สินค้าในตะกร้า [ 0 ชิ้น ]
 
ลูกจะเติบโตงดงาม..แบบอย่างคือพ่อแม่
บทความ ณ. วันที่ : 22/7/2011        จำนวนคนเข้าชมเว็บ : 770 ครั้ง   

ลูกจะเติบโตงดงาม..แบบอย่างคือพ่อแม่

โดย: อาราดา


        คุณพ่อคุณแม่ทราบไหมคะว่า ทุกการกระทำของคุณ รวมไปถึงสิ่งแวดล้อม หรือสังคม

ที่ลูกตัวน้อยมองเห็น สามารถส่งผลต่อพัฒนาการและพฤติกรรมของลูกได้ค่ะ
สิ่งนี้เรียกว่า เซลล์กระจกเงา หรือ Mirror Neuron เป็นกลไกหล่อหลอมให้คนเปลี่ยนแปรไปตามสิ่งแวดล้อมรอบตัว จากการลอกเลียนแบบสิ่งต่างๆ โดยการมองเห็น แล้วค่อยๆ ซึมซับพฤติกรรมที่มองเห็นเข้าไป โดยไม่แยกแยะว่าการกระทำนั้นดีหรือไม่ดีค่ะ
แล้วจะทำอย่างไรเพื่อให้ลูกซึมซับพฤติกรรมที่ดี โดยเฉพาะเด็กวัยเตาะแตะที่ธรรมชาติของพัฒนาการนั้นชอบเลียนแบบ?
สิ่งสำคัญอยู่ที่ตัวคุณพ่อคุณแม่ค่ะ เพราะถ้าคุณพ่อคุณแม่ใช้ทักษะในการสอนลูก หรือ Parental Skill อย่างถูกต้องเหมาะสม ลูกน้อยก็จะเรียนรู้ เติบโตอย่างสมบูรณ์ และงดงามค่ะ

 

 

 

สมองลูกพัฒนาอย่างไร

สามปีแรกสมองของลูกน้อยจะพัฒนาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แทบไม่น่าเชื่อว่า วัยเตาะแตะที่ตัวจิ๋วนิดเดียวจะมีขนาดสมองถึง 80% เมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ตัวโตๆ อย่างเราค่ะ
เพื่อให้สมองลูกพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ เรียนรู้และซึมซับแต่สิ่งดีๆ คุณพ่อคุณแม่ต้องตอบสนองความต้องการของลูกอย่างเหมาะสม ตามความสนใจและพัฒนาการของลูกในแต่ละช่วงวัย
นอกจากการตอบสนองของพ่อแม่แล้ว ลูกน้อยยังต้องได้รับการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวด้วย เพื่อเซลล์สมองจะได้เกิดการเรียนรู้ จดจำ ประมวลผลออกมาเป็นความรู้สึกนึกคิด และความเข้าใจ
ดังนั้น เมื่อถึงวัยเตาะแตะหรือวัยแห่งการสำรวจโลกกว้าง คุณพ่อคุณแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวด้วยตัวเอง การลองผิดลองถูก คิดหาเหตุผล การทำซ้ำ จะก่อให้เกิดการพัฒนาทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม
อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยดูแลและให้คำแนะนำอยู่ห่างๆ เนื่องจากลูกวัยนี้ยังกลัวๆ กล้าๆ ที่จะทำในสิ่งที่อยากทำค่ะ

 

ตอบสนองทาง+ ผนวกใจพ่อ แม่ ลูก

Type 1: เตาะแตะจอมเลียนแบบ
รู้สึกเหมือนมีคนแอบมองอยู่รึเปล่าคะ ช่วงนี้ลูกวัยเตาะแตะของคุณจะจับตาดูคุณทุกฝีก้าว

การกระทำ ที่เป็นอย่างนี้เพราะเขาต้องการเรียนรู้ และเลียนแบบทักษะใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยได้ทำค่ะ
+ ปลูกฝังพฤติกรรมดีๆ เนื่องจากลูกจะแสดงกิริยาต่างๆ จากสิ่งที่ได้เห็น ทั้งคำพูด และการกระทำของผู้คนที่อยู่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นท่าทางการหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาพูดคุย การเล่นบทบาทสมมติกับตุ๊กตา ฯลฯ


ด้วยเหตุนี้ คุณจึงต้องระวังคำพูดหรือการกระทำ การกระทำที่เหมาะสม ไม่พูดคำหยาบ

การให้เกียรติผู้อื่น ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องทำให้ลูกเห็น
สรุปคือ ถ้าต้องการปลูกฝังพฤติกรรมดีๆ แก่ลูก ก็ต้องเริ่มจากการกระทำของคุณพ่อคุณแม่ก่อนค่ะ

 

Type 2: ขี้สงสัยจริงนะเจ้าตัวน้อย
วัยเตาะแตะเป็นวัยช่างถาม ขี้สงสัย อะไร? ทำไม? เป็นคำถามยอดฮิตของเด็กวัยนี้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรตอบสนองความอยากรู้ของลูกในทางบวก ที่นอกจากช่วยคลายความสงสัยในใจลูกแล้ว ยังก่อให้เกิดความมั่นใจในตัวเองด้วยค่ะ
+ พูดคุย และอธิบายเกี่ยวกับสิ่งที่ลูกซักถาม การพูดคุยกับลูกเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ลูกเกิดการเรียนรู้ สมองของลูกจะค่อยๆ ซึมซับคำพูด ประโยคต่างๆ ยิ่งคุณคอยถามในสิ่งที่เขาสนใจ จะช่วยเปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความรู้สึกนึกคิด จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการคิด เสริมพัฒนาการด้านภาษาของลูกด้วยค่ะ
+ เป็นผู้ฟังที่ดี การรับฟังลูกก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คุณเป็นต้นแบบ (role model) ของลูกทั้งด้านการพูดและการฟัง สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะสอนให้ลูกรู้ว่าเวลาไหนควรพูด และเวลาไหนควรหยุดที่จะฟัง คุณพ่อคุณแม่ควรหาเวลาในการฟังและพูดกับลูกน้อยบ่อยๆ พูดช้าๆ ซ้ำๆ ที่สำคัญ คุณพ่อคุณแม่ต้องแสดงให้ลูกเห็นว่า เวลาแห่งการพูดคุยระหว่างพ่อ แม่ ลูก เป็นช่วงเวลาที่สนุก และเต็มไปด้วยความอบอุ่นค่ะ

 

Type 3: น้องหนูนักสำรวจ

การสำรวจเป็นกระบวนการที่จะช่วยให้น้องหนูวัยเตาะแตะเกิดการเรียนรู้ โดยเฉพาะการสำรวจตรวจตราในสิ่งที่พ่อแม่บอกว่า ‘ไม่' มักเป็นสิ่งที่หนูน้อยโปรดปรานที่สุด ดังนั้น ต้องคอยให้คำแนะนำที่ดี พร้อมกับคอยดูแลเรื่องความปลอดภัยด้วยนะคะ
+ เปิดโอกาสให้ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง ครั้งแรกๆ ลูกน้อยอาจมีอาการ กล้าๆ กลัวๆ อยู่บ้าง ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรอยู่ใกล้เพื่อให้ลูกรู้สึกมั่นใจ ขณะเดียวกันก็จัดสภาพแวดล้อมให้มีความปลอดภัย คอยดูแลลูกอยู่ใกล้ๆ เวลาที่ลูกเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพราะหากลูกหกคะเมนตีลังกา เดินไปใกล้มดคันไฟ หรือกำลังจะใช้นิ้วแหย่(รู)ปลั๊กไฟ จะได้ป้องกันได้ทันค่ะ
กระบวนการสำรวจ ลองผิดลองถูก จะทำให้ลูกเกิดความเข้าใจโลกรอบตัวมากขึ้น ลูกจะเริ่มต้นทดลองและเรียนรู้สิ่งต่างๆ ในโลกกว้างที่เขารู้สึกสงสัย บางครั้งอาจจะทดลองทิ้งจาน ช้อน แก้วน้ำ ลงบนพื้น เพราะนั่นคือสิ่งที่ลูกสงสัยและอยากรู้จริงๆ ว่า "เอ...ถ้าโยนถ้วยลงพื้น จะเกิดอะไรขึ้นนะ"
+ อธิบายถึงเหตุและผลที่ห้าม กรณีที่ลูกต้องการทดลองสิ่งใหม่ที่อาจก่อให้เกิดอันตราย คุณพ่อคุณแม่ควรอธิบายให้ลูกเข้าใจถึงสิ่งที่ห้าม ค่อยๆ พูดด้วยเสียงที่นุ่มนวล แต่แสดงถึงความจริงจัง
เพราะเด็กวัยนี้จะมีอาการดื้อดึงและต่อต้าน หากบอกให้ทำอะไรลูกมักจะพูดแต่คำว่า "ไม่ ไม่ ไม่" ปฏิเสธไปซะหมด ที่เป็นเช่นนี้เพราะเขาเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง ยึดเอาความต้องการของตนเองเป็นหลักค่ะ

 

 

 

          ถ้าเป็นไปได้ควรปล่อยให้ลูกได้ทำอะไรที่เขาชอบด้วยตัวเอง แต่อย่าลืมว่าต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ปลอดภัยด้วย กฎของการให้ลูกสำรวจโลกรอบตัว คือปล่อยให้เขาสำรวจโลกด้วยความปลอดภัย โดยคุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องห้ามปรามอยู่ตลอดเวลา การอธิบายให้ลูกฟังซ้ำๆ จะทำให้เจ้าตัวน้อยรับรู้ได้เองว่า "ไม่ควรทำ เพราะมันอันตรายจริงๆ "

 

 

 

ลูกคือกระจกที่สะท้อนความเป็นคุณออกมา อยากให้ลูกเป็นอย่างไร คุณก็ต้องเป็นอย่างนั้นก่อนค่ะ

 

ขอขอบคุณบทความดี ๆ จากนิตยสาร รักลูก






 
   
เว็บไซต์นี้ เป็นเว็บร้านค้าสมาชิกของ SABUYJAISHOP ผู้ให้บริการทางการตลาดออนไลน์ สำหรับร้านค้าหรือผู้ประกอบการ ที่ต้องการนำเสนอสินค้า โฆษณา ประชาสัมพันธ์ร้านค้า หรือสินค้าในร้าน

©2008-2009 SABUYJAISHOP All Rights Reserved