.
ตะกร้า [0]
วันที่สร้างเว็บ :21/1/2011
ปรับปรุงเว็บครั้งล่าสุดเมื่อ :14/8/2018
จำนวนคนเข้าชมเว็บนี้ :476714
รักษาสิวอย่างไรจึงปลอดภัย
บทความ ณ. วันที่ : 7/8/2012        จำนวนคนเข้าชมเว็บ : 310 ครั้ง   

รักษาสิวอย่างไรจึงปลอดภัย

 

สิวเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดของโรคผิวหนังโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวัยรุ่น(วัยที่กำลังเอาใจใส่ตัวเองในเรื่องของความสวยความงามมากที่สุดแต่มีประสบการณ์และทุนทรัพย์น้อยที่สุด)ฉะนั้นในบทความนี้หมออยากจะเขียนให้ผู้อ่านรู้ถึง
1. ต้นเหตุของการเป็นสิวว่าไม่ใช่เกิดจากฮอร์โมนเพียงอย่างเดียว
2.ผลข้างคียงของการรักษาสิวแบบต่างๆซึ่งอาจทำให้เกิดสิวจากการรักษาได้

ต้นเหตุของการเป็นสิว

ผู้อ่านจำนวนมากรู้ว่าสิวเกิดจากฮอร์โมนเพศชายที่หลั่งออกมากในช่วงวัยรุ่นทำให้ไปกระตุ้นการทำงานของต่อมไขมันมากขึ้นผิวหน้าจึงมันหากการทำงานมากผิดปกติจนทำให้เกิดการอุดตันของรูขุมขน จะเกิดสิวอุดตันตามมา(comedo)และถ้าสิวอุดตันเหล่านี้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่พบอยู่ตามใบหน้า(P.acnes) ยังผลให้เกิดสิวอักเสบเป็นหนองตามมาในรายที่รุนแรงอาจเป็นฝีบริเวณใบหน้าได้ ซึ่งสิวส่วนใหญ่จะหายได้เองหากรู้จักวิธีดูแลที่ถูกต้อง

อีกสาเหตุของการเกิดสิวที่ผู้อ่านมักไม่ทราบคือ การใช้เครื่องสำอางต่าง ๆ ทั้งครีมป้องกันแดด ครีมหน้าขาว ครีมป้องกันริ้วรอยฯลฯทำให้เกิดสิวได้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มักมุ่งเน้นในเรื่องการโฆษณาให้ความสวยงามทำให้ประชาชนทั่วไปมีความต้องการที่จะใช้มากขึ้น (โดยเฉพาะวัยรุ่นซึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นสิวได้ง่ายอยู่แล้ว)ฉะนั้นการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าควรเลือกใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น
สาเหตุสุดท้ายของการเกิดสิวซึ่งเป็นสิ่งที่กำลังทำการวิจัยกันมากที่สุดในขณะนี้ คือ เรื่องของการกินกับสิวมีรายงานในต่งประเทศพบว่า คนที่บริโภคนมวัว เนย ถั่วมีอัตราการเกิดสิวมากขึ้นและตามประสบการณ์ของหมอ การรับประทานนม ,เนย , ถั่วเปลือกแข็ง วิตามินรวม , กล้วย , ทุเรียน ข้าวซ้อมมือ และแอลกอฮอล์จะทำให้ผิวหน้าเป็นสิวได้ง่ายกว่าปกติ
อีกประเด็นที่อยากจะหยิบมาคุยในเรื่องของสิวก็คือ โทษของการรักษาสิว

การรักษาสิว ทำให้เกิดผลข้างเคียงของการรักษาได้คือ
1. เกิดสิวเม็ดใหม่
2. เกิดแผลเป็น
3. ทำให้ผิวหน้าบาง อักเสบง่ายหน้าแดง
4. เกิดการแพ้ยาได้ หากรุนแรงอาจเสียชีวิตได้(พบน้อยมาก)

ในขณะนี้การรักษาสิวเป็นที่นิยมมากขึ้นเกิดแนวทางการรักษาขึ้นมากมายทำให้ประชาชนเกิดความสับสนว่าวิธีการใดเหมาะกันตนเองหรือไม่รักษาแล้วจะมีผลข้างเคียงอย่างไร หมออยากจะเล่าถึงวิธีการรักษาสิวต่างๆพอเป็นสังเขปดังนี้

1. การรักษาด้วยยาทาสิว
เป็นวิธีการรักษาที่ค่อนข้างจะปลอดภัยจะมีบ้างที่เกิดการระคายเคืองต่อผิวหน้า เช่น กรดวิตามินเอยาทาเบนซอยด์เปอร์ออกไซด์ (BP) ยาทาแก้อักเสบต่างๆ เช่น คลินดาไมซิน อริโธมัยซินอาจทำใช้เชื้อP.acne ดื้อยา ส่วนการแต้มสิวด้วยกรดผลไม้ชนิดต่างๆ หรืแม้กระทั่งกรดTCA ยังไม่มีรายงานพบว่าจะช่วยให้สิวยุบตัวได้เร็วขึ้น แต่จะทำให้เกิดแผลเป็นได้หากใช้ความเข้มข้นสูงๆ ระวังในยาทาสิว ทีมีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ในรูปของยาทาแก้แพ้หากใช้ไปนานๆ จะทำให้ผิวหน้าบาง หน้าแดง มีเส้นเลือดผิดปกติ การรักษาจะยุ่งยากมากเพราะฉะนั้นควรระวังการใช้ยาในรูปยาแก้แพ้(หาอ่านได้ในบทความถนอมผิวแพ้ก่อนสายเกินแก้)

2. การรักษาในรูปของยารับประทาน
ยารักษาในกลุ่มยาแก้อักเสบ เช่นกลุ่มยาแบคทริม ( Bactrim) และแดบโซน (Dapsone) อาจทำให้เกิดการแพ้ยาหากรุนแรงอาจถึงชีวิตได้
(อุบัติการณ์การเกิดต่ำมากแต่ที่เขียนเพราะไม่อยากให้น้องๆไปซื้อยากินเอง ควรอยู่ในความควบคุมของแพทย์)ยาเตตราไซคลิน (tetracycline) มีผลทำให้เกิดการคลื่นใส้อาเจียนเกิดเชื้อราในช่องคลอดได้ง่าย ยารับประทานในกลุ่ม กรดวิตามินเอหรือที่น้องๆรู้จักกันในชื่อ ยาโร (Roaccutane) ยาในกลุ่มนี้รักษาสิวได้ดีมากแต่ผลข้างเคียงที่ตามมาก็มากเช่นกัน อาทิ ปากแห้งหน้าตาแห้ง ผิวแห้ง ระดับไขมันในเลือดสูง และที่สำคัญ คือก่อให้เกิดความพิการของทารกในครรภ์ ยากลุ่มนี้เป็นยาควบคุมสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้นฉะนั้นผู้อ่านไม่ควรซื้อหารับประทานเองเพราะจะเกิดผลข้างเคียงโดยรู้เท่าไม่ถึงกาลได้
ผลข้างเคียงที่สำคัญอีกหนึ่งอย่างของการรับประทานยารักษาสิวนานๆคือผมร่วง ซึ่งหมอพบว่าขณะนี้มีคนไข้ผมร่วงผิดปกติในวัยรุ่นเพิ่มขึ้นอย่างผิดสังเกต

3. การรักษาสิวในรูปของยาฉีด
ยาฉีดมักอยู่ในรูปของสารสเตียรอยด์มีผลต้านการอักเสบเมื่อฉีดยาให้หัวสิวทำให้สิวยุบตัวอย่างรวดเร็วเป็นที่ถูกอกถูกใจของคนไข้แต่ภายหลังการฉีดสิว1-2 สัปดาห์ สิวผดไม่มีหัวจะขึ้นใหม่รอบๆรอยฉีดเดิมจากผลของสเตียรอยด์หากแพทย์หรือคนไข้ไม่เข้าใจก็จะมีการฉีดยาซ้ำเข้าไปอีกทำให้เกิดการสะสมของสเตียรอยด์ใต้ชั้นผิวหนังสิวจึงขึ้นๆยุบๆต่อไปไม่มีหยุดและถ้าฉีดยาลึกลงใต้ชั้นผิวหนังจะทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นยุบตัวเกิดรอยแผลเป็นขึ้นมาอีกหากคนไข้หรือแพทย์ผู้ทำการรักษามีทัศนะคติในการรักษาสิวแบบนี้ก็จะทำให้เกิดโทษจากการรักษาได้
ยาฉีดอีกประเภทคือ เมโสเธอราปี (Mesotherapy) เป็นการนำสารเคมีหรือตัวยาต่างๆฉีดเข้าไปในผิวหนังชั้นบนโดยใช้เครื่องฉีดยาชนิดพิเศษซึ่งขณะนี้มีรายงานการรักษาอยู่น้อยมากในเรื่องการรักษาสิวและตัวยาที่ฉีดก็มีมากมายทำให้ตั้งมาตรฐานในการรักษาได้ยากควรพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจในการรักษา

4. การรักษาโดยใช้แสงเลเซอร์
วิธีการนี้เป็นวิธีการใหม่ อาศัยเทคโนโลยีชั้นสูงโดยการใช้แสงที่มีช่วงคลื่นจำเพาะไปควบคุมทำลายต่อมไขมันวีธีการรักษาสิวโดยเลเซอร์นี้จะมีผลเฉพาะผิวหนังบริเวณที่ทำการรักษาได้ผลดีจุดประสงค์ของการใช้แสงเพื่อที่จะลดการใช้ยาและผลข้างเคียงต่างๆแต่ข้อเสียคือเทคโนโลยีราคาแพง ต้องอาศัยประสบการณ์จากแพทย์สูงทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นตามตัว
ขณะนี้มีการรักษาสิวมากมายหลายวิธีบางวิธีอาจจะผิดแผกไปกับตำราวิชาการซึ่งเกิดจากอุปสงค์อุปทานของการรักษาที่มีมากขึ้นทำให้การรักษายิ่งเน้นไปในการทำธุรกิจมากขึ้นแต่หากมาตั้งวัตถุประสงค์ในการรักษาสิวที่ถูกต้องคือ ปลอดภัยไม่มีภาวะแทรกซ้อนและที่สำคัญคือ ไม่เกิดแผลเป็นจากสิวก็จะทำให้เรารู้ว่าควรรักษาสิวของตนเองอย่างไรจึงจะเหมาะสม

บทความโดย   นพ.วิสิฏฐ ศรีสนิท   แพทย์ศาสตร์ รามาธิบดี

Dlploma in Dermatology (Institue of Dermatology BKK) 

 

ผลิตภัณฑ์ดูแลปัญหาสิว นาร์เนียบิวตี้ เบอร์รี่ ครีมนาเนีย ครีมหน้าใส