.
 สถานะของเว็บ
วันที่สร้างเว็บ :7/6/2009
ปรับปรุงเว็บครั้งล่าสุดเมื่อ :12/11/2014
จำนวนคนเข้าชมเว็บนี้ :280795
Live & Learn ของวัยคิดส์
บทความ ณ. วันที่ : 10/3/2011        จำนวนคนเข้าชมเว็บ : 449 ครั้ง   

โดย: เยลลี่ ขอบคุณ หนังสือ MODERNMON คะ

การเรียนรู้ของลูกเกิดขึ้นในทุกห้วงเวลาของชีวิตค่ะ แม้กระทั่งช่วงเวลาที่ลูกเกิดความผิดหวัง ล้มเหลว ทั้งจากเรื่องเรียน เรื่องชีวิตส่วนตัวที่ลูกวัยนี้จะต้องเผชิญหน้ากับหลายๆ เหตุการณ์เพิ่มมากขึ้นกว่าตอนเป็นเบบี๋ตัวน้อย

 

เมื่อลูกเริ่มเข้าสู่ช่วงวัย 3-6 ปี แน่นอนค่ะ พวกเขาเริ่มทำอะไรด้วยตนเองหลายอย่าง มีสิ่งที่ท้าทายรอเขาอยู่ทุกวัน เช่น แบบฝึกหัดแรกในโรงเรียน การแข่งกีฬา หรือการที่ต้องทำอะไรด้วยตัวเอง เช่น หัดผูกเชือกรองเท้า หรือแต่งตัวด้วยตัวเอง หลายครั้งเด็กๆ ต้องเสียน้ำตาเมื่อไม่สามารถทำได้ดังที่ตัวเองอยากจะเป็น เช่น การสอบได้คะแนนดีๆ หรือชนะในการแข่งกีฬา หรือทำได้ตามที่พ่อแม่คาดหวัง

 

     เยลลี่ได้พบข้อความในเว็บบอร์ดของ www.raklukefamilygroup.com มีคุณแม่คนหนึ่งตั้งหัวข้อในกระทู้ว่า "พรุ่งนี้เป็นวันแข่งขันกีฬาสีของลูก ไม่อยากให้ลูกลงแข่งเลย เพราะกลัวลูกแพ้แล้วจะเสียใจ" นี่เป็นการรับมือต่อความผิดหวังของลูกจริงหรือ

 

5 วิธีรับมือกับความพลาดหวังของลูก

 

เด็กๆ อาจแสดงออกต่อความผิดหวังด้วยวิธีการแตกต่างกันไปตามพื้นอารมณ์และวัย เช่น ร้องไห้ กรีดร้อง ลงไปนอนดิ้นกับพื้น หรือประท้วงเงียบ เม้มปากน้ำตาคลอ นิ่ง ซึม เป็นต้น ซึ่งไม่ว่าลูกจะแสดงออกแบบไหนสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำเมื่อลูกผิดหวังก็คือ

 

1. คำพูดเชิงบวก:เมื่อลูกผิดพลาดคุณพ่อคุณแม่ควรให้กำลังใจ ไม่ควรชี้ให้ลูกรู้สึกว่าความผิดพลาดเป็นเรื่องแย่ตั้งแต่แรก เช่น"ลูกต้องเล่นแพ้อยู่แล้ว เพราะลูกขยันซ้อมไม่พอนี่นา" แต่ควรพูดว่า "ลูกพยายามเต็มความสามารถแล้ว โอกาสหน้าค่อยแก้ตัวใหม่ได้" หรือ “ลูกคิดว่าอะไรทำให้เราแพ้....ไม่เป็นไรคราวนี้เรารู้แล้วคราวหน้าค่อยลองใหม่”

 

2. ให้ลูกได้ระบาย:คุณพ่อคุณแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้ระบายความรู้สึกผิดหวังออกมา และควรแสดงให้ลูกรู้ว่ามีคนเข้าใจเขา และพร้อมรับฟัง ช่วยลูกแก้ปัญหาในเรื่องนั้นๆ ได้

 

ใช้ประสบการณ์ของพ่อแม่เป็นตัวอย่าง : ลูกๆ อาจยังไม่มีประสบการณ์ผิดหวังเป็นของตัวเองมาก่อน คุณพ่อคุณแม่จึงควรลองยกเรื่องของเราเองเป็นตัวอย่างก็ได้ค่ะ เช่น"ตอนที่พ่อยังอายุเท่ากับลูก พ่อก็ยังทำไม่เป็นเหมือนกัน" ลูกจะเห็นภาพชัดเจนและเข้าใจมากขึ้นค่ะ

 

3. อดทนเข้าไว้:ปฏิกิริยาของพ่อแม่เป็นสิ่งสำคัญที่ลูกจะจับความรู้สึกได้ค่ะ ถ้าคุณเองแสดงความเสียใจ หงุดหงิด ผิดหวัง หรือโวยวาย ลูกก็ยิ่งเสียใจ หวาดระแวงที่จะเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ หรือถ้าลูกผิดหวังแล้วโวยวาย ร้องไห้ฟูมฟาย คุณก็ควรวางเฉย ดึงความสนใจของลูกไปที่สิ่งอื่นก่อน เมื่อเขาสงบลงแล้วจึงค่อยอธิบายด้วยท่าทีอบอุ่น เข้าใจ

 

4. ไม่ให้ลูกทำสิ่งที่เกินตัว:คุณแม่ไม่ควรคาดหวังให้ลูกต้องทำในสิ่งที่คุณแม่ต้องการ โดยไม่ได้มองถึงความชอบ ความถนัด ความสามารถ และข้อจำกัดของลูก เช่น ลูกต้องสอบได้ที่ 1 หรือสอบเข้าโรงเรียนดีๆ หรือยกความสามารถของคนอื่นๆ มาเปรียบเทียบกับลูก โดยมุ่งหวังจะเป็นแรงผลักดัน แต่ก็อาจทำให้ลูกรู้สึกกดดัน เก็บกดโดยไม่รู้ตัวได้นะคะ

 

5 ทักษะเตรียมลูกเข้าใจ ความล้มเหลว"

 

1. ยอมรับความแตกต่าง:สอนให้ลูกเข้าใจว่าทุกคนมีความสามารถ ข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน ลองให้ลูกค้นหาความสามารถของตนเอง (อย่างแท้จริงนะ ไม่ใช่สิ่งที่พ่อแม่ยัดเยียด) ดังนั้นเขาไม่จำเป็นต้องทำให้ได้เหมือนใครๆ และภูมิใจที่มีสิ่งที่เราทำได้ดีเหมือนกัน

 

2. ตัดสินใจ:ให้ลูกได้ตัดสินใจด้วยตัวเอง(ตามวุฒิภาวะของวัย) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อย เช่น เลือกว่าจะใส่เสื้อตัวไหน อยากกินอะไร หรือจะทำอะไรก่อนหลัง เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองสามารถควบคุมสิ่งต่างๆ ในชีวิตได้ และลูกได้เรียนรู้ว่า เมื่อลูกตัดสินใจทำสิ่งใดด้วยตัวเอง ก็ต้องยอมรับถึงผลที่จะตามมา และพร้อมแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง

 

3. รู้จักกฎเกณฑ์:กฎเกณฑ์เป็นการบอกให้ลูกรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เขาต้องทำอะไรบ้าง และเขาสามารถทำอะไรได้แค่ไหน เพื่อให้เขายอมรับกับสภาพความเป็นจริง ข้อจำกัดที่ต้องเจอ เช่น ถ้าลูกเล่นเกมแพ้ ลูกก็ต้องยอมรับผลของมันคือการตกรอบ เหล่านี้ทำให้ลูกได้วางแผนหรือคิดหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยตัวของเขาเอง

 

4.ควบคุมความต้องการของตัวเองได้:คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกทักษะนี้ให้กับลูกได้ โดยการให้ลูกได้เล่นกับเพื่อน ความต้องการการยอมรับในกลุ่มเพื่อนจะช่วยฝึกให้เจ้าตัวเล็ก เรียนรู้การรอคอย การแบ่งปัน การเป็นผู้นำ ที่สำคัญคือควบคุมความต้องการของตัวเองได้ทางหนึ่ง คือไม่แย่งของเพื่อน หรือยอมรับกับการที่จะเป็นผู้แพ้เมื่อล่นเกมแพ้เพื่อนในกลุ่มได้ เป็นต้น

 

แก้ปัญหาด้วยตนเอง : คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรช่วยเหลือจัดการทุกอย่างให้ลูก หรือปกป้อง คอยดูแลตลอดเวลา แต่ควรปล่อยให้ลูกได้แก้ปัญหาด้วยตัวเองจะทำให้ลูกรู้สึกภูมิใจและมั่นใจในตัวเอง แต่ขณะเดียวกันเด็กๆ ก็ยังต้องการแรงสนับสนุนด้านกำลังใจจากพ่อแม่อยู่เสมอนะคะ

 

และด้วยความช่วยเหลืออย่างเข้าอกเข้าใจเหล่านี้จากพ่อแม่ก็จะช่วยให้ลูกพร้อมที่จะlive&learn ต่อไปในอนาคตค่ะ

 

แง่มุมดีๆ ของความพ่ายแพ้

 

ความล้มเหลวเป็นเรื่องธรรมชาติ

 

พ่อแม่ต้องยอมรับว่าในเส้นทางของชีวิตคนเราทุกคนความผิดหวังเป็นเรื่องธรรมดาที่จะเข้ามาสลับสับเปลี่ยนกับความสมหวัง และลูกเราก็เป็นคนหนึ่งที่ต้องเจอกับเหตุการณ์นี้ด้วยเหมือนกัน ยิ่งลูกโตขึ้นเท่าไหร่โอกาสที่เขาจะผิดหวังก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้นเพราะโลกที่กว้างขึ้น ประสบการณ์การพบปะเรื่องราวที่มากขึ้นนั่นเอง ที่สำคัญ คุณไม่สามารถตามไปปกป้องดูแลความรู้สึกลูกจากความล้มเหลวได้ทุกที่ ทุกเวลา และที่สำคัญนั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ

 

พัฒนาการที่ดี

 

ความล้มเหลวเป็นสิ่งสำคัญและเป็นส่วนส่งเสริมให้ลูกน้อยเติบใหญ่ หรือจะกล่าวได้ว่า ถ้าเราไม่เคยล้มเหลว ผิดหวัง เราก็คงจะประสบความสำเร็จไปไม่ได้ เพราะความล้มเหลวฝึกให้เราคิดเป็น ฝันเป็น และพยายามที่จะทำให้สิ่งต่างๆ สำเร็จลงด้วยดี

 

เข้มแข็ง ไม่ท้อถอย

 

ต่อจากนี้ไป ลูกยังต้องพบกับประสบการณ์ใหม่ๆ อีกมากมาย ทั้งเรื่องดีๆ และผิดหวัง การผิดหวัง ล้มเหลวในวันนี้เป็นการฝึกให้เขาเข้มแข็ง ไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ และทำให้สุดความสามารถ ซึ่งเมื่อลูกได้ทำจนสุดความสามารถแล้ว ผลที่ออกมาอาจยังไม่น่าพอใจ ก็เป็นจุดที่พ่อแม่ต้องคอยแนะนำให้ลูกรับรู้ เข้าใจ

 

 

 

   






เว็บไซต์นี้ เป็นเว็บร้านค้าสมาชิกของ SABUYJAISHOP ผู้ให้บริการทางการตลาดออนไลน์ สำหรับร้านค้าหรือผู้ประกอบการ ที่ต้องการนำเสนอสินค้า โฆษณา ประชาสัมพันธ์ร้านค้า หรือสินค้าในร้าน
©2008-2010 SABUYJAISHOP All Rights Reserved