สินค้าในตะกร้า [ 0 ชิ้น ]
 
เติมสิ่งที่ขาดให้เด็กอัจฉริยะ
บทความ ณ. วันที่ : 17/12/2010        จำนวนคนเข้าชมเว็บ : 823 ครั้ง   

เติมสิ่งที่ขาดให้เด็กอัจฉริยะ

โดย: วาโย

ดูแลเด็กอัจฉริยะให้ถูกวิธี เสริมสิ่งที่มี..เติมสิ่งที่ขาด


ใช่..เด็กอัจฉริยะนั้นเก่ง ฉลาด แต่ก็ขาดในบางสิ่งบางอย่างซึ่งไม่รู้ตัว และนั่นคือสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่และคุณครูต้องช่วยเติมเต็มค่ะ

ด้วยความพร้อมของคุณพ่อคุณแม่ และการเลี้ยงดูลูกที่เหมาะสมตามพัฒนาการ รวมทั้งพรสวรรค์บางอย่างที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้เราค้นพบเด็กอัจฉริยะมากขึ้น ไม่ว่าจะด้านคณิตศาสตร์ ภาษาศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ก็ตาม

ความอัจฉริยะแม้จะทำให้เด็กเหนือกว่าเพื่อนๆ หรือคนอื่น แต่ก็ไม่ได้ตอบทุกโจทย์ของชีวิต โดยเฉพาะปัญหาทักษะด้านสังคม หากผู้ใหญ่รอบข้างไม่เท่าทันและมัวแต่หลงไปกับความอัจฉริยะของเขา เด็กก็อาจจะเติบโตเป็นเคนเก่ง แต่อยู่อย่างโดดเดี่ยว ไร้เพื่อนก็ได้

มาปรับความสมดุลให้เด็กอัจฉริยะเติบโตอย่างมีความสุขกันดีกว่าค่ะ

ลูกเราเป็นเด็กอัจฉริยะ?
อันดับแรกต้องสังเกตแบบไม่เข้าข้างตัวเอง โดยดูจากเด็กอัจฉริยะมักจะมีศักยภาพบางอย่างโดดเด่นกว่าเด็กปกติในวัยเดียวกัน เช่น อ่านหนังสือเก่งกว่า เล่นสร้างสรรค์และซับซ้อนได้มากกว่า อาทิเพื่อนสร้างภูเขาทราย แต่ลูกกลับวางผังเป็นเมืองที่มีองค์ประกอบชัดเจนเลย เป็นต้น

ที่สำคัญต้องมีการวัดแววอัจฉริยะจากผู้เชี่ยวชาญ และมีนักจิตวิทยาเข้ามาช่วยสังเกตพฤติกรรมของลูก โดยผ่านเกม แบบทดสอบ การเล่นในมุมต่างๆ แล้วประเมินความคิด และผลการเรียน เพราะเด็กบางคนมีแววอัจฉริยะหลายด้าน บางคนเป็นอัจฉริยะตอนนี้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปความสามารถกลับเหมือนเด็กธรรมดา นั่นเป็นเพราะความอัจฉริยะสามารถเลือนหายไปได้ตามเหตุปัจจัยต่างๆ กันค่ะ

จุดเด่นพฤติกรรมอัจฉริยะ

เด็กอัจฉริยะมักชอบคุยกับคนที่รู้เรื่องและรู้มาก ดังนั้นจึงมักคุยกับผู้ใหญ่ซึ่งมีประสบการณ์และมีความรู้มากกว่าเด็กหรือเพื่อนในวัยเดียวกับเขา ซึ่งความรอบรู้ที่คุยรู้เรื่องกับผู้ใหญ่นี่ล่ะที่ดึงดูดให้ผู้ใหญ่เกิดความประทับใจ ทั้งยังสนุกกับงานที่ท้าทาย มีความซับซ้อน และสามารถทำงานได้มากกว่าเพื่อนในวัยเดียวกันอย่างเห็นได้ชัดด้วย

นอกจากนี้เด็กอัจฉริยะแบบ Highly Gifted ซึ่งมีความสามารถเก่งกว่าเด็กอัจฉริยะทั่วๆ ไปจะเข้าใจในวิชาการสาขายากๆ ได้อย่างถ่องแท้ ทำให้ต้องจัดการศึกษาแบบพิเศษให้ ยิ่งกว่าเด็กอัจฉริยะ

ปัญหาของเด็กอัจฉริยะ
การควบคุมอารมณ์ของเด็กอัจฉริยะเป็นปัญหาที่พบได้มาก คือพวกพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง ใจร้อน ขี้หงุดหงิด เบื่อหน่าย เนื่องจากต้องเรียนรู้ซ้ำในสิ่งที่ตัวเองรู้อยู่แล้ว แถมคุณพ่อคุณแม่บางคนชอบโฆษณาลูก ซึ่งมักส่งผลเสียตามมา เพราะทำให้ลูกต้องแบกรับความกดดัน หรือทำให้ลูกคิดว่าตนเองเก่งไปทุกเรื่อง เรื่องนี้เรามีตัวอย่างค่ะ....

น้องโอ๊ค (นามสมมุติ) ชั้นอนุบาล 3 เป็นเด็กอัจฉริยะด้านภาษา สามารถอ่านภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว น้องโอ๊คจะไม่พอใจทุกครั้งที่เพื่อนตอบช้า หรือเพื่อนต้องให้คุณครูอธิบายซ้ำอีกครั้งหนึ่ง จะรู้สึกเบื่อเพราะว่าตนเองรู้หมดแล้ว และมักว่าเพื่อนๆ โง่ น่ารำคาญ รวมถึงคุณครู “ H ออกเสียว่า เอช ไม่ใช่ เฮส ซะหน่อย ครูผิดนี่หน่า” จากนั้นก็ป่วนห้องด้วยพฤติกรรมทำนองนี้ จนเพื่อนๆ คนอื่นไม่มีสมาธิในการเรียน

เหตุการณ์นี้ ก็ทำให้เพื่อนๆ ไม่ชอบน้องโอ๊ค ยิ่งไปกว่านั้นหากคุณครูไม่มีความเข้าใจเรื่องเด็กอัจฉริยะด้วยแล้ว น้องโอ๊คอาจจะถูกทำโทษข้อหาหักหน้าคุณครูได้ ผลที่ตามมาคือน้องโอ๊คไม่อยากไปโรงเรียน เกลี่ยดโรงเรียน...

ถ้าสังคมของเด็กอัจฉริยะแวดล้อมด้วยคนที่ไม่เข้าใจ เขามักจะเลือกเดิน 2 ทางคือ

     * อวดตัว - ตั้งตัวเองอยู่บนหอคอยงาช้าง รู้สึกว่าตนเองสูงกว่าผู้อื่น ทำงานคนเดียวได้ ไม่มีเพื่อนก็ไม่เป็นอะไร ไม่ยอมใคร
     * ลดตัว - เมื่อตนเองอยากให้เพื่อนยอมรับ ทำให้ต้องปิดบังศักยภาพของตนเอง ไม่อยากเรียนรู้ อคติกับคุณครู ทำให้ความสามารถที่มีอยู่ไม่ถูกพัฒนา พรสวรรค์จะถูกกลืนไปพร้อมเวลาที่ผ่านไป แบบนี้ไม่ใช่หนทางแห่งความสุขของเด็กอัจฉริยะเลยสักนิดนะคะ

เติมความสุข เต็มที่กับการเรียนรู้
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ของเด็กอัจฉริยะต้องทำ คือดูแลความรู้สึกของลูกและพูดคุยด้วยเหตุผลค่ะ โดยให้เข้าใจในความเป็นเด็กอัจฉริยะของตัวเอง ต้องอธิบายว่าความเก่งของลูกไม่ได้หมายความว่าลูกจะเป็นคนเก่งที่สุดในโลก ยังมีอีกหลายคนที่เก่งกว่าลูก ลูกก็ยังเป็นเด็กเหมือนกับเพื่อน จะดีมากถ้าลูกจะช่วยเพื่อนด้วยการสอนวิชาที่ตนเองถนัดให้ และถ้าลูกฟังความคิดเห็นของเพื่อนด้วย ไม่ใช้ความเก่งไปข่มเพื่อน เพื่อนๆ ก็จะชอบลูก และลูกก็จะมีความสุข

สำหรับเรื่องการเรียนรู้ของเด็กอัจฉริยะ ให้เสริมความยากในสาขาที่เขาถนัดขึ้นไปอีกระดับ และใช้สื่อหรือแบบฝึกหัดที่หลากหลาย จะได้พัฒนาศักยภาพเต็มที่ โดยคุณครูอาจจะช่วยประเมินให้

อย่างไรก็ตามควรจะสอนเด็กแบบแยบยล แนบเนียน และสร้างสรรค์ เพราะเด็กจะเบื่อง่าย เช่น เด็กอนุบาล 3 ที่อัจฉริยะเรื่องคณิตศาสตร์ ลองให้แบบฝึกหัดคณิตศาสตร์ของชั้น ป.2 ทำได้หรือไม่ได้ก็ไม่เป็นไร หรือเปลี่ยนจากการคิดคำตอบไปเป็นการตั้งคำถามแทน ส่วนในวิชาอื่นๆ ก็ให้เรียนกับเพื่อนๆ ตามปกติ เพื่อให้เด็กรู้จักการเข้าสังคม และบทบาทด้านอื่นๆ ของสังคมด้วย

ดร. อุทัย ดุลยเกษม คณบดีสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เคยกล่าวไว้ว่า “แท้ที่จริงแล้ว การจัดการดูแลเด็ก น่าจะอยู่ที่การมองหาพรสวรรค์ในเด็ก มากกว่าการมองหาเด็กที่มีพรสวรรค์”

ถ้าเข้าใจในตัวตนของลูกแล้ว ไม่ว่าลูกจะเป็นเด็กแบบไหน คุณก็จะช่วยเติมเต็มความสุขให้ลูกได้ค่ะ

ขอบคุณ : อาจารย์พริ้มพราย สุพโปฎก ผู้อำนวยการโรงเรียนไผทอุดมศึกษา เอื้อเฟื้อข้อมูลทางวิชาการ

 

จาก:  นิตยสาร รักลูก





 
   
เว็บไซต์นี้ เป็นเว็บร้านค้าสมาชิกของ SABUYJAISHOP ผู้ให้บริการทางการตลาดออนไลน์ สำหรับร้านค้าหรือผู้ประกอบการ ที่ต้องการนำเสนอสินค้า โฆษณา ประชาสัมพันธ์ร้านค้า หรือสินค้าในร้าน

©2008-2009 SABUYJAISHOP All Rights Reserved