.
 สถานะของเว็บ
วันที่สร้างเว็บ :15/11/2014
ปรับปรุงเว็บครั้งล่าสุดเมื่อ :15/4/2015
จำนวนคนเข้าชมเว็บนี้ :72687
เล่านิทานกับอ่านนิทานต่างกันอย่างไร
บทความ ณ. วันที่ : 18/11/2014        จำนวนคนเข้าชมเว็บ : 534 ครั้ง   
นิทาน นับว่าเป็นมิตรแท้ของเด็ก ๆ และคุณครูก็เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดเรื่องราวจากนิทานสู่เด็ก ๆ โดยวิธีการต่าง ๆ เช่น แสดงเป็นละครใช้สื่อ เช่น หุ่นมือสัตว์น่ารัก ๆ แต่ที่นิยมกันมากคือ ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านการเล่านิทาน แต่คุณครูทราบไหมคะว่า การเล่านิทานและการอ่านนิทานนั้นมีความแตกต่างกัน

การ “เล่านิทาน” หมายถึง การที่คุณครูพูดเล่าเรื่องราวในนิทาน โดยที่คุณครูจะเล่าปากเปล่า หรือใช้ภาพในหนังสือประกอบการเล่าก็ได้ คำพูดที่คุณครูพูดจะไม่ตรงกับข้อความในหนังสือ แม้ว่าอาจจะมีบางส่วนเหมือนกันหรือคล้าย ๆ กัน และเหตุการณ์ที่เล่านั้นตรงกับในหนังสือ

การ “เล่านิทาน” ช่วยให้เด็ก ๆ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ๆ ได้เข้าใจเรื่องราว เป็นการขยายประสบการณ์ของเด็กเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ รอบตัวเขา และช่วยให้เด็กมีคำศัพท์และสำนวนต่าง ๆ มากขึ้น การ “เล่านิทาน” ยังเป็นการช่วยย่อยเรื่องยาก ๆ หรือภาษายาก ๆ ในหนังสือนิทานหลาย ๆ เล่มให้เด็กเล็ก ๆ ซึ่งยังมีความจำกัดทางด้านภาษา สามารถเข้าใจเรื่องนั้นได้ โดยการใช้คำง่าย ๆ ประโยคสั้น ๆ แทน การฟังครู “เล่านิทาน” จึงเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาทักษะการฟังและการพูด รวมทั้งทักษะการคิดหลาย ๆ ด้าน

การ “อ่านนิทาน” หมายถึง การที่คุณครูอ่านข้อความในหนังสือให้เด็กฟัง คุณครูอาจใช้เสียงดัง-เบา สูง-ต่ำ เพื่อให้เรื่องที่อ่านสนุกสนานยิ่งขึ้น แต่ที่สำคัญ คุณครูจะต้องอ่านโดยไม่เพิ่มเติมคำพูดของตัวเองเข้าไป

หากต้องการอธิบายเพิ่ม ก็จะพูดคุยกับเด็กด้วยน้ำเสียงที่ทำให้เด็กแยกได้ว่า เป็นการพูดคุยที่ไม่เกี่ยวกับตัวหนังสือในหนังสือที่กำลังอ่าน การฟังครู “อ่านนิทาน” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าได้เห็นตัวหนังสือ ภาพ และมองตามการชี้ตัวหนังสือที่กำลังอ่านของครูไปด้วย จะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาการอ่าน-เขียนของเด็ก ในเด็กเล็ก ๆ การทำเช่นนี้จะช่วยให้เด็กเกิดความตระหนักว่า ตัวหนังสือหน้าตาแปลก ๆ เหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ที่แทนเสียงที่เปล่งออกมาเป็นคำต่าง ๆ ในเด็กที่ตระหนักในเรื่องนี้ดีแล้ว จะเริ่มสังเกตว่าตัวอักษรใดหรือคำใดแทนเสียงอะไร และเริ่มจำคำเหล่านั้นได้ ซึ่งความรู้และความเข้าใจในเรื่องนี้คือพื้นฐานของการอ่านเป็นคำ และการรู้จักตัวพยัญชนะ สระ ตัวสะกดและวรรณยุกต์ เพื่อประสมคำต่อไป

การ “เล่านิทาน” และการ “อ่านนิทาน” จึงเป็นกิจกรรมที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมภาษาของเด็กและขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ในเด็กเล็กมาก ๆ เด็กต้องเรียนรู้ภาษาพูดก่อน และเมื่อมีความสามารถในภาษาพูดพอสมควรแล้ว ความรู้ความเข้าใจในภาษาพูดก็จะเป็นฐานสำคัญให้สามารถเรียนรู้ภาษาเขียนหรือภาษาหนังสือต่อไป ดังนั้น ในเด็กเล็กมาก ๆ จึงมักจะเน้นการ “เล่านิทาน” มากกว่า ขณะที่เมื่อเด็กโตขึ้น “การอ่านนิทาน” จะต้องเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น และ “การเล่านิทาน” ก็จะค่อย ๆ ลดบทบาทลง แต่การ “เล่านิทาน” จะหมดไปไม่ได้เช่นเดียวกับที่ทักษะการพูดก็ยังมีความสำคัญต่อไปตลอดชีวิตของเด็ก





เว็บไซต์นี้ เป็นเว็บร้านค้าสมาชิกของ SABUYJAISHOP ผู้ให้บริการทางการตลาดออนไลน์ สำหรับร้านค้าหรือผู้ประกอบการ ที่ต้องการนำเสนอสินค้า โฆษณา ประชาสัมพันธ์ร้านค้า หรือสินค้าในร้าน
©2008-2010 SABUYJAISHOP All Rights Reserved