.
ตะกร้า [0]
เลือกภาษา
วันที่สร้างเว็บ :13/1/2011
ปรับปรุงเว็บครั้งล่าสุดเมื่อ :25/3/2024
จำนวนคนเข้าชมเว็บนี้ :439507
เพิ่มเว็บฟรี
สีพิเศษ....ฝันร้ายหรือง่ายเหมือนปลอกกล้วย?!!
บทความ ณ. วันที่ : 27/4/2011        จำนวนคนเข้าชมเว็บ : 701 ครั้ง   

ในแง่ของการพิมพ์ หากไม่มีข้อจำกัดที่จำนวนหน่วยพิมพ์ในเครื่องและต้นทุนที่เพิ่มขึ้นบางส่วน แล้ว การพิมพ์สีพิเศษก็เป็นทางเลือกที่ดี เนื่องจากการควบคุมสีเดียวให้มีความสม่ำเสมอสามารถทำได้ง่ายกว่าการ คุมน้ำหนักสี 4 สีในจุดเดียวกัน ให้ได้สีตามที่ต้องการอย่างต่อเนื่อง ไม่มีผิดเพี้ยนตลอดการพิมพ์งาน แต่สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ การเลือกใช้สีพิเศษที่มีเฉดสีที่ถูกต้องตรงตามความต้องการของลูกค้า บนวัสดุที่ใช้พิมพ์จริงตั้งแต่แรก มิฉะนั้นแล้ว การพิมพ์สีพิเศษก็จะกลายเป็นฝันร้ายของโรงพิมพ์ เนื่องจากต้องหยุดเครื่องรอ เพื่อปรับสีให้ถูกต้องอย่างไม่รู้จบ ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตโดยไม่สมควร ทั้งในด้านเวลาของเครื่องจักร ค่าแรงพนักงาน และวัสดุที่ต้องสูญเสียไประหว่างการพิมพ์ที่ใช้ไม่ได้ และส่วนที่สำคัญยิ่งกว่าคือ ความเชื่อมั่นของลูกค้าที่มีต่อโรงพิมพ์

ปัจจัยที่ทำให้พิมพ์สีไม่ได้ตามต้องการ
- สีที่เจ้าของงานระบุ มักเป็นสี Pantone ที่พิมพ์บนกระดาษคุณภาพสูง ทั้งกระดาษอาร์ตและกระดาษปอนด์ ในขณะที่วัสดุที่ใช้จริงอาจมีเฉดสีและคุณภาพต่างๆ กันไป ตามลักษณะการใช้งานและข้อกำหนดของลูกค้า

- สมุดสีที่ลูกค้ากับโรงพิมพ์ใช้ ต่างยี่ห้อ ต่างปี หรือมีอายุการใช้งานต่างกัน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้สีที่เริ่มต้นไม่ตรงกัน แม้จะมีรหัสสีเหมือนกัน ทำให้ทั้งสองฝ่ายมีความคาดหวังไม่ตรงกัน

- การขาดเครื่องมือที่เหมาะสมที่จะช่วยในการผสมสีให้ถูกต้อง โดยทั่วไป การผสมสีหมึกพิมพ์มักใช้ความชำนาญของผู้ผสมเป็นหลัก ซึ่งตรวจวัดและทำซ้ำได้ยาก คือ ไม่สามารถกำหนดปริมาณแม่สีที่ใช้ด้วยหน่วยวัดที่ละเอียดพอ และเห็นผลเมื่อขึ้นเครื่องพิมพ์แล้ว ทำให้ต้องปรับแต่งที่หน้าเครื่องไปตามสภาพ การจดข้อมูลจึงทำได้ยาก และได้สีที่มีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ระหว่างการพิมพ์ นอกจากนี้ แรงกดที่เครื่องพิมพ์และขณะทำตัวอย่างหมึกอาจไม่เท่ากัน ทำให้โทนสีที่ได้ ไม่ตรงกับความคาดหวัง
 

ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาด้านการพิมพ์สีพิเศษ จึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมา เพื่อให้ผสมหมึกพิมพ์สีพิเศษตามที่ต้องการได้ บนวัสดุใช้พิมพ์ที่ต้องการ ด้วยปริมาณหมึกพิมพ์ที่เหมาะสม ในเวลาอันสั้นเพียงไม่กี่นาที โดยเทคโนโลยีดังกล่าว มีส่วนประกอบที่สำคัญดังนี้คือ
1. ระบบวัดและคำนวณสูตรสีที่มีประสิทธิภาพ กล่าวคือ สามารถวัดสีได้อย่างถูกต้อง และคำนวณสูตรสีที่ต้องการได้จากแม่สีที่มีอยู่ บนวัสดุที่จะใช้พิมพ์จริง ด้วยปริมาณที่กำหนด

2. เครื่องทดสอบคุณภาพทางการพิมพ์ เพื่อให้ได้สีตรงตามความต้องการ จะต้องมีการกำหนดอัตราของแรงกดให้มีความสัมพันธ์กับเครื่องพิมพ์จริง เพื่อให้ได้เฉดสีตรงตามความต้องการ ด้วยแรงกดที่จะใช้จริง

3. เครื่องชั่งความละเอียดสูง เพื่อให้สามารถผสมสีหมึกที่ต้องการในปริมาณน้อยๆ ได้อย่างเที่ยงตรงและแม่นยำ

4. บุคลากร ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะขาดเสียมิได้ เนื่องจากความถูกต้องของระบบ ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ผู้ใช้จะป้อนเข้าไป หากผู้ใช้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการพิมพ์และองค์ประกอบด้านการ พิมพ์ รวมถึงระบบที่ใช้งานอยู่ ก็จะช่วยให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ข้อดีของ การใช้ระบบสร้างสูตรสีคือ สามารถเห็นเฉดสีบนวัสดุที่ต้องการได้ก่อนที่จะขึ้นเครื่องพิมพ์ มีการระบุสัดส่วนของแม่สีที่ต้องใช้อย่างชัดเจน จึงสามารถทำซ้ำได้ โดยไม่มีข้อจำกัดในด้านปริมาณมากน้อย ช่วยลดความเสี่ยงที่จะต้องแก้ปัญหาหน้าแท่น และคุมให้งานมีคุณภาพคงที่ได้ง่าย และไม่ต้องกังวลถึงการคัดแยกชิ้นงานที่มีสีไม่ตรงออกจากงานที่ใช้ได้ หรือการควบคุมสต็อคหมึกพิมพ์สีพิเศษ ซึ่งเป็นต้นทุนที่ส่งผลต่อกำไรที่องค์กรควรได้

นอก จากนี้ เมื่อสร้างสูตรสีเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การผสมหมึกให้ได้ตามสูตรและน้ำหนักที่ต้องการ โดยทั่วไป มักใช้วิธีการตักหมึกแม่สีแต่ละสีตามน้ำหนักที่ต้องการจนครบแล้วผสมให้เข้า กันด้วยเกรียงตักหมึก ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญในการผสมให้หมึกแต่ละสีผสมเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน ปัจจุบัน มีเทคโนโลยีเครื่องผสมหมึกแบบใหม่ ซึ่งช่วยให้ผสมหมึกได้สีและน้ำหนักที่ต้องการได้ง่ายและรวดเร็ว โดยมีหลักการ ดังนี้

- นำกระป๋องแม่สีไปต่อเข้ากับหัวจ่ายหมึก ที่มีจำนวน 14 หัว เท่ากับจำนวนแม่สีมาตรฐาน ซึ่งจะมีการไล่อากาศออกจากระบบ ทำให้ภายในท่อเป็นระบบสุญญากาศ จึงสามารถดูดแม่สีไปใช้ได้จนหมดกระป๋อง โดยไม่เกิดขี้หมึกให้เสียของ
 

- การผสมสี เพียงวางกระป๋องเปล่าสำหรับใส่สีพิเศษลงบนตาชั่ง เลื่อนแม่สีที่ต้องการให้มาอยู่ตรงตำแหน่งของกระป๋องที่วางรออยู่ ปล่อยแม่สีให้ได้น้ำหนักตามที่กำหนดไว้ ในสูตรที่สร้างไว้ โดยสามารถปล่อยสีเป็นจำนวนมากๆ เป็นกิโล แล้วเลื่อนแม่สีสีต่อไปมาให้ตรงตำแหน่ง และปล่อยสีจนครบตามสูตร

สีที่อยู่ใน กระป๋องจะยังไม่ได้ผสมให้เป็นเนื้อเดียวกัน สามารถนำไปเข้าเครื่องเขย่าหมึก ซึ่งสามารถเขย่าหมึกให้เป็นเนื้อเดียวกันได้โดยไม่ต้องเทสีออกจะกระป๋อง จึงไม่เกิดความสูญเสียหมึกจากการสัมผัสกับอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการผสมหมึกด้วยวิธีเดิม ไม่เลอะเทอะเปรอะเปื้อน และไม่เกิดขี้หมึก เนื่องจากไม่มีการสัมผัสอากาศในระหว่างการทำงาน
กล่าว โดยสรุปคือ นอกจากการได้สีที่ต้องการอย่างถูกต้องและรวดเร็วแล้ว ยังมีผลประโยชน์ต่อองค์กรคือ เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตงานพิมพ์ และลดต้นทุนการผลิตซึ่งถือเป็นวัตถุประสงค์หลักของโรงพิมพ์อีกด้วย

 

ขอบคุณเนื้อหาดี ๆ จากเว็บไซต์   http://www.thaiprint.org