สินค้าในตะกร้า [ 0 ชิ้น ]
 
5 คำถาม-คำตอบ ช่วยลูกแฮปปี้ที่โรงเรียน
บทความ ณ. วันที่ : 17/12/2010        จำนวนคนเข้าชมเว็บ : 639 ครั้ง   

5 คำถาม-คำตอบ ช่วยลูกแฮปปี้ที่โรงเรียน

โดย: เกตน์สิรี

 

ชีวิตของวัยคิดส์ ถ้าจะให้สนุก มีความสุขกับการเรียนรู้ในรั้วโรงเรียนแล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้จักตอบคำถามต่อไปนี้ด้วยค่ะ ซึ่งไม่ธรรมดานะคะ เพราะสามารถส่งผลให้การเรียนรู้ของวัยเยาว์นี้เปี่ยมสุขหรือทุกข์ได้ทีเดียว

 

5 คำถาม...ต้องห้าม!5 คำถามต่อไปนี้ จริงๆ แล้วไม่ควรถามลูกเลยค่ะ เพราะส่งผลต่อจิตใจลูกสุดๆ แต่กระก็พบว่าเจ้าหนูวัยเริ่มต้นเรียนกลับถูกถามบ่อย

 

1. ทำไมลูกไม่ได้ดาวเหมือนเพื่อน

เป็นคำถามเปรียบเทียบที่ทำให้ลูกรู้สึกแย่ เพราะทำร้ายจิตใจลูกสุดๆ เลยค่ะ
สิ่งที่พ่อแม่ต้องรู้ คือพัฒนาการของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน และไม่มีเด็กคนไหนอยากทำได้ไม่ดีหรอก ดังนั้นพ่อแม่จึงต้องคิดถึงจิตใจลูกเป็นสำคัญ
และควรสอนลูกให้รู้ว่าการทำดีก็เพราะนั่นคือสิ่งดี ไม่ใช่ทำเพื่อต้องการคำชื่นชม หรือได้รางวัล หรือสอนให้ลูกตั้งใจเรียนเพื่อจะมีความรู้ ไม่ใช่ตั้งใจเรียนเพื่อได้คะแนนดีๆ หรือดาวหลายๆ ดวง หรือถ้าจะเปรียบเทียบก็ต้องเปรียบเทียบกับตัวเอง ว่าทำได้ดีขึ้นกว่าเดิมหรือเปล่า ไม่ใช่ทำเพื่อแข่งขันกับคนอื่นอยู่เสมอ

 

2. ทำไมลูกไม่ทำการบ้านให้เสร็จก่อนแล้วค่อยดูทีวีคำถามแบบนี้เสมือนว่าพ่อแม่ให้ลูกมีสิทธิ์ในการเลือก ว่าจะดูทีวีก่อนหรือทำการบ้านก่อน ซึ่งจริงๆ พ่อแม่ต้องการให้ลูกทำบ้าน ฉะนั้น ถ้าคิดว่าเป็นสิ่งที่ลูกต้องทำก็ไม่ต้องถาม แต่ควรปิดทีวี แล้วบอกลูกว่า "ได้เวลาทำการบ้านแล้วจ้ะ" ด้วยคำพูดที่ไม่ดุว่าลูก
และเพื่อให้ได้ผลระยะยาว พ่อแม่ต้องสร้างกรอบให้ลูกรู้ว่าอะไรทำได้-ไม่ได้ และบอกลูกให้ชัดเจน เช่น "อันนี้เป็นกฎของบ้าน เมื่อลูกกลับมาถึงบ้านก็ต้องทำการบ้านให้เสร็จก่อนทำอย่างอื่น" การให้ลูกปฏิบัติเช่นนี้สม่ำเสมอ ไม่นานลูกก็จะรู้หน้าที่ของเขาค่ะ

 

3. ทำไมลูกทำอะไรช้าจังเลย หรือทำไมลูกทำเสื้อสกปรกอย่างนี้การที่พ่อแม่บอกลูกบ่อยๆ ว่าเขาเป็นยังไง เขาก็จะเป็นอย่างนั้นค่ะ ซึ่งเป็นการตีตราลูกไปโดยปริยาย เช่น เราพูดกับลูกว่า "ทำไมหนูโง่อย่างนี้ ทำไมหนูดื้ออย่างนี้" มันเป็นการบอกลูกกลายๆ ว่าเขาเป็นยังไง และถ้าลูกได้ยินคำเหล่านี้บ่อยๆ ลูกก็จะเป็นอย่างนั้นจริงๆ
พ่อแม่อยากให้ลูกทำอะไรเร็วก็ต้องกำหนดเวลาให้ชัดเจน เช่น "วันนี้เราไม่มีเวลามากนะลูก หนูมีเวลากินข้าว 20 นาที" ตั้งนาฬิกาให้ลูกดูว่าถึงตรงนี้เราต้องไปกัน ลูกจะอิ่มหรือไม่อิ่มเราก็ต้องหยุดกิน เพื่อลูกจะได้รู้ว่าเขาต้องทำอย่างไร รู้จัดจัดการกับตัวเองได้

 

4. ทำไมลูกไม่แบ่งขนม-ของเล่นให้เพื่อนหวงขนมหรือของเล่นเป็นธรรมชาติของเด็กค่ะ ถ้าพ่อแม่อยากให้ลูกรู้จักแบ่งปัน ก็ต้องสอนลูก เพราะเด็กทุกคนควรมีสิทธิ์ในของๆ เขา เหมือนผู้ใหญ่ที่ไม่ได้แบ่งของทุกอย่างให้คนอื่น แต่เรากลับไปบังคับให้เด็กแบ่ง เขาก็ยิ่งไม่อยากแบ่งและหวงมากขึ้น โดยเฉพาะถ้าถูกแย่งของไปจากมือ ก็จะสร้างความไม่พอใจให้ลูกได้ค่ะ
ถ้าพ่อแม่อยากให้รู้จักแบ่งปันก็ต้องเตรียมของเหล่านั้นเผื่อไว้ แล้วบอกลูกว่า "ชิ้นนี้ของหนู ส่วนชิ้นนี้สำหรับแบ่งให้เพื่อน" แต่ไม่ใช่ทำให้เด็กรู้สึกว่า หนูกินยังไม่พอเลยจะแบ่งให้คนอื่นได้ยังไง

5. ทำไมลูกพูดไม่เพราะเลย
เด็กจะไม่รู้ว่าคำพูดไหนเพราะหรือไม่เพราะ เช่น คำว่า"เยี่ยว" หรือเวลาพูดไม่มีคะ-ครับ ซึ่งบางครั้งเด็กก็ลืม ไม่รู้ว่าคำไหนที่ควรพูด ไม่ควรพูด
ดังนั้น ถ้าได้ยินลูกพูดไม่เพราะ พ่อแม่ควรบอกลูกทันทีว่าคำนี้ไม่เพราะ ไม่ควรพูด แต่ควรพูดคำนี้ เช่น "คำว่าเยี่ยวเราจะไม่พูดนะลูก แต่เราจะพูดคำว่าปัสสาวะ หรือว่าฉี่" หรือ "อย่าลืมค่ะ-ครับ" ควรพูดกับลูกให้ชัดเจน พูดบ่อยๆ เพื่อให้ลูกเข้าใจคำที่ถูกต้องค่ะ
.....................................

 

5 คำตอบ...ต้องพูด !นี่คือคำถามที่ลูกมักถามบ่อยๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ค้างคาใจลูกมาจากโรงเรียน และต้องการคำตอบจากพ่อแม่เพื่อความกระจ่างค่ะ


1. ทำไมหนูถูกคุณครูดุคำตอบที่ดีที่สุด ต้องไม่โกหกลูกค่ะ พ่อแม่ต้องมีสติและไม่ตอบคำถามด้วยอารมณ์ เพราะการที่พ่อแม่ไม่ได้อยู่กับลูกที่โรงเรียนก็จะไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับลูกบ้าง

ดังนั้นควรพูดคุยกับลูก เช่น "เล่าให้แม่ฟังซิ ครูพูดว่าอะไร" เพื่อให้ลูกค่อยๆ ขยายความว่าเพราะอะไร แต่ไม่ใช่ตั้งคำถามเชิงว่าลูกไปทำผิดมา หรือไม่สนใจหาเหตุผล มุ่งมองว่าเป็นความผิดของครูอย่างเดียว เช่น "แล้วหนูไปทำอะไรผิดมาล่ะ" หรือ "ไหนครูว่าอะไรบอกแม่มาซิ แม่จะไปจัดการให้"
ถ้าคิดว่าครูพูดแรงไปก็ควรคุยกันอย่างสงบและมีสติ กับคุณครูด้วยว่าลูกรู้สึกไม่ดีกับสิ่งที่ครูพูด ไม่ควรต่อว่าครูต่อหน้าลูก เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกไม่ดีกับคุณครู

2. ทำไมรองเท้าหนูไม่สวยเหมือนเพื่อน-ทำไมเพื่อนมีของเล่นเยอะกว่า
คำถามแบบนี้เป็นการเปรียบเทียบของเด็กค่ะ คุณแม่อาจบอกลูกว่า " เรามาช่วยกันแต่งรองเท้าหนูให้สวยขึ้นด้วยกันไหมคะ" หรือ "หนูจำได้มั้ย ว่าเราต้องใช้เงินอย่างคุ้มค่า รองเท้าคู่นี้ใช้ได้อยู่ ถ้าคู่นี้พังแล้วค่อยซื้อคู่ที่หนูอยากได้ แต่หนูต้องช่วยแม่เก็บเงินด้วยนะ" หรือ "แต่ละครอบครัวมีเงินไม่เท่ากันแล้วก็ใช้เงินไม่เหมือนกัน แม่ต้องเก็บเงินเอาไว้ให้หนูเรียนหนังสือ" ซึ่งพ่อแม่ควรอธิบายให้ลูกรู้สถานะการเงินของครอบครัวอย่างมีเหตุผล แต่ไม่ควรใช้คำพูดประเภท "ซื้อของเยอะแยะทำไม บ้านเราไม่มีเงินนะ"
ที่สำคัญ พ่อแม่ต้องทำให้ลูกรู้ว่าเราต้องไม่เอาตัวเองเปรียบเทียบกันคนอื่น และพ่อแม่ก็ต้องไม่เอาลูกไปเทียบกันคนอื่นด้วยเช่นกัน ดังนั้น พ่อแม่จึงต้องเป็นตัวอย่าง ทำให้ลูกพอใจในสิ่งที่มีอยู่ และไม่ปลูกฝังค่านิยมที่ผิดๆ ให้กับลูกด้วยค่ะ

 

3. ทำไมหนูไม่ได้รางวัลเหมือนเพื่อนเด็กๆ ส่วนใหญ่มักจะเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ดังนั้นพ่อแม่จึงต้องทำให้ลูกรู้สึกว่าสิ่งสำคัญในการเรียนหนังสือไม่ใช่ของรางวัลที่ลูกได้รับ แต่อยู่ที่ความภูมิใจของพ่อแม่ เช่น "คนอื่นว่ารูปหนูไม่สวยไม่เป็นไร แต่แม่ว่ารูปนี้สวยมาก เรามาช่วยกันทำกรอบนะ"
แม้ว่าบางครั้งรางวัลจะทำให้เด็กตั้งใจเรียนมากขึ้น แต่ผลร้ายที่ตามมาอาจทำให้ลูกยึดติดกับวัตถุ จนไม่ได้คำนึงถึงคุณค่าแท้จริงที่เขาได้รับค่ะ

 

4. ทำไมหนูถูกเพื่อรังแก-เพื่อนแย่งของเล่นเมื่อเจอคำถามแบบนี้ พ่อแม่ต้องใจเย็นและสงบสติอารมณ์ตัวเองแล้วค่อยถามลูก "เกิดอะไรขึ้น เล่าให้แม่ฟังซิ...แล้วหนูรู้สึกอย่างไร...มาช่วยกันคิดสิว่าจะทำยังไงไม่ให้เพื่อนแย่งของเล่น หรือรังแกเราอีก"
ซึ่งคุณอาจบอกลูกว่า "ถ้าเป็นของเล่นที่โรงเรียนหนูก็ต้องแบ่งให้เพื่อนเล่นด้วย เพราะทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน" หรือเราจะมีวิธีการบอกเพื่อนอย่างไร เช่น "คอยแป๊บนึงนะ เดี๋ยวเล่นเสร็จแล้วจะให้" หรือบอกเพื่อนให้เอาของเล่นชิ้นอื่นมาแลกก็ได้
แต่ไม่ใช่พูดกับลูกโดยไม่ทันคิด เช่น "เพื่อนชกเรามาเราก็ต้องชกเพื่อนไปเลย ใครแย่งของเล่นหนูๆ ก็ไปแย่งคืน" คำตอบโดยไม่ได้กลั่นกรองแบบนี้อาจทำให้ลูกไม่มีเพื่อน และไม่รู้จักการเข้าสังคมได้ค่ะ

 

5. ทำไมหนูทำไม่ได้เหมือนเพื่อนถ้าลูกตั้งคำถามนี้ พ่อแม่ต้องดูว่าลูกทำอะไรไม่ได้ และให้กำลังใจลูกพร้อมช่วยหาทางออก เช่น "คนเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน ทำอะไรได้ไม่พร้อมกัน ถ้าหนูอยากทำ....เป็นเรามาฝึกด้วยกันดีไหมจ๊ะ" สิ่งสำคัญคือไม่นำลูกไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ลูกก็จะเปรียบเทียบกับคนอื่นน้อยลงค่ะ

ที่สำคัญ เมื่อลูกทำอะไรได้ไม่ควรชมมากเกินไป เช่น "โอ้โห...ลูกแม่เก่งที่สุด เก่งกว่าใครๆ เลย" แต่ควรชมให้เฉพาะเจาะจงในสิ่งที่เป็นจริง เน้นที่ความพยายาม ความตั้งใจ ความอดทน เช่น "ภาพของลูกมีรายละเอียดเยอะมาก ลูกตั้งใจวาดมากเลยนะจ๊ะ"

พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องทำตัวเป็นผู้รู้ในทุกเรื่อง...ถามลูกบ้าง ตอบลูกบ้าง หรือบางเรื่องก็ช่วยกันคิด ค้นหาคำตอบร่วมกัน อย่าใจร้อน ก็สามารถช่วยให้ลูกแฮปปี้ที่โรงเรียนได้ค่ะ

-------------------------------------------------

ก่อนพูด ต้องพิจารณา...
1. ถ้าเป็นคำถามที่รู้ว่าลูกจะโกหก ห้ามถามเด็ดขาดนะคะ เพราะมันเป็นการสร้างโอกาสให้ลูกโกหก และเป็นการสร้างนิสัยที่ไม่ดีให้กับลูก
2. พ่อแม่ไม่ควรถามลูกทุกเรื่อง ถ้าไม่ต้องการคำตอบอย่างจริงจัง เรารู้คำตอบอยู่แล้วหรือเป็นคำถามที่ไม่มีประโยชน์ ก็ไม่ควรถาม แต่ควรใช้วิธีการอื่นบอกลูกจะดีกว่า
3. ถ้าเป็นคำถามที่จะทำให้ลูกรู้สึกแย่ รู้สึกตัวเองไม่มีคุณค่า หมดความเชื่อมั่นในตัวเอง หมดความภาคภูมิใจในตัวเอง ก็ไม่ควรถามเช่นกันค่ะ

 

 

 

 

จาก: นิตยสารรักลูก  






 
   
เว็บไซต์นี้ เป็นเว็บร้านค้าสมาชิกของ SABUYJAISHOP ผู้ให้บริการทางการตลาดออนไลน์ สำหรับร้านค้าหรือผู้ประกอบการ ที่ต้องการนำเสนอสินค้า โฆษณา ประชาสัมพันธ์ร้านค้า หรือสินค้าในร้าน

©2008-2009 SABUYJAISHOP All Rights Reserved