สินค้าในตะกร้า [ 0 ชิ้น ]
 
ชอบเล่นคนเดียว..ระวังจะเป็นปัญหา
บทความ ณ. วันที่ : 17/12/2010        จำนวนคนเข้าชมเว็บ : 2148 ครั้ง   

  ชอบเล่นคนเดียว..ระวังจะเป็นปัญหา

โดย: ฌานนิจ
เรียบเรียงจากบทความของ: นพ.พงศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ หัวหน้าหน่วยพัฒนาการเด็ก

วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล
 

ให้เล่นคนเดียวเล่นได้ทั้งวัน แต่ขอผ่านถ้าต้องเล่นกับคนอื่น จะเป็นปัญหาหรือเปล่านะ

"ไม่รู้ทำไมลูกไม่ค่อยยอมเล่นกับเพื่อน ชอบเล่นคนเดียว"

คุณแม่ท่านหนึ่งเปรยด้วยความกังวลใจให้ฟังค่ะ

เธอเล่าว่า เวลาที่มีเด็กมาเล่นด้วย หรือเธอพาลูกไปเล่นกับลูกของเพื่อนๆ หนูนามักจะชอบแยกตัวออกมาพร้อมกับของเล่นของเธอ และนั่งเล่นอยู่คนเดียว เป็นอย่างนี้หลายครั้งจนคุณแม่เริ่มไม่แน่ใจว่าเป็นบุคลิกของลูกสาวหรือเป็น ปัญหากันแน่

คุณๆ ล่ะคะ มีเรื่องกังวลใจอย่างเธอบ้างหรือเปล่า ?

จริงอยู่ค่ะที่การเล่นร่วมกับเด็กคนอื่น เป็นพัฒนาการทางสังคมอย่างหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตเห็นได้ตามวัย ของลูก แต่การเล่นคนเดียวของเด็กจะบอกว่าผิดปกติหรือไม่นั้นต้องดูบริบทต่างๆ เช่น อายุ บุคคลิกและอุปนิสัย สภาพแวดล้อม รวมถึงพัฒนาการด้านอื่นๆ ของเด็กประกอบกันด้วย

เช่น เราจับเด็กอายุ 2-3 ขวบ มานั่งรวมกันเขาก็จะต่างคนต่างเล่น ซึ่งเป็นเรื่องปกติของพัฒนาการตามวัยค่ะ ยิ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่พยายามจะให้เขาเล่นด้วยกันก็อาจจะเกิดความกังวลได้อีก เช่นกันที่ลูกไม่เล่นกับเพื่อน เพราะบ่อยครั้งที่เด็กวัยนี้เล่นกันแล้วก็มักจะเกิดศึกแย่งของเล่นกันบ้าง แกล้งกันบ้าง จนไม่ใครก็ใครต้องร้องไห้กันบ้างล่ะ

แต่พอลูกเราอายุ 4-5 ขวบสิคะ เขาจะเริ่มมีพัฒนาการด้านสังคมมากขึ้น เริ่มหันหน้าเข้าหากันและเล่นกันอย่างมีกติกามารยาทเพิ่มขึ้น รู้จักผลัดกันเล่น รู้จักแบ่งปัน รู้จักรอคิว และพัฒนาการเล่นร่วมกับคนอื่น หรือเล่นเป็นกลุ่มได้อย่างสนุกสนานมากขึ้น แต่ก็อาจจะยังมีการทะเลาะกัน แย่งของกัน เล่นกันเกินขอบเขต ยังไม่อยากแบ่งปัน ไม่อยากรอคอย ยึดตัวเองเป็นใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เด็กต้องเรียนรู้และพัฒนาตนเองต่อไปเรื่อยๆ ค่ะ

ไม่เล่นกับเพื่อนก็เพราะ...

การที่ลูกของเราแยกตัวและไม่ยอมเล่นกับคนอื่นๆ ก็อาจมีที่มาได้หลายอย่างค่ะ เช่น


- เป็นลูกคนเดียว เลยไม่คุ้นเคยต่อการเล่นกับเด็กคนอื่น ซึ่งเด็กแต่ละคนจะปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนได้เร็วหรือช้าต่างกัน เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องให้เวลาลูกได้ปรับตัวด้วย ทั่วไปสักพักก็มักจะเล่นกับคนอื่นได้อย่างสนุกสนานดี

- เล่นด้วยกันไม่สนุก เด็กบางคนไม่ชอบเล่นกับเด็กคนอื่นเพราะไม่สนุก อาจเป็นเพราะความสามารถของตนเองที่ไม่เท่ากับเพื่อน เช่น เก่งกว่าคนอื่นมาก วิ่งไล่จับทีไรก็ชนะเพื่อนวัยเดียวกันทุกที เขาจึงไม่สนุกที่จะเล่นด้วย หรือเด็กบางคนช้าหรือมีทักษะที่ล้าหลังเพื่อนเกินไป เช่น เด็กที่อ้วนมากๆ พอเล่นวิ่งไล่จับกับเพื่อนก็จะไม่สนุก เพราะวิ่งหนีไม่ทันสักที ต้องแพ้เพื่อนอยู่ตลอด ซึ่งพอต้องแพ้อยู่บ่อยๆ เด็กก็เลยรู้สึกเป็นปมด้อยไม่อยากเล่นร่วมกับเด็กคนอื่นค่ะ

- ร่างกายไม่แข็งแรง เด็กที่เจ็บป่วยเป็นโรคเรื้อรังเล่นแล้วเหนื่อยง่าย อ่อนแอก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่อยากเล่นกับคนอื่นได้ค่ะ

- ความเครียด ที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว จากพ่อแม่ทะเลาะกัน ถูกพ่อแม่ทำโทษอย่างรุนแรงซึ่งมีสาเหตุมาจากการเล่น หรือพ่อแม่มีความคาดหวังกับลูกมากเกินไป เช่น คาดคั้นกับลูกว่าทำไมเล่นกับเพื่อนทีไรต้องแพ้ทุกที ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กไม่อยากเล่นได้เช่นกัน

เล่นกับเพื่อนง่ายนิดเดียว

เพราะฉะนั้นลองสังเกตดูค่ะว่าเพราะเหตุใดลูกเราถึงไม่เล่นกับเพื่อน เมื่อเรารู้ที่มาที่ไปแล้ว เราจะสามารถแก้ไขปรับเปลี่ยนแม่หนูของเราให้เป็นเด็กที่มีเพื่อนเล่นและ สามารถปรับตัวเข้ากับเพื่อนๆ ได้สบายๆ เลย

- เพียงแค่คุณพาลูกไปเจอกับเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันบ่อยๆ ให้เขาได้เล่นอย่างอิสระอย่างเต็มที่กับเพื่อนๆ โดยไม่เข้าไปเจ้ากี้เจ้าการว่าลูกจะต้องเล่นด้วยกันกับเพื่อนจนกว่าเขาจะ พร้อม โดยเฉพาะในเด็กเล็กๆ

- คุณพ่อคุณแม่เพียงให้กำลังใจหากเห็นว่าลูกประพฤติตัวได้เหมาะสมเมื่ออยู่ ท่ามกลางกลุ่มเพื่อน เมื่อลูกประพฤติได้เหมาะสมในการเล่นกับคนอื่น คุณพ่อ คุณแม่ต้องบอกให้ลูกรู้ว่าพฤติกรรมที่ลูกทำอยู่นั้นดีด้วยหลากหลายวิธีตาม แต่ความถนัดค่ะ เช่น ชื่นชมเขา ยิ้มให้เขา พยักหน้า

หากคุณพ่อคุณแม่เห็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของลูก ก็ควรบอกให้ลูกได้รู้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการพูดบอกลูกให้รู้ แยกลูกออกจากเด็กคนอื่น มีบทลงโทษตามข้อตกลงที่พูดคุยกันไว้ และอย่าลืมทำอย่างที่คุณพูดทุกครั้งด้วยนะคะ

- แนะนำวิธีปฏิบัติตัวเวลาเล่นร่วมกับคนอื่น เพราะเด็กบางคนอาจจะไม่เคยชินกับการได้พบเจอเพื่อนในรุ่นเดียวกัน ฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องให้คำแนะนำค่ะ ทั้งในเรื่องของการรอคอย การแบ่งปัน ความมีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้รู้ชนะ

ถ้าหากลูกเก่งกว่าเด็กวัยเดียวกันก็อาจแนะนำเพื่อนที่อายุมากกว่าให้ลูกได้ เล่นด้วยอย่างเหมาะสมกับความสามารถของเขา หากลูกเป็นเด็กที่มีทักษะน้อยกว่าเพื่อนก็อาจแนะนำเพื่อนที่อายุน้อยกว่าให้ กับเขา หรือสอนให้เขารู้จักแพ้แล้วลุกขึ้นมาสู้ใหม่ด้วยความมานะอดทน


 - ถ้าลูกเล่นแรงเกินไปหรือทำอะไรไม่เหมาะสม อย่าลงโทษด้วยความรุนแรงนะคะ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำก็เช่น ตกลงกับลูกว่าถ้าลูกเล่นกับเพื่อนแรงจนเพื่อนเจ็บ หรือแย่งของเล่นเพื่อน ไม่รู้จักรอคิว คุณพ่อคุณแม่ต้องพาเขากลับบ้าน แล้วจะไม่ได้เล่นกับเพื่อนอีกจนกว่าเขาจะควบคุมตัวเองได้ ทำเช่นนี้สม่ำเสมอ ลูกจะมีทักษะในการเล่นกับเพื่อนได้ไม่ยากค่ะ

- หากสาเหตุมาจากเรื่องของความสัมพันธ์หรือปัจจัยภายในครอบครัวคุณพ่อคุณแม่ ต้องแก้ไขที่สาเหตุ หากเด็กๆ มีความผิดปกติของพัฒนาการด้านอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีอาการทางกายปวดหัว ปวดท้องโดยไม่มีสาเหตุ มีปัญหาด้านการกิน การนอน พัฒนาการถดถอย หรือ ความผิดปกติทางร่างกายอื่น ควรปรึกษาคุณหมอค่ะ


ทำไมต้องเล่นกับเพื่อน

 

ประโยชน์นั้นมีมากมายค่ะ นอกจากจะเป็นการฝึกฝน พัฒนาทักษะด้านต่างๆ ให้กับเด็กๆ แล้ว การเล่นยังเป็นการเรียนรู้ของเด็กๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับรูปแบบการเล่นอย่างเหมาะสมกับพัฒนาการตามวัยของเขา

ส่วนการเล่นร่วมกับเด็กคนอื่น ยังเป็นการฝึกฝนทักษะการเข้าสังคม การแก้ปัญหา การสื่อสาร การบริหารจัดการทั้งกับตัวเองและคนอื่น เป็นการฝึกฝนอีคิวให้กับลูกได้ ทักษะต่างๆ เหล่านี้เป็นพื้นฐานของทักษะทางสังคม ที่เด็กๆ สามารถนำมาประยุกต์ใช้เมื่อเขาเติบโตได้เป็นอย่างดีค่ะ การฝึกฝนทักษะด้านต่างๆ เหล่านี้ทางที่ดีที่สุดคุณพ่อ คุณแม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเล่นของเด็กๆ ให้น้อยที่สุด ให้เขาได้มีโอกาสพัฒนาทักษะต่างๆ ด้วยตัวของเขาเองให้มากที่สุดค่ะ

เพราะฉะนั้นใครที่ยังกังวลอยู่ก็คลายกังวลได้แล้วนะคะ เพราะแค่เล่นคนเดียวไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลูกให้รู้จักเข้าสังคมได้ค่ะ อยู่ที่ว่าคุณพ่อคุณแม่อดทนและตั้งใจแค่ไหนเท่านั้นเอง


 

จาก:  

 






 
   
เว็บไซต์นี้ เป็นเว็บร้านค้าสมาชิกของ SABUYJAISHOP ผู้ให้บริการทางการตลาดออนไลน์ สำหรับร้านค้าหรือผู้ประกอบการ ที่ต้องการนำเสนอสินค้า โฆษณา ประชาสัมพันธ์ร้านค้า หรือสินค้าในร้าน

©2008-2009 SABUYJAISHOP All Rights Reserved