.
ตะกร้า [0]
วันที่สร้างเว็บ :24/12/2010
ปรับปรุงเว็บครั้งล่าสุดเมื่อ :3/10/2013
จำนวนคนเข้าชมเว็บนี้ :174907
ข้าว : อาหารเพื่อสุขภาพ
บทความ ณ. วันที่ : 2/12/2011        จำนวนคนเข้าชมเว็บ : 354 ครั้ง   

 

ข้าวเป็นของขวัญจากธรรมชาติที่อุดมด้วยคุณค่า  เป็นอาหารหลักของคนกว่าครึ่งโลก  เมล็ดข้าวหนึ่งเม็ดประกอบด้วยส่วนเปลือกที่ห่อหุ้มอยู่ภายนอก  ถัดเข้าไปจะเป็นชั้นรำที่เป็นเยื่อบางๆห่อหุ้มเม็ดข้าวขาวและจมูกข้าวไว้  ตัวเม็ดข้าวขาวที่เราบริโภคกัน ประกอบขึ้นจากโมเลกุลของแป้งที่อัดกันแน่นเป้นนุภาคเล็กๆนับล้านล้านอนุภาค  และส่วนของจมูกข้าวจะอยู่ปลายเมล็ด  เป็นส่วนของต้นอ่อนที่จะเจริญงอกงามเป็นต้นข้าวต่อไป 

 ในจมูกข้าวหรือคัพภะของข้าวนี้ เป็นแหล่งของเอนไซม์ วิตามิน และเกลือแร่ที่เกี่ยวข้องกับการงอกของเมล็ด   สำหรับส่วนของรำข้าวนั้นเป็นชั้นที่อุดมด้วยไขมันรำข้าว โปรตีน กากใยอาหาร และวิตามิน   เป็นที่น่าเสียดายที่เทคโนโลยีการขัดสีข้าวสมัยใหม่ได้ขัดเอาชั้นรำสีคล้ำๆนี้ทิ้งไปพร้อมกับจมูกข้าว เหลือแต่ข้าวขาวที่เป็นแป้งล้วนๆให้เรารับประทานกัน   ผลของการขัดสีข้าวทำให้วิตามินบี 1 หายไป วิตามินบี 3 หายไป    วิตามินบี 6 หายไปอีก 90%  ธาตุแมงกานีสและฟอสฟอรัสหายไปครึ่งหนึ่ง  ธาตุเหล็กหายไป 60%  และกากใยอาหารเกือบทั้งหมดหายไปด้วย  เหลือแต่กากข้าวให้เรารับประทานกัน 

ข้าวกล้องเหมาะเป็นอาหารควบคุมน้ำหนัก
จากงานค้นคว้าที่ตีพิมพ์ในวารสาร American Journal of Clinical Nutrition ในเดือน พฤศจิกายน ปี 2003  ได้เน้นถึงความสำคัญของการเลือกบริโภคข้าวแบบเต็มเมล็ด (whole grain) เช่น ข้าวกล้องให้ผลดีต่อสุขภาพ มากกว่า ข้าวที่ผ่านการขัดสีจำพวกข้าวขัดขาว เพื่อช่วยในการควบคุมน้ำหนักของร่างกาย
จากค้นคว้าของ มหาวิทยาลัยฮาร์วาด ซึ่งเก็บข้อมูลจากนางพยาบาลจำนวน 74,097 คน ช่วงอายุระหว่าง 38-63 ปี เป็นเวลากว่า 12 ปี   พบว่าน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูง และข้าวเต็มเมล็ด แต่เกี่ยวเนื่องเป็นอย่างมากกับการรับประทานอาหารที่มาจากข้าวขัดสี    ไม่เพียงแต่ผู้หญิง ที่บริโภคข้าวเต็มเมล็ดอย่างสม่ำเสมอจะสามารถควบคุมให้น้ำหนักตัวคงที่ได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่บริโภคอาหารประเภทเส้นใยอาหารสูงแล้ว  ยังพบว่ากลุ่มที่บริโภคข้าวเต็มเมล็ดยังมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่ากลุ่มที่รับประทานข้าวขัดขาวถึง 49%
สารอาหารในข้าวกล้องมีคุณสมบัติควบคุมระบบเผาผลาญในร่างกาย
ข้าวกล้อง มีค่าการเปลี่ยนเป็นน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำ (low glycemic index) ซึ่งช่วยสร้างสมดุลให้กับระดับน้ำตาลในเลือดเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีปัญหาในการควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับปรกติ ช่วยในการลดน้ำหนักและให้พลังงานแก่ร่างกายในระดับพอดี ไม่มีพลังงานส่วนเกินที่จะนำไปสะสมอันจะนำไปสู่ภาวะโรคอ้วน   จากงานวิจัยพบว่าในอาสาสมัครที่รับประทานข้าวกล้อง มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าอาสาสมัครที่รับประทานข้าวขัดขาว  
อาหารที่ทำจากเมล็ดข้าวขัดขาวเช่น ขนมปังขาว คุกกี้ ขนมอบ พาสต้า  ไม่เพียงแต่มีส่วนเกี่ยวพันกับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น  แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงของโรคเบาหวาน (ประเภท 2) อีกด้วย  รวมไปถึงกลุ่มอาการโรคที่เกี่ยวเนื่องกับการเผาผลาญอาหารในร่างกาย (เป็นตัวบ่งชี้ถึงโรคเบาหวานประเภท 2 และโรคหัวใจ)  พบว่า การรับประทานอาหารที่ประกอบจากข้าวกล้อง สามารถป้องกันตัวจากโรคร้ายดังกล่าวกล่าวถึงนี้ ลักษณะทั่วไปที่พบในกลุ่มอาการโรคที่เกี่ยวเนื่องกับ การเผาผลาญอาหารในร่างกาย คือ โรคอ้วนผิดปรกติ  หรือที่มีรูปร่างแบบหุ่นแอปเปิล   คนกลุ่มนี้มักพบว่ามีปริมาณคลอเรสเตอรอลชนิด HDL ต่ำ มีสารไขมันไตรกลีเซอไรด์ สูง และมีความดันโลหิตสูง
เมื่อบริโภคอาหารที่มีกากใยอาหารสูงเช่นข้าวกล้อง  จะทำให้กลุ่มอาการดังกล่าวลดลงได้ถึง 38% ในทางกลับกัน ผู้ทดลองที่ทานอาหารประเภทกากใยอาหารต่ำและเลือกทานแต่อาหารที่ผ่านกระบวนการขัดสีซึ่งมีค่า glycemic index สูง จะพบอาการบกพร่องทางการเผาผลาญสารอาหารของร่างกายสูงถึง 141% เมื่อเทียบกับผู้ที่ทานแต่อาหารที่มีกากใยสูงเช่น พืชตระกูลถั่ว ผัก และ ผลไม้    อนึ่ง glycemix index หรือ ค่าดัชนีไกลซิมิค  เป็นตัวชี้บ่งว่าอาหารชนิดนั้นมีอัตราการเปลี่ยนสารอาหารให้เป็นระดับน้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือดได้เพียงใด  ยิ่งมีค่าดัชนีสูงก็ยิ่งมีอัตราการเปลี่ยนเป็นน้ำตาลกลูโคสสูง   ดังนั้น อาหารที่มีกากใยอาหารสูง จะมีค่าดัชนีไกลซิมิคต่ำ เช่น ข้าวกล้อง และเมล็ดธัญญพืชต่างๆ

กรดไขมันในรำข้าวควบคุมระดับไขมันในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
น้ำมันที่อยู่ในชั้นรำข้าว จัดเป็นไขมันสุดยอดที่ร่างกายต้องการ  ประกอบด้วยไขมันที่เป็นกรดไขมันอิ่มตัว 20%, กรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิด MUFA (monounsaturated fatty acid คือมีพันธะคู่ของไฮโดรเจน 1 ตำแหน่ง) 40%  และไขมันไม่อิ่มตัวชนิด PUFA (polyunsaturated fatty acid คือมีพันธะคู่ของไฮโดรเจน 2-3 ตำแหน่ง) 40%    สมาคมหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (American Heart Association) รับรองว่าน้ำมันรำข้าวเป็นน้ำมันที่มีคุณภาพ    น้ำมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัวเกินกว่า 10% มักจะทำให้ระดับคลอเรสเตอรอลสูงขึ้นด้วย   อย่างไรก็ตามหากกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิด MUFA มีมากกว่า 10% แล้วจะสามารถควบคุมระดับคลอเรสเตอรอลให้คงที่ได้  นอกจากนี้น้ำมันรำข้าวยังจัดเป็นน้ำมันประเภทแตกตัวได้สูงกว่าน้ำมันจากพืชอื่นๆ   คุณสมบัติต่างๆเหล่านี้เป็นสัดส่วนที่เหมาะสมที่กดดันให้ระดับคลอเลสเตอรอลในร่างกายลดลง
มีกรดไขมันบางชนิดที่ร่างกายสังเคราะห์เองไม่ได้ ต้องพึ่งพาจากอาหารที่รับประทานเข้าไป   หากขาดกรดไขมันที่จำเป็นเหล่านี้ ร่างกายจะไม่สามารถสร้างพรอสตาแกลนดินส์(prostaglandins) ได้    พรอสตาแกลนดินส์มีบทบาทในการควบคุมการทำงานของร่างกายเป็นอย่างมาก  ช่วยควบคุมความดันโลหิต, ป้องกันเลือดแข็งตัวภายในหลอดเลือด, ลดระดับคลอเรสเตอรอล, ช่วยให้มดลูกบีบรัดตัวในขณะคลอด,  ควบคุมรอบเดือน เป็นต้น   ในน้ำมันรำข้าวพบว่ามีกรดไขมันที่จำเป็น 2 ชนิด ได้แก่ โอเลอิค (oleic) และ ไลโนเลอิค (linoleic)   นอกจากนี้ยังมีสารอาหารอีกหลายชนิดที่ละลายอยู่ในไขมัน  ได้แก่ วิตามินอี ซึ่งอยู่ในรูปของ แกมมา โทโคไตรอินอล (g-tocotrienol)  ซึ่งเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ, แกมมาโอไรซานอล (g-oryzanol) ซึ่งมีบทบาททำให้โครงสร้างของผนังเซลล์ทำงานได้ดี  รวมทั้งลดระดับคลอเรสเตอรอลด้วย
การศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ในเดือนมกราคม ปี 2000 ใน วารสาร American Journal of Clinical Nutrition   ได้ทดลองให้คนจำนวน 26 คน ทานอาหารที่มีกากใยอาหาร 13-22 กรัม ทุกวันติดต่อกัน 3 สัปดาห์ หลังจากนั้นให้ 13 คนเปลี่ยนการรับประทานโดยการเพิ่มรำข้าวที่สกัดน้ำมันออกต่ออีก 5 สัปดาห์อาทิตย์เพื่อเพิ่มปริมาณกากอาหารที่ทานอีกเท่าตัว     ส่วนพวกที่เหลืออีก 13 คนให้เปลี่ยนไปรับประทานอาหารที่มีส่วนของรำข้าวที่มีน้ำมันเป็นส่วนประกอบต่ออีกเป็นเวลา 10 อาทิตย์  พบว่าระดับคลอเรสเตอรอลในร่างกายของกลุ่มที่เปลี่ยนมารับประทานอาหารที่มีส่วนของรำข้าวที่สกัดน้ำมันออกมีระดับคงที่ไม่ลดลง ในขณะที่ผู้ที่ทานรำข้าวที่มีน้ำมันเป็นองค์ประกอบสามารถลดคลอเรสเตอรอล LDL ได้ถึง 7%   เนื่องจากรำข้าวที่ทดลองทานทั้งหมดนั้น ต่างก็มีไขมันอิ่มตัวคล้ายคลึงกัน นักวิจัยจึงสรุปว่า การลดลงของคลอเรสเตอรอลในกลุ่มผู้ที่ทานรำข้าวที่มีส่วนประกอบของน้ำมัน มาจากองค์ประกอบที่เจือปนอยู่ในไขมันที่มีอยู่ในรำข้าวนั้น      นอกจากประโยชน์จากไขมันธรรมชาติในรำข้าวแล้ว ข้าวกล้องยังอุดมด้วยกากใยอาหารที่มีประโยชน์ต่อหัวใจ ธาตุแมกนีเซียม และ วิตามินบี

ข้าวกล้องมีสารลดความเครียดทำให้ผ่อนคลาย นอนหลับ
ข้าวเป็นพืชอาหารที่ประกอบด้วยสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่ากาบา ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของกรดอะมิโนกลูตามิก  กาบา หรือ กรดแกมมาอะมิโนบิวไทริก (gamma amino butyric acid, GABA) เป็นอนุพันธ์หนึ่งของกรดอะมิโน  ค้นพบครั้งแรกเมื่อปี 1883 ที่เบอร์ลิน ร่างกายคนเราสังเคราะห์กาบาที่สมองจากกรดอะมิโนกลูตาเมต โดยมีวิตามินบี 6 เป็นผู้ช่วยที่สำคัญ  กาบาจัดเป็นสารส่งต่อสัญญาณประสาท (neurotransmitter) ชนิดหนึ่ง สารส่งต่อสัญญาณประสาททำหน้าที่ส่งต่อสัญญาณประสาทจากเซลประสาทหนึ่งไปยังอีกเซลหนึ่ง  เซลประสาทจะรับสัญญาณที่ส่งมาได้ต้องมีตัวต้อนรับสัญญาณ (neuroreceptor) บนผิวเซล  ตัวส่งสัญญาณประสาทต้องมีทั้งชนิดที่ส่งต่อสัญญาณ กับชนิดที่บอกให้หยุดส่ง  เพื่อให้มีการส่งสัญญาณประสาทและยกเลิกการส่งสัญญาณจึงจะทำให้ระบบประสาทสั่งงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บทบาทที่สำคัญของกาบาคือหน่วงหรือยับยั้งสารส่งสัญญาณประสาทชนิดอื่นๆ  สมองที่ได้รับการกระตุ้นมากเกินย่อมต้องการการยับยั้งมาถ่วงดุลย์    หากสมองได้รับการกระตุ้นมากเกิน จะทำให้นอนไม่หลับ ไม่ได้ผ่อนคลาย เครียด   กาบาจึงเป็นสารที่ช่วยให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย บรรเทาและนอนหลับได้ เช่นเดียวกับยานอนหลับประเภทบาร์บิทูเรต และเบนโซไดอะซิแพท สามารถกระตุ้นตัวตอบรับในเซลประสาททำให้เกิดความผ่อนคลาย  ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของการนอนหลับ การสั่นกระตุก และโรคพาร์กินสันส์ ต่างมีระดับกาบาผิดปกติจนขาดสมดุลทั้งสิ้น   เมื่อสมองหลั่งเคมีที่เป็นสัญญาณประสาทออกมามากมายโดยไม่มีตัวหน่วง กระแสประสาทจะส่งออกไปทำให้กล้ามเนื้อหดตัวอย่างรวดเร็ว เกร็ง กระตุก ต่อมน้ำลายควบคุมการหลั่งไม่ได้ อาการสั่นกระตุกดังกล่าวพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่     ประชากรในสหรัฐอเมริการ้อยละหนึ่ง หรือกว่าสองล้านห้าแสนคนมีอาการผิดปกติเนื่องจากมีระดับกาบาที่ผิดปกติ  นับเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ ทำให้เห็นว่าสารเคมีในปริมาณน้อยๆเช่นกาบา กลับมีบทบาทที่สำคัญต่อการทำงานของร่างกายเป็นอย่างมาก 
อีกบทบาทหนึ่งของกาบาที่น่าสนใจคือ กาบาส่งเสริมให้ไขมันที่ร่างกายสะสมไว้ลดลง  พบว่ากาบากระตุ้นให้มีการหลั่งฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตออกมา (human growth hormone, HGH)    ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตนี้ มีบทบาทสำคัญในการเผาผลาญไขมันเพื่อให้พลังงานและสร้างกล้ามเนื้อ   ร่างกายจะสร้างฮอร์โมนชนิดนี้ลดลงเมื่ออายุมากขึ้น ทำให้แก่ มีไขมันสะสมตามที่ต่างๆ และลดน้ำหนักยาก   ด้วยเหตุนี้ อาหารเสริมหลายชนิดทั้งที่เป็นสูตรสำหรับผู้สูงวัย และสูตรสำหรับนักกีฬา จึงเติมกาบาผสมลงไปด้วย  เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถควบคุมน้ำหนัก มีสุขภาพที่ดี สามารถพักผ่อนและนอนหลับได้เต็มที่นั่นเอง  ผลงานวิจัยของ Kayahara และ Tukahara จากประเทศญี่ปุ่นระบุว่า  ข้าวกล้อง จะมีสารกาบา มากกว่าข้าวขัดขาวถึง 10 เท่า  

สารต่อต้านอนุมูลอิสระที่มีอยู่ในข้าวกล้อง
ธาตุแมงกานีส  เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเอนไซม์ที่ทำลายอนุมูลอิสระ ที่เรียกว่า ซุปเปอร์ออกไซด์  ดิสมิวเตส (superoxide dismutase, SOD)  ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่พบมากในไมโตคอนเดรียของเซลล์ร่างกาย (แหล่งสร้างพลังงานในเซลล์ร่างกายที่ใช้ออกซิเจนเป็นส่วนสำคัญ) ที่ช่วยป้องกันความเสียหายจากการปลดปล่อยอนุมูลอิสระระหว่างที่ร่างกายสร้างพลังงาน   ข้าวกล้อง หนึ่งถ้วยให้สารแมงกานีสถึง 88% ของจำนวนที่ร่างกายต้องการต่อวัน
ข้าวกล้องยังอุดมด้วยซิลิเนียม ซึ่งเป็นธาตุอาหารที่ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ด้วย  ข้าวกล้องหนึ่งถ้วยให้ซิลิเนียมประมาณ 27.3% ที่ร่างกายต้องการ ซึ่งเป็นข้อดีที่สำคัญเพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้รับ ซิลิเนียมที่เพียงพอต่อร่างกายจากอาหารจานด่วนที่บริโภคกัน และแร่ธาตุอันนี้ยังมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงของมนุษย์ ซิลิเนียมเป็นสารประกอบที่สำคัญต่อกระบวนการเผาผลาญอาหารในร่างกายหลายส่วนรวมถึงการสังเคราะห์ฮอร์โมนในต่อมไทรอยด์   รวมทั้งระบบต่อต้านอนุมูลอิสระ และ การทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน     
มีหลักฐานที่รวบรวมมาจากงานค้นคว้า การทดลอง และศึกษารูปแบบการเกิดมะเร็งในสัตว์ ระบุถึงความสัมพันธ์เชิงผกผันระหว่างการรับประทานธาตุซิลิเนียมและการเกิดมะเร็ง มีกลไกมากมายได้ถูกนำมาใช้ในการอธิบายปฏิกิริยาต่อต้านการเกิดมะเร็งในร่างกายของซิลิเนียม    พบว่าซิลิเนียมมีบทบาทสำคัญในการซ่อมแซมและสังเคราะห์ DNA ในเซลที่ถูกทำลายไป   ยับยั้งการพัฒนาของเซลมะเร็ง และกระตุ้นให้เซลล์เหล่านั้นตายลง  นอกจากนี้ซิลิเนียมสามารถเข้าเกาะกับโปรตีนหลายชนิด  รวมถึง กลูตาไธโอน เปอร์ออกซิเดส (glutathione peroxidase) ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการยับยั้งการเกิดโรคมะเร็ง
กลูตาไธโอนเปอร์ออกซิเดส เป็นหนึ่งในเอนไซน์ที่ทำลายอนุมูลอิสระ ที่สำคัญที่สุดของร่างกาย   พบมากในตับเพื่อกำจัดโมเลกุลที่เป็นพิษ   เมื่อระดับของกลูตาไธโอนเปอร์ออกซิเดส ลดต่ำลง โมเลกุลที่เป็นพิษที่หลงเหลืออยู่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเซลล์ที่อยู่รอบข้าง โดยทำลายสารพันธุกรรมดีเอนเอ ของเซลล์นั้นๆ และส่งเสริมให้พัฒนาต่อไปเป็นเซลล์มะเร็ง   ซิลิเนียมยังมีบทบาทร่วมกับวิตามินอี ในระบบต่อต้านอนุมูลอิสระทั่วร่างกายของเรา    ซึ่งไม่เพียงแต่ป้องกันโรคมะเร็งเท่านั้น ยังช่วยป้องกันโรคหัวใจ และช่วยบรรเทาอาการหอบหืด  บรรเทาอาการปวดบวมของโรคไขข้ออักเสบอีกด้วย 
วิตามินอี ที่ละลายอยู่ในน้ำมันรำข้าวพบทั้งชนิดที่เป็นโทโคเฟอรัล และโทโคไทรอีนอล  นอกจากนี้ยังพบ ออริซานอล ซึ่งมีคุณสมบัติในการดูดซับรังสีอัลตราไวโอเลต   ในเครื่องสำอางค์หลายชนิดจะเติมออริซานอลจากข้าวเพื่อปกป้องผิวจากอันตรายของรังสีดังกล่าว 
คุณค่าทางอาหารอื่นๆของข้าวกล้อง
ข้าวกล้อง  มีธาตุแมกนีเซียมจากเมล็ดข้าวธรรมชาติ ผลการวิจัยพบว่าสารแมกนีเซียมมีประโยชน์ในการลดความรุนแรงของอาการหืดหอบ ลดความดันโลหิตสูง  ลดความถี่ของการปวดไมเกรน  ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจเฉียบพลัน และอาการชัก  แมกนีเซียมมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อโดยถ่วงดุลการทำงานของแคลเซียม แมกนีเซียมทำหน้าที่เป็นตัวสกัดการลำเลียงของแคลเซียมในเซลล์สมองซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้แคลเซียมเข้าไปในเซลล์ประสาท  และกระตุ้นระบบประสาทมากเกินไป ด้วยเหตุนี้แมกนีเซียมจึงช่วยให้ระบบประสาทรวมถึงหลอดเลือดและกล้ามเนื้อในส่วนที่ประสาทควบคุมรู้สึกผ่อนคลาย ถ้าอาหารที่รับประทานเข้าไปมีแมกนีเซียมน้อยเกินไป จะมีผลให้แคลเซียมเข้าไปในเซลล์ประสาทได้ไม่จำกัดทำให้สมองถูกกระตุ้นมากเกินไปโดยส่งข้อมูลและเป็นเหตุให้เกิดการหดตัวอย่างรุนแรง  ทำให้ความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อเกร็ง (รวมถึงกล้ามเนื้อหัวใจ และกล้ามเนื้อบริเวณหลอดลมที่เกิดอาการหอบหืด) และปวดไมเกรน รวมทั้งเกิดตะคริว และอาการปวดล้า
นอกจากนี้ ข้าวกล้อง มีเส้นใยอาหารที่มีประโยชน์ (dietary fiber) ซึ่งวงการแพทย์รายงานว่า เส้นใยอาหารเหล่านี้ช่วยให้มีมวลอุจจาระเพิ่มขึ้น  มีผลช่วยบรรเทาอาการท้องผูก  ทำให้ลดการหมักหมมของเสียในลำไส้ และลดโอกาสการดูดซับสารพิษจากของเสียเข้าสู่ร่างกาย   จึงทำให้ลดโอกาสในการก่อเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้   จากรายงานของวารสาร American Journal of Gastroenterology ในเดือนกรกฎาคม ปี2004 ระบุว่า การรับประทานอาหารที่มีกากใยสามารถลดอุบัติการณ์ของการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้ถึง 13%