์เพื่อน’กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า "สุภาพบุรุษ" อย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรกเช่นเดียวกัน และนี่คือเหตุหมายสำคัญที่อาจกล่าวได้ว่าจะติดตัวอยู่ในจิตวิญญาณของสามัญชนที่ชื่อ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ตลอดไปจนชั่วชีวิต

                เจ้าของและบรรณาธิการหนังสือ ‘สุภาพบุรุษ’รายปักษ์ ได้เขียน ‘พูดกันฉันท์เพื่อน’ว่าด้วยความหมายของคำว่า สุภาพบุรุษ อย่างชนิดที่เป็นเหมือน "คำมั่นสัญญา" บางอย่างของตัวเขาเอง ดังต่อไปนี้

"...เรามีความเข้าใจหลายอย่างในคำ 'สุภาพบุรุษ' แต่ความเข้าใจนั้น ๆ หาถูกแท้ทั้งหมดไม่ บางคนยกมือชี้ที่บุรุษแต่งกายโอ่โถง ภาคภูมิ แล้วเปล่งวาจาว่า 'นั่นแลคือสุภาพบุรุษ' ความจริงเครื่องแต่งกาย ไม่ได้ช่วยให้คนเป็นสุภาพบุรุษกี่มากน้อย เครื่องแต่งกายเป็นเพียง 'เครื่องหมาย' ของสุภาพบุรุษเท่านั้น และ 'เครื่องหมาย' เป็นของที่ทำเทียมหรือปลอมขึ้นได้ง่าย เพราะฉะนั้นผู้ที่ติด 'เครื่องหมาย' ของสุภาพบุรุษ จึงไม่จำเป็นต้องเป็นสุภาพบุรุษทุกคนไป

                หนังสือเล่มหนึ่งแนะนำให้เรารู้จักสุภาพบุรุษของอังกฤษ โดยนัยดังต่อไปนี้

                ๑. ชอบการกีฬา.

                ๒. สุภาพเรียบร้อย.

                ๓. ถือตัว (คือไม่ยอมประพฤติชั่วง่าย).

                ๔. ไม่อึกทึกครึกโครม.

                ๕. ชอบอ่านหนังสือพิมพ์.

                ๖. มีนิสสัยซื่อสัตย์.

                กฎกติกาของสุภาพบุรุษอังกฤษ บางข้อไม่จำเป็นสำหรับสุภาพบุรุษไทยนัก แต่ถ้าเรามีกฎที่ดี                                                                                                                         และปฏิบัติตามได้มาก ๆ ก็ย่อมแน่ละ ที่ความเป็นสุภาพบุรุษของเราจะต้องเด่นขึ้น. ถึงอย่างไรก็ดี,                                                                                                                                 เครื่องแต่งกาย ก็ไม่ได้อยู่ในกฎเกณฑ์ของสุภาพบุรุษอังกฤษในข้อใดข้อหนึ่ง บางทีสุภาพบุรุษอังกฤษเอง                                                                                                                          ก็คงจะถือว่า เครื่องแต่งกายเป็นเพียง "เครื่องหมาย" ของสุภาพบุรุษ เหมือนดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ข้างต้น.    

                ข้าพเจ้าค่อนข้างแน่ใจว่า ประเพณีได้บังคับให้สุภาพบุรุษของเรา มีลักษณะต่างกับสุภาพบุรุษของชาติอื่นในบางประการ                                                                                                   แต่จะต่างกันอย่างใด ไม่ใช่ความมุ่งหมายที่ข้าพเจ้าตั้งใจเขียนในเวลานี้.

                ชาวอังกฤษยังถือกฎที่พิสดารอยู่อีกอย่างหนึ่ง ที่ว่า "Three generations make a gentleman" เนื้อความดูจะกะเดียด ๆ มาข้าง 'ผู้ดีแปดสาแหรก' ของเรา กฎอันนี้ชาวอังกฤษในยุคปัจจุบัน ดูเหมือนไม่ค่อยได้เอาใจใส่ พาลจะเห็นว่าเป็นกฎที่น็อนเซ็นส์เอาทีเดียว ถ้าคนเราจะเป็นสุภาพบุรุษได้ ต่อเมื่อบรรพบุรุษต้องเป็นสุภาพบุรุษมาแล้วถึง ๓ ชั่วคน ก็ดูออกจะเป็นบาปอันหนัก สำหรับสุภาพบุรุษ ที่ไม่มีบรรพบุรุษเป็นสุภาพบุรุษอยู่ครันๆ. จากกฎอันนี้, สุภาพบุรุษดูเหมือนจะมีรูปร่างหน้าใกล้เข้าไปทางขุนนางเป็นอันมาก เพราะต้องอาศัยบารมีของผู้อื่นช่วย และก็ในหมู่พวกขุนนางอาจมีคนชั่วรวมอยู่ด้วยได้ ฉะนั้นในหมู่สุภาพบุรุษ ก็เห็นจะต้องมีคนชั่วรวมอยู่ได้ด้วยอีกกะมัง ? เป็นของน่าขันมาก, ถ้าสมัยนี้ยังมีคนนิยมนับถือในกฎที่ว่า "Three generations make a gentleman"

                ถ้าจะว่า "สุภาพบุรุษ" มีรูปร่างหน้าตาใกล้เข้าไปกับ "ผู้ดี" ดูจะไม่ค่อยมีข้อคัดค้าน แต่ต้องให้เป็น "ผู้ดี" ซึ่งคนในสมัยนี้เข้าใจกัน ถ้าเป็น "ผู้ดีเดิรตรอก" อย่างสมัย ๑๐ ปีก่อนลงไป สุภาพบุรุษของเราก็คงไม่มีโอกาสใกล้เข้าไปได้อีกตามเคย. แต่อย่างไรก็ตาม, คำว่า "สุภาพบุรุษ" ข้าพเจ้ารู้สึกว่ามีความหมายแรงกว่า "ผู้ดี" เพราะผู้ดี, ตามความเข้าใจของข้าพเจ้า, เป็นแต่ทำตัวสุภาพอ่อนโยนอยู่ในกรอบของจรรยาเท่านั้น ส่วนสุภาพบุรุษ นอกจากจะต้องทำหน้าที่อย่างผู้ดี ยังมีหน้าที่จุกจิกอื่น ๆ ที่จะต้องทำอยู่มาก.

หัวใจของ 'ความเป็นสุภาพบุรุษ' อยู่ที่การเสียสละ เพราะการเสียสละเป็นบ่อเกิดของคุณความดีร้อยแปดอย่าง หากผู้ใดขาดภูมิธรรมข้อนี้ ผู้นั้นยังไม่เป็นสุภาพบุรุษโดยครบครัน. ถ้าจะอธิบายความหมายของสุภาพบุรุษให้กะชับเข้า ก็จำต้องยืมถ้อยคำที่ว่า 'ผู้ใดเกิดมาเป็นสุภาพบุรุษ ผู้นั้นเกิดมาสำหรับคนอื่น', ซึ่งข้าพเจ้าได้แต่งไว้ในหนังสือเรื่องหนึ่งมาใช้..."

ประโยคที่ว่า "ผู้ใดเกิดมาเป็นสุภาพบุรุษ ผู้นั้นเกิดมาสำหรับผู้อื่น" ที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ยกข้อความมาไว้ในเครื่องหมายคำพูดนั้น แท้จริงก็หาได้เอามาจากผู้อื่นไม่ แต่เป็นข้อความที่มาจากนวนิยายขนาดสั้นเรื่อง ‘เล่นกับไฟ’ที่ "ศรีบูรพา" ได้เขียนลงตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ ถือเป็นประโยคที่ยังสดๆ ร้อนๆ สำหรับคนหนุ่มอายุ ๒๓ ที่ได้ประกาศ "อุดมคติ" เอาไว้อย่างเป็นรูปธรรม โดยแทรกอยู่ในนิยายรักโรแมนติกเรื่อง ‘เล่นกับไฟ’ของเขาเอง และได้นำมาประกาศ คล้ายเป็นเข็มมุ่งของหมู่คณะว่า จะรักษาความเป็น สุภาพบุรุษ เอาไว้ให้ถึงที่สุด เพราะ สุภาพบุรุษ นั้นหมายถึง "ผู้เกิดมาสำหรับคนอื่น" นี่คือแก่นหลักของหมู่คณะที่เรียกตัวเองว่า สุภาพบุรุษ ที่ได้แสดงปณิธานว่า ในภายภาคหน้า แม้หมู่คณะนี้จะกระจัดกระจายกันไป หรือยังรวมกลุ่มกันทำงานในฐานะนักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ แต่ความมุ่งมั่นของบรรณาธิการ-กุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่ว่าจะ "เกิดมาสำหรับคนอื่น" นั้น คงยังยืนยงอยู่ต่อมา จนกลายเป็นเบ้าหลอมสำคัญของตัวเขาเอง จวบจนสิ้นชีวิต      

                คณะสุภาพบุรุษ ที่ก่อเกิดมาพร้อมกับหนังสือ ‘สุภาพบุรุษ’รายปักษ์ เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๒ นั้น ประกอบด้วยคนหนุ่มในวัยไล่เลี่ยกัน ที่เห็นว่าอาวุโสมากกว่า กุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็มีอยู่บ้าง เช่น ขุนจงจัดนิสัย ชิต บุรทัต สถิตย์ เสมานิล หอม นิลรัตน์ ณ อยุธยา และ อบ ไชยวสุ แต่ทว่าทั้งหมดก็ล้วนเป็น "เกลอ" กัน มีชีวิตผูกพันกันด้วยผลงานทางการประพันธ์

                ความทรงจำของ "ร. วุธาฑิตย์" (นามปากกาของ จรัล วุธาฑิตย์) ที่เขียนเล่าถึง คณะสุภาพบุรุษ โดยพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ ‘ชมรมนักเขียน’ของ ประกาศ วัชราภรณ์ (บำรุงสาส์น : ๒๕๐๙) ข้อเขียนเรื่อง ‘ชมรมสุภาพบุรุษ’ของ วิลาศ มณีวัต ที่อยู่ในหนังสือ ‘โฉมหน้านักประพันธ์’(คลังวิทยา : ๒๕๐๒) ตลอดจนข้อเขียนอย่างเช่น ‘เมื่อพรหมลิขิตให้ข้าพเจ้าเป็นนักประพันธ์’ของ ยศ วัชรเสถียร ที่พิมพ์ครั้งแรกอยู่ในหนังสือรวมเรื่องสั้น ‘มนุษยเดินดิน’ของเขาเอง (โอเดียนสโตร์ : ๒๕๐๓) หนังสือเหล่านี้ถือเป็นงานเขียนในยุคมืดของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และยุคเผด็จการ "ถนอม - ประภาส" ที่สามารถต่อยอดให้นักอ่านในชั้นหลัง รุ่น พ.ศ. ๒๕๐๕-๒๕๑๐ สามารถปะติดปะต่อเรื่องราวเกี่ยวกับคำว่า คณะสุภาพบุรุษ และ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะเห็นว่าหนังสือบางเล่มอย่างเช่น ‘๑ ศตวรรษหนังสือพิมพ์ไทย’ของ เสลา เลขะรุจิ (บำรุงสาส์น : ๒๕๑๐) กลับไม่ให้ความสำคัญแก่ คณะสุภาพบุรุษ และ กุหลาบ สายประดิษฐ์ แม้แต่น้อย

                ข้อเขียนที่เป็นความทรงจำของ "ร. วุธาฑิตย์" หนึ่งในนักเขียน คณะสุภาพบุรุษ ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือของ ประกาศ วัชราภรณ์ เมื่อ ๔ ทศวรรษก่อน ถือเป็นเรื่องต่อยอดที่สำคัญ เพราะได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับ คณะสุภาพบุรุษ ไว้มากที่สุด พร้อมทั้งได้ตีพิมพ์รูปถ่ายที่ถือว่าคลาสสิกอย่างยิ่ง ทำให้เกิดภาพคุ้นตาเป็นครั้งแรกว่า คณะสุภาพบุรุษ นั้นเคยมีตัวตน (นัดถ่ายเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๓ หน้าบันไดศาลสถิตยุติธรรม) โดยให้รายละเอียดว่า คณะสุภาพบุรุษ นั้นประกอบไปด้วย กวี นักเขียน นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ ทั้งหมด ๑๘ คน

    คณะผู้ก่อการมีทั้งหมด ๑๐ คน คือ

    ๑. กุหลาบ สายประดิษฐ์ ("ศรีบูรพา")

    ๒. อบ ไชยวสุ ("ฮิวเมอริสต์")

    ๓. มาลัย ชูพินิจ ("แม่อนงค์")

    ๔. ระคน เภกะนันท์ (นามปากกา "กู๊ดบอย")

    ๕. อุเทน พูลโภคา (นามปากกา "ช่อมาลี")

    ๖. โชติ แพร่พันธุ์ (นามปากกา "ยาคอบ")

    ๗. บุญทอง เลขะกุล (นามปากกา "วรมิตร")

    ๘. สนิท เจริญรัฐ (นามปากกา "ศรีสุรินทร์")

    ๙. สุดใจ พฤทธิสาลิกร (นามปากกา "บุศราคำ")

    ๑๐. จรัญ วุธาฑิตย์ (นามปากกา "ร. วุธาฑิตย์")

    คณะผู้มาร่วมก่อการ มีทั้งหมด ๘ คน

    ๑. ขุนจงจัดนิสัย (ชื่อเดิม สนิท ศตะกูรมะไม่ทราบนามปากกา)   

    ๒. ชิต บุรทัต (นามปากกา "แมวคราว")

    ๓. หอม นิลรัตน์ ณ อยุธยา (นามปากกา "คุณฉิม")

    ๔. เสนอ บุณยเกียรติ (นามปากกา "แสงบุหลัน")

    ๕. ฉุน ประภาวิวัฒน (นามปากกา "นวนาค")

    ๖. สถิตย์ เสมานิล (นามปากกา "นายอยู่")

    ๗. พโยม โรจนวิภาต (นามปากา "อ.ก. รุ่งแสง")

    ๘. พัฒน์ เนตรรังษี (นามปากกา "พ. เนตรรังษี")            

 

ในบรรดา คณะสุภาพบุรุษ ทั้ง ๑๘ คนนี้ มีเพียงบางคนเท่านั้นที่มีข้อมูลเชิงประวัติให้คนรุ่นหลังได้รับทราบ แต่ส่วนใหญ่แล้วขาดข้อมูล ไม่รู้แม้แต่วัน เดือน ปีเกิดปีตายด้วยซ้ำ (หนังสือเรื่อง ‘สุภาพบุรุษนักประพันธ์’ของ ประกาศ วัชราภรณ์ ที่รวบรวมขึ้นใหม่ล่าสุดเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็ไม่ได้ช่วยให้เห็นภาพในแง่ข้อมูลเพิ่มเติมมากนัก) นอกจากนี้ ที่บอกว่า คณะสุภาพบุรุษ มี ๑๘ คน ถ้าหากอ่านเพิ่มเติมในความทรงจำของ สุภาพบุรุษ ที่ "ฮิวเมอริสต์" เขียน ก็จะพบว่ามีเพื่อนนักเขียนของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ แต่ครั้งสมัย ‘เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์’อีกสองคน ที่อยู่ใน "ก๊วน" นี้ตั้งแต่วันแรกที่มาชุมนุม "ดื่ม" กันที่ "ห้องเกษมศรี" คือ ทองอิน บุณยเสนา (นามปากกา "เวทางค์") และ ร.ท. ขจร สหัสรจินดา (นามปากกา "พันเพ็ชร") ทั้งสองคนเป็นนักเขียนมือดีทั้งในแง่เรื่องสั้นและนวนิยายที่ถูกลืมไปแล้ว นอกจากนั้น คณะสุภาพบุรุษ ยังน่าจะมีเพื่อนนักเขียนของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ชื่อ เฉวียง เศวตะทัต (นามปากกา "วงศ์เฉวียง") รวมอยู่ด้วย เพราะทั้งสองคนเคยร่วมงานกันมาตั้งแต่ครั้งทำหนังสือพิมพ์ ‘ธงไทย’ที่ว่าด้วย "กลอนลำตัด" เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙

หนังสือ ‘สุภาพบุรุษ’รายปักษ์ ฉบับปฐมฤกษ์ เมื่อ ๗๒ ปีก่อน มียอดพิมพ์ครั้งแรก ๒,๐๐๐ เล่ม หนังสือได้รับความนับถือในทันที เพราะจำหน่ายได้หมดในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้ ‘สุภาพบุรุษ’ฉบับที่ ๒ เพิ่มยอดพิมพ์เป็น ๒,๓๐๐ เล่ม และฉบับที่ ๓ เพิ่มยอดพิมพ์เป็น ๒,๕๐๐ เล่ม มีสมาชิกส่งเงิน "ค่าบำรุงหนังสือ" เข้ามาเป็นประจำประมาณ ๕๐๐ คน ใน พ.ศ. ๒๔๗๒ ประชากรประเทศสยามยังมีไม่ถึง ๑๕ ล้านคน นับว่าน่าอัศจรรย์เอาการที่หนังสือในลักษณะเรื่องสั้น บทกวี นวนิยาย บทความ ตอบปัญหา ฯลฯ ซึ่งจัดเป็น Literary Magazine มากกว่าเป็นลักษณะ "ข่าวสาร การบ้าน การเมือง" หรือ Current Newspaper แม้ขณะนั้นจะเรียกตัวเองว่าเป็นหนังสือ, หนังสือพิมพ์ แต่ก็เพราะในยุค พ.ศ. ๒๔๗๒ ยังไม่มีคำว่า นิตยสาร เกิดขึ้นในภาษาไทย การจัดทำหนังสือทั่วไปทุกลักษณะ ไม่ว่าจะเป็น "ราย" อะไรก็ตาม จะเรียกเหมือนกันหมดว่าเป็น หนังสือ หรือไม่ก็ หนังสือพิมพ์ แม้รัชกาลที่ ๖ จะบัญญัติคำว่า วารสาร ขึ้นใช้กับ ทวีปัญญา รายเดือน ในความหมายที่มาจากภาษาอังกฤษว่า Periodical แล้วก็ตาม แต่ส่วนใหญ่แล้ว ไม่ว่าใครทำหนังสือแบบไหนก็ตาม มักจะเรียกรวมกันว่า "ทำหนังสือพิมพ์" ไปทั้งหมด ชี้ให้เห็นว่าบ่อเกิดของการเป็นนักเขียน นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์แต่ดั้งเดิมนั้น ถือเป็นภาวะเดียวกัน ไม่แยกกันเหมือนอย่างปัจจุบัน               

                ตามหลักฐานชั้นต้นที่พบในงานนิทรรศการ "นักเขียนเก่าไม่มีวันตาย" เพื่อแสดงคารวะ นักเขียน นักประพันธ์ คณะสุภาพบุรุษ นั้นได้มีการนำหนังสือ ‘สุภาพบุรุษ’รายปักษ์ที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นบรรณาธิการและเจ้าของมาแสดงไว้ทั้งหมดจำนวน ๒๓ เล่ม ซึ่งนับเป็นครั้งที่ ๒ ก็ว่า ได้ที่มีการนำหลักฐานชั้นต้นว่าด้วยหนังสือ ‘สุภาพบุรุษ’รายปักษ์มาแสดงไว้มากที่สุด (ก่อนหน้านี้ กองบรรณาธิการ ‘โลกหนังสือ’เคยนำมาแสดงไว้ครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ ที่สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย) จากข้อมูลเท่าที่มีหลักฐานชั้นต้นของหนังสือ ‘สุภาพบุรุษ’รายปักษ์ทั้ง ๒๓ เล่ม ทำให้ปะติดปะต่อได้ว่า หนังสือ สุภาพบุรุษ รายปักษ์ ที่ถือเป็นบ่อเกิดของ คณะสุภาพบุรุษ เมื่อ ๗๒ ปีก่อนนั้น ได้มีการจัดทำกันทั้งหมด ๓๗ เล่ม โดยมีขนาดรูปเล่มแบบ Pocket Magazine ตลอดทั้งปี พ.ศ. ๒๔๗๒ อยู่ ๒๔ เล่ม คือตั้งแต่ฉบับที่ ๑-๒๔ ราคาจำหน่าย ๓๐ สตางค์ ครั้นขึ้นปี พ.ศ. ๒๔๗๓ หนังสือ ‘สุภาพบุรุษ’รายปักษ์ได้ขยายรูปเล่มให้ใหญ่ขึ้น (ขนาดใกล้เคียงกับ ‘โลกหนังสือ’) คือตั้งแต่ฉบับที่ ๒๕-๓๗ และได้เพิ่มราคาจำหน่ายเป็น ๔๐ สตางค์

                จากหลักฐานนี้จึงน่าจะชัดเจนได้ว่า หนังสือ ‘สุภาพบุรุษ’รายปักษ์ ได้จัดทำกันทั้งหมด ๓๗ เล่ม ฉบับปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๒ และฉบับสุดท้าย คือปีที่ ๒ เล่มที่ ๓๗ ระบุเวลาไว้คือวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๓ ศิลปินผู้วาดปกของ ‘สุภาพบุรุษ’รายปักษ์มักชอบวาดรูป "สุภาพสตรี" ขึ้นปกแทบทุกเล่ม และบางเล่มก็จะวาดเป็นรูปผู้หญิงกับผู้ชายอยู่ด้วยกัน เริ่มต้นจากผู้ใช้นามว่า "ธัญญา" แห่งสยามศิลป์ สลับกับ "เฉลิมวุฒิ" (นามปากกา เฉลิม วุฒิโฆษิต) และ ‘สุภาพบุรุษ’รายปักษ์เล่มสุดท้ายเป็นภาพปกที่วาดโดย อ.ก.รุ่งแสง (ทำให้ทราบว่า พโยม โรจนวิภาต ผู้ใช้นามปากกา "งามพิศ" เวลาเขียนบทกลอน และ "อ.ก.รุ่งแสง" เวลาเขียนเรื่องสั้นและนวนิยายนั้น ก็เป็นหนึ่งในบรรดานักประพันธ์ที่ชอบวาดรูปในสมัยนั้น)

                หนังสือ ‘สุภาพบุรุษ’รายปักษ์ ฉบับสุดท้าย คือปีที่ ๒ ฉบับที่ ๓๗ วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๓ ได้ยุติการจัดทำลงไปโดยไม่มีหลักฐานการแถลงอยู่ในบทบรรณาธิการแต่ประการใด บางทีอาจจะเป็นเหตุผลเหมือนอย่างที่ สุภา ศิริมานนท์ ได้เคยกล่าวไว้

                "การแต่งหนังสือเป็นอย่างเดียว ไม่มีความรู้ไม่มีความสันทัดในทางบริหาร ถึงจะจำหน่ายได้ดี นิตยสารนี้ก็ไม่สามารถจะตั้งอยู่ได้" (‘โลกหนังสือ’: ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๑)

                แต่ถ้าพิจารณาอีกประเด็นหนึ่งจากข้อเขียนความทรงจำของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่เพิ่งค้นพบเมื่อไม่นานนี้ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้เขียนความทรงจำของตนในช่วงนั้นไว้อย่างน่าสนใจว่า   

                "ฉันมีโชคชะตาของฉันที่จะดำเนินต่อไปด้วยความดำริริเริ่มของฉันเอง ฉันต้องการจะทดลองความคิดและความสามารถของฉัน จากความฝึกฝนที่ฉันได้รับมา ๕-๔ ปี ดังนั้นในเดือนมิถุนายน พ.ส. ๒๔๗๒ ฉันจึงรวบรวมสมัครพรรคพวก จัดตั้งหนังสือพิมพ์รายปักษ์ ‘สุภาพบุรุษ’ขึ้นโดยได้รับความอุดหนุนจากนายหอม นิลรัตน์ ณ อยุธยา เจ้าของหนังสือพิมพ์ ‘ไทยหนุ่ม’ซึ่งในเวลานั้นเปนหนังสือพิมพ์รายวันที่มีวิธีการอันก้าวหน้ากว่าหนังสือพิมพ์ใดๆ ในสมัยเดียวกัน

                "กิจการของเราได้รับความสำเร็จอย่างงดงาม ชื่อเสียงของคณะเรา คณะ 'สุภาพบุรุษ' แผ่กว้างออกไปจนกระทั่งราวต้นปี พ.ส. ๒๔๗๓ หนังสือพิมพ์ ‘บางกอกการเมือง’ซึ่งเปนหนังสือพิมพ์ผู้น้องของหนังสือพิมพ์ ‘กรุงเทพไทยเดลิเมล์’(คือเป็นหนังสือพิมพ์ร่วมเจ้าของเดียวกัน) ของบริษัทสยามฟรีเปรส ประสพความเสื่อมโทรม ขาดความนิยม และจำนวนหนังสือที่พิมพ์จำหน่าย ได้ลดลงเปนลำดับ ทางกองอำนวยการจึงได้ประชุมปรึกสาหาทางแก้ไข นายชะอุ่ม กมลยะบุตร นักหนังสือพิมพ์อาวุโส และในเวลานั้นเปน 'พี่เบิ้ม' อยู่ในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ‘กรุงเทพเดลิเมล์’ได้เสนอต่อกองอำนวยการว่า ถ้าจัดการให้ได้ตัวฉันมาเปนบรรณาธิการ ก็คงปรับปรุงหนังสือพิมพ์ ‘บางกอกการเมือง’ให้ขึ้นสู่ความนิยมได้ ด้วยได้เห็นความสำเร็จของฉันในการจัดตั้งหนังสือพิมพ์รายปักษ์ ‘สุภาพบุรุษ’มาแล้ว ทางกองอำนวยการของสำนักนั้น ตกลงรับข้อเสนอของนายชะอุ่ม และได้ให้คนมาติดต่อ บอกเชินฉันเปนบรรณาธิการ

                "ว่าตามจริง ในเวลานั้นฉันก็กำลังเพลิดเพลิน ในกิจการงานหนังสือพิมพ์ ‘สุภาพบุรุษ’ของฉันอยู่ไม่น้อย เพราะประการหนึ่ง งานของเรากำลังเจรินเปนปึกแผ่น ประการที่สอง เรามีเวลาเป็นอิสระแก่ตัว ที่จะเชื้อเชินมิตรสหายนักเขียนของเรามาร่วมชุมนุมสนทนาเลี้ยงดูรื่นเริงกันได้ทุกเวลาเย็น นะที่สำนักงานของเรา หรือนะที่สรรพานิช หรือนะที่ใดที่หนึ่งตามแต่เราจะพอใจ เรามีรายได้จากกิจกรรมงานของเราเพียงพอที่จะจับจ่ายเลี้ยงดูกันได้ โดยไม่ต้องระมัดระวังในความสิ้นเปลือง เรามีเสรีเต็มเปี่ยม เพราะว่ารายได้เหล่านั้นมันเปนของเรา  

                "รายได้ทางหนังสือพิมพ์ ‘สุภาพบุรุษ’ของฉันนั้น สูงกว่ารายได้ในตำแหน่งบรรณาธิการ ‘บางกอกการเมือง’สัก ๒-๓ เท่า แต่เมื่อฉันได้คำเชิน ใจฉันก็ไหว กลิ่นหนังสือพิมพ์ข่าวแตะจมูก และความรู้สึกของฉันอย่างแรง ฉันสูดกลิ่นนั้นด้วยความรู้สึกซาบซ่านสั่นสเทือน ฉันใช้เวลา ๕ ปีของเยาวมานพ ฝึกฝนและหาความชำนาญอยู่ในโลกหนังสือแม็กกาซีนและนวนิยาย ความกระหายคั่นต่อไปของฉันก็มีอยู่ว่า ทำไฉนฉันจะได้ผ่านอาณาจักรแม็กกาซีนและนวนิยาย ไปสู่อาณาจักรหนังสือพิมพ์ข่าวอย่างจริงจังสักครั้งหนึ่ง ฉันต้องการรู้รสชีวิต และต้องการผเชินภัย ถ้าหากมีภัยอยู่จริงในอาณาจักรนั้น

                "เมื่อฉันมีความเอนเอียงในใจ ที่จะไปสู่อาณาจักรใหม่ ฉันก็ปรึกสาหารือกันกับพรรคพวก และจัดแจงชีวิตของเราให้สำเร็จผลไปในทางนั้น หนังสือพิมพ์ ‘สุภาพบุรุษ’นั้น เปนหน่อเนื้อเชื้อไขของเราเอง จะเปรียบก็เหมือนเปนเมืองอู่ข้าวอู่น้ำของเรา พวกเรา ธุระสำคัญของเราจึงอยู่ที่ว่าจะต้องจัดแจงให้กิจการหน่อเนื้อเชื้อไข ได้ดำรงอยู่และได้ดำเนินต่อไปโดยราบรื่น..."

                (กุหลาบ สายประดิษฐ์ : บทบาทอันหนึ่งในชีวิตการหนังสือพิมพ์ของฉัน : อ้างใน "สิงห์ สนามหลวงสนทนา" เนชั่นสุดสัปดาห์ : ๑๖-๒๒ เมษายน ๒๕๔๔)

 

                หลังจากเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๓ ตำนานแห่ง คณะสุภาพบุรุษ ยังคงมีสืบต่อมา แต่ทว่ามิได้เป็นไปในลักษณะของการจัดทำ Literary Magazine อีกต่อไป การยุติลงของ ‘สุภาพบุรุษ’รายปักษ์ อาจมีสาเหตุมาจาก "การบริหารจัดการ" (เช่นเก็บเงินจากสายส่งไม่ได้) หรืออาจมีสาเหตุมาจากการ "อิ่มตัว" ของบรรณาธิการเองก็เป็นได้ ดังที่กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้เอ่ยความในใจบอกว่า "ฉันมีความเอนเอียงในใจที่จะไปสู่อาณาจักรใหม่..." "...ความกระหายคั่นต่อไปของฉันก็มีอยู่ว่า ทำไฉนฉันจะได้ผ่านอาณาจักรแม็กกาซีนและนวนิยาย ไปสู่อาณาจักรหนังสือพิมพ์ข่าวอย่างจริงจัง..."

                คำว่า หนังสือพิมพ์ข่าว คือคำตอบที่แจ่มชัดในตัวของมันเอง
 

จากส่วนหนึ่งของบทความ สุภาพบุรุษ… มนุษยภาพ “ศรีบูรพา” กุหลาบ สายประดิษฐ์ โดยสุชาติ สวัสดิ์ศรี

นิตยสารสารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๑๙๖ มิถุนายน ๒๕๔๔ (๗๒ ปี “คณะสุภาพบุรุษ” ๙๖ ปี “ศรีบูรพา”)






เว็บไซต์นี้ เป็นเว็บร้านค้าสมาชิกของ SABUYJAISHOP ผู้ให้บริการทางการตลาดออนไลน์ สำหรับร้านค้าหรือผู้ประกอบการ ที่ต้องการนำเสนอสินค้า โฆษณา ประชาสัมพันธ์ร้านค้า หรือสินค้าในร้าน
©2008-2010 SABUYJAISHOP All Rights Reserved